เป็นนายตนเอง อุปนิสัยสู่ความสำเร็จ


หลายคน คงเคยได้ยินและอ่าน หนังสือชื่อ "7 habits of highly effective people" เขียนโดย ดร.สตีเฟน โควีย์ บุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทมส์ ให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดคนหนึ่งของโลก งานเขียนชิ้นนี้ได้รับตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วทั่วโลกกว่า 38 ภาษา มียอดขายรวมกว่า 15 ล้านเล่ม  จากข้อมูลที่น่าสนใจนี้ ทำให้ต้องไปหามาอ่าน อ่านแล้วก็เห็นตามที่ผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่า อุปนิสัย หรือแนวปฏิบัติที่ Covey เขียนนั้น เป็นวิถีพุทธนั่นเอง แต่เขาสามารถเขียน มีคำอธิบาย และ เหตุการณ์ประกอบที่เป็นสากล ทำให้ได้รับการตอบรับทั่วโลก  อ่านแล้ว ก็เลยอยากสรุปความ ตามที่เข้าใจเอง เผื่อคนที่ไม่มีเวลาอ่าน จะได้รับประโยชน์จากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ด้วย (ดิฉันไม่ได้แปลภาษาอังกฤษตัวต่อตัว ใช้วิธีตีความตามที่เข้าใจ และอาจไม่ตรงกับฉบับแปลภาษาไทย) โดยอุปนิสัยแรก "Proactivity"  ตีความว่า "เป็นนายตนเอง"  ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นการควบคุมตนเอง เป็นพื้นฐานของการกระทำทั้งมวล

Cevey แนะนำว่าในการอ่านหนังสือเล่มนี้  ผู้อ่านต้องแยกตัวเองออกมา เสมือนแยกตัวเองมาอยู่ที่มุมห้อง และมองดูตนเอง มองดูเข้าไปในดวงตาแห่งจิตใจของตนเอง และอ่านดูความรู้สึกนึกคิดดู  ให้เหมือนกับที่คุณกำลังมองผู้อื่น

คราวนี้ ลองหยุดคิดสักนิด ความรู้สึกนึกคิดของคุณเป็นยังไงบ้างตอนนี้  “It is quick or alert?” คุณรู้สึกกระฉับกระเฉง หรือไม่  ความสามารถดังกล่าวนี้ เราเรียกว่า “self awareness” การระลึกรู้ตนเอง โดยเฉพาะ หากสามารถ มองดูตนเองโดยแยกแยะอารมณ์ อคติ ความคิดเห็น ออกมา  เราจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา

The social mirror
หากภาพลักษณ์ (vision) ของเรามาจากภาพสะท้อนของสังคม สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา  ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดของสังคม ความคิดเห็นของผู้อื่นรอบตัวเรา – เราคงพบกับภาพสะท้อนที่เลวร้าย ประมาณว่า “เธอมาสายเสมอ”, “เธอน่าจะเป็นศิลปินนะ”, “ฉันอยากไม่เชื่อเลยว่าเธอจะชนะ”

มีทฤษฎี 3 ทฤษฎี ที่กำหนดตัวตนหรือรูปลักษณ์ของคนเรา
 ทฤษฎีทางพันธุกรรม
 ทฤษฎีทางจิตใจ  เช่นประสบการณ์ในวัยเด็ก  ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ 
 ทฤษฎีทางสภาวะแวดล้อม เช่นสภาพครอบครัว  สังคม เศรษฐกิจ การเมือง
 โดยสรุป พื้นฐานของทฤษฎีเหล่านี้ก็คือ สิ่งกระตุ้น เป็นตัวกำหนดการตอบสนองของคนเรา  (Stimulus-> response)

ความหมายของ “Proactivity” การเป็นนายตนเอง
Covey บอกว่าในที่นี้  proactivity มีความหมายมากกว่า การริเริ่มให้เกิดขึ้น โดยมีความหมายว่า ในความเป็นคน เรามีภาระรับผิดชอบชีวิต (responsibility) ของตนเอง  พฤติกรรมของเรา เป็นผลจากการตัดสินใจของเรา ไม่ใช่เงื่อนไขต่างๆ หากแยกคำว่า responsibility เป็น response-ability (การตอบสนอง-ความสามารถ) จะเข้าใจความหมายได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือความสามารถในการเลือกการตอบสนองของเรา   คนที่มีความเป็น proactive มากจะรับรู้ถึงความสามารถดังกล่าวนี้  เขาเหล่านี้ จะไม่โทษสิ่งแวดล้อมเมื่อทำอะไรไม่ได้ดังใจ หรือมีข้อผิดพลาด  พฤติกรรมของเขาเหล่านี้ เป็นผลจากการตัดสินใจอย่างมีสติ บนพื้นฐานหลักคิดแห่งคุณค่าของตนเอง

ในทางตรงกันข้าม หากเราตัดสินใจตามอารมณ์ หรือ เงื่อนไขต่างๆ นั่นคือพฤติกรรมแบบ “reactive” ซึ่งเป็นการตอบสนองโดยอัตโนมัติตามสิ่งกระตุ้น เช่น ถ้าอากาศดี ก็รู้สึกดี  แต่ถ้าอากาศไม่ได้ อารมณ์ การกระทำก็ไม่ดี  แต่ คนที่ proactive จะสามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตนเอง ไม่ให้แกว่งไปแกว่งมาตามสิ่งแวดล้อม

คนที่ proactive ยังสามารถได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยทางกายภาพ สังคม หรือ ทางจิตใจ  แต่การตอบสนอง ยังอยู่บนพื้นฐานของหลักยึดในคุณค่าของตนเอง ดังเช่นที่ท่านมหาตมะคานธีพูดว่า “they can’t take away our self respect if we don’t give it to them

Listening to our language
วิธีหนึ่ง ที่เราอาจจะสำรวจว่า เราเป็นคนแบบ proactive หรือไม่ พิจารณาได้จากภาษา หรือคำพูดที่เราใช้  “ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้ ฉันไม่มีเวลา  เวลาเป็นสิ่งจำกัดฉัน” หรือ “ฉันจำเป็นต้องทำเช่นนั้น  สภาพแวดล้อม หรือคนอื่นกดดันให้ฉันต้องทำเช่นนั้น” เหล่านี้เป็นคำพูดของคนแบบ reactive ในขณะที่คนแบบ proactive มักจะมีคำพูดเช่น “ลองคิดถึงทางเลือกอื่นดู”  “ฉันควบคุมอารมณ์ตนเอง”  “ฉันจะเลือกวิธีที่เหมาะสม” แล้วคุณหละ เป็นคนแบบไหน??

Circle of concern/ circle of influence :วงกลมของการใส่ใจ / วงกลมของการควบคุม
Covey เสนอวิธีสำหรับฝึกให้เราเป็นคนแบบ รู้ตนเอง หรือ เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ  โดยการดูว่าเราให้เวลา และพลังงานส่วนใหญ่ของเราในเรื่องใด  หากเรามีเรื่องที่ต้องคำนึงถึง หรือใส่ใจมากมาย เช่นเรื่องลูก ปัญหาที่ทำงาน  การเมือง สังคมภายนอก  จะลองตีกรอบวงกลมรอบสิ่งเหล่านี้  แล้ว เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้ใส่ใจไว้นอกวงกลม  เราจะเรียกวงกลมนี้ว่า “วงกลมแห่งการใส่ใจ” ถ้าเราพิจารณาสิ่งต่างๆ ในวงกลมแห่งการใส่ใจนี้ให้ดี จะพบว่า จริงๆ แล้ว มีบางอย่าง ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราโดยสิ้นเชิง แต่มีบางอย่างที่เราสามารถทำอะไรได้บ้าง  เราสามารถรวบรวมสิ่งหลังไว้ในวงกลมอีกวงหนึ่งที่เล็กลงมา เรียกว่า “วงกลมแห่งการควบคุม

                        

จากนั้นก็ทบทวนว่า เราใช้เวลาและพลังงานไปกับส่วนใดมากกว่ากัน ในวงกลมที่ซ้อนกันอยู่นี้  คราวนี้ เราก็จะสามารถบอกได้ว่า เราเป็นคน proactive ขนาดไหน คนที่ proactive จะใช้พลังงานและเวลาของเขาใน “วงกลมแห่งการควบคุม”  เขาทำในสิ่งที่ตนเองทำได้  หากพลังส่วนนี้ เป็นเรื่องบวก วงกลมนี้ก็จะขยาย  ในทางตรงกันข้าม คนแบบ reactive มุ่งเน้นเรื่องราวใน “วงกลมแห่งการใส่ใจ”  พวกเขาเหล่านี้ ใส่ใจเป็นจุดอ่อนของผู้อื่น   ปัญหาต่างๆ รอบด้านที่ตนเองไม่มีส่วนหรือทำอะไรได้  ผลของการหมกมุ่นนี้ นำไปสู่การต่อว่าต่อขาน และข้อแก้ตัวต่างๆ นาๆ  เกิดเจตคติทางลบ  คำพูดแบบ reactive และความรู้สึกของการเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ถูกกระทำ  เกิดเป็นพลังทางลบ บวกกับการละเลยสิ่งที่ตนเองจะทำได้  จะทำให้ วงกลมแห่งการควบคุม หดเล็กลง 

              

หัวใจของการมุ่งเน้นในวงกลมแห่งการควบคุม คือความสามารถของเราที่จะสร้างพันธะและสัญญากับตนเองและผู้อื่นได้หรือไม่  มี 2 วีธีสำคัญที่เราจะควบคุมชีวิตตนเองได้ นั่นคือ
 1) สร้างพันธะสัญญากับตนเอง และรักษามันไว้
 2) กำหนดจุดหมายในชีวิต และพยายามทำให้สำเร็จ
เพราะเมื่อเราสร้างพันธะสัญญา เราจะพยายามซื่อสัตย์ต่อมัน นั่นคือจะทำให้เราพยายามควบคุมตนเองอยู่เสมอ  หากเราสร้างพันธะสัญญากับตนเองและผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ อุปนิสัยนี้ จะค่อยๆ สั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เราควบคุมการกระทำของตนเองให้อยู่เหนืออารมณ์ และเงื่อนไขต่างๆ ได้   พลังของการสร้างและรักษาพันธะสัญญานี้ เป็นอุปนิสัยพื้นฐานของการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ
 
โดยสรุปก็คือ ชีวิตเป็นของเรา เราสามารถกำหนดพฤติกรรมของเราได้เอง โดยยึดหลักความเชื่อที่ตนเองมี และการที่จะตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดี จะต้องพยายามใส่ใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือทำอะไรได้ โดยพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ว่าอยู่ในหรือนอกวงกลมแห่งการควบคุม  วิธีสำคัญที่จะควบคุมตนเอง โดยการกำหนดจุดหมายปลายทางในชีวิตและสร้างพันธะสัญญาที่จะทำให้สำเร็จ และซื่อสัตย์ในพันธะสัญญานั้น

หมายเลขบันทึก: 7003เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2005 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งมีโอกาสอ่านบันทึกนี้ (เมื่อ 2 ปีผ่านไป)

เคยมีโอกาสเข้า course อบรม 7  habbits นี้เมื่อ 2ปีก่อน  (คงเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์เขียนบันทึกนี้พอดีค่ะ)

 แม้จะจำรายละเอียดไม่ได้มากนัก แต่จำได้ว่ามันทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกได้ดีทีเดียวค่ะ

 

  • ขอขอบคุณคุณหมอปารมีค่ะ ที่บันทึกนี้ได้ช่วยให้เราเข้าใจดูตนเองมากขึ้น...
  • ....และขอขอบคุณสำหรับหนังสือที่คุณหมอตั้งใจฝากเพื่อนมาให้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท