วิทยาศาสตร์


โครงงานวิทยาศาสตร์
  บทความเทคนิคการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์                      ในปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับประถมศึกษา หรือ ระดับ

มัธยมศึกษา ต่างส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้

ด้วยสาเหตุที่ว่า เป็นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ และสอดคล้องกับ

พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีการพัฒนาโดยให้รู้จัก     คิดเป็น  ทำเป็น และแก้ปัญหาได้  และให้จัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  การให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถตอบสนองพระราชบัญญัติการศึกษาดังกล่าวได้ ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่าการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนได้ค้นพบเทคโนโลยีระดับพื้นฐานราคาถูกที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย  ซึ่งการทำโครงงานวิทยาศาสตร์นี้เป็นการฝึกให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็นและใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา  ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม  ฝึกการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาในเรื่องที่    ลึกกว่าหลักสูตร ทำให้มีความรู้มากกว่าเรียนปกติในห้องเรียน  นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย  และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือทำให้มีจิตใจเป็น   นักวิจัย  ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ   ดังนั้นการที่นักเรียนได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์จึงนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการฝึกให้นักเรียนรู้จักการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นสำคัญอีกด้วยขณะเดียวกันการที่นักเรียนสามารถทำ  โครงงานวิทยาศาสตร์ได้นั้น จะต้องได้รับคำแนะนำ  ดูแลเอาใจใส่จากอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วย

                     บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์นั้น  เป็นสิ่งจำเป็น

อย่างยิ่งในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน  ผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ต้องเป็นบุคคลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ

โครงงานวิทยาศาสตร์แก่นักเรียน  คอยกระตุ้นให้นักเรียนมองเห็นปัญหาจนกระทั่ง

เกิดความคิดที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์  นอกจากนี้ยังคอยดูแลให้เกิดความปลอดภัย

ให้กำลังใจแก่นักเรียนตลอดระยะเวลาที่ทำโครงงานวิทยาศาสตร์จนกระทั่งสำเร็จ

ดังนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อนักเรียนอย่างยิ่งในการให้

คำแนะนำในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์  

                     บุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ได้แก่

ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ทุกรายวิชา  เพราะครูวิทยาศาสตร์ทุกคนย่อมมีความรู้และ

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการทำงานโครงงาน-

วิทยาศาสตร์อยู่แล้ว  เพียงแต่ครูวิทยาศาสตร์บางคนยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้ละเอียด ซึ่งสามารถศึกษาได้จากการเข้ารับการอบรม  การศึกษาด้วยตนเองจากเอกสารต่าง ๆ  ผู้ที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ ควรรู้  ขั้นตอนในการทำโครงงาน  ซึ่งแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

                     ขั้นที่ 1   การคิดหัวเรื่องโครงงานวิทยาศาสตร์  โดยทั่วไปหัวเรื่องของ

โครงงานวิทยาศาสตร์มักจะได้จากปัญหา  คำถาม  หรือความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่าง ๆของนักเรียน

                     ขั้นที่ 2   การศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งช่วยทำให้นักเรียนได้แนว

ความคิดและกำหนดขอบเขตการทำโครงงานได้เหมาะสม

                     ขั้นที่ 3   การเขียนเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์  เป็นการออกแบบ

วางแผนกำหนดรายละเอียดทั้งวัสดุอุปกรณ์  วิธีการและตารางปฏิบัติการทำโครงงาน

วิทยาศาสตร์  เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะต้องนำเค้าโครงให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณา

                     ขั้นที่ 4   ลงมือปฏิบัติการ  เป็นขั้นตอนที่นักเรียนต้องลงมือปฏิบัติการเก็บ

ข้อมูล  วิเคราะห์ และสรุปผลเพื่อรวบรวมทำเป็นรายงานต่อไป

                     ขั้นที่5   การทำรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์  รายงานโครงงานวิทยาศาสตร์

เป็นเอกสารที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้งหมด  แบ่งเป็น

3 ส่วน  คือ  ส่วนหน้า    ส่วนเนื้อความ และส่วนท้าย

                     ขั้นที่ 6   การแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์  เป็นขั้นตอนที่แสดงผลการผลิตของความคิด  ความพยายามของคณะผู้จัดทำโครงงานให้ผู้อื่นรับรู้  ส่วนมากนำเสนอในรูปแบบของแผงแสดงโครงงาน

                     จากขั้นตอนดังกล่าวทั้ง 6 ขั้นตอนนี้อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ต้องเข้าใจ  และให้ความสนใจ มุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้นักเรียนทำงานให้สำเร็จและที่สำคัญคือต้องคอยดูแลนักเรียนอย่างเป็นขั้นตอนสม่ำเสมอต้องพยายามศึกษากลวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

                     กลวิธีของอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ทำได้หลายวิธีดังนี้

                     1.  การพานักเรียนเข้าชมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ทำให้นักเรียนได้เห็นโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย และได้เห็นบรรยากาศทางวิชาการ

                     2.  การเชิญวิทยากรมาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

เป็นวิธีที่นักเรียนสามารถรับรู้ข้อมูลได้ละเอียด จัดว่าเป็นวิธีการที่สะดวกและได้ผลดี

                     3.  การให้รุ่นพี่หรือผู้ที่เคยผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาเล่า

รายละเอียด และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้ฟัง

                     4.  การจัดค่ายฝึกทำโครงงานวิทยาศาสตร์  เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จัก

ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ทั้งความรู้  กระบวนการทำงาน  และกิจกรรมทางนันทนาการอีกด้วย

                     5.  การพานักเรียนไปทัศนศึกษาสถานที่ประกอบการจริงทำให้นักเรียนได้ข้อมูลแนวคิดกว้างไกล  มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์

                     6.  เปิดสอนวิชาเลือกเสรีวิชาวิทยาศาสตร์รายวิชา ว 014 เริ่มต้นกับ

โครงงานวิทยาศาสตร์ และ ว 017  โครงงานวิทยาศาสตร์กับคุณภาพชีวิต ขึ้นในโรงเรียน

                     7.  ขยายผลจากการเรียนหรือการทดลองในห้องเรียนในรายวิชาต่าง ๆ

                     8.  จัดตั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์แล้วมีการเลือกทำโครงงานวิทยาศาสตร์ใน

คาบชุมนุมนั้น

                     9.  การแนะนำให้ดูรายการโทรทัศน์ที่มีสาระเกี่ยวกับการทำโครงงาน

วิทยาศาสตร์ เช่น รายการ ไอคิว180  รายการจุดประกาย เป็นต้น

                   10.  สนับสนุนให้การศึกษาค้นคว้าความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เช่น

ห้องสมุดต่าง ๆ   หรือแหล่งความรู้ในท้องถิ่นของตน

                     จากกลวิธีดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะต้องจัดให้เกิดขึ้นไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่งที่คิดว่าเหมาะสมเพื่อจุดประกายและช่วยเหลือนักเรียนให้

เข้าใจถึงเทคนิคและวิธีการในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

                     เมื่อนักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์สำเร็จสมบูรณ์แล้ว  ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงผลงานการศึกษาของตนเอง  ซึ่งการเผยแพร่ผลงานโครงงาน-

วิทยาศาสตร์นิยมทำกัน  2  รูปแบบคือ

                     1.  การประชุมวิชาการเชิงวิทยาศาสตร์  การเสนอผลงานแบบนี้มักใช้

แผ่นโปร่งใสประกอบการบรรยาย  ใช้เวลาประมาณ  15 นาที

                     2.  การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็นหลายระดับคือ

                           2.1  ระดับกลุ่มโรงเรียน

                           2.2  ระดับจังหวัด

                           2.3  ระดับภาค

                           2.4  ระดับประเทศ

                           ไม่ว่าจะเป็นการประกวดโครงงานระดับใดก็ตามจะเป็นจุดนัดพบให้นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เปรียบเทียบความแตกต่าง

ทำให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาการทำโครงงานวิทยาศาสตร์  ผู้เข้าชมจะได้เห็นบรรยากาศทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์  ได้ความรู้และจุดประกายความคิดให้ตนเองที่จะทำ

โครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้าง  ส่วนนักเรียนผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาส

เล่าให้ผู้ชมฟังว่า  คณะของตนเองคิดอย่างไร  ทำอย่างไร  และได้ผลอย่างไรจึงเกิด

โครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นมา  ดังนั้นการที่นักเรียนจะนำโครงงานวิทยาศาสตร์ออกเผยแพร่จึงต้องได้รับการพิจารณาจากอาจารย์ที่ปรึกษา  จากโรงเรียนของตนว่าเป็นโครงงาน

วิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะที่ดี  มีการทำงานตามขั้นตอนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 

ขั้นตอนของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์  และมีการใช้ต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป  มีการ

ประยุกต์ความรู้จากห้องเรียน  และรู้จักดัดแปลงอุปกรณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์  มีความระมัดระวังในการนำสัตว์มาใช้ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์  ไม่ทำให้

สิ่งแวดล้อมเสียหาย   ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อการนำผลงาน   โครงงานวิทยาศาสตร์  ของตนเองมาเผยแพร่ทั้งสิ้น

                     ขณะเดียวกันการพานักเรียนไปประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์นั้น

อาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องศึกษาระเบียบการและกำหนดการ การประกวดโครงงานวิทยา-ศาสตร์ให้ละเอียด  และต้องปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน  โดยเริ่มตั้งแต่การส่งรายงาน   ซึ่งกรรมการตัดสินจะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ดังนั้นรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์จึงควรทำให้ประณีต  เนื้อหาสาระครบถ้วนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  รายงานโครงงานวิทยาศาสตร์เขียนได้หลายแบบแต่ที่เขียนกันนั้นประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

                      1. ปกนอก (ให้เขียนตามแบบฟอร์มที่สมาคมวิทยาศาสตร์กำหนดไว้)

                      2.  ปกใน   (ให้เขียนตามแบบฟอร์มที่สมาคมวิทยาศาสตร์กำหนดไว้)

                      3.  คำขอบคุณ

                      4.  บทคัดย่อ

                      5.  สารบัญ

                      6.  บทที่ 1  บทนำ

                      7.  บทที่ 2  เอกสารที่เกี่ยวข้อง

                      8.  บทที่ 3  วัสดุอุปกรณ์และวิธีการทดลอง

                      9.  บทที่ 4  ผลการศึกษาทดลอง           

                     10.  บทที่ 5  สรุปผลและอภิปรายผล

                     11.  บรรณานุกรม

                     12.  ภาคผนวก

                     จากหัวข้อทั้ง 12 หัวข้อนี้จะเห็นได้ว่าการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์

นั้นได้ยึดแนวการเขียนรายงานแบบงานวิจัย ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์จะต้องแนะนำให้นักเรียนทราบในเรื่องนี้ด้วย

                     หลังจากที่ส่งรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์จะต้องให้นักเรียนได้เตรียมตัวเพื่อที่จะนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปติดตั้งตามผัง

ที่จะต้องจัดแสดง  ซึ่งการแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์นั้นนิยมทำเป็นผังโครงงานซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้

 

60 Cm

120 Cm

60 Cm

 

60 Cm

60 Cm

                                                                                                                                                           

                                                                                                                                                  

ภาพที่ 1   ผังมาตรฐานที่ใช้จัดแสดงผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์

 

                     ส่วน     มีความกว้าง  60 เซนติเมตร และด้านยาว 60 เซนติเมตรภายใน

เนื้อที่นี้ประกอบด้วย ชื่อโรงเรียน   ชื่อผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์  ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา

และจุดมุ่งหมายของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในเรื่องนั้น

                     ส่วน     มีความกว้าง  60 เซนติเมตร และด้านยาว  120 เซนติเมตร ภายในเนื้อที่นี้ประกอบด้วยชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์  ที่มา และความสำคัญของโครงงาน  อุปกรณ์ ทฤษฎีและหลักการ  วิธีปฏิบัติการ  ตารางบันทึกผล  และสรุปผล

                     ส่วน    มีความกว้าง  60 เซนติเมตร  และด้านยาว 60 เซนติเมตร ภายใน

เนื้อที่นี้ประกอบด้วยประโยชน์ของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และ ข้อเสนอแนะ

                     ถ้าผลงานจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มีปริมาณมากทางสมาคม

วิทยาศาสตร์ได้อนุญาตให้ขยายเฉพาะส่วน    เพิ่มขึ้นไปทางด้านบนได้อีกโดยกำหนดให้มีความกว้าง  60 เซนติเมตร และความยาว 120 เซนติเมตร

                     ดังนั้นบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาจึงต้องทราบขนาดของผังที่ใช้จัดแสดง

และต้องบอกกล่าวให้นักเรียนเตรียมตัวในการเขียนข้อความให้กระชับและเข้าใจง่าย

ที่สุดภายใต้พื้นที่ที่กำหนดไว้

                     อย่างไรก็ตามในระหว่างที่มีการแสดงผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่นั้น ผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์จะต้องอยู่ประจำผังโครงงานเพื่อคอยอธิบายให้ผู้สนใจ

ได้รับความรู้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  ซึ่งขณะนั้นคณะกรรมการตัดสิน

โครงงานวิทยาศาสตร์จะเข้าทำการสัมภาษณ์นักเรียนผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ในขั้นตอนนี้  อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ควรปล่อยให้นักเรียนได้บรรยาย และตอบคำถามได้อย่างอิสระ   การมาร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ อาจารย์ที่-

ปรึกษาและนักเรียนผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ควรจะทำความเข้าใจกันล่วงหน้าว่า ควรมุ่งหาความรู้  ประสบการณ์ชีวิตมากกว่ามุ่งหวังผลแพ้ชนะ  เพราะทุกโครงงานที่เข้า

ประกวดจะได้รับเกียรติบัตรจากคณะกรรมการการจัดประกวดแล้ว

                     จากสิ่งต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่าบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษานั้นจะต้องเป็นผู้มีความรู้  กลวิธีต่าง ๆ มีความพร้อม มีการเตรียมตัวตลอดเวลา ต้องทันโลก

ทันเหตุการณ์และต้องมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาและนอกจากนี้การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ยังเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดเป็น  ทำเป็น  แก้ปัญหาเป็น

และอาจารย์ที่ปรึกษายังได้ประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนอีกด้วยการได้พบปะ

สนทนากับเพื่อนครูวิทยาศาสตร์ต่างโรงเรียน  การได้สอบถามนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ทำให้ครูมีความคิดแปลกใหม่  สามารถคิดค้นรูปแบบการเรียนการสอนได้ดีขึ้น ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นมากขึ้น  จากการที่อาจารย์ที่ปรึกษาใช้ความเพียรพยายามส่งเสริมสนับสนุน และแนะนำช่วยเหลือ จนกระทั่งนักเรียนมีความรู้ความสามารถ รู้จักคิด รู้จักทำ และรู้จักการแก้ปัญหา ซึ่งถูกแสดงให้เห็นออกมาในรูปของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์นั้นย่อมส่งผลต่อนักเรียนให้มีเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์  คิดอยากจะประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ในภายภาคหน้าซึ่งส่งผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาคน  พัฒนาชาติและยังสามารถตอบสนองพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เป็นสมองของประเทศชาติเสมือดังคำขวัญที่ว่า พัฒนาคน  พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

เพื่อปรับปรุงการเขียนให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนการสอน
หมายเลขบันทึก: 69692เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท