สศค. หวั่นเบิกงบลงทุนติดลบ 54%


สศค. หวั่นเบิกงบลงทุนติดลบ 54%

            นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน พ.ย. 2549 ว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงได้รับปัจจัยขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัวดีมาก และการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง  แม้ว่าการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลจะชะลอตัวลงจากเดือน ต.ค. แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก จึงทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก  ในเดือน พ.ย. การส่งออกมีมูลค่า 11,879.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 20.7% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง มีมูลค่า 10,129.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.5% ทำให้ ดุลการค้าเกินดุลสูงสุดในรอบ 6 ปี  1,742.2  ล้านเหรียญสหรัฐฯ   และส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย.เกินดุลเป็นเดือนที่ 4  ติดต่อกัน จึงคาดว่า เมื่อถึงสิ้นปี 49 ไทยจะเกินดุลการค้าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

            ส่วนปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอคือ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2550 ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาทำให้รายจ่ายในเดือน พ.ย. มีจำนวน 111,691 ล้านบาท ติดลบ 16.5%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากงบลงทุนเบิกจ่ายได้ในระดับต่ำเพียง 18,626 ล้านบาท  เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 41,331 ล้านบาท หรือติดลบ 54.9%    ขณะที่การบริโภคก็ลดลง  เนื่องมาจากภัยน้ำท่วม ค่าเงินบาท     ที่แข็งค่าขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน พ.ย. ขยายตัวเพียง 8.5% ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงจาก  77.7  จุด  ในเดือน  ต.ค.  เป็น  77.2  จุดในเดือน  พ.ย.   ในปีนี้การส่งออกมีน้ำหนักมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีน้ำหนักถึง 67% ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐและรัฐวิสาหกิจ 18%   ส่วนที่เหลือ 15% เป็นการบริโภคของประชาชน    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่ส่งต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมากนัก โดยปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโต 5% ของจีดีพีอย่างแน่นอน ส่วนปีหน้าที่ตั้งเป้าไว้ 4-5% ของจีดีพี ยังต้องลุ้นเรื่องแนวโน้มค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาสินค้าเกษตรที่จะปรับตัวดีขึ้นได้หรือไม่             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประมาณ การดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วประเทศ (เงินเฟ้อ) ของไทย      ในปี 50 ไว้ที่ขยายตัว 2.5-3.5% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ และต่ำกว่าประมาณการของปี 49 คาดว่าน่าจะขยายตัว 4.6-4.8% เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้ราคานำเข้าวัตถุดิบถูกลง ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปถูกลงด้วย            ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง และอัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่น่าห่วง สำหรับกรณี       ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเปลี่ยนการดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาใช้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน  (อาร์/พี)  แทนระยะ 14 วัน   กระทรวงพาณิชย์คงต้องหันมาใช้อาร์/พี 1 วัน เป็นสมมติฐานในการคาดการณ์เงินเฟ้อของประเทศเช่นกัน

ไทยรัฐ : 29 ธ.ค. 49

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 70066เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท