ประกันสุขภาพลูกกตัญญูหักลดหย่อนได้


ประกันสุขภาพลูกกตัญญูหักลดหย่อนได้

        กรมสรรพากร มอบของขวัญปีใหม่ให้ครอบครัวคนไทย อนุญาตบุตรที่ทำประกันสุขภาพให้บิดามารดาตั้งแต่การจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่ปี 2549 สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท  "สาธิต รังคศิริ " ชี้มาตรการดังกล่าวกระทบต่อการจัดเก็บภาษีไม่มากนัก   

            นายสาธิต รังคศิริ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยว่ากรมสรรพากรกำหนดให้บุตรสามารถนำเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ที่ทำให้แก่บิดา มารดา ของตนเอง หรือบิดา มารดาของคู่สมรส มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป  "มาตรการนี้ นอกจากจะช่วยสนับสนุนในการสร้างครอบครัวให้อบอุ่น และเข้มแข็ง โดยให้บุตรสามารถดูแลพ่อแม่ได้อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ และเป็นทางเลือกเพิ่มเติมของประชาชนในการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพอีกทางหนึ่งด้วย"

            เขากล่าวด้วยว่า สำหรับผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐในด้านสุขภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย  เงื่อนไขในการขอลดหย่อนภาษีดังกล่าว คือ 1.บิดา มารดาที่เอาประกันต้องมีเงินได้พึงประเมินได้ไม่เกิน 30,000 บาท 2.ผู้มีเงินได้ที่หักลดหย่อน ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา มารดา (บุตรบุญธรรมก็ได้สิทธิ)   3.หากบุตรหลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดาหรือมารดา ให้บุตรทุกคนได้รับการหักลดหย่อน โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันร่วมกันจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้  4.กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยา ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท      5.การประกันสุขภาพดังกล่าว จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วย และการบาดเจ็บ การชดเชยทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ รวมถึงการประกันภัยอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก  การประกันภัยโรคร้ายแรง และการประกันภัยการดูแลระยะยาวด้วย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากกรมการประกันภัย     6.บุตรผู้หักลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จ หรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย     ไว้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษี โดยมีข้อความอย่างน้อย เช่น ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย ชื่อและนามสกุล ของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยทุกคน ชื่อที่อยู่และเลขประจำตัวของผู้เสียภาษีของบริษัทประกัน จำนวนเบี้ยประกันที่ได้สิทธิ และให้ระบุข้อความว่า "สามารถนำไปยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเงิน...บาท"

            ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการเลี้ยงดูบิดา มารดา โดยให้ผู้มีเงินได้ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาโดยกำเนิดของตนเอง หรือของคู่สมรสที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อบุพการี 1 ท่าน นอกจากนี้ นายสาธิต ยังกล่าวอีกว่า กรมสรรพากรได้ออกมาตรการให้ลูกจ้างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนเงินได้เท่าที่นายจ้าง จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์กลุ่ม ที่มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เฉพาะการประกันภัยในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้าง สามี ภรรยา บุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้างและครอบคลุมการรักษาพยาบาลภายในประเทศ

            ส่วนกรณีจำเป็นต้องรักษาในต่างประเทศ ให้ครอบคลุมเฉพาะลูกจ้างในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น เพื่อมุ่งเน้นการประกันสุขภาพแก่ลูกจ้าง และส่งเสริมให้จัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง และครอบครัวให้มั่นคงเป็นอยู่ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน ที่กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ลูกจ้างที่ได้รับค่ารักษาพยาบาลกรุงเทพธุรกิจ : 28ธ.ค.49
คำสำคัญ (Tags): #ประกันสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 69851เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2006 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท