KM


KM
เมื่อวันที่ ๖ ธค. ๔๙ สคส. เชิญ รศ. พญ. ปารมี ทองสุกใส หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มาเล่าให้คณะกรรมการอำนวยการ สคส. ฟัง ว่าภาควิชาพยาธิวิทยาประยุกต์ใช้ KM อย่างไร จึงเกิดผลดีอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ     คำบอกเล่าและคำโต้ตอบการซักถามจากคณะกรรมการ      ทำให้ผมคิดว่าผมจะต้องเอามาตีความเล่าใน บล็อก ว่าผมเห็นว่าภารกิจที่ "คุณเอื้อ" ต้องทำ (ภารกิจที่ขาดไม่ได้)     คืออะไรบ้าง

         ในหนังสือ "การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ" หน้า ๑๑  ระบุหน้าที่ของ  "คุณเอื้อ" ไว้ ๙ ข้อ    ในหน้า ๒๑ - ๒๓ กล่าวซ้ำอีก และขยายเป็น ๑๑ ข้อ     และในหน้า ๑๐๙ - ๑๑๔ กล่าวถึงทีมปฏิบัติการจัดการความรู้    โดยมี "คุณเอื้อ" อยู่ด้วย     และระบุหน้าที่ ๓ ประการ  คุณสมบัติ ๗ ประการ ของ "คุณเอื้อ" 

        ในหนังสือ "KM วันละคำ" ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ ๑ ธค. ๔๙    เขียนถึง "คุณเอื้อ" อย่างละเอียด ตั้งแต่หน้า ๒๙ ถึง หน้า ๓๗     และระบุการปฏิบัติหน้าที่ "คุณเอื้อ" ไว้ ๙ ข้อ

        ผมเดาว่าคงมีผู้บริหารน้อยคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มแรก (เล่มหลังเพิ่งตีพิมพ์)     และคนที่ได้อ่านก็คงไม่ได้อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์     ไม่ได้สนใจใช้ KM อย่างจริงจัง      จึงไม่ค่อยมีผู้บริหารทำตัวเป็น "คุณเอื้อ" อย่างจริงจัง     ผมสงสัยว่า เหตุที่ประเทศไทยมีโอกาสใช้ KM ในการพัฒนาองค์กร น้อยไป คงจะมี "คอขวด" อยู่ที่ผู้บริหาร เป็นตัวการสำคัญ 

        ผมสงสัยว่า ในหนังสือทั้ง ๒ เล่ม ผมคงจะเขียนเล่าทักษะของ "คุณเอื้อ" ไว้ในทำนองว่า     การขี่จักรยานต้องขึ้นไปคร่อมอาน เอามือทั้งสองข้างจับแฮนด์ มือซ้ายจับแฮนด์ซ้าย มือขวาจับแฮนด์ขวา     เอาเท้าถีบที่คันถีบ    โดยต้องเลี้ยงตัวให้ดีไม่ให้ล้ม   ฯลฯ อ่านกี่เที่ยวก็ขี่จักรยานไม่เป็น     หรืออ่านกี่เที่ยวก็ทำหน้าที่ "คุณเอื้อ" ไม่เป็น

        ผมจึงอยากเรียนรู้ว่า อ. หมอปารมีคิดอย่างไร  ทำอย่างไร  เชื่ออย่างไร  จึงทำหน้าที่ "คุณเอื้อ" ได้ดี     และมีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ "คุณเอื้อ"      สิ่งที่ผมเรียนรู้ได้แก่
          (๑) แรงบันดาลใจ     อ. หมอปารมี มีแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาภาควิชา  โดยใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมๆ ที่ได้ผลน้อย
          (๒) อ. หมอปารมี เชื่อว่า "คำตอบอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ" หรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ นั่นเอง    จึงหาวิธีดึงเอาพลังของผู้ปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว (แต่เป็นพลังแฝง) เอามาพัฒนาตนเอง พัฒนากันเอง     โดยใช้การพัฒนางานเป็นเครื่องมือ
          (๓) อ. หมอปารมีชักชวนเจ้าหน้าที่ในภาควิชา จัดทีมทำโครงการพัฒนางาน (Patho - OTOP)     ไม่ใช่ชวนทำ KM (ย้ำว่า ไม่ใช่ชวนทำ KM)
          (๔) การชวนทำ โครงการพัฒนางาน นั้น    ไม่ใช่ชวนลอยๆ     แต่มีการออกแบบเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการอย่างชาญฉลาด และ "สอดไส้" KM ไว้ในเงื่อนไขนั้น     ให้ทีม Patho - OTOP ใช้ KM เป็นเครื่องมือแบบไม่รู้ตัว
          (๕) มีการตั้งชื่อโครงการ ให้จำง่าย  พูดโจษจันกันได้ง่าย  คือ Patho - OTOP  
          (๖) มีการสร้างบรรยากาศ ให้ผู้ปฏิบัติตื่นตัว  มีความมั่นใจตนเอง  และเชียร์กันเอง
          (๗) มีเงินสนับสนุนทีมที่ทำโครงการ   และมีเงินรางวัล แก่โครงการที่ผลงานเด่น
          (๘) มีการติดตามและประเมินผล  แบบที่ทุกคนรอคอย     เป็นกุศโลบายติดตามผลเชิงบวก แบบที่ทุกคนรอคอย     คือวันนำเสนอผลงาน
          (๙) มีทีมคณะผู้บริหาร ร่วมกันคิดวิธีการ "จัดการการพัฒนาจากระดับปฏิบัติการ"  แบบพัฒนาหรือปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 

        แล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้ คืออะไร?

        ผมตอบว่า   คือหน้าที่ปลุกด้านดีของความเป็นมนุษย์ ของคนทุกคนในหน่วยงาน     ออกมาพัฒนาตนเอง  พัฒนากันเอง  พัฒนาองค์กร     โดยใช้การพัฒนางานเป็นเครื่องมือ

        ดังนั้น "คุณเอื้อ" จะทำหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ ต่อเมื่อ  "คุณเอื้อ" เชื่อในศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในความเป็นมนุษย์ของทุกคน

วิจารณ์ พานิช
๗ ธค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #km#คุณอำนวย
หมายเลขบันทึก: 70015เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • บันทึกนี้เห็นลงชื่อ อ.หมอวิจารณ์ค่ะ เลยทำให้ดิฉันงงนิด ๆ   
  • ผู้บริหารที่ไม่เข้าใจเรื่องKM น่าจะจับไปอบรมหลักสูตรนี้แบบเข้มข้นเลยค่ะ ท่าจะดีไม่น้อยค่ะ  

 

ครับถูกต้อง เป็นของ อ.วิจารย์ ผมสนใจมากเลย capture มาไว้อ่านเพื่อเรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท