สภาข้าราชการฯ มน. : อธิการบดีพบสภาข้าราชการและลูกจ้างฯ


    เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา ท่านอธิการบดี (รศ. ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี) ได้นัดประธานสภาข้าราชการฯ (คุณจรัญ ฟุ้งเกียรติคุณ) เพื่อพบสภาข้าราชการและลูกจ้างฯ ในการชี้แจงเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งผมเป็นเลขาธิการในสภาข้าราชการ ได้รับเรื่องจากประธาน ก็เร่งทำหนังสือด่วนถึงกรรมการสภาข้าราชการทุกท่าน ในการเข้าร่วมรับฟังเรื่องดังกล่าวจากท่านอธิการบดี

   การเข้าร่วมครั้งนี้ คุณธีระพงษ์ (เจ้าหน้าที่ของสภาอาจารย์) มาเป็นท่านแรก ผมมาเป็นคนที่สอง เนื่องจากกรรมการแต่ละท่าน ส่วนใหญ่เป็นเลขานุการคณะ มีงานยุ่งกันพอสมควร ผมก็หวั่นใจอยู่ เนื่องจากท่านอธิการบดีมาเป็นประธาน เกรงว่ากรรมการจะมาเข้าร่วมกันน้อย แต่พอเวลาผ่านไป กรรมการแต่ละท่านมากันเยอะขึ้น ทำให้ประธานสภาฯ และผมอุ่นใจขึ้นครับ

    ตอนแรกผมเข้าใจว่าท่านอธิการบดี มาเพียงท่านเดียว แต่ปรากฎว่า มีรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร (รศ.กมล การกุศล) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (รศ.ดร.สุพักตร์ พ่วงบางโพ) และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา (ดร.สำราญ ทองแพง) มาร่วมชี้แจงให้กรรมการสภาฯ ที่เข้าร่วมประชุมทุกท่านทราบด้วย

      ท่านอธิการบดี มาแบบมืออาชีพจริง ๆ ครับ ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก ตอนท่านเข้ามา ท่านประธานสภาฯ ก็ไม่อยู่ในห้อง ผมจึงรีบโทรศัพท์ตาม ท่านประธานสภาฯ จึงรีบเข้ามาในห้อง ความจริงตอนท่านบรรยาย ผมไม่ได้จับประเด็นที่ท่านพูดมากนัก เพราะพอจะได้ฟังจากท่านในเวที  Meeting of the Minds เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา  แต่ตอนที่ท่านบรรยายไปจบแล้ว ท่านเปิดโอกาสให้กรรมการสภาฯทุกท่านซักถาม ท่านเริ่มจากคุณจำรัส ปลากัดทอง (เลขานุการคณะวิศวฯ ก่อน) ว่าเข้าใจเรื่อง การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยว่าอย่างไรบ้าง ตอนนี้สมองผมเริ่มทบทวนสิ่งที่ท่านพูดแล้วครับ และเมื่อท่านหันมาที่ผม ท่านบอกว่า นี่ KM ผมตกใจอยู่เหมือนกัน ว่าท่านก็รู้ด้วยว่าผมเขียน Blog (แสดงว่าท่านคงได้อ่านบันทึกของผมบ้าง) ท่านบอกผมว่า เข้าใจหรือเปล่า ผมตอบท่านแบบสั้น ๆ ว่า เข้าใจครับ และให้ผมช่วยไปประชาสัมพันธ์ใน Blog ให้ด้วย  ซึ่งประเด็นที่ผมนำมาลง ส่วนหนึ่งมาจากการตีความของผมด้วยครับ

        - โครงสร้างเดิมของมหาวิทยาลัย ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรวมมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการเองได้ โดยสภามหาวิทยาลัย
        - มหาวิทยาลัยยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ
        - การคอรัปชั่นไม่ได้เกี่ยวกับการออกนอกระบบหรือไม่ออกนอกระบบ ขึ้นอยู่กับ DNA  (คำคมของท่านจริง ๆ ครับ)  ตระกูล พันธุกรรมของผู้นั้น
       -  มหาวิทยาลัยยังถูกตรวจสอบโดย สตง. ปปช. อยู่ 
       -  กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังมีคณะกรรมการอุธรณ์ร้องทุกข์ และ ศาลปกครอง เป็นที่พึ่ง     
       -  การประเมินเอาคนออกไม่มี มีแต่ ไม่รู้จะเอาคนออกได้อย่างไร
          (ยกเว้นคดีอาญา , ค้ายาบ้า) 
        - การย้ายคน ถึงไม่ออกนอกระบบก็สามารถทำได้ (ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนฯ แซวเล็ก ๆ กับประธานสภาข้าราชการ ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งหัวหน้าสภาอาจารย์ว่า เมื่อออกนอกระบบแล้ว หัวหน้าสภาอาจารย์อาจจะถูกย้ายเป็นคนแรกก็ได้ เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้เข้าร่วมประชุมได้พอสมควร)
        - พนักงานมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ ไม่มีพ.ร.บ. รองรับ เหมือนกับลูกจ้างชั่วคราวในมหาวิทยาลัย การออกนอกระบบจะช่วยให้มีพ.ร.บ.รองรับ ขณะนี้พนักงานในมหาวิทยาลัยมีมากกว่าข้าราชการ
        - ข้าราชการที่ออกเป็นพนักงานภายใน 30 วันจะได้รับเข้าเป็นพนักงานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องผ่านการประเมิน เพราะข้าราชการมีการประเมินผ่านมาแล้ว สำหรับข้าราชการที่ออกภายหลัง 30 วัน จะมีการประเมินก่อนเข้าเป็นพนักงาน
         - ข้าราชการที่ไม่ประสงค์จะเป็นพนักงาน ยังคงเลือกเป็นข้าราชการอยู่ได้ โดยใช้พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนอุดมศึกษา (กพอ.)
         - ข้าราชการที่ออกเป็นพนักงาน จะได้รับเงินเดือน เพิ่มขึ้น 50% กรณีมีเงินประจำตำแหน่งก็จะได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มอีก 50 % เหมือนกัน
         - ตำแหน่งเชี่ยวชาญ ชำนาญการ ที่เคยได้รับ ก็ยังคงได้รับ
         - การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ทุกมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกพร้อมกันทั้งหมด เรื่องงบประมาณรัฐมีเพียงพอที่จะจ่ายให้กับมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ
         - งบประมาณที่เคยได้รับไม่น้อยกว่าเดิม โดยเฉพาะงบดำเนินการ ที่นำมาจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน ส่วนที่จะลดลงคือ งบลงทุน (ค่าครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง) เพราะเมื่อมีการสร้างอาคาร หรือ มีการจัดซื้อครุภัณฑ์แล้ว ก็จะไม่ได้รับจัดสรรอีก ยกเว้นว่ามีเหตุผลและความจำเป็นต้องจัดซื้อเพิ่ม
         - งบครุภัณฑ์ยังต้องมีเป็น Item  
         - งบประมาณที่ใช้ไม่หมด สามารถนำมาใช้ได้อีก 
         - การพูดถึงงบประมาณ หมายถึง งบประมาณทั้งแผ่นดินและรายได้ เวลารายงาน รายงานรวมกันทั้งหมด แต่ทางคณะจะไปทำบัญชีแยกประเภทแต่ละงบประมาณ ได้เพื่อความชัดเจน
         - การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย มีพรบ.ส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย
         - สวัสดิการที่เคยได้รับจะไม่น้อยกว่าเดิม
         - ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ยังคงเป็นสมาชิก กบข. ตามเดิมต่อจนเกษียณอายุราชการ
         - ค่าหน่วยกิตของนิสิตจะไม่ขึ้นภายใน 10 ปี

          ผมเปิดดูเว็ปไซด์ของมหาวิทยาลัย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างเป็นกรรมการและสรุปข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. .... (ในกำกับของรัฐ) ด้วย ซึ่งในชุดกรรมการมี คณาจารย์ ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัย ประธานสภานิสิต เรียกว่า ตัวแทนจากประชาคมในมหาวิทยาลัยทุกส่วน มีส่วนร่วมทั้งหมดครับ  ท่านอธิการบดีและทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้เสียสละเวลาท่านอย่างยิ่งในการพบกับผู้นำนิสิต สภาอาจารย์ สภาข้าราชการและลูกจ้าง และประชาคมของมหาวิทยาลัยทุกท่าน  เพื่อรับฟังและชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนเรศวรครับ


                                                                                            บอย สหเวช
                                                                                             28 ธ.ค. 49

หมายเลขบันทึก: 69909เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2006 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เข้ามาเยี่ยมความเคลื่อนไหว ที่ มมส. ยังไม่มีสภาข้าราชการและลูกจ้างครับ มีเฉพาะสภาคณาจารย์..ส่วนการออกนอกระบบนั้นเป็นเรื่องที่พูดคุยกันอย่างกว้างขวางเช่นกันครับที่นี้ แต่อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ
อ่านที่คุณบอยสรุปให้ฟังแล้ว เข้าใจเพิ่มมากขึ้นค่ะ ณ ตอนนี้ คิดว่า พวกเรา ๆ ที่ยังลังเลในเรื่องของการออกนอกระบบหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่จะกังวลในเรื่องสวัสดิการมากกว่าค่ะ  ส่วนเรื่องของการประเมินหรือความก้าวหน้าในงานนั้น  สำหรับคนทำงานอย่างเรา ไม่กังวลเลยค่ะ  เพราะทุกวันนี้ ก็ทำงานอย่างเต็มที่และเต็มใจอยู่แล้ว
  • ขอบคุณคุณ Jack และคุณรัตติยา ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท