ความสุข กับความสนุก


ไม่ทราบทุกท่านที่กรุณาอ่านบันทึกนี้ จะรู้สึกเป็นสุขและสนุกกับผมด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องขออภัย ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในเรื่องเกี่ยวกับ การทำงานก็แล้วกันครับ

         วันนี้ (เสาร์ที่ 12 พ.ย. 48) ผมมาทำงานที่ Office ด้วยความรู้สึกที่เป็น “สุข”  เนื่องจากไม่มีคิวที่จะต้องทำอะไรมากมายเหมือนทุก ๆ วันในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสอยู่คนเดียว คิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่ผ่านมา กำลังเป็นอยู่ และอนาคต

         สองวันก่อน (พฤหัสบดีที่ 10 – ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48) ผม “สนุก” อยู่กับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ครับ

         วันที่ 10 ช่วงเช้าก่อน 08.30 น. เซ็นแฟ้มกองโต เนื่องจากวันที่ 9 ไม่อยู่ใน Office (ต้องไปประชุมที่อยุธยา) ในช่วงเวลานี้ก็มักจะวนเวียนอยู่กับคำว่า “ทราบ”   “เวียนแจ้ง”   “อนุมัติ”   “นำเข้าพิจารณาในที่ประชุม .....”   อะไรทำนองนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดูไม่ยากอะไร แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ “ยาก” ต้องใช้วิจารณญาณ และความกล้าในการตัดสินใจ

         ต่อมา 08.30 – 09.30 น. เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสัมมนา “เครือข่ายพลังงานชุมชน” ที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน

         10.00 – 12.00 น. ความจริงจะต้องไปประชุมกับคณะกรรมการ SML ที่ตึกมิ่งขวัญ แต่ว่าเพลินอยู่กับผู้บริหารวิทยาลัยพลังงานทดแทนมากไปหน่อย ไปถึงที่ประชุมประมาณ 11.00 น. ปรากฏว่าเขาประชุมกันเสร็จแล้ว เลยมีเวลาว่างขึ้นมาโดยบังเอิญอีกประมาณ 1 ชม. 

         13.00 – 15.00 น. ตามกำหนดการแล้ว จะเป็นการประชุมร่วมกับคุณเอกภาคย์ วรรณกูล และคุณนันทวรรณ ประภักรางกูล ซึ่งเป็น Programmer จาก CITCOMS ซึ่งได้มาช่วยงาน QAU (Quality Assurance Unit) มาช้านาน ในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของ มน. (NUQADB) ตั้งใจว่าจะช่วยกันพัฒนา NUQADB ให้สอดคล้องกับ สมศ. (รอบ 2) กพร. และอื่น ๆ ที่จำเป็น แต่เนื่องจากมีเวลาว่างขึ้นมา 1 ชม. ดังกล่าวแล้ว จึงปรับแผนใหม่เป็นเชิญ QAU ทุกคน พร้อมคุณเอกภาคย์ และคุณนันทวรรณ ขับรถออกไปหาอะไรรับประทานกันนอกมหาวิทยาลัยเป็นอาหารกลางวัน เลือกร้านอาหารที่อร่อย ในบรรยากาศที่สงบพอที่จะปรึกษาหารือเรื่องงานกันได้ และไม่อยู่ห่างจาก มน.  มากนัก เป็นร้านข้าวเหนียว ส้มตำ ที่นั่งแยกเป็นกระท่อมหลังใครหลังมัน อยู่ใต้ต้นไม้ที่ร่มเย็น มองออกไปข้างนอกเห็นทุ่งนาสบายตา ผมชอบมาที่นี่มากครับ พูดถึงเรื่องกินแล้วยาวทุกที เอาเป็นสรุปว่า ได้รับประทานอาหารกลางวันกัน และได้ข้อสรุปเรื่องการปรับปรุง NUQADB ไปพร้อม ๆ กันเลย

         15.00 – 16.30 น. ตามกำหนดการจะมีประชุมภายใน QAU เพื่อช่วยกันปรับ Action plan ประจำปีงบประมาณ 2549 ให้ชัดเจน จะได้นำไปใช้ประกอบการประชุมร่วมกับคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ใน มน. ในบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 24 พ.ย. 48 แต่เนื่องจากการประชุมกับ  Programmer เสร็จเร็ว เราจึงได้ปรึกษาหารือกันเกือบตลอดบ่าย ซึ่งมีประโยชน์มาก ทำให้ทุกคนใน QAU เห็นภาพชัดหมด ว่าทั้งปีจะทำอะไรกัน ทำเมื่อไร ใครรับผิดชอบในเรื่องอะไร จะติดตามและประเมินผลสำเร็จแต่ละโครงการ / กิจกรรมได้อย่างไร

         16.30 – 22.30 น. ตึก CITCOMS ที่เราอยู่ยังคงเปิดให้บริการคอมพิวเตอร์กับนิสิต โดยเฉพาะชั้น 6 ที่ QAU และ RDAC (Research and Development Administration Centre) ตั้งอยู่นั้น มีนิสิตขึ้นมาใช้บริการคึกคักตลอดเวลา ทำให้ไม่เงียบเหงา เรา (QAU และ RDAC) จึงกลับบ้านกันช้ามากเกือบทุกคนและเกือบทุกวัน โดยเฉพาะที่ RDAC เห็นน้อง ๆ กลับกันประมาณ 1 – 2 ทุ่ม เกือบทุกวัน เนื่องจากมีอะไรจะต้องเร่งทำตลอดเวลา ที่พักที่ผมอยู่ก็อยู่ภายใน มน. อยู่แล้ว ก็เลยมักจะอยู่พูดคุยและหาอะไรรับประทานตอนเย็นด้วยกันที่ห้องที่เราจัดไว้เป็นมุมพิเศษภายในที่ทำงาน น้อง ๆ เขามักจะเตรียมอาหารไว้ให้ผม ทั้งช่วงเช้าและช่วงค่ำ โดยที่ผมไม่ได้ร้องขอ แถมบางวันมาบังคับให้ไปกินอีกต่างหาก ช่วงสุดท้ายของวันนี้ก็มักจะมีแฟ้มกองโตมาให้เซ็นอีกเช่นกัน

         วันที่ 11 ช่วงเช้าก่อน 08.30 น. เซ็นแฟ้มเหมือนเดิม วันนี้มีน้อยหน่อย

         ต่อมา 08.30 – 11.00 น. ประชุมกับผู้บริหารงานวิจัยและนักวิจัย เพื่อช่วยกันพัฒนาชุดโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ที่ผมเคยเล่าให้ฟังแล้ว <Link> ในช่วงเวลานี้ของวันนี้พิเศษหน่อย ตรงที่ผมเปลี่ยนใจกะทันหัน คือ พอประชุมไปได้สักประมาณ 09.30 น. ผมก็ขอตัวที่ประชุมออกไปทอดกฐินของ มน. ที่วัดยางเอน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจาก มน. มากนัก โดยฝาก ดร.เสมอ ถาน้อย ช่วยเป็นประธานในที่ประชุมแทน ที่ว่าเปลี่ยนใจกะทันหัน ก็เนื่องจากเดิม ผมเข้าใจว่าตัวเองคงไปไม่ได้ พอประชุมไปได้สักระยะ ท่านคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ (ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท) ขอตัวว่าจะไปทอดกฐิน ผมเห็นว่าตัวเองก็น่าจะปลีกตัวไปได้เช่นกันจึงขอขับรถตามไปด้วย (ผมไม่รู้จักเส้นทางครับ) ก็ขอรับเอาพรจากพระ เอาบุญ มาฝากผู้อ่านผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ

         11.00 น. ผมขอตัวกลับจากวัด เพื่อประชุมปรับปรุงคู่มือเกี่ยวกับการดำเนินการด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ งานนี้ ดร.นงนุช โอบะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ และ ดร.เสมอ ถาน้อย เป็น Key man ครับ ประชุมกันไป รับประทานอาหารกลางวันไปด้วย เสร็จประชุมก็ประมาณ 13.00 น.

         13.00 – 14.00 น. มีนัดประชุมกับทีมงานจัดทำรายงานประจำปีมหาวิทยาลัย (2548) ซึ่งเป็นทีมงานมาจากกองแผนงาน ได้ความโดยสรุปคือ รายงานประจำปี มน. ในส่วนของงานวิจัยในปีนี้มีอะไรที่เปลี่ยนไปจากปีก่อน ๆ โดยสิ้นเชิง ภาพรวม ๆ คือ เดิมเราจะเอาชื่อโครงการและชื่อนักวิจัยที่ได้รับอนุมัติเงินให้ทำวิจัยมาลง แต่ปีนี้เราจะเอาผลงานวิจัยดีเด่น เอาบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ มาลงแทน เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยกันสร้างวัฒนธรรม  “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน”  ครับ

         14.00 – 15.30 น. ตัวผมเอง ดร.เสมอ ถาน้อย (ผู้ช่วยอธิการบดี) ผศ.วิรัช นิยมธรรม (ผอ.ศูนย์พม่าศึกษา) และนิสิต ที่เรียนในหลักสูตรพม่าศึกษาอีก 2 คน มีนัดกับทีมงานจาก มข. ที่นัดมาขอสัมภาษณ์และอัด Video Tape เรื่องเกี่ยวกับ East West Economic Corridor (EWEC) เพื่อจะนำไปใช้ประกอบการจัดประชุมนัดสำคัญที่ขอนแก่นในวันที่ 23 – 24 พ.ย. 48

         15.30 – 17.00 น. เดินทางไปฟังสรุปผลการแบ่งกลุ่มสัมมนาเรื่อง “เครือข่ายพลังงานชุมชน” ที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน พร้อมทั้งเป็นประธานในการปิดสัมมนาด้วย มีเรื่องที่น่าสนใจมากหลายเรื่อง จะหาโอกาสเล่าให้ฟังภายหลังครับ

         17.00 น. กลับมาชั้น 6 ตึก CITCOMS น้อง ๆ ในทีม RDAC ชวนไปคาราโอเกะตอนสองทุ่ม ผมขอตัวเนื่องจากไม่ถนัด (อย่างยิ่ง) และอยากพักผ่อน ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่เคยเห็นน้อง ๆ เขาไปคาราโอเกะกัน ตอนปฏิเสธขอตัวที่จะไม่ไปด้วย ในใจลึก ๆ ก็จะหาโอกาสไปแบบ surprise พวกเขาเหมือนกัน จึงรีบกลับมาที่พักอาบน้ำแต่งตัวรอเวลา ปรากฏว่า งีบหลับไป ตื่นขึ้นมาอีกที 5 ทุ่ม แล้ว เลยได้แต่ surprise ตัวเองว่าหลับไปได้ตั้งแต่เมื่อไร คืนนี้เลยมีเวลายาวนานที่จะคิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ มากกว่าทุกคืนครับ

         ไม่ทราบทุกท่านที่กรุณาอ่านบันทึกนี้ จะรู้สึกเป็นสุขและสนุกกับผมด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องขออภัย ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในเรื่องเกี่ยวกับ การทำงานก็แล้วกันครับ

         ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ สวัสดีครับ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6988เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2005 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     อาจารย์ครับผมอยากจะ ลปรร.ด้วย 1 ประเด็นครับ คือที่อาจารย์กล่าวถึง "เซ็นแฟ้มกองโต" ด้วยปีที่แล้ว สสจ.พัทลุงได้มีการศึกษาดูงานประเด็น "การสร้างหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัด" เราได้ไปดูการบริหารงานของ รพ.สระบุรี กันด้วย

     ผอ.รพ.สระบุรี ได้นำเสนอในหลาย ๆ เรื่อง มีเรื่องหนึ่งคือการผ่านหนังสือ/สั่งการ ทางระบบ Intranet และมีการกำหนดระดับการเข้าถึงของบุคลากรตามหน้าที่รับผิดชอบ มีการลงนามทราบ การรับไปปฏิบัติ หรือการรายงานผลการปฏิบัติงานกลับของบุคลากร ตอนนั้นผมยังไม่รู้จัก Blog แต่ผมว่าแนวคิดเดียวกันเลย ถ้าได้นำมาปรับใช้ภายในองค์กร (ใหญ่ ๆ) น่าจะคุ้มค่า และวันนั้น ผอ.รพ. ได้นำเสนอด้วยว่าหากเป็นการติดต่อสื่อสารกันภายในก็ไม่มีการใช้กระดาษอีกแล้ว

     ผมเลยกลับมาฝัน (ความฝันของผู้ปฏิบัติเล็ก ๆ คนหนึ่ง) ว่าถ้าได้นำมาปรับใช้ มีข้อดีหลายเรื่อง (หลับตาเห็นได้เลย) แน่นอนครับข้อเสียก็มี แต่น่าจะคุ้มค่ากว่ามาก

     ในระบบดังกล่าวของ รพ.สระบุรี จะมีการลงเวลาการทำงานไปด้วย ฉะนั้นบุคลากรทุกระดับไม่มีการตอกบัตร แต่จะมาเปิด Intranet ติดตามข่าวสารต่าง ๆ การเปิดเข้าไป (login) คือการลงเวลาทำงานครับ

     เรื่องนี้ผมได้เคย ลปรร.กับ อ.ดร.จันทวรรณฯ ไว้บ้างแล้ว (แต่ค้นบันทึกนั้นไม่เจอครับ) แต่ไม่ค่อยละเอียดเท่าวันนี้ อยากได้มุมมองจากอาจารย์ต่อประเด็นนี้ด้วยครับ

     ขอบคุณคุณชายขอบครับ ที่สนใจอ่านบันทึกของผม มุมมองของผมในเรื่องนี้คือ ผมก็ฝันเหมือนคุณชายขอบนั่นแหล่ะครับ อยากมีระบบอะไรก็ได้รวมทั้งการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ด้วย ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

     ธรรมชาติและวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นโรงพยาบาลและที่เป็นมหาวิทยาลัยในความเป็นจริงแล้วต่างกันค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถนำเอาความสำเร็จของกันและกันมาทำการ ลปรร.กันได้ กรณีของ รพ.สระบุรี ตามที่คุณชายขอบเล่านั้น รู้สึกเขาจะก้าวหน้าไปได้มาก น่าชื่นชม และน่าศึกษาเอาอย่าง

     ที่ มน. เราก็มีระบบทำนองเดียวกับที่ รพ.สระบุรี หลายระบบ เช่น e – loan (สำหรับการกู้ยืมเงินของนิสิต) e – เวียน (สำหรับเวียนหนังสือราชการ) e – registration (สำหรับลงทะเบียนเรียนและจ่ายเงินค่าเล่าเรียน) เป็นต้น

     ที่ผมรับผิดชอบโดยตรงก็มีที่ QAU ก็จะมี NUQADB (ระบบฐานข้อมูลด้านประกันคุณภาพการศึกษา) ส่วนที่ RDAC ก็จะมี RANSYS (Research Administration Network System ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลโครงการวิจัย ความก้าวหน้าการทำวิจัย ติดตามประเมินผลการดำเนินการวิจัย โดยติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เช็คดูความซ้ำซ้อน เป็นเครือข่าย) นอกจากนี้ยังมี e – office ช่วยการสื่อสารเกี่ยวกับงานวิจัยด้วย

     แม้จะมีอย่างที่เล่ามาทั้งหมด ผมก็ยังรู้สึกว่ายังไม่พอเพียงสำหรับการสื่อสารภายในการพัฒนา website และ blog และการติดต่อกันผ่านทาง hard copy ก็ยังจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำสัญญาการทำวิจัย การรายงานความก้าวหน้างานวิจัย และรายงานผลการวิจัยยังคงต้องใช้ที่เป็น hard copy ด้วย แต่ในอนาคตคงจะค่อย ๆ มีความจำเป็นน้อยลง  ถ้าระบบ Digital ได้รับการพัฒนาขึ้นมามากกว่านี้

     โดยสรุปคือ อยู่ระหว่างความพยายามทำฝันให้เป็นจริงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท