BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓.


จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่

. แนวคิดร่วมสมัย               

ผู้วิจัยจะนำเสนอกระบวนทัศน์ของทฤษฎีคุณธรรมร่วมสมัยโดยใช้ลำดับแนวคิดตามบทความในหนังสือ Ethical Theory: Classical and Contemporary ซึ่งมีโพจแมนเป็นบรรณาธิการ เพราะเห็นว่าได้เสนอความคิดที่พัฒนาขึ้นมาเป็นขั้นตอน แต่จะนำเสนอโดยย่อเพื่อให้เห็นกระบวนทัศน์และประเด็นปัญหาในจริยศาสตร์ร่วมสมัยเท่านั้น               

ในระบบจริยศาสตร์บนฐานคุณธรรม โพจแมนรวบรวมไว้ 8 บทความ โดยบทความแรกเป็น Nicomachean Ethics ของอริสโตเติลซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนอไว้แล้ว ส่วนบทความที่เหลือเป็นของนักจริยศาสตร์ร่วมสมัย คือ มาโย,  แฟรงเกนา (Frankena, William K.) ซัลเลอร์ (Schaller, Walter)   เลาเด็น (Louden, Robert)  แมกอินไทร์ และ วูลฟ์ (Wolf , Susan) ส่วนบทความสุดท้ายเป็นของ โพจแมนเอง ซึ่งบทความทั้งหมดมีลำดับแนวคิดดังต่อไปนี้ 

1) Virtue and the Moral Life ของมาโย

โพจแมนได้แนะนำไว้ว่า มาโยได้นำแนวคิดของอริสโตเติลมาอธิบายใหม่ โดยการรวมจริยศาสตร์กรณียธรรมกับจริยศาสตร์อันตวิทยาเป็น จริยศาสตร์แห่งการกระทำ (ethics of doing) และนำมาเปรียบเทียบกับ จริยศาสตร์แห่งการเป็น (ethics of being) กล่าวคืออุปนิสัยที่แสดงออกมาของนักบุญหรือวีรบุรุษ โดย มาโย ให้ความเห็นว่าการแสดงรูปแบบแห่งความเป็นอยู่ของนักบุญและวีรบุรุษเหล่านั้นเป็นประเด็นสำคัญในจริยศาสตร์มิใช่จากกฎที่เข้มงวด และเราเรียนรู้จริยศาสตร์จากความเป็นอยู่ของพวกเขามิใช่ชุดคำตอบของหลักการ[1]

ใน Philosophical Ethics ฉบับปี ค.ศ. 1982 โบฌองพ์ ได้นำบางส่วนของบทความนี้มาแสดงไว้ด้วย แต่ฉบับปี ค.ศ. 1991ได้ตัดทิ้งไป โบฌองพ์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทความของมาโยไว้ว่าเป็นการตั้งประเด็นคำถามที่สำคัญหลายอย่างในจริยศาสตร์ของอริสโตเติล คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างจริยศาสตร์คุณธรรมกับจริยศาสตร์หน้าที่ ขอบเขตของอุดมคติทางศีลธรรมในทฤษฎีทางศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอุดมคติแบบนักบุญและวีรบุรุษ และทำให้มีการทบทวนแนวคิดของอริสโตเติลมากยิ่งขึ้น[2]   

2) A Critique of Virtue-Based Ethical Systems ของ แฟรงเกนา 

ในการนำเสนอบทความนี้ โพจแมนอธิบายว่า จริยศาสตร์แห่งการกระทำไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของอุปนิสัย แต่แย้งว่าธรรมชาติของคุณธรรมมาจากการกระทำที่ถูกต้องหรือผลลัพธ์ที่ดีเท่านั้น เช่น คุณธรรมคือความสัตย์มาจากหลักการพูดคำจริง หรือคุณธรรมคือมโนธรรมสำนึกมาจากหลักความสำนึกในหน้าที่ของคน เป็นต้น ซึ่งแฟรงเกนาให้ความเห็นว่าคุณธรรมมาจากหลักการ ดังที่เขากล่าวว่า ลักษณะนิสัยปราศจากหลักการก็มืดบอด…”[3] 

ตัวอย่างการแสดงความเห็นของแฟรงเกนา เช่น เขาตั้งคำถามว่า เราตัดสินการกระทำว่าถูกหรือผิดเพราะผลลัพธ์ หลักการที่วางไว้ แรงจูงใจ เนื้อหา หรือเพราะลักษณะนิสัยที่ระบุว่าดีหรือเลวคำตอบของเขาก็คือ เพราะหลักการที่วางไว้ นั่นหมายความว่าการกระทำอาจถูกระบุว่าดีหรือเลว น่ายกย่องหรือน่าติเตียน มีเกียรติหรือเสื่อมเสียย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำ ดังนั้น คุณภาพทางศีลธรรมหรือคุณธรรมจึงขึ้นอยู่กับการกระทำหรือหลักการนั่นเอง

อนึ่ง แฟรงเกนาได้จำแนกลักษณะนิสัยที่ดีทางศีลธรรมออกเป็นสองประเภท คือคุณธรรมทางศีลธรรมซึ่งรวมเจตนาเพื่อจะกระทำสิ่งที่ถูกต้องไว้ด้วย ส่วนประเภทที่สองแม้มิใช่ทางศีลธรรม แต่เป็นการสนับสนุนหลักศีลธรรม เช่น ความรักของแม่ซึ่งเป็นความกรุณาตามธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์ แฟรงเกนา เรียกการกระทำประเภทหลังนี้ว่าการกระทำเหนือหน้าที่[4] 

บทวิจารณ์ของแฟรงเกนาเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในจริยศาสตร์คุณธรรมว่า คุณธรรมกับหลักการอะไรสำคัญกว่ากัน โดย แฟรงเกนาเชื่อว่าหลักการสำคัญกว่าคุณธรรม   

3) Are virtues No More Than Dispositions to Obey Moral Rules ? ของ ซัลเลอร์

โพจแมนได้นำเสนอว่า ซัลเลอร์ให้เหตุผลว่า หลักศีลธรรมมีความสำคัญกว่าการคล้อยตามกฎแต่เพียงอย่างเดียว และคุณธรรมเป็นได้ทั้งคุณค่าภายในและคุณค่าเชิงอุปกรณ์ เช่น หน้าที่ของความกตัญญูไม่สามารถระบุได้ชัดเจนโดยปราศจากการรวมคุณธรรมของความกตัญญูไว้ด้วยในการอธิบายหน้าที่ กล่าวคือ ซัลเลอร์ไม่เห็นด้วยในประเด็นว่าหลักศีลธรรมอยู่บนพื้นฐานของหน้าที่หรือคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะทั้งหน้าที่และคุณธรรมทั้งสองอย่างจะต้องประกอบกัน[5] 

ซัลเลอร์ให้เหตุผลคุณธรรมในฐานะคุณค่าเชิงอุปกรณ์ไว้ว่า หน้าที่ทางศีลธรรมสามารถระบุได้ด้วยกฎของการกระทำ แต่คุณธรรมเป็นลักษณะนิสัยเพื่อจะเชื่อฟังกฎทางศีลธรรม ดังนั้น คุณธรรมจึงเป็นเพียงคุณค่าเชิงอุปกรณ์ การให้เหตุผลตามนัยนี้บ่งบอกว่าหลักการเป็นตัวกำหนดคุณธรรม 

ส่วนคุณธรรมในฐานะคุณค่าภายในตามแนวคิดของซัลเลอร์ (ยกตัวอย่างเรื่องความกตัญญู) เขาได้ให้เหตุผลไว้ว่า หน้าที่ของความกตัญญูจะเข้าใจได้ชัดเจนก็เมื่อกำหนดให้คนพัฒนาคุณธรรมของความกตัญญู แต่คนที่ขาดคุณธรรมของความกตัญญูไม่สามารถกระทำความกตัญญูได้ เพราะการกระทำเช่นนี้ต้องมีความกตัญญูเป็นแรงจูงใจ ดังนั้น เพียงแต่แรงจูงใจของหน้าที่จึงไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอให้กระทำตามหน้าที่ได้โดยปราศจากคุณธรรม การให้เหตุผลตามนัยนี้บ่งบอกว่าคุณธรรมเป็นตัวกำหนดหลักการซัลเลอร์เรียกการให้เหตุผลข้างต้นว่า ความเห็นมาตรฐาน (the standard view) เพื่อเป็นพื้นฐานนำเสนอความเห็นว่าหลักศีลธรรมจะต้องมีหลักการและคุณธรรมประกอบกัน[6] 

จะเห็นได้ว่า ซัลเลอร์มีความเห็นแย้งแฟรงเกนาเพราะเขาเชื่อว่าคุณธรรมและหลักการจะต้องประกอบกัน แต่แฟรงเกนาเชื่อว่าหลักการสำคัญกว่าคุณธรรม   

4) Some Vices of Virtue Ethics ของ เลาเด็น

โพจแมนได้นำเสนอไว้ว่า เลาเด็นวิจารณ์ว่าจริยศาสตร์คุณธรรมไม่ได้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม (moral dilemmas) เนื่องจากอริสโตเติลบ่งชี้แนวทางที่เราควรกระทำไว้เพียงเล็กน้อย นั่นคือ กระทำสิ่งที่คนดีควรกระทำ แต่เราจะรู้ได้ว่าเป็นคนดีได้ก็ด้วยอ้างถึงหลักการกระทำของเขา ซึ่งหลักการเช่นนั้นเป็นจริยศาสตร์นอกพื้นฐานคุณธรรม และก็มิใช่ว่าคนดีเช่นนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเราเสมอไป ในประเด็นนี้ ถ้าใช้การกระทำที่ถูกต้องตามทางสายกลางของอริสโตเติลเป็นเครื่องกำหนดคนดีหรือคนมีคุณธรรมก็เป็นเรื่องเข้าใจยากและวกวนเกินไป[7]  

ประเด็นนี้ เลาเด็นบอกว่าเป็นปัญหาญาณวิทยาทางศีลธรรม นั่นคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครเป็นผู้มีคุณธรรม ?” เพราะถ้าเราให้ความสำคัญแก่คุณภาพของคนมากกว่าคุณภาพของการกระทำแล้วก็ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถจะรู้ระดับของผู้ทีมีคุณธรรมกับผู้เป็นคนเลวได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ เราจะกำหนดอุปนิสัยทางศีลธรรมของผู้กระทำได้อย่างไร ถ้าไม่อ้างถึงหลักการกระทำของเขา นั่นคือ เลาเด็นเห็นว่าคุณธรรมกับการกระทำต้องเกี่ยวโยงกัน[8] 

บทความของเลาเด็น ชี้ให้เห็นประเด็นแตกแยกทางศีลธรรมในจริยศาสตร์ร่วมสมัยซึ่งยังแก้ไม่ได้ และเป็นการเสนอปัญหาญาณวิทยาทางศีลธรรมของจริยศาสตร์คุณธรรม กล่าวคือ เราจะรู้คนดีหรือคนมีคุณธรรมซึ่งเรียกกันว่าคนดีในอุดมคติได้อย่างไร    

5) The Nature of the Virtues ของ แมกอินไทร์

โพจแมนได้นำเสนอไว้ว่า แมกอินไทร์ใช้แผนงานของอริสโตเติลเพื่อค้นหาว่ามโนทัศน์ของคุณธรรมมีส่วนประกอบสำคัญที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติทางสังคมอย่างไร โดยการศึกษาเปรียบเทียบคุณธรรมจาก 5 แนวคิด คือของ โฮเมอร์ (Homer) อริสโตเติล, ออสติน (Austen, Jane) แฟรงกิน (Franklin, Benjamin) และใน คัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (New Testament) ซึ่งนอกจากองค์ประกอบสำคัญทางสังคมแล้วเขาก็ได้ค้นพบบางอย่างเพิ่มเติมด้วย แมกอินไทร์พบว่าสังคมทั้งหลายจะมีหลักปฏิบัติทางคุณธรรมปรากฏอยู่และสังคมก็สามารถอธิบายหลักปฏิบัตินี้ได้ด้วย หลักปฏิบัตินี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของสังคม โดยความแตกต่างนี้จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสังคม แต่ก็มีคุณธรรมสำคัญบางอย่างที่เป็นแก่น เช่น ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และเกียรติยศ เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงอยู่ของคุณธรรมเหล่านี้เพราะถ้าปราศจากการปฏิบัติแล้วคุณธรรมเหล่านี้ก็จะอาจเสื่อมสลายไป[9]                

ใน Philosophical Ethics ฉบับปี ค.ศ. 1982 โบฌองพ์มิได้อ้างถึงบทความนี้ แต่ฉบับปี ค.ศ. 1991 โบฌองพ์ ได้นำเสนอบางส่วนของบทความนี้ไว้ด้วย โดยตั้งชื่อว่า แผนงานอริสโตเติลของแมกอินไทร์(Macintyre’s Aristotelian Program) เขาได้อธิบายไว้ว่า                 

แมกอินไทร์ได้ใช้คำว่า  การปฏิบัติ(practice) และ ความดีภายใน(internal good) เพื่อนำเสนอแนวคิดของเขา โดยการปฏิบัติคือระเบียบของข้อตกลงในการดำเนินการให้ความดีภายในเป็นระเบียบ เพราะพวกเรามีบทบาททางสังคมหลากหลาย เช่น เป็นพ่อแม่ ครู แพทย์ หรือสถาปนิก ซึ่งสถาบันทางสังคมจะวางระเบียบปฏิบัติไว้สนับสนุนความดีภายใน[10]               

ตามแนวคิดแมกอินไทร์ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า เขายึดถือว่าความดีภายในหรือคุณธรรมขึ้นอยู่กับความเห็นของสังคม โดยสังคมจะกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนคุณธรรมเหล่านั้น ซึ่งลักษณะนี้เป็นสัจนิยมทางศีลธรรม” (moral realism)*ในจริยปรัชญาร่วมสมัยนั่นเอง  

6) Moral Saints ของ วูลฟ์

โพจแมนได้นำเสนอว่า วูลฟ์ได้ท้าทายแนวคิดเรื่องความสัมบูรณ์ทางศีลธรรมเป็นจุดหมายที่พึงปรารถนา โดยวูลฟ์มีความเห็นว่าการแสวงหาความเป็นนักบุญจะถอดถอนเราออกจากลักษณะนิสัยที่มีคุณค่าเหล่าอื่น เช่น ความยอดเยี่ยมทางพุทธิปัญญาหรือทางวัฒนธรรม และความเป็นนักบุญจะสร้างคนที่น่าเบื่อหน่ายและไม่น่าสนใจ เธอเห็นว่าหลักศีลธรรมจะปรากฏว่ามีคุณค่าได้ก็ต้องอยู่ระหว่างสิ่งจำนวนมากและไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งสูงสุดเสมอไป เนื่องจากหลักศีลธรรมเป็นสิ่งที่ดีได้มิใช่หมายความว่าต้องมีมากเท่าที่จะเป็นไปได้โดยไม่ต้องพิจารณาคุณค่าอื่นๆ กล่าวคือ เราสามารถมีสิ่งที่ดีได้มากมายซึ่งรวมความดีทางศีลธรรมไว้ด้วยนั่นเอง[11] 

วูลฟ์ได้เริ่มต้นบทความด้วยข้อสงสัยว่านักบุญทางศีลธรรมมีจริงหรือไม่ แต่เธอก็บอกว่าไม่สนใจว่าจะมีจริงหรือไม่ ตามทัศนะของเธอ นักบุญทางศีลธรรมคือผู้ที่กระทำความดีทางศีลธรรมทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ และคนเช่นนี้จึงเป็นคนมีค่าทางศีลธรรมเท่าที่สามารถจะเป็นได้เช่นกัน นักบุญทางศีลธรรมก็คือคนดีมีคุณธรรมในอุดมคตินั่นเอง เธอเชื่อว่าความสมบูรณ์ทางศีลธรรมมีลักษณะทำนองนี้

ในการเสนอความเห็นของวูลฟ์ เธอได้วิเคราะห์แนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อความเป็นนักบุญและจำแนกนักบุญไว้หลายนัย เช่น นักบุญผู้ใช้ความรัก(loving saint)นักบุญผู้ใช้เหตุผล (rational saint) นักบุญนิยมประโยชน์ (utilitarian saint) และ นักบุญนิยมคานต์(kantian saint) ก่อนที่จะวิจารณ์ว่า ชีวิตของความเป็นนักบุญในอุดมคติเหล่านั้นคงจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายและไม่น่าสนใจ[12] 

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าแนวคิดของวูลฟ์สะท้อนให้เห็นสัจนิยมทางศีลธรรมในปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน และทำให้เห็นข้อบกพร่องของแนวคิดที่ยึดถือบุคคลในอุดมคติในฐานะตัวแทนทางศีลธรรมของจริยศาสตร์คุณธรรม 

7) In Defense of Moral Saints ของ โพจแมน

โพจแมนได้เสนอบทความเพื่อคัดค้านแนวคิดของวูลฟ์สามนัยด้วยกัน นัยที่หนึ่งการที่จะบอกว่าหลักศีลธรรมเป็นสิ่งที่น่าสนใจหรือไม่น่าสนใจนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยเกินไป นัยที่สองเราอาจมีหน้าที่สละสิ่งที่น่าสนใจในชีวิต และการปฏิเสธสิ่งที่น่าสนใจนั้นอาจเป็นสาเหตุให้เราเบื่อหรือเป็นคนน่าเบื่อ และนัยสุดท้ายโพจแมนอ้างว่าทั้งประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์มีข้อโต้แย้งข้อวิจารณ์ของ วูลฟ์ ที่เป็นไปได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เขาบอกว่ามีคำอธิบายแนวคิดที่แตกต่างกันของหลักศีลธรรมสองประการ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เขาไม่เห็นด้วยกับวูลฟ์ 

ประการแรก โพจแมนให้ความเห็นว่าคุณค่าทางศีลธรรมเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งเหมือนกับทางสุนทรียะ การกีฬา หรือคุณค่าทางความคิดเห็นอื่นๆ ซึ่งยังไม่มีกฎชัดเจนที่จะตัดสินว่าคุณค่าอย่างนี้น่าชอบใจมากกว่า ดังนั้น หลักการทางศีลธรรมที่บ่งบอกความถูกต้องเชิงปรวิสัย โดยสัมบูรณ์ หรืออย่างเด็ดขาด จึงไม่มีสิทธิที่จะกำหนดไว้เหนือหลักการอื่นๆ ในการกระทำของมนุษย์

ประการที่สอง โพจแมนให้ความเห็นว่า จริยศาสตร์เป็นเพียงเครื่องแนะนำการกระทำ เหตุผลทางจริยศาสตร์พยายามเสนอแนวทางพัฒนาสำหรับสัตว์ที่มีเหตุผลเพื่อใช้แก้ปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากเราต้องการแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อการดำเนินชีวิต  ดังนั้น ขณะที่การประยุกต์ใช้หลักการทางจริยศาสตร์อาจเป็นสิ่งสัมพัทธ์ แต่เมื่อเราประสงค์ให้เป็นอุดมคติที่เข้าใจได้ก็เป็นสิ่งสัมบูรณ์และผูกพันไว้ด้วยไม่มีเงื่อนไข[13] 

ผู้วิจัยคิดว่า โพจแมนพยายามชี้ให้เห็นความจำเป็นของหลักศีลธรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งทฤษฎีคุณธรรมมีจุดเด่นอยู่ที่การประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ส่วนทฤษฎีหลักการมีจุดเด่นอยู่ที่การแสวงหาคำตอบเพื่ออุดมคติชีวิต และทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์ที่มีเหตุผล 

ตามที่นำเสนอแนวคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับจริยศาสตร์คุณธรรม ผู้วิจัยมีความเห็นว่า แนวคิดนี้มีจุดเด่นอยู่ในการประยุกต์ใช้เพราะเน้นที่การฝึกหัดอุปนิสัยของคนเราให้มีคุณธรรมตามที่คาดหวัง แต่มีจุดด้อยในการอธิบายที่มาของคุณธรรม เมื่อมีการถกเถียงว่าหลักการกระทำกับคุณธรรมอะไรเป็นสิ่งสำคัญกว่า เมื่อไม่สามารถหาข้อยุติได้ นักจริยปรัชญาก็พยายามนำเสนอแนวคิดเรื่องความจำเป็นของหลักศีลธรรมทางสังคม นั่นคือ มีการตรวจสอบหลักศีลธรรมตามข้อเท็จจริงทางสังคมมากกว่าการโต้เถียงเพื่อหาข้อยุติ และพยายามนำเสนอแนวคิดบางอย่างเพื่ออธิบายศีลธรรมตามข้อเท็จจริงทางสังคม โดยมาตรฐานศีลธรรมสองระดับของ โบฌองพ์ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่พยายามนำมาอธิบายซึ่งผู้วิจัยจะตรวจสอบในบทต่อไป  

แต่ ผู้วิจัยจะตรวจสอบอธิกรรมในจริยศาสตร์คุณธรรมก่อน เพื่อจะได้เห็นว่ามโนทัศน์ของอธิกรรมมีความเป็นไปได้อย่างไรในจริยศาสตร์คุณธรรม



[1] Louis P. Pojman, ed. Ethical Theory : Classical and Contemporary Readings (Belmont : Wads, 1995), p.318. 
[2]  Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics. (New York : McGraw-Hill, 1982), p.154.
[3] Louis P. Pojman, ed. Ethical Theory : Classical and Contemporary Readings (Belmont : Wads ), pp. 318-319. 
[4] Ibid, p. 339.
[5] Ibid, pp. 319-320. 
[6]  Ibid, pp. 340-341. 
[7] Ibid, p.320.
[8] Ibid, p. 352.
[9] Ibid, p.320.
[10] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics. (New York : McGraw-Hill, 1991), pp. 229-230.
*  ทฤษฎีที่ยึดถือว่าข้อเท็จจริงทางศีลธรรมเป็นอิสระจากปัจเจกชนผู้ที่จะรู้และสร้างมันขึ้นมาได้ นั่นคือ ไม่เชื่อว่าข้ออ้างทางศีลธรรมจะสามารถตรวจสอบสิ่งที่ปัจเจกชนรู้สึกในการกระทำได้ 
[11] Louis P. Pojman,ed. Ethical Theory : Classical and Contemporary Readings (Belmont : Wads, 1995 ), p. 320.
[12] Ibid, pp. 371-375.
[13] Ibid, pp. 383-388.
หมายเลขบันทึก: 68857เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท