เหนือคู่แข่งได้ด้วยความเร็ว


แนวคิดในเรื่องของการบริการแบบรวดเร็วนี้มาจากสนามแข่งรถสูตร 1 (Formula One) ท่านผู้อ่านคงพอนึกภาพออก เวลารถแข่งวิ่งเข้าสถานีเพื่อเติมน้ำมัน ลมยาง หรืออื่นๆ สามารถดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 นาที

มีมากมายหลายธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความสะดวกสบายที่ลูกค้าต้องการ โดยเฉพาะคนในสังคมเมืองใหญ่ทั่วโลก อีกทั้งการที่ทรัพยากรมีความจำกัดที่เห็นได้ชัดเจนอย่างเช่นเมืองต่างๆในประเทศญี่ปุ่นที่มีพื้นที่ไม่มากนัก ผมได้มีโอกาสเดินทางไปฝึกอบรม ประชุม และศึกษาดูงานหลายครั้ง และด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็มักจะซอกแซกเข้าไปดูเพื่อเป็นประสบการณ์ และจดจำไว้ในสมองน้อยๆ วันนี้ก็ถือโอกาสนำมาเล่าให้ได้อ่านกัน บางกรณีเราก็เริ่มจะได้พบเห็นแล้วบ้างในกรุงเทพนี่เอง

สิ่งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีความขาดแคลนอย่างมากก็คือ พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดมาก ทำให้ราคาที่ดินและค่าเช่าสถานที่ต่างๆแพงเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้ทุกสิ่งทุกอย่างในญี่ปุ่นจึงดูเล็กกระทัดรัดไปเสียหมด แต่ที่สำคัญไม่เคยทิ้งแนวคิดในเรื่องของการใช้ประโยชน์แต่กลับนำเอาข้อจำกัดดังกล่าวมาทำให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งนี้เพราะคนญี่ปุ่นมีความตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่า ผลิตภาพ (Productivity) ในทุกๆเรื่องตั้งแต่เด็กนั่นเอง นักศึกษาไทยในประเทศญี่ปุ่นจะช่วยยืนยันสิ่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น จากการได้มีโอกาสพูดคุยและตามไปดูหอพักนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนในญี่ปุ่น ห้องที่ใช้พักนั้นเล็กมากเมื่อวางที่นอนลงไปแล้วแทบจะไม่มีทางเดินเหลืออยู่แล้ว สิ่งของที่มีน้ำหนักไม่มากนักคงต้องวางไว้ตามชั้นที่ติดกับผนังห้องแทน ธุรกิจซักผ้าและอบแห้งแบบหยอดเหรียญจึงมีกระจายอยู่ทั่วไปในตัวเมือง สถานีบริการน้ำมัน ศูนย์จำหน่ายและบริการบำรุงรักษารถยนต์ของแต่ละยี่ห้อก็เล็กกระทัดรัดน่าเอ็นดูจริงๆ

ถึงแม้ว่าการเดินทางของคนญี่ปุ่นจะใช้การบริการสาธารณะเป็นหลัก อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือแม้กระทั่งรถประจำทาง ก็ตาม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ และด้วยถนนเล็กๆแคบๆนี่เองที่ทำให้สงสัยว่าแล้วเอารถไปจอดกันที่ไหนล่ะ คงไม่มีที่จอดรถใหญ่ๆกว้างๆเหมือนที่ห้างสยามพารากอนแบบบ้านเราอย่างแน่นอน ว่าแล้วก็ต้องตามไปดูหน่อยแล้วก็พบความจริงจนได้ ในหลายๆจุดในเมืองโตเกียวจะมีตึกแถวริมถนนหลายแห่ง ตอนแรกนึกว่าเป็นที่อยู่อาศัย ที่ไหนได้เป็นที่จอดรถนั่นเอง เอแล้วเข้าไปจอดได้อย่างไรล่ะ สงสัยแล้วใช่ไหม เขาใช้ระบบลิฟท์ที่ขนคนแบบที่เราคุ้นเคย แต่ขนาดมันใหญ่กว่ามากแถมรับน้ำหนักรถยนต์ได้อย่างสบาย เพียงแค่วิ่งเข้าไปในตึกที่จอดรถ ลิฟท์ก็จะเลื่อนขึ้นไปนำรถไปจอดยังชั้นที่มีพื้นที่ว่างทันที สนนราคาแล้วแพงเอาเรื่องทีเดียว

ธุรกิจอาหารจานด่วนในเมืองใหญ่ของประเทศไทยก็แข่งขันกันดุเดือดทีเดียว ซึ่งนอกจากคุณภาพของอาหาร และรสชาติแล้ว ความเร็วและความสะดวกแบบส่งตรงถึงบ้านและสำนักงานก็ถือว่าเป็นจุดขายหลักของธุรกิจประเภทนี้ ตัวอย่างเช่นการส่งพิซซ่าที่ให้การรับประกันเวลาการส่งมอบภายใน 30 นาที แถมการันตีด้วยว่าจะยังอยู่ในสภาพที่อุ่น หอมหวลชวนรับประทานอีกด้วย ซึ่งให้ผลทางจิตวิทยาแก่ลูกค้าได้ดีกว่าเวลาส่งมอบเสียอีก

บริการล้างรถอัตโนมัติด้วยเครื่องก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ขายความเร็วสำหรับเจ้าของรถที่ต้องการเห็นความสะอาดของรถก่อนที่จะออกไปโฉบเฉี่ยว หรือออกไปพบลูกค้า ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเจ้าของรถอย่างมาก เพราะคงไม่มีใครขับรถโทรมๆ สกปรกไปพบลูกค้าอย่างแน่

มีมากมายหลายธุรกิจที่ใช้จุดขายในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่จำกัด และความสะดวกสบายที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้เพราะมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ชายที่ไม่ชอบนั่งรออะไรนานๆ และเสียเวลากับการตัดผมมากมายนัก จึงทำให้เกิดธุรกิจตัดด่วนขึ้นเหมือนกับที่เราคุ้นเคยกับธุรกิจจานด่วน (Fast food) นั่นแหละ ใช้เวลาระหว่างการเดินทางหรือรอเพื่อนซัก 10-15 นาที ก็ตัดผมได้แล้ว ช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ ธุรกิจร้านตัดผมด่วนของญี่ปุ่น (Quick Barber House) หรือ QB House เป็นร้านตัดผมที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ด้วยวลีที่ว่า "10 Minutes Hair Cut" และมีร้านค้ากว่า 300 สาขา ทั่วประเทศ ปัจจุบันได้เปิดให้บริการไปยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศไทย ร้าน ตัดผม QB House เป็นร้านตัดผมที่มีจุดเด่นในความแปลกใหม่ ความทันสมัยของรูปแบบร้าน มีการให้บริการที่รวดเร็วใน 10 นาที และการใช้อุปกรณ์ที่สะอาดได้มาตราฐานรวมทั้งอุปกรณ์ Air Washer สำหรับดูดทำความสะอาดเศษผมทดแทนการสระ

ช่างเป็นร้านตัดผมที่เน้นในการให้บริการที่รวดเร็ว สะอาด สวยงามและทันสมัยภายใต้แนวความคิด "10 Minutes Hair Cut" สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัยด้วยช่างตัดผมที่ชำนาญ และได้รับการอบรมจากประเทศญี่ปุ่น

การให้บริการใดๆก็ตามภายในไม่เกิน 10 นาทีนี้นับเป็นกลยุทธ์ที่ญี่ปุ่นมักนำมาใช้ในหลายๆเรื่อง ถ้าจะบอกว่าแนวคิดในเรื่องของการบริการแบบรวดเร็วนี้มาจากสนามแข่งรถสูตร 1 (Formula One) ท่านผู้อ่านคงพอนึกภาพออก เวลารถแข่งวิ่งเข้าสถานีเพื่อเติมน้ำมัน ลมยาง หรืออื่นๆ สามารถดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 นาที ในโรงงานญี่ปุ่นหลายโรงก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการปรับเปลี่ยนแม่พิมพ์ของเครื่องจักรที่เมื่อก่อนต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ปัจจุบันสามารถเปลี่ยนได้ภายในไม่ถึง 10 นาทีที่เรียกว่า Single Minute Exchange Die นี่แหละคือที่มาของคำว่าประสิทธิภาพของการผลิต และนำมาซึ่งความพึงพอใจของลูกค้าในที่สุด สมกับที่นักบริหารยุคปัจจุบันกล่าวไว้ว่า ธุรกิจสมัยใหม่จะต้องเน้นที่ Better Cheaper และ Faster

คำสำคัญ (Tags): #customer#crm
หมายเลขบันทึก: 69116เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • บทความนี้กระตุ้นต่อมการทำงานเร็วจริง ๆ ครับ เหมือนกับคำพูดที่ว่า องค์กรเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ความรวดเร็วเท่านั้นสยบคู่แข่งขันได้
  • ขอบคุณครับ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท