BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๔. (จบ)


จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่

2. การกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์คุณธรรม               

จากการตรวจสอบบทความที่เกี่ยวข้องกับอธิกรรมและทฤษฎีคุณธรรมร่วมสมัย ผู้วิจัยมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าอธิกรรมมีความเป็นไปได้ในจริยศาสตร์คุณธรรม โดยผู้วิจัยจะนำนัยสำคัญจากบทความเบื้องต้นบางประเด็นมาขยายความเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นไปของอธิกรรมในทฤษฎีคุณธรรม                

 . คนดีในอุดมคติ

จากบทความของมาโย เขาอ้างว่าใน Republic ของพลาโต มี คนยุติธรรม(just man) ใน Nicomachean Ethics ของอริสโตเติลมี คนผู้ประกอบด้วยปัญญาเชิงปฏิบัติ (man of practical wisdom) ตัวอย่างชนิดอื่นก็มีเช่น โสคราติส พระพุทธเจ้า พระคริสต์ หรือวีรบุรุษของผู้ประพันธ์มหากาพย์หรือนักเขียนนวนิยายอื่นๆ นักบุญและวีรบุรุษเหล่านี้เป็นคนดีในอุดมคติผู้เปิดเผยเจตคติทางศีลธรรมแก่พวกเรา พวกเขาเป็นผู้ที่เราคาดหวังและเราเองก็ใช้เป็นแบบอย่างเพื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาให้หลักการเพื่อการดำเนินชีวิตและให้ตัวอย่างเพื่อให้เราปฏิบัติตาม[1]               

ตามความเห็นของมาโย ที่ยกมา ผู้วิจัยคิดว่าอธิกรรมไม่ขัดแย้งกับจริยศาสตร์คุณธรรม เพราะอธิกรรมเน้นที่คุณธรรมของผู้กระทำเป็นสำคัญมิได้เน้นที่การกระทำ อีกนัยหนึ่ง จริยศาสตร์แห่งการเป็น ตามแนวคิดของมาโยไม่มีขอบเขต นั้นคือ การพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นคนดีในอุดมคติตามความสมัครใจ ฉะนั้น จึงไม่มีขอบเขตของหน้าที่มาปิดกั้นและมิได้มีกฎข้อบังคับว่าจะต้องทำอย่างนั้น คือ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ถ้าทำก็เป็นการดี ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิด นั่นคือ ความหมายของอธิกรรมนั่นเอง                

. คุณธรรมทางศีลธรรมกับคุณธรรมสนับสนุนทางศีลธรรม               

ตามความเห็นของแฟรงเกนา เขาเชื่อว่าคุณธรรมมาจากหลักการ หรือหลักการมาก่อนคุณธรรม เขาได้แบ่งคุณธรรมเป็นสองนัยคือทางศีลธรรมกับสนับสนุนทางศีลธรรม โดยคุณธรรมสนับสนุนทางศีลธรรมเป็นสิ่งบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ซึ่งแฟรงเกนายกตัวอย่างความรักแบบแม่ว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ทางศีลธรรม นั่นคือ ความรักแบบแม่ซึ่งเป็นความเมตตากรุณาบริสุทธิ์นี้เองที่แฟรงเกนามีความเห็นว่า แม้มิใช่คุณธรรมทางศีลธรรมโดยตรง (เพราะอยู่นอกเหนือหน้าที่) แต่ก็สนับสนุนทางศีลธรรม               

ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า แม้แฟรงเกนาจะยึดถือตามลัทธิคานต์ว่าสิ่งที่มีค่าทางศีลธรรมจะต้องเป็นไปตามลักษณะคำสั่งเด็ดขาดเท่านั้น แต่แฟรงเกนาก็ไม่สามารถปฏิเสธคุณธรรมบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่สนับสนุนศีลธรรมได้ นัยนี้ทำให้อธิกรรมมีโอกาสที่จะเป็นคุณธรรมสนับสนุนทางศีลธรรมตามแนวคิดของเขาได้               

ส่วนคุณธรรมทางศีลธรรมตามที่แฟรงเกนาเชื่อนั้นได้รวมเอาเจตนาเพื่อจะกระทำสิ่งที่ถูกต้องไว้ด้วย ในประเด็นนี้ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ถ้าเราเชื่อว่าอธิกรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องเราก็สามารถเลือกกระทำอธิกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคำสั่งเด็ดขาด ตามนัยนี้จะเห็นได้ว่ามีโอกาสให้อธิกรรมสอดแทรกเข้าไปวางไว้ได้               

เขาได้ให้ความเห็นก่อนที่จะจบบทความว่า ถ้ามโนธรรมสำนึกหรือเจตนาดีไม่ได้เป็นความดีที่ไม่มีเงื่อนไขตามที่คานต์ยึดถือ หรือเป็นความดีภายในสูงสุดตามที่ รอสส์ (Ross, David) คิดเห็นแล้ว สิ่งที่ดีอย่างชัดเจนตามความเห็นทางศีลธรรมสำหรับจริยศาสตร์หน้าที่ก็จะอธิบายได้ว่า คนกระทำสิ่งที่ถูกต้องได้ก็โดยการแสวงหาของเขาเอง ซึ่งเขากระทำโดยความเต็มใจ เหมือนกับนักกายกรรมที่ทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยความเต็มใจเพียงเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง[2]                   

ตามความเห็นของแฟรงเกนาที่ยกมา จะเห็นได้ว่าสนับสนุนอธิกรรมได้เพราะผู้กระทำเป็นผู้ตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างอิสระ ส่วนการขัดแย้งกับความดีไม่มีเงื่อนไขตามลัทธิคานต์หรือมีข้อวิจารณ์ว่าเป็นอัตวิสัยเกินไป ข้อนั้นเป็นอีกประเด็นที่อยู่นอกเหนือกรอบความคิดนี้                 

. คุณธรรมในฐานะคุณค่าเชิงอุปกรณ์และคุณค่าภายใน               

แฟรงเกนามีความเห็นว่าคุณธรรมมาจากหลักการ แต่ซัลเลอร์แย้งว่าคุณธรรมและหลักการต้องอาศัยซึ่งกันและกัน โดยซัลเลอร์ได้ใช้หลักตรรกศาสตร์แสดงให้เห็นว่า คุณธรรมเป็นคุณค่าภายในและคุณค่าเชิงอุปกรณ์ก็ได้เพื่อนำมาเป็นข้อโต้ความเห็นของแฟรงเกนาผู้วิจัยจะเสนอความเห็นว่าคุณธรรมตามความเห็นของซัลเลอร์ จะนำมาอธิบายอธิกรรมได้อย่างไร               

ประการแรกคุณธรรมในฐานะคุณค่าเชิงอุปกรณ์ ผู้วิจัยมีความเห็นว่าไม่สามารถสนับสนุนอธิกรรมได้ เพราะตามนัยนี้คุณธรรมซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่ดีเป็นเครื่องมือให้คนกระทำตามหลักการเท่านั้น ถ้าคนพิจารณาแล้วเห็นว่าผิดหลักการก็จะไม่กระทำ เปรียบเหมือนกับการใช้ใบมีดเป็นเครื่องมือตัดกระดาษถูกต้องตามหลักการ แต่การจะใช้ใบมีดตัดต้นไม้เป็นสิ่งที่ผิดหลักการ ส่วนอธิกรรมเป็นคุณความดีที่เลือกได้และปราศจากความผิดที่จะกระทำหรือไม่กระทำ ถ้าอธิกรรมเป็นอุปกรณ์ก็จะขัดแย้งความหมายที่ให้ไว้                   

ประการที่สองคุณธรรมในฐานะคุณค่าภายใน ผู้วิจัยมีความเห็นว่าสนับสนุนอธิกรรมได้ เพราะตามนัยนี้คุณธรรมคือแรงจูงใจภายในที่มีอยู่เป็นลักษณะนิสัยของผู้กระทำเพื่อจะกำหนดการกระทำ เนื่องจากถ้าขาดแรงจูงใจที่จะกระทำแล้วหลักการที่มีอยู่จะไร้ความหมาย เปรียบเหมือนจะต้องมีแรงจูงใจที่จะตัดกระดาษหรือตัดต้นไม้เกิดขึ้นก่อนในเบื้องต้น ส่วนการจะใช้ใบมีดหรือเครื่องมือชนิดอื่นเพื่อจะตัดอะไรนั้นอยู่ที่การพิจารณาตามความเหมาะสม ดังนั้น คุณธรรมในฐานะคุณค่าภายในจึงสนับสนุนอธิกรรมได้ เพราะอธิกรรมเป็นคุณความดีที่เปิดโอกาสให้เลือกกระทำได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับเจตนาว่าจะกระทำหรือไม่เท่านั้นโดยปราศจากความผิด               

คุณธรรมทั้งสองนัยข้างต้นนั้น นัยแรกเป็นแนวคิดของทฤษฎีหลักการ ส่วนนัยหลังเป็นแนวคิดของทฤษฎีคุณธรรม ซัลเลอร์นำเสนอเพื่อให้เห็นว่าคุณธรรมสามารถอธิบายได้ทั้งสองนัย ก่อนที่จะให้ความเห็นว่านัยทั้งสองจะต้องประกอบกัน ส่วนความเห็นว่านัยแรกไม่สามารถสนับสนุนอธิกรรมได้แต่นัยหลังสามารถสนับสนุนอธิกรรมได้นั้นเป็นความเห็นของผู้วิจัย               

อนึ่ง ในการนำเสนอว่าคุณธรรมเป็นได้สองนัยนี้ ซัลเลอร์ได้นำแนวคิดเรื่องอธิกรรมมาอ้างด้วยการกำหนดให้ความเมตตาปราณีเป็นหน้าที่มิใช่อธิกรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเขาโต้แย้งกฎทางศีลธรรมที่บอกว่า จงช่วยทุกคนผู้ต้องการความช่วยเหลือ ข้อนี้มีความต้องการมากเกินไปและเห็นได้ชัดเจนว่ามีข้อบกพร่อง หรือกฎทางศีลธรรมที่บอกว่า จงช่วยคนอื่นๆ ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ ข้อนี้ก็จะมีคำถามถึงจำนวนหรือขอบเขตของความเป็นไปได้ เพราะแม้เราจะบริจาคเงินเพื่อคนขัดสนหรือผู้ไร้ที่พึ่งพิง แต่สิ่งเหล่านี้ก็อยู่เหนือข้อบังคับของหน้าที่ . . [3]                

. ปัญหาญาณวิทยาในจริยศาสตร์คุณธรรม               

ทฤษฎีคุณธรรมเน้นถึงผู้มีคุณธรรมหรือคนดีซึ่งเป็นตัวแทนทางศีลธรรมที่จะให้เรายึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต โดยคนในอุดมคติเช่นนั้นก็คือนักบุญหรือวีรบุรุษของเรานั้นเอง แต่เลาเด็นตั้งคำถามว่า ใครคือผู้มีคุณธรรม?” นั่นคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนดีมีคุณธรรมที่จะมาเป็นตัวแทนทางศีลธรรมของเรานั้นเป็นใคร โดยปราศจากการอ้างถึงหลักการกระทำที่คนเหล่านั้นแสดงออกมา การที่จะยึดถือหรือตัดสินว่าใครเป็นคนมีคุณธรรมด้วยความเข้าใจของเราเองนั้นก็จะเป็นอัตวิสัยเกินไป ประเด็นนี้กล่าวกันว่าเป็นปัญหาญาณวิทยาในจริยศาสตร์คุณธรรม ซึ่งปัญหานี้กลายมาเป็นปัญหาของอธิกรรมด้วย เพราะอธิกรรมคือการกระทำความดีที่เลือกได้อย่างเบ็ดเสร็จ นั่นคือ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำเลือกตัดสินใจดำเนินการโดยตัวเขาเอง อธิกรรมจึงมีลักษณะอัตวิสัยเช่นเดียวกับการเลือกแบบอย่างตัวแทนทางศีลธรรมของเรา                  

เลาเด็นได้โจมตีทฤษฎีคุณธรรมว่ามีแนวคิด อุดมรัฐนิยม* (utopianism) อยู่เบื้องหลังการวิจารณ์ทฤษฎีหลักการ และสังคมสมัยใหม่ก็มีลักษณะผสมผสานทางศาสนาวัฒนธรรมยิ่งกว่าสังคมที่อริสโตเติลอธิบายไว้มาก กฎระเบียบที่ใช้ในสังคมปัจจุบันตกอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เราถูกผลักดันออกไปจากอุดมคติทางศีลธรรม การที่นักวิชาการเรียกร้องอุดมคติทางศีลธรรมจึงกล่าวได้ว่ามีแนวคิดอุดมรัฐนิยมอยู่เบื้องหลัง[4]                

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า คนดีมีคุณธรรมตามอุดมคตินั้นอาจเหมาะสมสำหรับสังคมขนาดเล็กหรือระบบสังคมปิด ซึ่งสมาชิกในสังคมเช่นนั้นอาจยึดถือและตัดสินผู้ที่เป็นนักบุญหรือวีรบุรุษในลักษณะเดียวกัน แต่สังคมปัจจุบันเป็นระบบเปิดและมีลักษณะผสมผสาน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ยากที่จะให้สมาชิกในสังคมมีความเห็นและยึดถือตัวแทนทางศีลธรรมเป็นอย่างเดียวกัน ทฤษฎีคุณธรรมที่ยึดถือคนมีคุณธรรมเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมจึงมีปัญหาทางญาณวิทยาในการตัดสินว่าใครเป็นผู้มีคุณธรรม และเมื่ออธิกรรมให้โอกาสแก่ผู้กระทำเลือกตัดสินใจเองก็มีปัญหาทางญาณวิทยาเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าเรายังคงมุ่งหวังความเป็นเช่นนั้นก็บ่งบอกว่ามีแนวคิดอุดมรัฐนิยมอยู่เบื้องหลัง ดังที่ เลาเด็นได้วิจารณ์ไว้                

. การปฏิบัติและความดีภายใน

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า การปฏิบัติตามความเห็นของแมกอินไทร์ก็คือ กลไกทางสังคมที่สร้างขึ้นมาเพื่อบรรลุคุณธรรมซึ่งเขาเรียกว่าความดีภายใน ดังที่แมกอินไทร์อธิบายไว้ การปฏิบัติคือความสอดคล้องที่ผสมผสานกันบางอย่างของสังคมซึ่งวางไว้เป็นกิจกรรมให้มนุษย์ร่วมมือกัน การปฏิบัตินี้มาจากความดีภายในซึ่งมนุษย์รับรู้และต้องการจะเข้าถึงมาตรฐานเช่นนั้นตามความเหมาะสม ส่วนสาเหตุที่เราจะต้องอาศัยกลไกทางสังคมก็เพราะขอบเขตของการปฏิบัติมีหลากหลายซึ่งเราไม่สามารถจะเข้าถึงทั้งหมดได้ โดยเราจะเลือกปฏิบัติตามความพอใจหรือรสนิยมของเราเท่านั้น[5]

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า แนวคิดของแมกอินไทร์มีพื้นที่ว่างให้อธิกรรมวางไว้ได้ เพราะถ้าการกระทำนั้นเกิดจากคุณความดีภายในหรือคุณธรรมของผู้กระทำตามที่สังคมเห็นว่าสมควร กลไกทางสังคมก็เปิดโอกาสให้เรากระทำบางสิ่งบางอย่างที่นอกเหนือกฎหรือมาตรฐานที่วางไว้ได้                

อนึ่ง จริยศาสตร์คุณธรรมตามแนวคิดของแมกอินไทร์  แสดงให้เห็นการแยกตัวออกจากข้อโจมตีว่าทฤษฎีคุณธรรมมีแนวคิดอุดมรัฐนิยมอยู่เบื้องหลัง และชี้ให้เห็นแนวคิดสัจนิยมทางศีลธรรมนั่นเอง                

ตามตัวอย่างที่เสนอมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าจริยศาสตร์คุณธรรมสามารถอธิบายอธิกรรมได้ ผู้วิจัยจะยุติการนำเสนอประเด็นนี้ไว้เพียงแค่นี้ และใน Philosophical Ethics  ฉบับปี ค.ศ. 1991  โบฌองพ์ก็ได้นำเสนอแนวคิดของแมกอินไทร์  บางส่วนจากบทความนี้ ก่อนที่จะเริ่มต้นเสนอแนวคิดเรื่องมาตรฐานศีลธรรมสองระดับ ดังนั้น ผู้วิจัยจะวิเคราะห์มาตรฐานศีลธรรมสองระดับในบทต่อไป 

3. สรุป               

จริยศาสตร์คุณธรรมมีพื้นฐานมาจากกรีกโบราณ และได้รับการฟื้นฟูในเวลาประมาณห้าสิบที่ผ่านมาเพื่อเป็นทางเลือกที่สามระหว่างประโยชน์นิยมกับลัทธิคานต์ โดยจริยศาสตร์คุณธรรมให้ความสำคัญที่การฝึกฝนเพื่อความเป็นผู้มีอุปนิสัยที่ดีคือคุณธรรม และเน้นความสำคัญที่การเป็นคนดีตามอุดมคติมากกว่าการการตัดสินการกระทำตามหลักการที่วางไว้ ดังนั้น ทฤษฎีคุณธรรมจึงได้รับการวิจารณ์ว่ามีลักษณะเป็นอัตวิสัย หรือให้ความสำคัญแก่สามัญสำนึกมากเกินกว่าความจริงเชิงปรวิสัย               

กระบวนทัศน์ทฤษฎีคุณธรรมก่อให้เกิดการถกเถียงทางปรัชญาว่า ระหว่างคุณธรรมกับหลักการมีอะไรเป็นพื้นฐาน ซึ่งจำแนกได้เป็นสามนัย คือ นัยแรกให้ความเชื่อถือคุณธรรม นัยที่สองยึดถือหลักการกระทำ และนัยสุดท้ายบอกว่าทั้งคุณธรรมและหลักการจะต้องอาศัยซึ่งกันและกันขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ส่วนอีกกระแสโจมตีว่าทฤษฎีคุณธรรมมีแนวคิดอุดมรัฐนิยมอยู่เบื้องหลังก็เป็นสาเหตุให้แนวคิดร่วมสมัยเริ่มมีแนวโน้มไปทางสัจนิยมทางศีลธรรม               

ประเด็นการกระทำเหนือหน้าที่ ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าจริยศาสตร์คุณธรรมเปิดโอกาสให้อธิกรรมเป็นไปได้ เพราะเมื่อเปิดโอกาสผู้กระทำเลือกพิจารณาหลักการกระทำด้วยตนเองแล้วก็ย่อมเปิดโอกาสให้อธิกรรมเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎี


[1] Ibid, p. 333.
[2] Ibid, p. 339.
[3] Ibid, p. 341.
* ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า แนวความคิดที่มุ่งสร้างสังคมในอุดมคติ นักปรัชญาบางพวกไม่เชื่อว่าสังคมเช่นว่านี้จะเป็นจริงได้ และถือว่าแนวความคิดนี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน  
[4] Ibid, p. 355.
[5] Ibid, p. 361.
หมายเหตุ : ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "การกระทำเหนือหน้าที่ในทฤษฎีจริยศาสตร์" ของผู้เขียน
หมายเลขบันทึก: 68859เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท