นายกฯคนในหรือคนนอก-ปชต.ไทยไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น


กล่าวคือ ประเทศไทยไม่เคยคำนึงว่าทำอย่างไรรัฐธรรมนูญไทยจึงจะยั่งยืน นั่นเป็นเพราะเราขาดผู้รู้จริงที่จะวางหลักวางเกณฑ์ให้รัฐธรรมนูญ หรือวางหลักเกณฑ์ประชาธิปไตยให้ประเทศ

กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (สมช.) 1,982 คน และคาดว่าในสัปดาห์หน้าประมาณวันที่ 21 ธันวาคม จะสามารถประชุมสมช.เพื่อลงคะแนนเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน และวันที่ 27 ธันวาคม จะส่งรายชื่อให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เลือกให้เหลือ 100 คน เพื่อไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดย 100 คนจะไปเลือกกรรมาธิการยกร่าง 25 คน ส่วนคมช.เลือกเติมเข้ามาอีก 10 คน

ทั้งนี้ จากอดีตที่ผ่านมา กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากการศึกษาอย่างถ่องแท้ แต่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญแบบ "คนกลัวเงา"

กล่าวคือ ประเทศไทยไม่เคยคำนึงว่าทำอย่างไรรัฐธรรมนูญไทยจึงจะยั่งยืน นั่นเป็นเพราะเราขาดผู้รู้จริงที่จะวางหลักวางเกณฑ์ให้รัฐธรรมนูญ หรือวางหลักเกณฑ์ประชาธิปไตยให้ประเทศ

หากเปรียบเทียบกับฝรั่งเศส ยุคการลุกฮือของประชาชนชาวฝรั่งเศส เพราะหมดความอดทนจากการที่ถูกปล่อยให้เผชิญโชคชะตาที่โหดร้าย ทั้งสินค้าราคาแพง และการรีดนาทาเร้นจากขุนนาง ยุคนั้นนักคิดถูกจับขังคุก "บาสตีล"

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามนำเสนอหลักการประชาธิปไตย โดยนักคิด 3 คนคือ จังจาร์ค รุซโซ โรแบร์ ปิแอร์ และมองเตรส กิเออร์ และก็ได้รับการขานรับจากขบวนการประชาชน ในที่สุดคุก "บาสตีล" ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักคิดนักเขียนที่มีความเห็นแปลกแยกกับรัฐบาล ก็แตกในปี ค.ศ.1789 ประชาธิปไตยฝรั่งเศส ก็พัฒนานับแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนสหรัฐอเมริกา เขามีนักคิดอย่างผู้พิพากษา John Jay ประธานศาลสูงสุดคนแรกของศาลสูงสุดสหรัฐ (The Supreme Court) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญศาลแรกในโลก ในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป เขาเปรียบเสมือนบรรพบุรุษผู้สร้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐ (The Founding Fathers)

นอกจาก John Jay แล้ว John Marshall ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่วางหลักเกณฑ์การปกครอง โดยให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปัตย์ กล่าวคือ ในรัฐใดรัฐหนึ่งที่ใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และแยกอำนาจเป็น 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยอำนาจทั้ง 3 มีหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ไม่ก้าวก่ายกัน และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เป็นบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์และสูงสุด

การยึดหลักความศักดิ์สิทธิ์และสูงสุดของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (The Supremacy of Law) นั้น ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับปีพ.ศ.2540 มาตรา 6 และรัฐธรรมนูญไทยในฉบับอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ปรากฏเป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย เมื่อเกิดวิกฤติการเมือง รัฐธรรมนูญ จะถูกหยิบขึ้นมาฉีกเซ่นสังเวยราวกับว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งที่ปัญหานั้นเกิดจากการบิดเบือนรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นฤดูกาลหนึ่งที่ดูเหมือนว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงก็คือไม่ใช่

ไม่ใช่ โดยเฉพาะประชาชนถูกหลอกให้ยอมรับการยกร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทั้งที่ผู้ยกร่างมีเพียงไม่กี่คนในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ เป็นเพียงไม้ประดับในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เท่านั้น

ดังนั้น ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เป็นประชาธิปไตย เพราะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นเพียงข้ออ้างที่สร้างความเชื่อกันไปเอง

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2540 หมวด7 คณะรัฐมนตรี มาตรา 201 จึงระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชแผ่นดิน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นจากสมาชิกภาพตาม มาตรา 118 (7) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน...

เหตุที่เขียนเช่นนั้นเพราะ กระแสสังคมถูกสร้างให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว เกลียดชังความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

วันนี้ความรู้สึกนั้นก็ถูกปลุกขึ้นมาให้ประชาชนหวาดกลัวคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่าจะสืบทอดอำนาจ แม้พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคมช. และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่สาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ควรถกเถียงกัน เพราะตราบใดที่ประชาชนคนไทยยังขาดความรู้เสมอเหมือนกัน ประชาชนก็ยังจะถูกชักจูงให้เชื่อไปตามแรงโน้มน้าวแต่ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของข้อเรียกร้องว่านายกฯคนนอกกับนายกฯมาจากการเลือกตั้ง แตกต่างกันอย่างไร

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2549

คำสำคัญ (Tags): #ประเทศไทย
หมายเลขบันทึก: 69143เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท