ปารินุช
นางสาว ปารินุช บริสุทธิ์ศรี

ข้อสังเกต การใช้สัญลักษณ์ประจำชาติไทย


นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ภาพสัญลักษรณ์ประจำชาติไทยอย่างเป็นทางการโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งกำหนด

 สัญลักษณ์ประจำชาติไทย ได้แก่

1. สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย เพราะว่า เป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณีไทย และ เป็นสัตว์ที่รู้จักกันแพร่หลายและมีอายุยืนยาว

2.  ดอกไม้ประจำชาติ คือ ดอกราชพฤกษ์ (คูน) เพราะว่า    เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลายเนื่องจากสามารถขึ้นได้ทุกภาคในประเทศไทย และใช้ประโยชน์ได้มาก ฝักเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าในตำรับแพทย์แผนโบราณแก่นของต้นราชพฤกษ์แข็งใช้ทำเสาเรือนได้ดี   มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวไทยเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม และอาถรรพ์ แก่นไม้ราชพฤกษ์เคยใช้ในพิธีสำคัญๆ ของไทยมาก่อน     เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนานและทนทาน มีทรวดทรงและพุ่มงดงาม มีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้นและ  เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนาอย่างหนึ่ง

3.  สถาปัตยกรรมประจำชาติ ได้แก่ ศาลาไทย  เพราะว่า  เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาของช่างไทย ที่มีความสง่างามและโดดเด่นจากสถาปัตยกรรมอื่นๆ      เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทยและส่งเสริมใช้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสชื่นชมศาลาไทยอีกด้วย                               

                 ในส่วนที่มีบุคคลหรือบริษัทนำเครื่องหมายหรือภาพดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและนายได้รับจดทะเบียนไปให้แล้วนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศไปแล้วว่า ผู้ที่ได้จดทะเบียนไปแล้วจะยังคงได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงมีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไป แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีสัญลักษณ์ประจำชาติ นายทะเบียนจะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้                                                

                  เหตุผลในการไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ กล่าวคือ   เพื่อให้เป็นสมบัติกลางของคนไทยทุกคน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิในการใช้เพื่อให้เป็นที่รู้จักกันในหมู่ประชาคมโลก จึงไม่ควรที่จะนำมาให้ใครคนใดคนหนึ่งจดทะเบียนเป็นเจ้าของสิทธเพียงผู้เดียว   และทันทีที่รัฐบาลประกาศใช้สัญลักษณ์ประจำชาติ ทำให้คนไทยทุกคนทราบว่า ประเทศไทยมีสัญลักษณ์ประจำชาติที่อวดสู่สายตาชาวโลกได้แล้ว จึงถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายได้การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนจึงเป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 8(10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543

                   อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศให้ภาพหรือสัญลักษณ์ประจำชาติไทยทั้ง 3 สิ่งนี้ เป็นเครื่องหมายต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8(13) ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งรวมถึงเครื่องหมายที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคล้ายกับภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย  ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนด้วย

          การห้ามมิให้รับจดทะเบียนนี้  เป็นการห้ามรับจดทะเบียนทางทะเบียน เพื่อมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแต่ผู้เดียว แต่มิได้ห้ามคนไทยที่จะใช้ภาพหรือสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตน แต่การใช้ก็ควรที่จะอยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม และจะต้องไม่เป็นการใช้สิทธิที่ไปกระทบถึงสิทธิของผู้อื่นด้วย ใช้อย่างไรเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามนั้น เป็นข้อเท็จจริงต้องพิจารณาเป็นกรณี 

                    แต่การนำสัญลักษณ์ประจำชาติมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะใช้โดยถือว่าเป็นสมบัติโดยรวมของคนไทย ซึ่งคนไทยทุกคนมีสิทธิในการใช้สัญลักษณ์นี้ก็ตาม แต่ต้องระวังด้วยว่า หากสัญลักษณ์ดังกล่าวมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่อองหมายการค้าไว้ก่อนแล้วสำหรับสินค้าอย่างเดียวกัน หรือสินค้าที่มีลักษณะเดียวกัน อาจไปกระทบถึงสิทธิความเป็นเจ้าของการค้าที่ได้รับจดทะเบียนของผู้อื่นได้  ตามหลักของกฎหมายเครื่องหมายการค้า

                    อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 และมาตรา 274 ได้บัญญัติให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา หากมีกรณีปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วนอกราชอาณาจักร ดังนั้น การนำสัญลักษณ์ประจำชาติไทยไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะใช้ในประเทศไทยก็ตาม ควรสำรวจตลาดสินค้าในขณะนั้นด้วยว่ามีใครสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย แต่ได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไว้ในต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่

                  ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8(6) ได้บัญญัติห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียน หากว่าเครื่องหมายการค้าที่จะนำมาขอจดทะเบียนนั้นเป็นธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซี่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศนั้น จะเห็นได้ว่าในกฎหมายไทยยังไม่ห้ามเด็ดขาด สามารถจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประจำชาติของรัฐต่างประเทศได้  หากมีการอนุญาตให้ผู้ขอจดทะเบียนนำไปจดทะเบียนในประเทศไทย โดยได้รับอนุญาตให้ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศนั้น

                   กฎหมายในลักษณะเช่นนี้ ในต่างประเทศก็บัญญัติไว้ทำนองเดียวกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะห้ามคนไทยนำสัญลักษณ์ประจำชาติไทยไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม     แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้าครั้งต่อไป ทางราชการได้เสนอแก้ไขกฎหมายให้เครื่องหมายประจำชาติไทยเป็นเครื่องหมายต้องห้ามรับจดทะเบียน ซึ่งห้ามมีการประกาศใช้ เครื่องหมายประจำชาติไทยจะเป็นเครื่องหมายการค้าต้องห้ามรับจดทะเบียนตามกฎหมาย มิใช่ตามประกาศของรัฐมนตรี โอกาสที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการรับการจดทะเบียนไปก่อนหน้า อาจถูกเพิกถอนการจดทะเบียนได้ต่อไป   

                                         ที่มาข่าวหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 27 /11/2549

                                                     

หมายเลขบันทึก: 68813เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กำลังอ่านเพลินๆ แต่น้องอุ๋ยยังเขียนไม่จบ รออ่านนะค่ะ และอุ๋ยยังไม่ได้จัดวรรคตอนใหม่เลยเป็นอะไรที่พี่ก็ประสบปัญหาแบบนี้เช่นกัน ปีใหม่นี้ขอให้กลับไปเที่ยวเชียงใหม่ให้สนุกนะ

ขอบคุณมากค่ะ พี่ต้อย อ่านต่อได้แล้วนะค่ะ เขียนเสร็จแล้ว

น่าติดตามจริงๆ แต่ถ้าไปเพิกถอนคนที่จดทะเบียนไว้ก่อนคงไม่เป็นธรรมกับเขานะ เพราะทำให้เกิดความยุ่งยากในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่และยิ่งถ้าสินค้าเขาติดตลาดก็จะไม่เป็นผลดีกับเขาแน่นอน ในการสร้างความคุ้นเคยหรือความเคยชินกับชื่อสินค้านั้นๆ

คงไม่เพิกถอนค่ะ แต่ในอนาคตไม่แน่จัย (อาจไม่ต่ออายุให้เท่านั้นเอง)
  • สวัสดีปีใหม่
  • ขอให้มีความสุขความเจริญตลอดไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท