มหกรรมคนอาสา : นิสิตบ้าหนีเรียนไปเกี่ยวข้าว


กิจกรรมที่ให้ได้มากกว่า "ลุยขี้ตม เกี่ยวข้าวแบบทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว กินข้าวกลางลานดิน" แต่มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ในเชิง "วัฒนธรรม"

กว่าจะเก็บกระเป๋าและข้าวของออกจากที่ทำงานก็ล่วงเข้าเกือบ ๒ ทุ่ม  เพียงเพราะนิสิตท่านหนึ่งเข้ามาปรับทุกข์ เล่าความสุข  ในกิจกรรม "มหกรรมคนอาสา" (เกี่ยวข้าวใหม่  กินปลามัน ปั้นข้าวจ้ำ ร่วมทำบุญ)  ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน  แต่ก็กำลังจะเริ่มต้นมหกรรมรอบใหม่ในอีกไม่ช้า !

พวกเขาเรียกตนเองว่า "นิสิตบ้า"  เพราะหลายคนโดดเรียนไปลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยชาวบ้าน  และขอรับบริจาคข้าวเปลือกไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย "น้ำท่วม โคลนถล่ม"  ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

แต่โดยส่วนตัวแล้วผมแซวด้วยความรักใคร่ว่าพวกเขาไม่ได้บ้า ! แต่เป็นพวก "นิสิตกบฎ" ! เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะแกนนำที่ขับเคลื่อนล้วนเป็นผู้นำองค์กรนิสิตทั้งนั้น  แต่ไม่ยัก "ขออนุมัติกิจกรรม" ตามระเบียบมหาวิทยาลัย  ไม่ว่าจะเป็น ชมรมคนสร้างฝัน  ชมรมครูอาสา ชมรมวรรณศิลป์  ชมรมอาสาเพื่อในหลวง หรือแม้แต่กลุ่มพลังเสรี 

               ไม่แต่เฉพาะองค์กรนิสิตใน มมส เท่านั้น  แต่ยังมีพันธมิตรอีกไม่น้อยร่วมอุดมการณ์สานฝันด้วยกัน อาทิ  นักศึกษาจาก ม.อุบลราชธานี โรงเรียนพลาญชัยพิทยาคม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน หรือแม้แต่มูลนิธิกองทุนไทย  ซึ่งร่วมใช้พื้นที่เล็ก ๆ ใน มหาวิทยาลัยฯ เป็นพื้นที่ "ระดมพลคนอาสา"  สืบมาตั้งแต่ ๑๖ พ.ย. ที่ผ่านมา 

               ผมติดตามกระบวนขับเคลื่อนของพวกเขามาโดยตลอด เมื่อสบโอกาสทั้งในระบบและริมทางเท้า  เราก็มักพูดคุย ไต่ถามและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง  

               ผมให้ความสำคัญกับ "เนื้องาน" อันเป็น "น้ำใสใจจริง" ของพวกเขา  มากกว่าการ "ติดยึด"  กับระบบ แต่ก็ไม่วายที่จะชักชวนพลพรรคอาสาเหล่านี้นำกิจกรรมดี ๆ เข้าสู่ระบบในมหาวิทยาลัย หรือไม่มหาวิทยาลัยก็ควรกระโจน "ลงแรง"  ช่วยเหลือ สนับสนุนพวกเขาซะเลย  เพราะยังไงเสีย  กิจกรรมนี้ คือ กิจกรรมที่ให้ได้มากกว่า "ลุยขี้ตม  เกี่ยวข้าวแบบทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว กินข้าวกลางลานดิน"  แต่มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ในเชิง "วัฒนธรรมของชาวนา"  และการทำนาไม่ใช่อาชีพ  แต่มันเป็นวัฒนธรรมของชาวนา  ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะ "วิถีวัฒนธรรมแรงงานอาสา"  หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นหู (แต่ไม่คุ้นตาให้พบเห็นบ่อยนักในวิถีชาวนาในปัจจุบัน)  ว่า "ลงแขกเกี่ยวข้าว" 

แน่นอนที่สุด,  จุดประสงค์หลักก็คือการอาสาไปช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวในหมู่บ้านเพื่อรับบริจาค "ข้าวเปลือก"  ไปช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยฯ ใน จ.อุตรดิตถ์ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งนิสิตเหล่านี้เคยสัญจรลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเกื้อกูลในนาม "อาสาสมัคร" มาแล้วครั้งหนึ่ง จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับมาขอรับบริจาคข้าวเปลือกไปให้ชาวบ้านได้ "บริโภค" และจัดเก็บเป็น "พันธุ์ข้าว" เพาะปลูก  และหว่านฝัน  ต่อลมหายใจให้ชีวิตในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ...

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมเห็น (๑) แรงใจและจิตสำนึกอันดีงามของคนหนุ่มสาวที่มีต่อคนไทยที่ตกอยู่กับชะตากรรมความลำเค็ญจากภัยธรรมชาติ (๒)  เห็นการทำงานในระบบเครือข่ายพันธมิตรทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งในภาครัฐและเอกชน (๓)  เห็นการสัมผัสและเรียนรู้วิถีชาวนากลางทุ่งข้าว ทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการกินอยู่แบบเรียบง่ายกลางสายลมหนาว (๔)  การแลกเปลี่ยนแนวคิดและพลวัตรการทำนาของคนอีสานผ่านเวทีชาวบ้านท่ามกลางบรรยากาศค่ำคืนที่ท้องฟ้าประดับด้วยดาวหลากดวง หรือแม้แต่กลางทุ่งข้าวที่ลมหนาวยังพัดวู่ไหว (๕) เห็นน้ำใจและความอารีของชาวบ้านที่มีต่อชาวบ้านด้วยกันอย่างอบอุ่น (๖)  เห็นปราชญ์ชาวบ้านที่ยังทำหน้าที่มรดกทางสังคมอย่างไม่ลดละ  ...ฯลฯ 

วันเวลาล่วงถึงวันนี้ ,  ข้าวเปลือกกองใหญ่กองรวมกันที่วัดบ้านดอนนา (จ.มหาสารคาม) และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ขนย้ายมาจากพื้นที่ ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด  ซึ่งคาดว่าจะได้ข้าวเปลือกจาก "ศรัทธา" ที่ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ กระสอบ

บัดนี้   "เกี่ยวข้าวใหม่   กินปลามัน ปั้นข้าวจ้ำ"  ได้ยุติลงแล้ว  คงเหลือแต่เฉพาะ  "ร่วมทำบุญข้าว" (สู่ขวัญข้าว) ในห้วงเดือนมกราคมอันเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวนาที่ตระหนักในบุญคุณของ "ข้าว" ที่นิสิตย้ำเน้นว่าให้ความสำคัญกับพิธีกรรมนี้มาก  และต้องประกอบพิธีตามวิถีชาวนาเสียก่อน  จึงจะขนย้ายและส่งมอบไปยังพี่น้องชาวอุตรดิตถ์

           แต่ในแววตาที่ฉายฉานอยู่นั้น  ผมรู้ว่ามีความเหนื่อยล้าซ่อนแฝงอยู่อย่างลึกเร้น  โดยเฉพาะปัญหาหลักที่โหมกระหน่ำเข้ามายิ่งกว่าลมหนาวที่หนาวเหน็บและเย็นยะเยือก

          ปัญหานั้นก็คือ "งบประมาณ"  สนับสนุนการจัดกิจกรรมของนิสิตที่มีอยู่อย่างน้อยนิดและไม่เพียงพอต่อการ "ขนย้าย" ข้าวเปลือกจาก จ.ร้อยเอ็ด  มายัง จ.มหาสารคาม และถ่ายโยงไปสู่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งหากล่าช้าไปกว่านี้สภาวะความชื้นของหมอกหนาว  อาจทำให้ข้าวเปลือกชื้นแฉะ   ไม่สามารถใช้ประโยชน์อันใดได้อย่างเต็มที่...

ผมเข้าใจและเห็นใจอย่างลึกซึ้งต่อ "มหกรรมคนอาสา"  ที่ (หนีเรียน) หลบเร้นไปจากห้องเรียนมหา'ลัย ไปสู่  "ห้องเรียนชีวิต" กลางทุ่งข้าว  และอดสะท้อนใจไม่หายกับชะตากรรมที่พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องงบประมาณ ...!

 

        "นิสิตบ้า"  หรือ  "นิสิตกบฎ"   ย้ำกับผมอย่างแผ่วเบา  แต่หนักแน่นว่า  การพบปะกันในวันนี้  มิใช่การบอกกล่าวเล่าความเหมือนครั้งที่ผ่านมา  หากแต่มาร้องขอความช่วยเหลือในการขับเคลื่อนใน "โค้งสุดท้าย"

ก่อนลาจาก ....ผมหยิบยกเอาถ้อยคำของท่านผู้หนึ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาในชีวิตผมเมื่อไม่นานบอกกล่าวกับเขาว่า "ความจริงสวยงามเสมอ"  พร้อมให้สัญญากับเขาว่า "พันธกิจ"  ของผู้คนในมหกรรมคนอาสา  จะต้องเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน ... เพราะคนทำดี  ไม่สมควรถูกปล่อยเคว้งและเดินทางอย่าง "เดียวดาย"

            เรี่ยวแรงและหยาดเหงื่อการเก็บเกี่ยวของ "คนอาสา" และ "ชาวนา" จากที่ราบสูงในวิถี "ลงแขก"  จักต้องไม่สูญเปล่า  ..

            ที่สำคัญผมและนิสิตกบฎท่านนี้ยังวาดหวังว่า  ปีหน้าฟ้าใหม่เราจะขับเคลื่อนกองทุนข้าว (ธนาคารข้าว)  ขึ้นที่ชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย  ให้ชาวบ้านได้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บเกี่ยว , ก่อตั้งกองทุนข้าว  และร่วมใช้ประโยชน์ร่วมกันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา (เมื่อนานมาแล้ว)

 

แต่ตอนนี้และขณะนี้  เราต่างก็บอกกับตนเองว่า "มหกรรมคนอาสา" บทใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ....และเราก็พร้อมแล้ว...

 

 

หมายเลขบันทึก: 69325เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2006 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชุดความรู้ของคนอีสาน มีภูมิสังคม เป็นฐาน คนรุ่นใหม่ในอีสาน ไม่ยอมเรียนภูมิสังคมอีสาน

                 แล้วคนรุ่นไหน จะดูแลอีสาน

พันธมิตรทางวิชาการต้องต่อวงจรกันให้ติด ร่วมคิดดังๆ  พลังจะเกิดอย่างมีพลัง 

  • ขอบคุณครับ
  • วันนี้ก็เล่าเรื่องโรงเรียนอาจารย์ให้น้องนิสิตฟัง พร้อมแนะนำให้ลงพื้นที่เผื่อมีกิจกรรมดี ๆ ทำร่วมกัน
  • ร่วมคิดดังๆ  พลังจะเกิดอย่างมีพลัง !  (เห็นด้วยและชอบถ้อยคำนี้มากครับ)

 

 

  • อ่านแล้วทำให้อยากจะไปเป็น นิสิตใหม่ และไปร่วมด้วย แต่ถึงวันนี้คงได้แต่ส่งกำลังใจช่วย
  • คงต้องเรียนรู้จาก คนของแผ่นดิน ต่อไป
  • ร่วมด้วยช่วยกันครับ
  • ขอบคุณอาจารย์แพนด้ามากครับ
  • ตอนนี้เราต่างก็มีกำลังใจขึ้นมาก  โดยเฉพาะนิสิตกลุ่มคนอาสา ก็พร้อมที่จะลุยงานหลังปีใหม่อีกครั้ง
  • ผมกำลังคิดว่าจะจัดอาสาสมัครลงพื้นที่ที่อุตรดิตถ์โดยตรง ไปร่วมบริจาคข้าว ไปตรวจสุขภาพ ไปเล่นดนตรี ไปวาดภาพ และอื่น ๆ 
  • ชัดเจนเมื่อไหร่ จะเรียนเชิญนะครับ
  • และนิสิตเราก็จะรู้ว่า คนที่ทำความดีย่อมได้รับการดูแล...และได้เวลาที่มหาวิทยาลัยจะลงไปเป็นส่วนหนึ่งกับงานชิ้นนี้
  • แวะมาบอกข่าว...
  • ถึงตรงนี้ผมเริ่มสบายใจขึ้นมาก เพราะกำลังจะได้งบสนับสนุนกิจกรรมนี้
  • และคิดว่าจะนำเอาวงแคนไปร่วมแสดงให้ชุนชนได้ดูในวันทำบุญข้าวที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงเดือนมกราคม
  • เพราะศิลปะการแสดงของ "วงแคน" ก็คือ วัฒนธรรมการละเล่นของคนอีสานเหมือนกัน
  • เป็นวิถีชีวิต  เป็นวัฒนธรรมเหมือนการทำนานั่นเอง

ยินดีด้วยนะคะ  เป็นข่าวดีก่อนนอนเลยค่ะ

แย่จัง...เพิ่งมีโอกาสค้นพบบันทึกตกค้าง

ขอบคุณมากครับ เจ้หนิง... 

P

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท