Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

สรุปผลการประชุมรายงานความก้าวหน้าฯ


ผลการประชุมรายงานความก้าวหน้าฯ
เวทีรายงานความก้าวหน้างานวิจัยผศ.สมทรง  นุ่มนวล         เมื่อวันจันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2549 สถาบันวิจัยและพัฒนา ได้จัดเวทีรายงานความก้าวหน้างานวิจัยให้กับนักวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ประจำปี 2549 ครั้งที่ 1 กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขการรับทุนอุดหนุนการวิจัย (สัญญาการรับทุน ฯ ข้อ 5) ระบุให้นักวิจัยจะต้องรายงานความก้าวหน้างานวิจัยต่อมหาวิทยาลัยหลังจากได้รับทุนไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน  ซึ่งถือเป็นการประกันคุณภาพรูปแบบหนึ่ง  สำหรับผู้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) นั้น ในปีงบประมาณ 2549 มหาวิทยาลัยมีนโยบายและมอบหมายให้ทุกคณะบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อให้คณะมีศักยภาพด้านการวิจัยที่ลุ่มลึกในศาสตร์  การพัฒนาคุณภาพงานวิจัยทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ ขั้นต้นน้ำ  เช่น การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย การจัดเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าซึ่งเป็นการประกันคุณภาพงานวิจัย  ขั้นกลางน้ำ และการตรวจรับผลงานวิจัยซึ่งเป็นการประกันคุณภาพงานวิจัย ขั้นปลายน้ำ  คณะสามารถดำเนินการได้ในทุกมิติ โดยมีดัชนีบ่งชี้คือการประกันคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นเป้าหมายสูงสุดการจัดเวทีรายงานความก้าวหน้าฯ มีวัตถุประสงค์ให้นักวิจัยได้ประมวลผลการดำเนินการวิจัยนำเสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา  กิจกรรมขั้นกลางน้ำดังกล่าวจึงมีความสำคัญยิ่ง  เปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำพางานวิจัยไปสู้เป้าหมายอย่างมีมาตรฐาน         ในการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าฯ ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 30 คน โดยมีท่านอธิการบดี ผศ.ดร.ณรงค์  พุทธิชีวิน เป็นประธานในพิธีเปิด ท่านได้ให้ข้อคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยของมหาวิทยาลัย ว่า ถึงแม้ผมจะติดภารกิจมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเกี่ยวกับงานวิจัยแล้วต้องมา เรื่องวิจัยคือหัวใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี งานวิจัยเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การจัดการความรู้  ที่ไม่เพียงแต่ผู้วิจัยหรือผู้วิจารณ์เท่านั้น แต่คนที่เข้ามาร่วมก็จะได้รับความรู้แจ้งด้วย การสนใจงานวิจัยไม่จำเป็นจะต้องทำวิจัยในทันทีทันใด แต่ต้องมีกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นสามารถทำวิจัยที่มีคุณภาพได้ จึงอยากให้คนอื่นๆ เข้าร่วมให้มากขึ้น การเข้าร่วมกิจกรรมการวิจัยทำให้ทุกคนได้รับการพัฒนา การวิจัยและการเรียนการสอนเป็นเรื่องเดียวกัน การพัฒนาอาจารย์เป็นหน้าที่ของทุกคน การวิจัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาจารย์ อยากให้คนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อพบหน้ากันแทนที่จะถามว่า วันนี้จะไปไหน  เปลี่ยนเป็นถามใหม่ว่า งานวิจัยไปถึงไหนแล้ว ในปัจจุบันภาคประชาชนทำวิจัยลึกยิ่งขึ้น เราอยู่ในแวดวงวิชาการหากไม่ทำวิจัยแล้วจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร กิจกรรมครั้งนี้มีโครงการวิจัยประเภทวิจัยและพัฒนานำเสนอ จำนวน 5 โครงการจากนักวิจัยทุกคณะ ได้แก่ 1) ผลของการเสริมขมิ้นชันในอาหารไก่ไข่ต่อสมรรถภาพการให้ผลิตไข่และคุณภาพไข่ โดย อ.โสภณ  บุณล้ำ 2) บทบาททางการเมืองของผู้นำท้องถิ่นศึกษาเฉพาะกรณีผู้นำท้องถิ่นอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย
อ.รุจน์จาลักษณ์รายา คณานุรักษ์
 3) หุ้นส่วนธุรกิจกับการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี โดย ผศ.อาธิ   ครูศากยวงศ์ 4) พลวัตทางวัฒนธรรม
: กรณีศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดย อ.ปรีดา สุวรรณจันทร์ และ 5) การศึกษาเกี่ยวกับการนำโลกออกมาจากอำนาจวัตถุนิยมตามความคิดและการปฏิบัติของท่านพุทธทาสภิกขุ โดย ดร.อินทุวรรณา เชยชื่นสกุล  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยกับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมฟังกับนักวิจัย ทั้งนี้เพื่อให้นักวิจัยได้ดำเนินการวิจัยต่อไปได้สมบูรณ์ครบถ้วน และผลงานวิจัยมีคุณภาพสามารถนำไปเผยแพร่และใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง        สำหรับบรรยากาศในการประชุมนั้น  ถึงแม้จะเป็นเวทีวิชาการแต่บรรยากาศก็ไม่เคร่งเครียด (สำหรับนักวิจัยไม่แน่ใจว่าเครียดหรือไม่..) แต่ผู้เข้าร่วมฟังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อสงสัยหรือสิ่งที่สนใจได้อรรถรสทีเดียว เช่น โครงการวิจัยเกี่ยวกับไข่ (ไก่) ของอาจารย์โสภณ บุญล้ำ จากคณะวิทย์ฯ  ซึ่งท่านคลุกคลีวิจัยเกี่ยวกับ เป็ด ไก่ จนเชี่ยวชาญ  ผู้ทรงคุณวุฒิถามหรือตั้งข้อสังเกตอะไรอาจารย์เคลียร์ได้ทุกประเด็น ผู้เข้าร่วมฟังหลายท่านสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่อาจารย์นำเสนออย่างมีสีสัน โดยเฉพาะในประเด็นสีของไข่กับการเสริมขมิ้นชัน จนกระทั่งอาจารย์พิชัย สุขวุ่น รู้สึกเป็นกังวล และโล่งอกเมื่อรู้ว่าเกือบจะเป็นกลุ่มประชากรที่อาจารย์โสภณใช้ในการทดลอง มิฉะนั้นต้อง โอ้.. มายก้อด เป็นแน่แท้..เบื้องหลังเป็นอย่างไรถามไถ่กันเอาเองนะคะ  หรือโครงการเกี่ยวกับการนำโลกออกจากวัตถุตามแนวคิดของท่านพุทธทาส ฯ ของ ดร.อินทุวรรณาฯ ก็เร้าใจและท้าทายบริบทการพัฒนาสังคมไทยอย่างแหลมคม  โครงการอื่น ๆ ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน  หากถามความคิดเห็นของอาจารย์สิทธิพร รอดปังหวาน  ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ยังไม่เคยทำวิจัยและกำลังคิดจะทำวิจัย โดยได้เข้าร่วมฟังกิจกรรมลักษณะดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรก อาจารย์บอกว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากได้ฟังแล้วทำให้เกิดความรู้ ได้รับความรู้ใหม่ และแนวทางในการทำวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิมีความสำคัญมากที่จะช่วยให้การดำเนินการวิจัยสำเร็จลุล่วงอย่างมีคุณภาพ การให้ข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิก็เป็นไปอย่างกัลยาณมิตร ขอขอบคุณนักวิจัยที่ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าฯ  และขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ  รศ.ชูศักดิ์
เอกเพชร  รศ.สุณีย์  ล่องประเสริฐ  ผศ.ดร.ราตรี 
นันทสุคนธ์  รศ.สมเกียรติ  ตันสกุล  รศ.เปรมจิต   ชนะวงศ์   เรือโท ผศ.ดร.อนันต์  ใจสมุทร และ
ผศ.ดร.โอภาส  พิมพา 
ที่สละเวลาอันมีค่าเพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
หมายเลขบันทึก: 70009เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท