การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและกลยุทธ์ด้วยประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ(ตอนที่๒) ประวัติความเป็นมาของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ


คำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจได้ถูกนำเสนอและเผยแพร่เป็นครั้งแรกโดย 2 นักวิจัยชาวสวิส ชื่อ Schaltegger และ Sturm ในปีค.. 1990 แต่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับหลักการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจแท้จริงแล้วได้เริ่มขึ้นมาก่อนหน้านั้นในช่วงยุคประมาณปีค.. 1970 ซึ่งในช่วงปี ค.. ดังกล่าวถือเป็นช่วงที่ประเด็นการอนุรักษ์และการป้องกันมลภาวะที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกจุดประกายขึ้น และกลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงสำหรับทุกสังคม รวมถึงทุกประเทศในโลกที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันมลภาวะที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม แนวคิดต้นแบบของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจดังกล่าวในช่วงยุคขณะนั้นเรียกว่า หลักการสังคมอนุรักษ์ (Conserver Society)” โดยคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งประเทศแคนาดา (Science Council of Canada) ต่อมาจากแนวคิดสังคมอนุรักษ์ดังกล่าว ก็ได้ถูกนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เป็นแผนกลยุทธ์การอนุรักษ์ระดับโลก โดยองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) และองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งต่อมาก็ได้นำมาสู่การพัฒนาเป็นคำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจหลังจากที่นักวิจัยชาวสวิสเริ่มต้นเสนอแนวคิดของคำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจต่อสาธารณะได้ไม่นาน คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก (World Business Council for Sustainable Development : WBCSD) ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่างกลุ่มบริษัทชั้นนำระหว่างประเทศกว่า 130 บริษัท จาก 30 ประเทศทั่วโลกก็ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในปีค.. 1991 ภายใต้แนวความคิดที่จะให้เกิดการรวมกันของการพัฒนาที่ดีขึ้นในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

                ภายหลังจากคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมได้บัญญัติความหมาย วิธีการ และหลักการของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขึ้นแล้วนั้น จวบจนถึงปัจจุบันหลักการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในหลายๆ ประเทศ ทั้งประเทศในแถบทวีปยุโรป  อเมริกา รวมถึงบางประเทศในแถปทวีปเอเชีย เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวิสแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา บราซิล และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยมีบริษัทชั้นนำทั่วโลกหลายบริษัทได้นำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนเองเพื่อประเมินสถานภาพของบริษัท ใช้เป็นดัชนีชี้วัดเพื่อกำหนดเป็นนโยบายของบริษัท หรือกลุ่มบริษัทในเครือจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ตัวอย่างบริษัทชั้นนำของโลกที่ได้นำหลักการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจไปประยุกต์ใช้กับองค์กรที่ผ่านมาพอที่จะยกเป็นตัวอย่างได้เช่น บริษัท 3M บริษัทGeneral Motor บริษัท Toyota บริษัท Unilever บริษัท Volkswagen บริษัท Dow Chemical บริษัท Dupont บริษัท Johnson & Johnson ฯลฯ เป็นต้น

ตอนถัดไปผมจะได้เล่าถึงความหมายของคำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจในเชิงวิชาการให้ได้ฟังต่อไปครับ

เขียนโดย ดร. กิติกร จามรดุสิต

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

http://www.en.mahidol.ac.th/EI

หมายเลขบันทึก: 69214เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2006 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท