ใช้ PEST และ 7S ตรวจสภาพองค์กร


หลักการทำแผนเบื้องต้น

      วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม นักศึกษา สม.4 ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่อง “หลักการทำแผนเบื้องต้น” โดยมี อ.หาญชัย อ.เก๋ อ.นก จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา มาแนะแนวทางให้พวกเรา หลังจากอาจารย์ได้แนะนำหลักการคร่าว ๆ แล้ว ก็ได้มีการแบ่งกลุ่ม 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ในกลุ่มก็ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สสจ. สอ. รพ. และ สคร. มีอาจารย์คอยให้คำแนะนำประจำกลุ่ม โจทย์ที่ได้รับคือ ให้เราวิเคราะห์สถานการณ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลขององค์กรและสถานะสุขภาพที่อาจารย์แจกให้ เริ่มแรกเราแบ่งหน้าที่กันในกลุ่ม โดยใช้กระบวนการ KM มีคุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ และคุณลิขิต มีแนวคิดในการวิเคราะห์ คือ
      1. ปัจจัยภายนอก โดยใช้หลัก PEST ประกอบด้วย
            - Political สิ่งแวดล้อมทางการเมือง
            - Economic สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
            - Social สิ่งแวดล้อมทางสังคม
            - Technology สิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยี
      2. ปัจจัยภายใน โดยใช้หลัก 7 S ประกอบด้วย
            - Strategy กลยุทธ์
            - Structure โครงสร้าง
            - System ระบบ
            - Style รูปแบบ
            - Staff บุคคล
            - Skill กลยุทธ์
            - Shared valued ค่านิยมร่วม
      3. ปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาในพื้นที่ เลือกมา 3 ปัญหา

      จากการที่สมาชิกในกลุ่มมาจากหลายหน่วยงาน เราจึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผลัดกันเสนอด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน คุณลิขิตก็ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลทั้งหมดลงใน Power point แล้วนำเสนอทั้ง 2 กลุ่ม จากนั้น อาจารย์ได้สรุปว่าการทำแผนยุทธศาสตร์ เริ่มจากการตรวจสภาพขององค์กร โดยใช้หลักของ PEST และ 7S

      ในชั่วโมงเรียนครั้งต่อไปก็จะมีการนำข้อมูลที่ได้จากวันนี้มาใช้ในการทำแผนต่อ โปรดติดตามตอนต่อไป (ตอนจบ) นะคะ

                                         นันท์นภัส สุขใจ
                  สาธารณสุขศาสตร์ การพัฒนาสุขภาพชุมชน รุ่น 4

คำสำคัญ (Tags): #pest#7s
หมายเลขบันทึก: 69442เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2006 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

   เมื่อวันที่  17 ธ.ค. 49  เราได้ลงไปศึกษาชุมชนเรื่องการทำแผนชุมชน  โดยเราได้นำความรู้ในวิชาต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน  กลุ่มสูงเนินได้ศึกษาเรื่องการทำแผนชุมชน  โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านตะคลองแล้ง  บรรยากาศการจัดทำแผนชุมชนในวันนั้น  สนุกสนานพร้อมทั้งได้สาระความรู้มากมาย  คณะนักศึกษาได้ร่วมกับชุมชนและอาจารย์พี่เลี้ยงร่วมกันค้นหาปัญหาของชุมชน  จัดลำดับความสำคัญ  และค้นหาสาเหตุของปัญหาร่วมกัน  วิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา  และร่วมกันจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา  จากวันนั้นทำให้เราได้เรียนรู้ว่า  ปัญหาบางอย่างที่เราคิดว่าสำคัญและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหรือเป็นอันดับต้น ๆ แต่ชุมชนอาจคิดว่าไม่เป็นปัญหาหรือไม่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  สำหรับโครงการที่เป็นผลผลิตของการจัดทำแผนชุมชนครั้งนั้น  เราได้โครงการพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุบ้านตะคลองแล้ง  โดยเน้นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ  และเป็นความต้องการของตัวแทนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมจัดทำแผน  และที่สำคัญโครงการนี้เราได้เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  จาก อสม. ผู้นำชุมชนของเราที่มีอยู่ ได้เสนอที่จะดูแลผู้สูงอายุโดยกลุ่ม อสม. จะช่วยเรื่องออกกำลังกาย  กระจายข่าวสารความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้สูงอายุ  นั่นคือผลผลิตดี ๆ ที่เราได้จากชุมชนคือการให้คนในชุมชนดูแลคนในชุมชนด้วยกันเองให้มากที่สุด  เราได้ความสัมพันธ์ที่ดีและประโยชน์ด้านสุขภาพไปพร้อม ๆ กัน

                                    ศุลีวงศ์  สนสุผล

                                         สม.4

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 50  เราได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการ CQI ในการพัฒนาคุณภาพบริการ  อ.พัชรี  สอนให้เราได้รู้ว่าการทำ CQI มีความแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยรู้มาก่อนมาก ๆ เราไม่เคยรู้เลยว่ากระบวนการ CQI มีขั้นตอนอย่างไร  แต่วันนี้เรารู้แล้วว่า  CQI คือกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องและต้องสอดคล้องกับบริบทของงานด้วยเพื่อให้การทำงานไม่เกิดปัญหา  ลูกค้าพึงพอใจ  และได้มาตรฐาน

     ขั้นตอนของการทำ CQI

1. ขั้นเตรียมการ  โดยสร้างความตระหนักในทีมบริหาร  ผู้นำของหน่วยงาน  ปรับปรุงบรรยากาศการทำงาน

2. การพัฒนาและเรียนรู้  โดยสร้างความตระหนักแก่สมาชิก  ฝึกฝนทักษะของทีม  วิเคราะห์ตนเองในระดับบุคคลและปรับปรุงตามโอกาสพัฒนา  วิเคราะห์และปรับปรุงความสัมพันธ์ของลูกค้าภายใน

3. เริ่มต้นพัฒนา  โดยใช้ความคิดสร้างสรรทำงานของเราให้ง่ายขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ  วางระบบงานตามมาตรฐานและนำไปปฏิบัติ

4. ทบทวนและแก้ไขป้องกัน  โดยทบทวนขณะดูแลผู้ป่วย  ทบทวนข้อร้องเรียน  ทบทวนการส่งต่อ ขอย้าย ปฏิเสธการรักษา   ทบทวนการตรวจรักษาโดยผู้มิใช่แพทย์   ค้นหาและป้องกันความเสี่ยง  เฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล  เฝ้าระวังความคลาดเคลื่อนทางยา  ทบทวนการเสียชีวิต  ภาวะแทรกซ้อน

5. การพัฒนาต่อเนื่อง  โดยหาโอกาสพัฒนาและทำกิจกรรม CQI  ทบทวนความสำเร็จ  เรียนรู้ร่วมกันโดยใช้เทคนิคการจัดการความรู้  สร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง  เชื่อมโยงระบบ

     เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพ

คือ  ปลอดภัย  ได้ผล  ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง  ทันเวลา  คุ้มค่า  และเป็นธรรม

     จากความรู้ที่เราได้เรียนในห้องเรียนทำให้เรารู้ว่า  การพัฒนาคุณภาพบริการจะทำเพียงคนกลุ่มเดียวไม่ได้  แต่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความร่วมมือ  จึงจะช่วยให้การบริการมีคุณภาพได้

                                     ศุลีวงศ์  สนสุผล

                                              สม.4

ขอเพิ่มเติมจากประสบการณ์ในการเคยทำ CQI ค่ะ  ในระยะแรกของมือใหม่หัดทำ CQI นั้นควรเริ่มทำในหน่วยงานของตนเองก่อน และเลือกปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ในหน่วยเพื่อจะได้สามารถดำเนินการได้ และประสบผลสำเร็จ ไม่เกิดความท้อแท้ ........หากเราเลือกปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ประกอบด้วยการแก้ไขหลายหน่วยงานเป็นจุดแรกของการเริ่มทำ CQI ล่ะก็อาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่เสร็จเสียที ประชุมกันอยู่นั่นหล่ะ คนทำก็เกิดความท้อแท้ใจ และ CQI ไม่ใช่วิจัย เพราะฉะนั้น กระบวนการในการทำไม่ต้องไปศึกษาค้นคว้าขนาดงานวิจัย Outcome ที่ได้คงไม่ต้องอ้างอิงอะไรมาก แค่ประสบความสำเร็จตามที่เราต้องการเพียงพอ

                             อัจฉรา บูรณรัช

18 พย. 50 พวกเรานักศึกษา สม.4  จำนวน 6 คนและอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม 1 ท่านได้ลงพื้นที่ศึกษาชุมชนหนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยก่อนลงพื้นที่กลุ่มเราได้ร่วมกันประชุมกลุ่มศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั่วไป  ข้อมูลสภาวะสุขภาพของชุมชน ร่วมกันทำแผนปฏิบัติงาน  และประสานงานชุมชนในการลงพื้นที่ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  เห็นได้จากจำนวนกรรมการชุมชน ,อสม.,และชาวบ้านที่มาศสมช.ในวันนี้  การลงพื้นที่ศึกษาชุมชนครั้งนี้ใช้เครื่องมือศึกษาชุมชน 7 ชนิด คือ แผนที่เดินดิน  ผังเครือญาติ   โครงสร้างองค์กร  ระบบสุขภาพชุมชน  ปฏิทินชุมชน   ประวัติศาสตร์ชุมชน  ประวัติชีวิต  ทำให้ได้พบเห็นสภาพชุมชนหนองไผ่ล้อมซึ่งเป็นชุมชนในเขตเมือง  ซึ่งเป็นชุมชนเขตเมือง    มีทั้งจุดแข็งที่น่าชื่นชมเป็นแบบอย่าง สามารถพัฒนาต่อยอดได้ ในขณะเดียวกันนั้นจุดอ่อนหรือข้อด้อยของชุมชุมก็อาจเป็นสาเหตุนำให้เกิดปัญหาหลายปัญหาเชื่อมโยงกันได้  สิ่งประทับใจมากที่สุดในการศึกษาชุมชนครั้งนี้คือการได้พบและรู้จักทรัพยากรบุคคลของชุมชนที่น่านับถือและเป็นแบบอย่างที่ดี  คือคุณป้าระเบียบ พยัคเดช ประธาน อสม. ที่มีความตั้งใจสูงมากที่จะทำงานเพื่อชุมชนของตนเอง  มีความขยันอดทน เสียสละ และเมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนก็ต้องชื่นชมมากยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่าครอบครัวคุณป้าได้เสียสละที่ดิน ,ทรัพย์สินเพื่อชุมชนเป็นจำนวนมาก   นักศึกษาจะได้นำข้อมูลจากการศึกษาชุมชนครั้งนี้สรุปวิเคราะห์จัดทำแผนชุมชนต่อไป

นริศรา   สม.4

 

มุมมองหนึ่งที่ได้จากการเข้าไปทำงานกลุ่มในชุมชน พบว่าในชุมชนมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้กรรมการชุมชน หรือกลุ่มคนในชุมชนแบ่งเป็นพรรคพวกตนเองตามสังกัดการเมืองแต่ละท้องถิ่น บางทีก็ไม่ถูกกัน เวลาประสานงานถ้าประสานงานกลุ่มเดียว กลุ่มอื่นที่ไม่ถูกกันก็จะไม่รับทราบข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นผู้ที่ทำงานในชุมชนควรเข้าใจในบริบทที่เป็นอยู่ของชุมชน และดำเนินการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว

                              อัจฉรา บูรณรัช

กิจกรรมในการทำงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์  (การศึกษาชุมชน  การทำแผนชุมชน)เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์นอกจากตัวนักศึกษาแล้ว ก็เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต่อหน่วยงานที่ดูแลชุมชนอยู่ และสอดคล้องกับช่วงเวลาที่หน่วยงาน หรือชุมชนจะต้องดำเนินการ ดังนั้น นักศึกษาก็เลยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งจากหน่วยบริการปฐมภูมิที่ดูแลชุมชน และจากชุมชนเองที่ต้องการแผนไปดำเนินการต่อเนื่อง       ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณค่ะ และก็ได้รายงานไปส่งอาจารย์ด้วย ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ ที่ได้จัดกิจกรรมที่ดีๆ และเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

                              อัจฉรา บูรณรัช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท