เล่าเรื่อง Peer Assist เรื่องการดูแลเท้า ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๒


ผู้ป่วยต้องเชื่อมั่น จึงจะทำตาม

วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ช่วงบ่าย

ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน ทีมผู้ใฝ่รู้และทีมผู้แบ่งปันได้ทำความรู้จักกันไปแล้ว ทีมผู้ใฝ่รู้ได้เล่าเรื่องราวการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและการดูแลเท้าให้เป็นที่รู้ จนเหมือนกับผู้ฟังได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย

๑๓.๐๐ น. ทีมผู้แบ่งปันเริ่มแลกเปลี่ยนความรู้ปฏิบัติของตน นำโดยคุณหมอสิริเนตรที่เริ่มเล่าตั้งแต่เรื่องแผลไปสู่การคัดกรองและการดูแล มีภาพเท้า ภาพแผลประกอบอย่างชัดเจน ให้ข้อคิดว่าการประเมินเท้าเพื่อดูว่ามี neuropathy หรือเปล่า ว่าใช้ monofilament อย่างเดียวก็ยอมรับได้ "เวลาทดสอบ ต้องลองไม่จิ้มดูบ้าง บางทีคนไข้เกรงใจ ตอบ yes ตลอด" สำหรับวิธีการ off-loading นั้น การใช้ total contact cast (TTC) เป็น gold standard เป็นวิธีการที่ทำให้แผลหายได้เร็วมาก เรียกได้ว่าครึ่งต่อครึ่ง (ของเวลาที่ใช้) ส่วน felted foam dressing ก็ช่วย off-loading ได้บางส่วน คุณหมอสิริเนตรยังคอยตอบคำถามของทีมผู้ใฝ่รู้อีกหลายเรื่อง เช่น การทำ tendotomy บอกวิธีการทำ ความรู้สึกสัมผัส ลักษณะที่บอกว่าทำสำเร็จ การวัด ABI ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำทุกราย ให้ทำเฉพาะรายที่สงสัย ถ้าค่าได้สูงอาจไม่ใช่เพราะหลอดเลือดดีก็ได้ ถ้ามี calcification แถวนั้น ค่าก็อาจสูงได้ นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนเรื่อง guideline การรักษาและทำความสะอาดแผลด้วยวิธีการต่างๆ การใช้ adjunctvant therapy เช่น hyperbaric oxygen therapy การใช้ chemical debridement, dermagraft เป็นต้น

ในเรื่องการวัด ABI คุณกิ่งเพชรได้ช่วยเล่าถึงวิธีการวัดและวิธีการคำนวณค่า (pressure ที่ขาแต่ละข้าง หารด้วย pressure ที่แขนที่สูงกว่า)

คุณหมอทวีศักดิ์เข้ามาร่วมกิจกรรมเมื่อว่างจากผู้ป่วยประจำแล้ว คุณหมอกล่าวถึง TTC บอกว่า "ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้แผลสัมผัสกับพื้น" มี prominence bone ตรงไหนต้องแก้ไข ใช้คำพูดแบบทุกคนนึกออกเลยว่า "อย่าเกินหน้าเกินตาเพื่อน อย่าให้เด่นกว่าเพื่อน" (หมายถึงกระดูกนะคะ) พร้อมทั้งบอกว่าถ้ามีการใช้รองเท้าดีๆ surgery จะน้อยลง ให้ข้อคิดว่า "ผู้ป่วยต้องเชื่อมั่น จึงจะทำตาม"

คุณหมอทวีศักดิ์วิ่งขึ้นวิ่งลงระหว่างห้องประชุมกับ ER หลายรอบ เพราะถูกตามเวลามีผู้ป่วย ดิฉันคาดว่าต้องใช้พลังงานไปหลายแคลอรี่เลยทีเดียว คุณหมอทวีศักดิ์แลกเปลี่ยนเรื่องการผ่าตัด การแก้ไขความผิดปกติกับคุณหมอนิพัธค่อนข้างเยอะ จนบางครั้งดิฉัน (อาจมีคนอื่นด้วย) ออกจะงงๆ กับศัพท์และเทคนิคเฉพาะ ต้องมีการซักถามเป็นระยะๆ พอมาพูดถึงเรื่อง vacuum dressing ที่พบว่าช่วยทำให้แผลยุบบวมได้เร็ว ลดจำนวนครั้งของการทำแผล ยกตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องทำ AK amputation การทำความสะอาดแผลแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะเจ็บปวดมากจนบอกว่า "ขอตายดีกว่า ไม่ขอทำแผล"

ในเรื่อง vacuum dressing อาจารย์นิโรบลได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วย (อาจารย์เป็นคนแรกที่นำเทคนิคนี้มาใช้) โดยเล่าประสบการณ์การลองผิดลองถูก แรกๆ ใช้ของต้นตำรับ เช่น ฟองน้ำซึ่งมีราคาแพง ต้องพยายามล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำอีก ต่อมาหาฟองน้ำที่บ้านเรามีมาทดลองใช้ ซึ่งต้องเลือกให้มีขนาดของรูพรุนที่เหมาะสม (อาจารย์บอกว่าเอาไปส่องกล้องดูว่ามีขนาดกี่ micron) การใช้สายสำหรับ suction ควรวางสายในตำแหน่งใด ถ้าเป็นแผลที่มี fistula จะทำอย่างไร เป็นต้น 

คุณชนิกาแลกเปลี่ยนเรื่องเทคนิคของ felted foam dressing "การใส่แหวน" ให้ claw toe ตอบคำถามเรื่องการทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของเท้า การตรวจเท้าใน first visit แถมเรื่อง class และ club ที่ทีมผู้ใฝ่รู้สนใจ คุณกิ่งเพชรเพิ่มเติมเรื่องการตรวจเท้า การฝึกฝนผู้ทำการตรวจ ซึ่งต้องผ่านการสอนและผ่านการประเมินความสามารถด้วย แลกเปลี่ยนวิธีการ convince ให้ผู้ป่วยยอมรับการขูด callus

คุณยอดขวัญ (ชื่อเล่นว่าสอง จึงได้แลกเปลี่ยนเป็นคนท้ายๆ เสมอ) เล่าเรื่องงานของนักกายภาพบำบัด พร้อมให้กำลังใจน้องอาร์ม (คุณฐาปกรณ์) ว่านักกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องรองเท้า ยังมีการช่วยฝึกผู้ป่วยให้เดินถูกวิธี การระวัง fracture หลัง bed rest นานๆ เป็นต้น

ใกล้ๆ เวลาบ่ายสอง อาจารย์เทพโทรศัพท์มาแจ้งว่ายังไม่เสร็จงาน กว่าอาจารย์จะมาร่วมกับเราได้ก็ประมาณ ๑๖.๐๐ น. อาจารย์เทพมาเล่าว่าวันนี้ไปทำอะไรมา ให้ข้อคิดในการทำงานว่าให้ทำในสิ่งที่จำเป็นก่อน แล้วจึงทำสิ่งที่เป็นไปได้ (possible) หลังจากนั้นจึงค่อยทำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ย้ำว่าในเรื่องของการป้องกันนั้น ต้องให้ประชาชนรู้ว่าเขาต้องทำเอง

แลกเปลี่ยนซักถามกันจนเวลาล่วงเลยไปมาก กว่าเราจะได้ทำ AAR ของวันแรก ก็เวลา ๑๖.๔๕ น. แล้ว ดิฉันกะว่าจะใช้เวลาไม่ให้เกิน ๑๗.๐๐ น.ไปมากนัก แต่เมื่อจบกิจกรรมแล้วเหลือบดูนาฬิกาจึงรู้ว่า ๑๗.๔๕ น.แล้ว ต้องขอโทษทั้งสองทีมที่คุมเวลาได้ไม่ดีพอ อาจารย์เทพไม่ยอมออกจากห้องไปไหน อยู่ AAR กับเราด้วย บอกว่าต่อไปจะนำทีม รพ.เทพธารินทร์ออกไปให้เห็นภาพของ primary care บอกว่าอยากให้มี family doctor จริงๆ และ primary care เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ขอให้ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำดีผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อจะน้อยลง อาจารย์กล่าวประโยคสุดท้ายว่า "ที่ดีใจที่สุดคือได้ทีมงาน และจะขยายไปเรื่อยๆ"

AAR ของวันแรก ทุกคนให้ความเห็นที่น่าสนใจ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ต้องคอยติดตามตอนต่อไปค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 

 บางส่วนของทีมผู้แบ่งปัน

หมายเลขบันทึก: 6883เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านสนุก และเห็นภาพครับ(ภาพที่เคยไปร่วมกิจกรรมครั้งแรก)  ยังมีอะไรใหม่ๆ ให้ได้รู้จากประสบการณ์ตลอดนะครับ  เช่นของคุณหมอสิริเนตร ที่บอก ลองไม่จิ้มดูบ้าง ยังตอบ yes เลย นึกแล้วขำดีครับ  แต่จริงๆแล้วมีเหตุผล และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงนะครับตอนดูผู้ป่วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท