บ่น กับ บอก ต่างกันอย่างไร?


ตรงจุดนี้ขอให้หารือและทำความเข้าใจในหมู่กันเอง ถ้าจำได้ เคยทะลุกลางปล้องมาครั้งหนึ่ง ที่พวกเราบอกว่าผมเขียนมาได้หลายบท เป็นปึ้ง! แต่หารู้ไม่ว่าปึ้งนั้นมันน่าโยนทิ้ง!..

บ่น กับ บอก

ต่างกันอย่างไร

    โจทย์ข้อนี้จะไม่อธิบายขยายความ เพราะผมไม่มีกึ๋นพอที่จะไปเจ๊าะแจะแยกแยะอณูสาระอะไรได้ขนาดนั้น  เอาเป็นว่าจะยกตัวอย่างจากการที่ได้ติดตามนักศึกษาบูรณาการศาสตร์  เขียนรายงานการลงพื้นที่เก็บข้อมูล  ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอขยายความนิดหนึ่ง


    นักศึกษาบูรณาการศาสตร์  ต้องเรียนรู้ศาสตร์ของชุมชนแล้วนำมาป่นกับศาสตร์ทางสายวิชาการ ให้ได้ชุดความรู้คู่ขนานที่เหมาะกับระดับชาวบ้าน เพื่อนำไปใช้ต้นทางแก้ไขปัญหาของเขาเอง โดยยึดหลักของKM.ที่ว่า เราให้ความสำคัญความรู้ในตัวคน ถอดรหัสจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เพื่อนำมาแปลงเป็นตัวอักษรให้มีชีวิตกระโดดโลดเต้นบนหน้ากระดาษ 


    ปัญหาติดอยู่ที่วัฒนธรรมการเรียนรู้ ไปผ่านเบ้าหลอมของวิธีการคิด เขียน เรียน ทำ โดยไม่ผสมผสานความเป็นบ้านนอกคอกตื้อของเราเท่าที่ควร  ..ขาดกลิ่นอาย ขวัญของเรียม เราจึงได้อ่านงานที่ทื่อๆเหมือนท่อนซุง  แข็งกระโดกไม่ชวนให้อ่าน ขาดเสน่ห์ของการเขียนตำราให้มีชีวิต 


    เพื่อให้ง่ายขึ้นขอยกตัวอย่างการบอก และบ่น มาประกอบการอธิบายเสียเลย คืออย่างนี้ครับ ท่านอาจารย์ใหญ่ น.พ.วิจารณ์ พานิช ท่านต้องการให้นักศึกษาในโครงการบูรณาการศาสตร์ เขียนบันทึกแล้วรายงานขึ้นบล็อกทุกวัน  เพื่อจะทราบว่าวันหนึ่งๆไปเรียนเรื่องอะไร ได้อะไร เอามาบอกเล่าสดๆร้อนๆในเวทีสาธารณะ เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษา คนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชาวบ้านด้วย (ถ้าศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนมีประสิทธิภาพจริง) ชาวบ้านก็จะค้นเรื่องได้ ว่าที่ให้สัมภาษณ์ไปนั้น ผู้เก็บข้อมูลได้นำไปถ่ายทอดตรงตามข้อเท็จจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ตรงก็แย้งปรับให้ถูกต้องได้ 

   สมัยก่อนเราใช้วิธีส่งข้อมูลย้อนกลับ มาให้เจ้าตัวอ่านก่อนว่าถูกต้องและพอใจแล้วหรือยัง แต่มาสมัยที่มีบล็อกเช่นนี้  การส่งปรับข้อมูลจะสะดวกและง่ายขึ้น


   ขอยกกรณีตัวอย่าง  การรายงานสายธารการเลี้ยงโค ของ อาจารย์พันดา เลิศปัญญา ที่ศึกษาบริบทของการเลี้ยงโคเพื่อชีวิตของชุมชน ตอนที่18การหย่านมลูกโค (อ่านฉบับเต็มในรายงานบล็อกของ มหาชีวาลัยอีสาน หรือหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์)

 

 

  ผมอ่านแล้วก็เกิดอาการอยากบอกหรืออยากบ่นก็ไม่ทราบได้  จึงขอยกตอนที่บ่นและบอกออกมาบางส่วนดังนี้ เพื่อชี้ชวนให้ชาวบล็อกให้ความเห็นเพิ่มเติม เรียกว่าเปิดตัวเปิดใจเต็มที่


     ในกรณีที่ให้ลูกโคหย่านมโดยไม่แยกคอก ก็ใช้วิธีผูกไม้ปลายแหลมไว้ที่ปากของลูกโค เมื่อเวลาไปดูดนมแม่ ไม้ปลายแหลมก็จะทิ่มเต้านมแม่ให้เจ็บ แม่โคก็จะไม่ยอมให้ลูกโคดูดนมอีกต่อไป..


    มีพันธมิตรวิชาการ ท่านเม็กดำ1 เข้ามาหาเรื่องดังนี้ ..การหย่านมลูกโค เป็นชุดความรู้ในท้องถิ่นที่มีคุณค่า ลงทุนน้อย แต่ได้ผลดี เชื่อว่ายังมีอีกหลายวิธีที่เป็นของท้องถิ่นบุรีรัมย์ ศึกษาหลายๆวิธี เมื่อสรุปบทเรียนและถอดบทเรียนออกมา จะเป็นมุขสำคัญของพันดา


   เมื่อได้กฤษ์งามยามดีผมก็ขอผสมโรงเรื่องการหย่านมของลูกโค  ดังนี้  พวกเลี้ยงโคนม จะหย่าลูกโคเร็วมาก ถ้าเติมชุดความรู้เข้าไปอีก ขั้นตอนของการหย่านมจะสมบูรณ์ขึ้น กลวิธีจะนำไปดัดแปลงเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ถ้าแม่โคตาย  ลูกโคจะทำอย่างไร แม่โคหัวนมแห้ง หัวนมอักเสบ จะทำอย่างไร หัวนมบอด หัวนมคัด ไม่ยอมให้ลูกดูดนม มีวิธีหาแม่เลี้ยง หรือฝากไปให้ตัวอื่นช่วยเลี้ยงได้ไหม
แสดงว่าขั้นตอนนี้ยังมีอีก

 

  ข้อมูลที่หา ที่ค้น ที่ถาม หมายถึงข้อมูลแวดล้อม อาจจะถาม ถาม เจ๊าะแจ๊ะ แต่ข้อมูลไม่แจ๊ะเจ๊าะแน่ แสดงว่ายังขาดนิดหน่อยตรงเจ๊าะแจ๊ะยังไม่พอ เสน่ห์ของข้อมูลที่ได้ จะมาจากเกล็ดเล็กน้อย แต่ซ่อนความหมาย ความสำคัญไว้มาก ยังมีเรื่องนมๆรอหรือ ซ่อนอยู่ตรงไหนอีก เช่นการฝากลูกเลี้ยง การผสมข้ามพันธุ์เพื่อให้แม่โคมีน้ำนมสมบูรณ์ขึ้น หมายความว่าข้อมูลที่โยงเชื่อมต่อกัน อาจจะไปจบเป็นตอนๆ ถ้าจำเป็นต้องข้ามตอนก็ได้ เช่น กลอุบายการหย่านมที่น่าสนใจของสัตว์แต่ละประเภท แต่ละตัว อุปนิสัยของแม่โค ทำไมบางตัวดุ ทำไมบางตัวใจดี ก็เหมือนคนนั่นแหละ ทำไมบางคนถูกเรียกว่าแม่เสือ ทั้งๆที่เป็นแม่คน อนุญาตให้ขยายวงออกจากกรอบวิชาการได้ เพราะของเราพวกนอกระบบ พวกวิชาเกิน อ่านแล้วจะได้ความทึ่ง ความหมาย ความสนใจ อยากเห็นรายงานที่มีชีวิตชีวา เช่น
 

   ลูกโคที่ถูกหย่านม น่าสงสารไหม มันทำอย่างไร
แม่โคทำอย่างไร ลูกโค มีอาการ และแสดงออกอย่างไร
บางตัวนะ อ.พันดา เราแยกลูกแยกแม่ พอห่างตาเรา


แม่โคเบียดตัวเองเข้ามาข้างรั้ว พยายามยื่นนมเหี่ยวมาให้ลูกดูดจนได้ลูกโคบางตัวแยกไปเป็นเดือน มารวมฝูงยังแอบไปนอนชิมนมกันอีก


ศิลปะแห่งชีวิตของวงจรโค หาให้เจอ..ถ้าอยากเป็นมหาบัณฑิตแบบทึ่ง&งึด!!!!

   ขอฝากพวกเรา  บทความก็ดี ชุดความรู้ก็ดี ควรจะมีกลิ่นอายของลูกทุ่ง เสน่ห์ของแง่มุมชีวิต ไม่ควรเขียนทื่อๆรายงานทื่อๆแข็งกระโดกแบบวิชาการท่อนซุง เชื่อว่าพวกเรามีมุมคิดแง่มองอยู่แล้ว แต่นึกว่าไม่สำคัญไปบ้าตามวิชาการทั้งแท่ง เรื่องนี้แยกแท่งผ่าหมากได้ โดยเฉพาะ อ.ศิริพงษ์ เวลาพูดดูมีจุดจะคลิ๊กดีๆอยู่เรื่อย แต่ไม่มั่นใจหรืออย่างไรไม่ทราบไม่ยอมงัดออกมาสักที พยายามที่จะแปลงสาระของคนอื่น แต่ของตัวเองไม่แตกตัว ตรงนี้แหละที่พวกเราเฝ้ารอและอยากเห็น
  

   อย่าลืมว่า นี่เรื่องของชีวิตนะ เราต้องการเรียนวิธีที่มีวิญญาณชีวิต หรือชีวิตที่มีวิญาณ อาจจะแย้งว่าไม่ใช่เขียนนวนิยายนะโว้ย!

เออ..ตรงนี้มันมีเส้นใสๆกั้นอยู่ 

   ที่โปรยหัวว่า สายธาร..เราควรสร้างสายธารแห่งความรู้นี้อย่างไร น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา  หรือน้ำเน่าไหลกระปริดกระปรอย ที่ติงในช่วงนี้ ไม่ชวนคิดแต่แรกเพราะเห็นว่าพวกเราน่าจะกระแซะข้อมูลออกมาเป็นธรรมชาติ เชื่อลึกๆว่าทุกคนมีคุณสมบัติพร้อมอยู่แล้ว แต่ติดเรื่อง..เอาแค่นี้แหละว่ะ..ไม่ถามตัวเองว่ายังมีอะไรอีก..อะไรอีก..
 

   เวลาเข้าป่าไปหาพระฤษี ถ้าไม่มีอะไรมาเสนอ มาถามแลกเปลี่ยน มันก็จะคิดเอาเองว่ามาทำไมวะ ไม่เห็นต้องมา มาแล้วไม่เห็นได้ทำอะไร..นี่ยังคิดในเชิงรับ ทั้งเซ็ทเราเป็นเช่นนี้ ..แล้วยังไงอีกละ..

   อ๋อ!ยังงี้ไง..ของเราจะต่างจากสำนักเม็กดำ..ทุกครั้งที่เม็กดำมา จะมีประเด็นหารือ มีเรื่องเล่า เรื่องบอก เรื่องที่มันเต้นไปข้างหน้า.นี่คือความแตกต่าง..ที่พวกเราแปลรหัส อ.แสวงไม่ออก ว่าทำไม ไม่ทำ ไม่เข้าเค้า ไม่เข้าลู่ สักที


   มันไม่ง่ายนักหรอก ถ้าง่ายเราไม่เลือกพันดา ศิริพงศ์ หรือสำเนียงเลือกครูขี้ยาที่ไหนก็ได้

   ขอให้ทบทวน  ที่คนอื่นเขียน หรือเราเข้าไปอ่าน เราไม่รู้สึกเลยหรือว่า  เราจะต่างจากเขาอย่างไรเอกลักษณ์ของเรา เราต้องแทรกเข้ามา
.พันดา ..,มีมิติ แย้ง ไม่ยอม เด็ดขาด แต่พอไปค้น ไปตามข้อมูล กลับเดินตามเขาต้อยๆ แล้วเมื่อไหร่ความเป็นตัวตนของคนที่ชื่อพันดาจะนำพาตัวหนังสือมากระโดดโลดเต้นสู่หน้ากระดาษ


    วิธีหย่านมที่เสนอก็ดี เข้าท่า แต่ไม่ครบกระบวนท่า
เพราะเชื่อว่ายังมีวิธีอื่นๆอีก การลงพื้นที่ต้องทำการบ้าน  ถามที่เดียว 10-100 ประเด็น บันทึกเทป ชวนคิด ชวนเขียน  เป้าใหญ่ของKM.ก็การจัดการความรู้ที่ตัวคน รวบรวมความรู้ในตัวคน ออกมาประมวลเป็นชุดความรู้ท้องถิ่น  เราจะต่างจากเขาตรงนี้..เน้นการสร้างชุดความรู้เพื่อท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นนำไปใช้ ไม่ได้ไปให้นักวิชาการ หรือนักบ้าๆบอๆใช้


    อีกตัวหนึ่ง นะ..อ.พันดา ที่จะมีขึ้นในอนาคต เมื่อเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ชาวบ้านจะเรียกหาความรู้จากนักวิชาการ ถ้าวันนั้นมาถึง ถามว่า นักวิชาการจะมีให้เขาไหม ทุกคนบอกว่ามีแน่นอน..แต่มันเป็นวิชาที่ไม่เหมาะกับ ชาวบ้าน เป็นวิชาการที่เหมาะกับวงกว้างทั่วไป
เราถึงแยกมาทำ..เพื่อเสนอว่า..บูรณาการศาสตร์ คืออย่างนี้เป็นอย่างนี้

   ตรงจุดนี้ขอให้หารือและทำความเข้าใจในหมู่กันเอง
ถ้าจำได้..เคยทะลุกลางปล้องมาครั้งหนึ่ง
ที่พวกเราบอกว่าผมเขียนมาได้หลายบท เป็นปึ้ง!
แต่หารู้ไม่ว่าปึ้งนั้นมันน่าโยนทิ้ง!..

หมายเลขบันทึก: 69059เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 07:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ผมอยากเห็นความแตกต่างของคำว่า

แนะนำ กับ

ด่า

ว่าต่างกันอย่างไร

เพราะทุกครั้งที่ผมแนะนำ คนจะว่าผมด่าทุกครั้ง

สงสัยผมจะเป็นคนหยาบคายจริงๆ

ทำยังไงจะให้ความรู้ในตัวคนถุกถ่ายทอดออกมาได้มากที่สุด

 

 

 เป็นคำถามที่สั้นๆแต่ตอบยากจังเลย

เพราะความรู้ในตัวคน  ไม่ได้มีอยู่ในสภาพสำเร็จรูป

มันอยู่ในทักษะ อยู่ในความคิดคำถึง อยู่ใน

ประสบการณ์  อยู่ในฝีไม้ลายมือ

การที่จะถ่ายทอด ก็ต้องดูว่ามีเครื่องมืออะไรมาดูดซับ

เอาความรู้ เช่นสัมภาษณ์ ก็ต้องจด ต้องอัดเทป ฯลฯ

ดังนั้นคงจะสรุปสั้นๆไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร

คงวางแผนร่วมกันตั้ง 2 ส่วน คือ

ผู้ถอดประสบการณ์เปรียบเสมือนเครื่องรับวิทยุ

ผู้ถ่ายเทประสบการณ์เปรียบเสมือนเครื่องส่งวิทยุ

ต้องปรับจูนคลื่นให้ตรงกัน มันถึงจะรับได้ ชัด ได้ครบ

ถ้วน

ผมสนับสนุน "สุนทรียสนทนา" ชิ้นนี้ของครูบาเต็มที่ครับ

วิจารณ์

บ่นกับบอกต่างกันอย่างไร บ่นเป็นเหมือน ลม ลอยไป ลอยมา เข้าซ้ายทะลุขวา บอกเป็นการได้พบหน้า ได้พูดจา ได้รับปากรับคำ แต่ก็มีโอกาสเป็นบ่น เพราะบอกแล้ว รับแล้ว ก็.....ดื้อตาใส....

ขอบพระคุณค่ะ สำหรับคำแนะนำทุกประเด็น ขอน้อมรับมาแก้ไขให้ดีขึ้นค่ะ

 ขอบคุณค่ะ

  • ตามมาหาความรู้แบบคนที่มีความรู้น้อยครับผม

ซาบซึ้งในความหมายของคำว่า "แนะนำ" ครับ เยี่ยมมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท