ชีวิตที่พอเพียง : 184. โลกาภิวัตน์คือโอกาสในการดึงโลกมาหาเรา


วิธีดึงโลกมาหาเรา ทำได้โดยทำสิ่งที่ทรงคุณค่า ทำให้ดีที่สุด หาส่วนที่เป็นคุณค่าแท้ให้พบ ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์คุณค่าที่ในตอนแรกคนมักมองไม่เห็น แล้วในที่สุด "โลกจะวิ่งมาหาเรา"

ชีวิตที่พอเพียง  : 184. โลกาภิวัตน์คือโอกาสในการดึงโลกมาหาเรา

        ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกนี้จากการอ่านหนังสือ "บริหารจินตนาการ : กรณีศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เขียนโดย รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข     ผู้ที่ผมยกย่องเป็นอัจฉริยะด้านศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านดนตรี     แต่ตอนนี้ผมเปลี่ยนใจแล้ว      ยกย่อง ดร. สุกรี ให้เป็นอัจฉริยะด้านการมองโลกด้วย     เรื่องนี้ผมจะเขียนในบันทึกตอนต่อๆ ไป

        แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือภาคบังคับสำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย    กรรมการ กพอ.  และกรรมการสภามหาวิทยาลัย      ผมได้บอกให้มหาวิทยาลัยมหิดลไปซื้อมาแจกกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน     หนังสือมีขายที่ ซีเอ็ด ครับ

        Globalization ในความหมายทั่วไปของสังคมไทยคือการวิ่งตามโลก     ผมขัดใจกับการคิดแบบนี้ตลอดมา      เมื่อสัก ๑๐ ปีมาแล้ว     ศ. ดร. รังสรรค์ ธนพรพันธุ์ มาสอนผมว่าประเทศไทยพัฒนาประเทศแบบวิ่งไล่กวด     วิ่งตามการพัฒนาแบบตะวันตก     วิ่งไปกลัวไป ว่าจะตกขบวนรถไฟ     เพราะหลงผิดว่าขบวนรถไฟมีขบวนเดียว     คือขบวนที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวขบวน     มีธงวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม เป็นตัวนำ     ดร. รังสรรค์ชี้ให้ผมเห็นว่า เรายิ่งไล่กวด เราก็ยิ่งถูกทิ้งระยะห่าง

        ผมเป็นคนนอกคอก     ชอบสร้างลู่วิ่งให้ตนเอง หรือองค์กรที่ตนเองเข้าไปรับใช้ (ไม่ใช่องค์กรของผม  ผมไม่ได้เป็นเจ้าของ  แต่ผมก็มีownership)     ผมชอบสร้างความท้าทายขึ้นเป็นธงล่อให้ตัวเองวิ่งไล่ตาม     ขัดใจ ถ้าถูกกำหนดธงโดยคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เราสงสัยว่าเขามาล่อให้เราวิ่งตามเป็นสมุนของเขา  เพื่อผลประโยชน์ของเขา พวกเขา  โดยสังคมส่วนใหญ่ตกเป็นทาส    ทั้งทาสทางผลประโยชน์ และทาสทางปัญญา

        ผมจึงชอบใจมากเมื่อ ดร. สุกรีชี้ให้เห็นยุคโลกแบนยุคที่ ๒     คือก่อนสมัยกาลิเลโอ - โคลัมบัส เราเชื่อว่าโลกแบน     ต่อมาวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า ในทางกายภาพโลกกลม     พอถึงยุคนี้ เราเห็นกับตา ว่าในทางสังคม โลกแบน คือเราติดต่อสื่อสารเดินทางถึงกันหมดทั้งโลกได้โดยง่ายดาย    เป็น "โลกแบน" ยุคที่ ๒     เป็นยุคโลกแบนทางสังคม ที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์     และฝรั่งเขาหาทางบอกให้เราเชื่อว่า ในยุคโลกแบนยุคที่ ๒ นี้ เราต้องทำสิ่งต่างๆ ตามแนวนิยมของเขา     คือให้วิ่งตามขบวนโลกแบนของฝรั่ง หรือของกลุ่มประเทศ จี-๘   

         ผมไม่เชื่อ  

        แต่ผมก็ด้อยปัญญาที่จะคิดออกเอง ว่าเมื่อไม่เชื่อแล้ว จะสร้างลู่วิ่งของเราเองแนวไหน     เห็นเรากำลังโปร เศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างสุดเหวี่ยง     ซึ่งผมก็เห็นด้วย     แต่ยังไม่จุใจ     ผมยังอยากได้ "ธงนำ" สีอื่นอีก

        แล้ว ดร. สุกรี ก็หยิบยื่น "ธงดึงโลกมาหาเรา" ให้ผม     อา! นี่แหละ สิ่งที่ผมแสวงหามานาน     เราต้องอาศัยปรากฏการณ์โลกแบนทางสังคม   ด้วยอานุภาพ ICT    ดึงโลกมาหาเรา 

        อย่าคิดว่าผมคิดเรื่องนี้ออกเป็นคนแรกนะครับ     ท่านพุทธทาสทำสำเร็จมาแล้ว    ดร. สุกรีทำสำเร็จมาแล้ว     ครูบาสุทธินันท์ทำสำเร็จมาแล้ว     ผมเองก็เคยทำสำเร็จมาแล้ว     ผมเชื่อว่ามีคน "ดึงโลกมาหา" ได้สำเร็จมากมาย     

       ท่านพุทธทาสปฏิเสธโลก "ขุนนางพระ" ไปสร้างโลกใหม่ที่สวนโมกข์     ในไม่ช้าโลกก็วิ่งไปหาสวนโมกข์     แม้ท่านสิ้นไปแล้ว โลกก็ยังวิ่งไปหาสวนโมกข์

        ดร. สุกรีสร้างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นมาเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว     เวลานี้โลกดนตรีเริ่มวิ่งมาที่ศาลายา      ใครไม่เชื่อ ตอนเย็นๆ ค่ำๆ ให้ไปฟังดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้ทุกวัน     หรือเปิดดูรายการแสดงในเว็บไซด์ดูก็ได้     จะเห็น "อาการ" โลกดนตรีวิ่งไปหาศาลายา

        ครูบาสุทธินันท์ สร้างมหาชีวาลัย แห่งอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์     เวลานี้โลกวิ่งไปหา     จนผมเกรงครูบาจะรับไม่ไหว     ใครอยากเห็นอาการโลกวิ่งไปหาครูบาให้อ่านจาก บล็อก http://gotoknow.org/sutthinun

        ผมตีความ (ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก) ว่าวิธีดึงโลกมาหาเรา ทำได้โดยทำสิ่งที่ทรงคุณค่า  ทำให้ดีที่สุด  หาส่วนที่เป็นคุณค่าแท้ให้พบ     ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์คุณค่าที่ในตอนแรกคนมักมองไม่เห็น     แล้วในที่สุด "โลกจะวิ่งมาหาเรา"

        ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยต้องใช้ศักยภาพ ใช้จุดแข็งที่เรามีอยู่แล้ว สร้างความสำเร็จที่ทรงคุณค่าสูง คุณภาพสูง     จนในที่สุด โลกต้อง

วิ่งมาหาเราวิจารณ์ พานิช
๓๐ ธค. ๔๙    

หมายเลขบันทึก: 70179เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2006 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 เรียน คุณหมอวิจารณ์ที่เคารพ

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะคะที่ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ให้พวกเราอ่าน สงสัยคงต้องไปหาซื้อมาอ่านแล้วค่ะ เพราะมันสนับสนุนความเชื่อบางอย่างของหนู นั่นคือ เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามโลกทุกเรื่องเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นคนทันสมัย (แต่ไม่พัฒนา)  เราสามารถสร้างลู่วิ่งที่มีคุณค่าด้วยตนเองได้ แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การตรวจสอบว่าลู่ที่เราสร้างนั้นมีคุณค่า ดีและถูกต้องหรือไม่ มันคงต้องใช้เวลาระดับหนึ่งความจริงจึงจะปรากฏดังเช่นปรากฏการณ์ของท่านพุทธทาส หรือ    ครูบาฯ  ข้อเขียนของอาจารย์สร้างผลักและความเชื่อมั่นในระดับความเชื่อที่ฝังลึกในตัวหนูนะคะ

หนูชอบในประโยคที่ว่า "สังคมไทยต้องใช้ศักยภาพ ใช้จุดแข็งที่เรามีอยู่แล้วสร้างความสำเร็จที่ทรงคุณค่าสูง คุณภาพสูง จนในที่สุดโลกต้องวิ่งมาหาเรา"  หนูขออนุญาตนำข้อความนี้เผยแพร่ต่อเพื่อเป็นผลักให้กับคนอื่นต่อไปนะคะ

กราบสวัสดีปีใหม่ค่ะ

จิรัชฌา

  • ถูกต้องแล้วคร๊าบ
  • สังคมไทย ต้องหาจุดแข็งของตัวเอง แล้วเพิ่มมูลค่าของจุดแข็ง เพื่อดึงโลกหรือสังคมให้มาหาเรา

เรียน  ท่านคุณหมอวิจารณ์ที่เคารพ

  •  ขอขอบพระคุณสำหรับแนวคิดดีๆที่ท่านมอบให้รับวันปีใหม่  
  • ทำสิ่งที่ทรงคุณค่า  ทำให้ดีที่สุด  หาส่วนที่เป็นคุณค่าแท้ให้พบ     ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์คุณค่าที่ในตอนแรกคนมักมองไม่เห็น     แล้วในที่สุด "โลกจะวิ่งมาหาเรา"  ดิฉันจะนำไปปฏิบัติ  และเตือนตัวเองอยู่เสมอค่ะ
  • ดิฉันขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย  หลวงพ่อพระพุทธชินราชดลบันดาลให้ท่านคุณหมอวิจารณ์และครอบครัวประสบแต่ความสุขตลอดไป   และมาช่วยจุดประกายทางความคิดให้กับพวกเราตลอดไปนะคะ

          ลูกหว้าค่ะ

  ขอบพระคุณที่ท่านอาจารย์ใหญ่เมตตาให้กำลังใจ

คอยลงปฏักให้อยู่ในจุดที่ควรจะอยู่จะเป็นไปใน

ครรลองของมนุษย์พันธุ์KM.ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท