บันเทิง : เริงปัญญา : การพานพบจากเยาวชนพิทักษ์ไพร


การได้มีโอกาสพาตัวเองก้าวกระโจนออกจากโลกแคบของหอพักและห้องเรียนมาสู่ห้องเรียนธรรมชาติอันมหึมาเช่นนี้ คือการเปลี่ยนแปลง (Change) รสชาติชีวิตความเป็นปัญญาชนของหนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัย

สภาพการณ์ปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า “ความบันเทิง” (เริงใจ) คือภาพลักษณ์ที่สำคัญของกิจกรรมที่จัดขึ้นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และอาจเรียกได้ว่าความบันเทิง (เริงใจ) เป็นเสมือน “องค์ประกอบ” สำคัญของการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งเลยก็ว่าได้ ทั้งในฐานะของการเป็นแก่นสารสารัตถะของกิจกรรมนั้น ๆ โดยตรง หรือไม่ก็เป็นแค่ “เครื่องมือ” (Means) ที่ผู้สร้างกิจกรรมได้รังสรรค์ขึ้นมาเป็นสิ่งเร้าชักชวนให้มวลชนได้ก้าวเข้าเสพกิจกรรมเพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายฝันในด้านแก่นสารอันเป็นสารัตถะแนวคิดทางปัญญา

แต่จากสถานการณ์ทางสังคม ภายใต้บริบท (Context) กระแสทุนนิยมที่ทรงอานุภาพเช่นนี้ ย่อมไม่อาจพบเห็นบ่อยนักที่กิจกรรมจะประสบความสำเร็จในเชิงปัญญาได้อย่างมากมายโดยไม่มีความบันเทิงเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวชูโรง

นี่คือปรากฏการณ์จริงในด้านกิจกรรมของคนหนุ่มสาวแห่งยุคโลกไร้พรมแดนที่จำเป็นอย่างยิ่งในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ต้องนำ “ความบันเทิง” มาปรับประยุกต์ หรือบูรณาการเข้าสู่กิจกรรม มิเช่นนั้นเรื่องจำนวนผู้เข้าร่วมก็ย่อมไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์อย่างแน่นอน ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียนต้นของมหาวิทยาลัย มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามนำความบันเทิงมาเป็นเครื่องมือหรือกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ชักชวนคนเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีพลังทางปัญญาเป็นจุดหมายปลายฝันของการเรียนรู้

และ โครงการ “เยาวชนพิทักษ์ไพร” ของกลุ่มนิสิตพรรคพลังสัมคมคือกระจกเงาที่สะท้อนภาพวิถีกิจกรรมในสถานการณ์ทางสังคมเช่นนี้อย่างชัดเจน มีทั้ง “เริงรมย์” และ “เริงปัญญา” สุดแท้แต่ผู้เสพจะเลือกเสพรสชาติใดเป็นสำคัญ


เยาวชนพิทักษ์ไพร : บันเทิงเริงใจท่ามกลางขุนเขา แมกไม้และสายธาร


เพียงไม่กี่ปี “เยาวชนพิทักษ์ไพร” กลายเป็นวาทกรรม (discourse) ติดหูในแวดวงกิจกรรมอย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นที่นิยมในหมู่นักเดินทางที่พิสมัยบรรยากาศของขุนเขาและสายธาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองต่อการเป็นทางเลือกในการพักผ่อนหลังการสอบปลายภาคที่แสนจะหนักหน่วง

การประชาสัมพันธ์เชิงรุกในระบบเว็บไซด์ของพรรค รวมถึงคัตเอาท์ไม้กระดานที่ตั้งอยู่ทั่วสารทิศในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการนำเสนอภาพของอุทยานในบอร์ดที่โรงอาหารกลาง คือ กระบวนการสำคัญที่กระตุ้นเตือนให้หลายต่อหลายคนไม่รีรอที่จะจัดเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าพาตัวเองไปเป็นนักเดินทางท่ามกลางธรรมชาติที่ดูจะสมถะและยิ่งใหญ่

ตลอดระยะหลายเดือนที่ชีวิตว่ายวนอยู่กับหอพักและห้องเรียนอันแคบเล็ก ถึงแม้จะรู้สึกคุ้นชินกับภาพชีวิตและบรรยากาศเช่นนั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิถีเช่นนั้นเป็นบรรยากาศที่จำเจอยู่มิใช่น้อย

การได้มีโอกาสพาตัวเองก้าวกระโจนออกจากโลกแคบของหอพักและห้องเรียนมาสู่ห้องเรียนธรรมชาติอันมหึมาเช่นนี้ คือการเปลี่ยนแปลง (Change) รสชาติชีวิตความเป็นปัญญาชนของหนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัย หลายคนคงระริกระรี้เป็นปลากระดี่ได้น้ำ เพราะคือห้วงสำคัญของการปลดเปลื้องความตรึงเครียดออกจากหัวสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนที่ไม่เคยมาเยือนสถานที่เช่นนี้ย่อมลิงโลด ตื่นตา ตื่นใจกับบรรยากาศของขุนเขา สายน้ำ หมอกหนาว และลมฝน

บรรยากาศและท่วงทำนองของธรรมชาติคือกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ผู้มาเยือนได้รื่นรมย์และบันเทิงเริงใจ และโดยสัจจะมนุษย์ตระหนักรู้อยู่แก่ใจว่าธรรมชาติคือ “บ่อเกิด” ของสรรพสิ่ง และมีสถานภาพการเป็น “ผู้ให้” ที่ยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ

การได้พักวางจากภาพชีวิตที่เก่า ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในห้วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นเสมือนการให้รางวัลชีวิตแก่ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาตนเองออกมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางขุนเขา แมกไม้และสายธารเช่นนี้ ยิ่งจะช่วยให้ชีวิตได้รู้สึกผ่อนคลายจากชะตากรรมที่สู้เผชิญมาอย่างเหนื่อยอ่อน

จริงอยู่กิจกรรมเดินป่าไปตามเส้นทางเล็กและแคบอาจนำมาซึ่งความอ่อนเพลียและโรยแรง แต่รสชาติของความเหนื่อยล้าเช่นนี้ ย่อมแตกต่างจากรสชาติความเหนื่อยอ่อนที่เกิดขึ้นในห้องพักและห้องเรียนของตนเอง

การได้แช่มือ แช่เท้า หรือแม้แต่แช่ตัวเองอยู่ในน้ำตกหรือสายน้ำกลางหุบเขา จะช่วยให้เราได้หวนรำลึกถึงการเล่นน้ำเมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก ทั้งเมื่อคราวที่วิ่งเล่นท่ามกลางสายฝน หรือแม้แต่การเปลือยเปล่าอาบน้ำฝนจากตุ่มที่กักเก็บไว้หลังบ้าน ด้วยเพราะบรรยากาศ หรือรสชาติความเย็นของสายน้ำที่ถือกำเนิดจากธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์โดยไม่ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ย่อมให้ความรู้สึกที่สบายตัว และสบายใจแตกต่างกันอย่างลิบลับ

หรือแม้กระทั่งการได้แช่ตนเองอยู่ในลำธาร หรือสายน้ำกลางหุบเขาเช่นนี้ ดูอาจไม่ต่างอะไรกับกระบวนการเข้าคอร์ดทำ “สปา” ในโรงแรมหรู หากแต่ในหุบเขาเช่นนี้ เราไม่จำเป็นต้องลงทุนในราคาค่างวดที่สูง ไม่จำเป็นต้องมีแอร์ปรับอากาศ ไม่จำเป็นต้องมีกลีบดอกไม้โรยอยู่เหนือผิวน้ำ เพราะทุกอย่างธรรมชาติผู้เป็นประหนึ่ง “มารดา” ได้สร้างและมอบไว้อย่างครบครันแก่ผู้มาเยือนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรสชาติและบรรยากาศที่ธรรมชาติมอบกำนัลแก่เรานั้น เป็นยิ่งกว่ายาวิเศษที่ช่วย “บำบัด” ชีวิตและต่อลมหายใจของชีวิตให้ยาวนานออกไป มีแรงกายและแรงใจพร้อมที่กลับไปโลดแล่นกับสถานภาพของความเป็น “นิสิต” อีกครั้ง

นอกจากนี้แล้ว การพักวางชีวิตจากเรื่องอันจำเจและหน่วงหนักที่เผชิญอยู่แทบทุกวันมาสู่การให้อิสระแก่ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติเช่นนี้ คือ การมอบความรื่นรมย์ (บันเทิงเริงใจ) ให้กับชีวิตอย่างดีเยี่ยม

การปล่อยวางให้ชีวิตได้ล่องไหลและเที่ยวท่องไปกับแดดอุ่นและหมอกหนาว หรือแม้แต่ลมฝนและหมู่ไม้ที่ขับเสียงอยู่อย่างไม่หยุดนิ่ง ล้วนเป็นแง่มุมที่จะนำพาเราไปสู่ความสดชื่นของชีวิต

เช่นเดียวกับเสียงนกป่าที่กู่ร้องอยู่บนยอดไม้ในอุทยาน ย่อมแตกต่างและไพเราะกว่าเสียงนกบ้านและนกเมืองที่ขับเปล่งอยู่ตามซอกตึกและลวดหนามในป่าคอนกรีต

รวมถึงดอกไม้ป่าที่บานเบ่งอยู่ตามทางเดินในราวป่า หรือโขดหินที่สมถะ ก็จะช่วยให้นักเดินทางทั้งหลายได้เห็นสีสันอันสวยสดและไม่หยาบกร้าน

ทั้งหลายทั้งปวงที่สามารถเก็บเกี่ยว ซึมซับและรับรู้จากวิถีอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในห้วงเวลาอันสั้นในวิถีกิจกรรมของ “เยาวชนพิทักษ์ไพร” คือ ความบันเทิงเริงใจอันรื่นรมย์ที่ควรค่าต่อการค้นหา เพราะในสถานะของการเป็นนิสิตที่ยังต้องมีพันธกิจอันสำคัญคือการเรียนนั้น คงมีไม่มากนักที่จะพาตนเองหลุดพ้นออกมาเที่ยวท่องอย่างเสรีในอ้อมกอดของขุนเขา สายธารและแมกไม้เช่นนี้

และทุก ๆ จังหวะก้าวของชีวิตในกิจกรรมครั้งนี้ คงพอช่วยทำให้คนหนุ่มสาวไม่มากก็น้อย จะรู้สึกราวกับว่ากำลังจะมี “เช้าชื่นของชีวิต” ที่งดงามให้จดจำ


เยาวชนพิทักษ์ไพร : เวทีทางปัญญาของพลังสังคม


กิจกรรมในลักษณะของการเสวนาและอภิปราย (discussion) อันเป็นกลไกในการพัฒนาภาวะผู้นำ (leadership Development) เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning) ดูเหมือนมีให้เลือกอย่างจำกัด แต่โครงการเยาวชนพิทักษ์ไพรของพรรคพลังสังคมก็ยังยืนหยัดทระนงเป็น “เวทีทางปัญญา” ยาวนานมาถึง ๙ ปี ขณะที่ต้นกำเนิดแห่งการเสวนากิจกรรมนำสู่ธรรมชาติในช่วงปิดภาคเรียนต้นของพรรคชาวดินกลับขาดห้วงและอาจขาดหายไปจากแวดวงกิจกรรมอย่างน่าใจหาย

ถึงแม้ว่า เยาวชนพิทักษ์ไพร อาจไม่ใช่กิจกรรมที่เพียบพร้อมสมบูรณ์เป็นแม่แบบ (model) ในทำนอง “พลังทางปัญญา” แต่ในห้วงเวลาอันสั้นของการปิดภาคเรียนต้นเช่นนี้ ก็มีเพียงไม่กี่กิจกรรมเท่านั้นที่จะเป็น “ทางเลือก” นำพาเราไปสู่กระบวนการ “บ่มคิด” ทางปัญญา เนื่องเพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ก็มีจุดหมายปลายฝันไปสู่ด้านบำเพ็ญประโยชน์แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดีกิจกรรมเยาวชนพิทักษ์ไพรที่จัดขึ้นในแต่ละครั้งก็ยังคงรักษาที่มั่นทางวัฒนธรรมการจัดไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านสถานที่จัดกิจกรรมนั้นก็ไม่เคยหลุดพ้นไปจากความเป็นขุนเขา แมกไม้และสายธารเลยก็ว่าได้

ขณะที่ด้านแนวคิดก็ยังมีจุดยืนแก่นหลักอยู่ ๒ ประการที่ประกอบด้วยการเสวนากิจกรรม บ่มเพาะแนวคิดทางปัญญาและการจัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างเสริมจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยเช่นกัน

การเสวนากิจกรรมที่เกิดขึ้นในเวทีปัญญาของเยาวชนพิทักษ์ไพร จะเน้นจุดหลักหรือจุดขายด้วยการนำพาวิทยากรที่เป็น “ศิษย์เก่า” หรือ “พี่พรรค” กลับมาสู่เวทีแห่งการเสวนา และถือโอกาสนี้เป็นเวทีแห่งการพบปะฉันท์พี่น้องไปในตัว

กระบวนการเสวนาที่เกิดขึ้นจึงเป็นความร่วมมือ (cooperative) ของพรรคพลังสังคมในกลุ่มสายเลือดปัจจุบันและสายเลือดเก่า เพื่อสร้าง “สายเลือดใหม่” โดยเนื้อหา หรือประเด็นที่นำมาเสวนาแลกเปลี่ยนก็ไม่หลุดพ้นไปจากวังวนเรื่องกิจกรรมของนิสิต เรื่องการดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย พลพวงของการเรียนและการจัดกิจกรรม รวมถึงการจุดประเด็นทางสังคมในแง่มุมของการปลุกเร้าเรื่องจิตสำนึกที่ดีต่อการรับผิดชอบสังคม และแน่นอนในวังวนนั้นก็คงไม่ลืมที่จะใช้เวทีทางปัญญานี้วิพากษ์ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการผนึกกำลังทางวิทยากรของ “ศิษย์เก่า” กับ “อาจารย์ที่ปรึกษา” ผู้เป็นขุนพลทางความคิดของชาวพลังสังคม ผสมผสานกันกับแนวคิดแบบมีส่วนร่วมของบรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีเป้าหมายการเสวนาในจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (creative thinking) ให้ก่อเกิดในถนนสายกิจกรรมและเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ชีวิตในความเป็นนิสิตมากที่สุด

ไม่เพียงแต่การเสวนากิจกรรมเท่านั้นที่เป็นเวทีทางปัญญาของชาวพลังสังคมที่จัดขึ้นเป็นองค์ประกอบของกิจกรรมเยาวชนพิทักษ์ไพร แต่กิจกรรมในลักษณะของการบ่มเพาะจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญและถือเป็น “สีสัน”
ของการเรียนรู้ที่ไม่ด้อยไปกว่าการเสวนาอันรื่นรมย์และเคร่งเครียดในทางกิจกรรมของยาวชนพิทักษ์ไพร

กิจกรรมบ่มเพาะจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ จะถูกสร้างองค์ความรู้จากวิทยากรกรมป่าไม้ที่ดูแลและรับผิดชอบสถานที่นั้น ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นข้อมูล ข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอุทยานที่พักอาศัย ขยายกว้างไปจนถึงความเป็นไปในระดับภูมิภาค และระดับชาติ

การเดินเท้าไปตามเส้นทางในราวป่าก็กลายมาเป็นกระบวนการสำคัญของการนำพานิสิตออกไปสัมผัสและเรียนรู้กับวิถีแห่งธรรมชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้นำทางไปสู่เวทีแห่งการเก็บเกี่ยวและเรียนรู้

การเดินป่าในแต่ละครั้ง อาจมีโจทย์คำถามและแนวปฏิบัติที่ผู้เข้าร่วมจักต้องเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อฝึกฝนการเรียนรู้ ซึ่งต้องนำกลับมาบอกเล่าต่อผองเพื่อนคนอื่น ๆ อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากการมีประสบการณ์จริง (Experiential Learning) อย่างถ่องแท้และนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงในบางครั้งอาจมีกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อ “ต่อยอด” ให้ขุนเขามีต้นไม้ประดับประดา ชื้นเย็น และ รกครึ้ม ...


เหนือสิ่งอื่นใด....
กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในโครงการเยาวชนพิทักษ์ไพรของกลุ่มนิสิตพรรคพลังสังคม จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจของผู้เข้าร่วมและช่วยหล่อหลอมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น ๆ เกิดผลึกแห่งการเรียนรู้ได้รับผลพวงทั้งในรูปลักษณ์ของความ “บันเทิง – เริงปัญญา” มากหรือน้อยก็ย่อมขึ้นอยู่กับความตระหนักแห่งการเก็บเกี่ยวของผู้เข้าร่วม หรือผู้เสพกิจกรรมเป็นสำคัญว่าต้องการและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้แต่เพียงผิวเผินหรือลุ่มลึก หรือเพียงแต่ปรารถนาให้เยาวชนพิทักษ์ไพรเป็นการพักวางชีวิตในช่วงปิดเรียนธรรมดาสามัญเท่านั้น

กระนั้นก็ยังเชื่อว่า บรรดาผู้จัด เยาวชนพิทักษ์ไพร มุ่งมาดปรารถนาให้กิจกรรมนี้เป็นเสมือนกระบวนการ (Process) แห่งการเสริมสร้างและพัฒนาชีวิตความเป็นนิสิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นส่วนเติมเต็มเรื่องราวบางเรื่องที่ไม่อาจค้นหา และค้นพบได้เลยจากห้องเรียนและหอพักอันคับแคบของนิสิต

หนึ่งปีจะมีสักกี่ครั้งที่ได้ก้าวกระโจนออกมาสู่โลกแห่งความรื่นรมย์เช่นนี้

และ ๔ ปีในรั้วมหาวิทยาลัยจะมีสักกี่ครั้งที่ได้มีโอกาสท่องเที่ยวและล่องไหลไปในเวทีแห่งธรรมชาติและข้นเข้มในเวทีทางปัญญาจากการเสวนาท่ามกลางขุนเขา แมกไม้และสายน้ำ
คำสำคัญ (Tags): #msu km กิจกรรมนิสิต
หมายเลขบันทึก: 68934เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ชอบเดินป่าครับ อ่านแล้วคิดถึงบรรยากาศการเดินป่า การออกค่ายกับน้อง ๆ เด็ก ในเรื่องป่า สิ่งแวดล้อม
  • แต่หลายครั้งเรมมักพาเด็กไปป่าใหญ่ ๆ แต่ป่าชุมชนเราขาดการพิทักษ์ เรื่องนี้น่าจะเริ่มที่เด็ก ๆ ด้วยเพราะเด็กมักมีความเชื่อเกรงกลัว เจ้าปู่ตา มากกว่าผู้ใหญ่ เรื่องนี้สอนง่ายกว่า

บรรยายวิถี ของเยาวชนพิทักษ์ไพร ได้อย่างสวยงามในอรรถภาษามากครับ

ผมมองเห็นนักศึกษา กับความสุขที่ได้สัมผัส ดิน น้ำ ป่า อย่างชัดเจน สวยงามในวิถี...และสำคัญมากๆด้วยครับ ที่น้องนักศึกษาจะมาสัมผัส เรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้ เพื่อซึมซับเอาสุนทรียะของธรรมชาติ เกิดความรักความหวงแหน ธรรมชาติ และสุดท้ายเกิดความเข้าใจวิถีที่อยู่กับธรรมชาติ อย่างน้อยก็ประทับในจิตใจ กระบวนการที่จะทำต่อเรื่องการอนุรักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ผมเห็น บันเทิง-เริงปัญญา ได้ผ่านบันทึกของคุณแผ่นดิน

 

วันหลังต้องขอตามพลังสังคมไปมั่งแล้ว...^__*
  • เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก
  • อ่านแล้วได้บรรยากาศ และอารมณ์ของธรรมชาติมาก
  • ชอบธรรมชาติมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

อ่านแล้วไปหลายรอบไต่ไม่ได้ทิ้งรอยไว้..แต่คราวนี้ถูกเชื้อเชิญก็เลยฝากรอย

เบิร์ดชอบความเห็นของคุณแผ่นดิน และความงามที่แฝงอยู่ทุกตัวอักษร

ธรรมชาติคือผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่..เราผู้รับควรจะเป็นผู้รับที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน ( มิใช่ผู้รับแบบไม่รู้บุญคุณเหมือนเช่นทุกวันนี้ )

ขอบคุณค่ะสำหรับคม ความคิดจากมิ่งมิตรที่คิดแต่เรื่องดีๆคนนี้

สวัสดีครับ
P

ขอบคุณมากครับคุณเบิร์ด...บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ผมไม่มีภาพมาประกอบ  เพราะต้องการให้เห็นรายละเอียดของเรื่องราวผ่านตัวอักษรเป็นหลัก...

อยากให้เราเป็นเช่นที่คุณเบิร์ดบอกกล่าวยิ่งนัก นั่นคือ "เป็นผู้รับที่ยิ่งใหญ่"  ....ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท