ชุมชนลดอุบัติภัย


"ชาวบ้านยังย้ำว่า เมาแล้วขับคือปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในชุมชนกันทรวิชัย"

เมื่อวันที่  26  ธันวาคม  2549  กองกิจการนิสิต มมส โดยกลุ่มงานสวัสดิการนิสิต  ได้จับมือองค์กรภาครัฐและชุมชนอำเภอกันทรวิชัยจัดโครงการ "เครือข่ายชุมชนกันทรวิชัยร่วมใจป้องกันอุบัติภัยจราจร" (ภาคนิสิต นักศึกษา นักเรียนและประชาชน)  ณ  อาคาร 100 ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ (คณะพยาบาลศาสตร์) 

            (ภาพผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐและชุม ทั้ง ม.มหาสารคาม สภอ.กันทรวิชัย  ผู้แทนชุมชนจาก อบต.ขามเรียง อบต.ท่าขอนยาง อบต.เขวาใหญ่ และนิสิต นักศึกษาในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย)

ชุมชนน่าอยู่ :  สร้างวินัยจราจร สัญจรร่วมทางอย่างมีมิตรภาพ

       ผมมีโอกาสเข้าร่วมในฐานะเป็น "ผู้ริเริ่ม"  กิจกรรมนี้ไว้เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา  แต่ในงานกลับต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพิธีกรและวิทยากร ซึ่งในเจตนาที่ตั้งไว้ต้องการสร้าง "เครือข่ายการลดอุบัติเหตุจราจร" ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่รายรอบด้วยชุมชน (ดั้งเดิม) จำนวนมาก  อันเนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุในชุมชนที่ มมส ตั้งอยู่มีสูงขึ้น ถี่ขึ้น และเรียกได้ว่าเกิดอุบัติเหตุแทบทุกวัน ยังการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนิสิตและประชาชนผู้สัญจรเส้นทางอย่างต่อเนื่อง   

         ณ ตอนที่คิดกิจกรรมนี้ผมต้องการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุจราจรในชุมชนนี้  เพื่อให้เป็นชุมชนแห่งความรู้ เป็น "ชุมชนน่าอยู่" มีวินัยจราจรและมีน้ำใจและวัฒนธรรมที่ดีในการสัญจรเส้นทางร่วมกัน จึงได้นำ "ชุมชน" เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ขับเคลื่อน ผ่านยุทธศาสตร์การศึกษา (Education)  ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องจราจร โดยมีวิทยากรจาก สภอ.กันทรวิชัย เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ รวมถึงการร่วมเสวนาร่วมระหว่างประชาคมในชุมชน การอบรมและฝึกปฏิบัติการปฐมพยาบาลช่วยผู้ประสบภัยจากกรณีต่าง ๆ ด้วยสถานการณ์จำลอง  โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อให้ชุมชนมีความรู้และทักษะการพยาบาลเบื้องต้นในจุดเกิดเหตุ อันเป็นช่วงสำคัญก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล  รวมถึงการนำความรู้ไปต่อยอดสู่ผู้อื่น

 

        นอกจากนี้ยังรวมถึง การลงแรงระดมแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมกรใช้ถนนอย่างมีมิตรภาพ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยก็มีรถพยาบาลฉุกฉินพร้อมออกให้บริการ 24 ชั่วโมง

สำรวจจุดเสี่ยง :  โดยชุมชนเพื่อชุมชน

       ไม่เพียงยุทธศาสตร์ทางการศึกษาเท่านั้นที่นำเข้าสู่กิจกรรมครั้งนี้ กระบวนการอันเป็นยุทธศาสตร์วิศวกรรมสำรวจพื้นที่และสร้างเครื่องหมายจราจร (Engineering)  ก็เป็นเป้าประสงค์หลักที่เรามุ่งหวังให้ชุมชนได้ทำการลงมือ "สำรวจจุดอันตราย" โดยชุมชน (community Approach)  หรือสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่น (Local Level)  ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน  และจากการนำเสนอของชุมชนก็เป็นที่ "น่าสังเกต" ว่าจุดที่ถูกนำเสนอนั้นตรงกับข้อมูลของจังหวัดที่ระบุเป็น 3  ใน 8 หลักของการเกิดอุบัติเหตุใน จ.มหาสารคาม และสถิติอุบัติเหตุในชุมชนกันทรวิชัยก็สูงจนน่าใจหาย จะด้วยจำนวนประชากรที่หลากหลายและหลายหลากวัฒนธรรมการใช้รถ  หรือขาดสำนึกทางวินัยจราจรก็ล้วนเป็นประเด็นที่นำมาวิพากษ์ในเวทีครั้งนี้

      ที่สำคัญ..ที่เหลือหลังจากนี้ มหาวิทยาลัยจะได้ลงพื้นที่ดูสภาพจริงของ "จุดเสี่ยง/จุดอันตราย" ในชุมชนที่ถูก "ค้นพบ" โดยกระบวนการของชุมชนเอง เพื่อจัดทำข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมขับเคลื่อนสู่กระบวนการที่เหลือ

       และก่อนหน้าที่จะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับจุดเสี่ยงนั้น  ก็เปิดเวทีสะท้อนปัญหาที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยอาศัยข้อมูล "ภาคสาธารณะ"  (ชุมชน)  รวมกับประสบการณ์ชีวิตและปรากฎการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นที่ตั้ง  มิใช่ใช้ระบบคิดและระบบสังเกตการณ์จากมุมมองของ "นักวิชาการ"  ไปวิเคราะห์และนำเสนอ

       "ชาวบ้านยังย้ำว่า เมาแล้วขับคือปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในชุมชนกันทรวิชัย"  ทั้งที่เป็นนิสิต นักศึกษา นักเรียน รวมถึงพี่น้องชาวบ้านด้วยเช่นกัน  และพบอยู่บ่อยครั้ง  ซ้ำร้ายมิใช่พบเห็นตามเทศกาลสำคัญ หากแต่พบอยู่ทุกสัปดาห์เลยก็ว่าได้

เครือข่ายชุมชน :  การเริ่มต้นป้องกันและแก้ไขปัญหา

         กิจกรรมครั้งนี้ยังไม่มีการลงนามข้อตกลง "เครือข่ายชุมชนกันทรวิชัยร่วมใจป้องกันอุบัติภัยจราจร"  แต่ก็ถูกกำหนดแผนแล้วว่าหลังการลงพื้นที่ดูจุดเสี่ยงแล้วจะนำเข้าสู่เวทีกันอีกครั้ง และเป็นเวทีแห่งการจัดตั้ง "เครือข่าย"  เพื่อขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกภาคฝ่าย  ขณะที่บางตำบล หรือบางหมู่บ้านได้ตั้งด่านภายในหมู่บ้านขึ้นมาบ้างแล้ว "ตรวจเข้มไม่ให้คนเมาขับรถเข้าหมู่บ้าน และห้ามคนเมาขับรถออกจากหมู่บ้าน"  !!!! 

        บางที่เรียกยุทธวิธีนี้ว่า "เวรยามหมู่บ้าน"  สกัดกั้นและป้องกันอุบัติเหตุและความไม่สงบเรียบร้อย...

        ขณะที่มหาวิทยาลัยก็เคยมุ่งมั่นอยู่ช่วงหนึ่งกับกระบวนการตรวจเข้มถนนสีขาว เป็นเส้นทางที่ให้ผ่านเฉพาะผู้ขับขี่ที่สวมหมวกฯ และคาดเข็มขัดนิรภัย  ทำให้นิสิตหลายคน รวมถึงอาจารย์ต่างก็ต้องจอดรถและเดินเท้าไปเรียนและไปสอนมาพักใหญ่

        กิจกรรมเช่นนี้  จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  แต่เราและเราทั้งหลายก็ไม่เคยสิ้นหวังที่จะหยุดทำ และมีความมั่นใจว่าอีกไม่ช้าเครือข่ายที่ว่านี้จะเริ่มต้นขึ้นในเร็ววันอันใกล้นี้

       ในฐานะการเป็นสถานศึกษาก็ยิ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งต่อนิสิตและชาวบ้านเพื่อให้ชุนชนนี้เป็นชุมชนน่าอยู่ ไม่มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และถึงมีก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

 

 

คำสำคัญ (Tags): #โลกและชีวิต
หมายเลขบันทึก: 69701เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
แวะมาทักทายจากชายแดน ขอบคุณมากครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีปีใหม่ มีพลังเยอะ ๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งดี สืบต่อไป
  • อยู่ชายแดน แต่คงคนละความหมายกับ การเป็นคนชายขอบ นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท