ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

แนวทางแก้ไขทางตันในการจัดการความรู้


การจัดการความรู้ในชุมชนๆ เมื่อพบว่าในสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่นั้นมีปัญหา การศึกษาดูงานจากการปฏิบัติจริง สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

การจัดการความรู้ในชุมชน เป็นสิ่งที่ผมกำลังมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรม ผมจึงพยายามที่จะศึกษาในเรื่องของการจัดการความรู้ (KM) ให้ได้มากที่สุด ครั้นเมื่อถึงเวลาลงในชุมชนก็สามารถที่จะดึงเกร็ดความรู้ต่างๆ ออกมาได้ เพราะผมมีความเชื่อว่าความรู้ในชุมชนนั้นมีมากมายมหาศาล โดยเฉพาะความรู้ที่อยู่ในตัวคน (Tacit  Knowledge) ซึ่งจะมีมากกว่าความรู้ที่อยู่ในรูปของเอกสาร (Explicit  Knowledge)

ทางตันในการจัดการความรู้ สำหรับการจัดการความรู้ในชุมชนนั้นแน่นอนครับ คงมีทั้งสิ่งที่เราสามารถจัดการได้ และสิ่งที่เราจัดการไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราไม่สามารถจัดการได้นี้ผมเรียกว่า "ทางตัน" ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาอาชีพการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนบ้านนาเมือง ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งพบกับปัญหาการให้ผลผลิตของเห็ดต่ำ และดอกเล็ก เราก็พยายามแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์การเพาะเห็ดในชุมชน แต่สุดท้ายก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกันดี

ทางออกแห่งทางตัน จากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นกับการจัดการความรู้การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนบ้านนาเมือง เมื่อปีที่แล้ว เราจึงคิดว่าเราต้องไปดูการเพาะเห็ดฟางของที่อื่นบ้างเพื่อจะได้เห็นแนวทางการผลิตของคนอื่นว่าเขามีการจัดการอย่างไร เราจึงไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มเห็ดฟางในโรงเรือนของคุณราชันย์   เย็นมี ที่มีชื่อเสียงเรื่องการเพาะเห็ดฟางดอกดก และใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ (โดยได้ข้อมูลจากวารสารของกรมพัฒนาที่ดิน และการบอกเล่าจากเพื่อน) จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้นเราจึงกลับไปวิเคราะห์กันต่อว่า จากการดำเนินการของคุณราชันย์ เขาใช้กากของดอกทานตะวันเป็นวัสดุเพาะ และใช้สาร พด.1 ในการหมักวัสดุเพาะดังกล่าว และช่วงออกดอกใช้สาร พด.3 ฉีดพ่นบำรุงดอก แต่วิธีการอย่างอื่นทำเช่นเดียวกันกับของกลุ่มทุกประการ แต่อาจจะต่างกันบ้างในลักษณะของโรงเรือน และเทคโนโลยีทีเขาดำเนินการที่สูงและดีกว่าของกลุ่ม จากนั้นจึงได้ทดลองปรับใช้ในกลุ่มโดยวัสดุเพาะหลักที่เราหาได้ในท้องถิ่นคือกากมันสำปะหลัง และนำเทคนิคของคุณราชันย์มาปรับใช้คือ สาร พด.1 และ  พด.3 ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่กรมพัฒนาที่ดินมีใว้สำหรับให้เกษตรกรนำไปใช้ในการปรับปรุงดิน ซึ่งหาได้ง่ายอยู่แล้วในทุกพื้นที่ แล้วจากการศึกษาก็พบว่าได้ผลดี และแก้ไขปัญหาของกลุ่มได้เท่าทุกวันนี้

เพิ่มความมั่นใจ จากวิธีการที่ผมได้ทำร่วมกับชุมชนบ้านนาเมืองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และการผลิตหัวเชื้อเห็ดบ้านสว่างที่ผมได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวาน ซึ่งผมไม่มั่นใจว่าเป็นวิธีการจัดการความรู้ (KM) หรือไม่ จึงได้นำเรียนสอบถาม ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช อาจารย์ก็ให้ความชัดเจนเพิ่มเติมว่าเป็นแนวทางที่เราสามารถดำเนินการได้ และสิ่งที่ต้องนำพิจารณาเพิ่มเติมคือ

1. การเลือกสถานที่ดูงานฟาร์ม หรือสถานที่ที่เราจะไปศึกษาดูงานนั้นต้องเป็ดฟาร์มที่เขาเปิดใจในการที่จะพูดถึงสิ่งที่เขาดำเนินการอยู่ หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่หวงวิชานั่นเอง

2. การทำ BAR  (Before Action Review) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่จะไปศึกษาดูงาน โดยมานั่งคุยกันว่าความคาดหวังของเราคืออะไร จะไปดูประเด็นไหน ต้องวางตัวว่าใครจะเก็บประเด็นอะไรบ้าง  เพื่อให้ได้ข้อมูลกลับมาให้มากที่สุด ดังนั้นต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน ก่อนการไปดูงาน

3. การทำ AAR (After Action Review) เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังจากกลับมาจากการดูงาน เพื่อพิจารณาดูว่าสิ่งที่เราได้ไปดูมานั้นเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ มีอะไรบ้างที่ได้มาก มีอะไรบ้างที่ได้น้อย อะไรที่ได้เกินความคาดหวัง และจากสิ่งที่ได้มาเราจะนำไปใช้ได้อย่างไร ต้องนั่งคุยกันเพื่อให้ได้ข้อสรุป

4. ลงมือปฏิบัติ  กล่าวคือหลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว และได้ข้อสรุปที่คาดว่าน่าจะเข้ากับบริบทของเรามากที่สุด จึงนำลงสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลต่อไป

5. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน เป็นการนำผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงมาเล่าสู่กันฟังว่าผลที่ได้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนต่อไป เป็นการทำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไป จนกระทั่งมีความมั่นใจว่าดีที่สุด จึงนำผลที่ได้ไปขยายผลต่อ

ครับจากแนวทางดังกล่าวผมก็มีความมั่นใจมากขึ้นในการที่จะหาแนวทางในการแก้ไขทางตันสำหรับการจัดการความรู้ หากท่านใดจะกรุณาชี้แนะเพิ่มเติม ผมก็พร้อมที่จะน้อมรับด้วยความเต็มใจครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

28  ธันวาคม 2549 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 69825เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • เชื่อว่าเหรียญมีสองด้าน
  • ทางตันมีทางแก้ไขครับ
  • มาสวัสดีปีใหม่ครับ
  • Bouquet

ขอบคุณมากครับอาจารย์ขจิต

  • ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงดลบันดาลให้อาจารย์มีแต่ความสุขตลอดไปนะครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย

เวลาพูดถึงทางตัน

ผมชอบมองเป็นทางที่มี "บางอย่าง" อุดตันแบบไม่ธรรมชาติมากกว่า ที่จะมองเป็นการตันโดยธรรมชาติ

เพราะถ้าตันโดยธรรมชาตินั้น ไม่ควรไปวุ่นวายมากนัก แต่ถ้าที่ปกติควรจะโล่ง

แต่มีการอุดตัน น่าสนใจ และอาจแก้ไขได้ง่ายกว่า

ขอบคุณมากครับอาจารย์

สำหรับทางตันในทางธรรมชาตินั้นบางอย่างผมยังแก้ไม่ตกเลยครับ โดยเฉพาะน้ำในระบบเกษตรประณีต จึงไม่กล้าแม้กระทั่งเขียนออกมา แต่ก็คงจะคลอดลงสู่ Blog ในเร็ววันนี้ เพื่อให้อาจารย์ได้ช่วยกรุณาวิเคราะห์ให้ครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

  • สวัสดีปีใหม่(ล่วงหน้า)ครับ 
  • ไม่น่าจะถึงกับเป็นทางตันเสียทีเดียว
  • เพียงแต่ความรู้ชุดเดิมเรายังมีไม่เพียงพอ ต้องค้นหาหรือสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่ ที่ใช้ได้-ดีกว่าเดิม
  • อาจารย์ก็จัดการ ลปรร.ได้ดีแล้วนะครับ

 

สิ่งที่ยาก ในเรื่องของการค้นหา Tacit knowledge ในงานวิจัยเกษตรประณีต คุณอุทัยคงต้องเตรียมคิดไว้บ้างแล้ว  ว่ามันน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง  เพราะบางครั้งการไปดูงานประเดี๋ยวประด๋าว ก็อาจะไม่เห็น การนั่งดูเกษตรกรทำ ก็อาจไม่เห็นเหมือนกัน   เพราะฉะนั้น การเตรียมให้ตัวเองเป็นคนที่มี critical thinking จึงเป็นสิ่งจำเป็น ต้องรู้จักถาม อะไร ทำไม อย่างไร เพาระอะไร  ต้องรู้จักจับผิด  ว่าถ้าไม่เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ได้ และเพราะอะไร  และคงต้องจับผิดกระทั่งความรู้ การได้กลิ่นของเกษตรกรที่ทำเกษตรประณีต จึงจะได้ Tacit knowlege จริงๆ ของคนทำเกษตรประณีต  การใช้ชีวิตคลุกคลีกับเกษตรกร จึงเป็นสิ่งสำคํยที่จะสกัดความรู้ออกมาได้  ฉะนั้นถ้าครูบาทำอะไร เราต้องตามอย่าให้ห่าง แล้วต้องถาม เพื่อจะได้สิ่งที่ครูบาซ่อนอยู่ในตัว

อาจารย์ ราชันย์ เป็นผู้มีความรู้และความสามารถ แต่ว่าทีมงานปัจจุบันนี้ เหมือนทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ คอยหาคนมาลงทุนทำเห็ด รับประกันจ่ายค่าตอบแทนแบบเต็มที่ แต่ปรากฏว่าผ่านมาแล้ว 2 เดือนยังไม่ได้รับเงินเลย หากต้องการทราบข้อเท็จจริง และรายละเอียดติดต่อ ได้ที่เบอร์ 089-9689596 (ไม่อยากให้คนอื่นถูกหลอกอีกต่อไป)

ใช่ราชัน เย็นมีหรือเปล่าครับ ถ้าใช่เราเคยถูกหลอกมาแล้วหมดไปเยอะ ตอนแรกบอกว่าดีอย่างน้นอย่างนี้ พอเห็ดไม่ออก ก็บอกปัดไปเงินหายไม่รับผิดชอบ ดูแล้วเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท