KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 235. ความรู้หลายชั้น


         วันที่ ๒๐ พย. ๔๙ ผมไปร่วม ตลาดนัดเครือข่ายการจัดการความรู้ มูลนิธิข้าวขวัญ” ซึ่งจัดที่มูลนิธิข้าวขวัญ  จ. สุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 20 -21 พฤศจิกายน 2549     ผมจะต้องร่วมเสวนาในหัวข้อ  เวทีเสวนา การจัดการความรู้กับสังคมไทย  โดย
    - ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช
    - ดร.ทิพย์วัล  สีจันทร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
    - คุณทวีสิน  ฉัตรเฉลิมวิทย์   บริษัทปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย
    - คุณเดชา  ศิริภัทร   ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

          ระหว่างนั่งรถไปในงาน     ผมกำหนดคร่าวๆ ไว้ในใจว่าผมจะพูดเน้นปัจจุบัน กับอนาคต     จะชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยมีโอกาสเป็น "สังคมอุดมปัญญา" โดยมีการจัดการความรู้หลายชั้นเชื่อมต่อกันในลักษณะ "เคออร์ดิค"      ใครไม่รู้จัก เคออร์ดิค ให้ค้นโดยใช้ http://gotoknow.org/tag/chaordic  

          ที่สำคัญที่สุด คือการจัดการความรู้ในมิติของชาวบ้าน     ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง จากงานประจำ หรืออาชีพของตน     เป็นความรู้ในชั้นที่ชาวบ้านเป็นนางเอก พระเอก

         แต่เฉพาะความรู้ในชั้น หรือมิติของชาวบ้าน ก็ไม่เพียงพอ     เราต้องการความรู้ในชั้นของนักวิชาการ    ที่เป็นความรู้เชิงทฤษฎี     เอาไปให้ชาวบ้านปรับใช้ หรือทดลองใช้     และเปลี่ยนจากความรู้แจ้งชัด หรือความรู้เชิงทฤษฎี      ให้กลายเป็นความรู้ปฏิบัติ หรือความรู้ในตัวชาวบ้าน     หมุนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบอยู่ในการปฏิบัติ และ ลปรร. ในหมู่ชาวบ้าน     และยกระดับของความรู้ขึ้นไปโดยชาวบ้าน

         แค่นั้นก็ไม่พอ     เราต้องการนักวิชาการที่เข้าไปคลุกคลี ร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน     และตีความกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน ด้วยทฤษฎีต่างๆ หลากหลายทฤษฎี     ออกมาบอกให้ชาวบ้านได้รับรู้      เหมือนเป็นกระจกส่องให้ชาวบ้านเข้าใจตนเอง รู้จักตนเอง      และปรับปรุงการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

          หากแจกแจงความรู้ให้ละเอียดกว่าที่กล่าวแล้ว จะได้ความรู้ย่อยๆ นับสิบนับร้อยชั้น     ที่ค่อยๆ สั่งสม ยกระดับขึ้นมา     ยิ่งความรู้เหล่านั้นได้ผ่านการตรวจสอบ  ทดลองใช้  ตีความ ในหลากหลายวิธีการ     ความรู้ก็จะยิ่งลุ่มลึก และชัดเจน     เกิดการสั่งสมเป็นปัญญา  - ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีชีวิต

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ธค. ๔๙
  

หมายเลขบันทึก: 69747เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนอาจารย์

ผมอ่านข้อเขียนของอาจารย์แต่ละครั้งหรือของแต่ละท่านที่แสดงออกมา มีความรู้สึกในช่วงแรกๆ ว่าคล้ายเข้าใจ คล้ายไม่เข้าใจ  แล้วจึงค่อยๆเกิดความคิดเทียบเคียงเข้ามากับสิ่งที่ตนเองได้พบเห็นอยู่ หรือทำให้เกิดความคิดว่าจะทำอะไรกับงานของเรา จากความคิดที่ได้มา ซึ่งบางครั้งตรงๆ บางครั้งเอียงๆ

ลักษณะที่ผมเก็บเกี่ยวความคิดแบบนี้ ตรงกับศัพท์คำใดของ KM หรือของภาษาอังกฤษคำใดบ้างครับ ขอความรู้จากอาจารย์หรือนักวิชาการท่านอื่น (ตรงนี้จะตรงกับที่ท่านอจารย์เขียนข้างบน คือระดับชาวบ้านทำคิด แล้วนักวิชาการเอาทฤษฎีเข้ามาจับ) ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท