"สุรยุทธ์" ประชุมความพร้อม บริหารจัดการวิกฤติชาติ


"สุรยุทธ์" ประชุมความพร้อม บริหารจัดการวิกฤติชาติ

          รัฐบาลวางนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ เน้นบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการสถานการณ์อย่างมีเอกภาพ

         

          เวลา 10.00 น.วานนี้ (25ธ.ค.)ที่ สโมสรทหารบก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมจัดขึ้น เพื่อชี้แจง       ทำความเข้าใจให้ทุกภาคส่วน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ และเข้ามา     มีส่วนร่วมในการผนึกกำลังทรัพยากรที่มีอยู่ในชาติ เพื่อประสานและบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 200 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ

             

           นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยให้ความสำคัญกับแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ และแผนป้องกันประเทศ รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบริหารจัดการภัยแต่ละประเภทด้วย ซึ่งหน่วยงาน ที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันจัดเตรียมทรัพยากรในการดำเนินการ ทั้งบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ และสิ่งต่าง ๆ ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดงบประมาณ ในการดำเนินการเตรียมพร้อมได้ อันจะส่งผลให้การบริหารงบประมาณในระดับชาติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

                         สำหรับเรื่องการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 1) การประเมินสถานการณ์ ล่วงหน้าเพื่อนำมากำหนด  เป็นแนวทางในการป้องกันและบรรเทาภัยต่าง ๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัดจะต้องมีแผนของจังหวัด โดยประสานกับส่วนราชการภายในจังหวัด    2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล จะต้องมีการวางระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้ได้และเป็นข้อมูล ในการบริหารสั่งการกันโดยตรง ซึ่งจะต้องทราบว่ามีทรัพยากรใดบ้างที่อยู่ในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง   3) การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องกระทำ จะส่งผลให้การบริหารจัดการดี ซึ่งการมีส่วนร่วมยังถือเป็นหัวใจของการสร้างความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา 4) การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ และจิตสำนึกในการระวังป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการสร้างการเรียนรู้ผ่านสื่อของรัฐได้อย่างไร และมีส่วนในการแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบด้วย   5) ระบบการติดต่อสื่อสารที่แน่นอนในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการอุปกรณ์สนับสนุนต่าง ๆ เพราะระบบการติดต่อสื่อสารเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ ผ่านพ้นวิกฤติไปได้    6) การซักซ้อม เมื่อมีการคิดวางแนวทางปฏิบัติแล้วจะต้องมีการซักซ้อม เพื่อตรวจสอบ ความพร้อมในการดำเนินการ 
           นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมชี้แจงนโยบายเตรียมความพร้อมแห่งชาติครั้งนี้ เป็นการหารือกันเพื่อวางแนวทางในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการ ดังกล่าวข้างต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำแนวทางดังกล่าวไปจัดทำในรายละเอียด เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในระดับต่าง ๆ ที่รับผิดชอบต่อไป ผู้จัดการรายวัน : 26 ธ.ค. 49
หมายเลขบันทึก: 69468เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2006 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท