พลังของทีมกรรมการบริหารโรงพยาบาล


WE สำคัญกว่า ME ทำอย่างไรให้ทีมงานของโรงพยาบาลที่มีอยู่ทำงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากที่สุด

ในการทำงานยุคใหม่ หมดยุคของข้ามาคนเดียวหรือเก่งคนเดียวแล้ว นั่นคือWE สำคัญกว่า ME ในโรงพยาบาลชุมชนจะมีความจำกัดของบุคลากรอยู่มาก เราต้องทำอย่างไรให้ทีมงานของโรงพยาบาลที่มีอยู่ทำงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากที่สุด ในสภาพความเป็นข้าราชการที่มีแนวคิดอยู่กับการยื่นบริการที่ประชาชนต้องมาขอ ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ที่เป็นสิทธิของประชาชนโดยเราอาสามาจัดให้เขา จึงต้องจัดให้ตรงใจประชาชนมากที่สุด แต่ต้องภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร

                เมื่อปี 2540 ที่ผมก้าวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จากประสบการณ์เดิมที่เคยเป็นผู้อำนวยการที่แรกที่แม่พริกมาแล้ว และพบว่าช่วงที่มาเป็นใหม่นั้นจะใกล้กับการพิจารณาความดีความชอบ(มาเดือนเมษายน-พฤษภาคม ประเมินเดือนสิงหา-กันยายน) จะพบว่าคนที่ช่างพูด พูดเก่งจะพยายามเสนอหน้าเข้ามาเพื่อให้เราเห็นว่าเขาขยันนะ เขาเก่งเพราะคิดว่า เราเพิ่งมาใหม่ คงจะมองอะไรไม่ออก ผมจึงใช้วิธีให้คณะกรรมการบริหารร่วมกันพิจารณาเพราะถ้าผมพิจารณาคนเดียวคงจะลำเอียงเข้าข้างบางคนได้ง่าย การพิจารราโดยมีเกณฑ์การให้คะแนนละเอียดยิบแล้วนำคะแนนนั้นมารวมกัน การพิจารณาช่วงแรกจึงเครียดมาก ต้องพกเครื่องคิดเลขเข้าห้องประชุมพอทำมาสองสามปี เชื่อมั่นในตัวกรรมการบริหารมากขึ้นก็ใช้เกณฑ์กว้างๆแทนให้แต่ละคนมีฐานคิดที่เหมือนกัน กติกาเหมือนกันแต่มองในภาพรวมออกมาเลยว่าใครควรจะมีความดีความชอบที่โดดเด่นโดยใช้ระบบความเห็นร่วมแล้วพิจารณาถ่วงน้ำหนัก

                จากแรกเริ่มที่กรรมการบริหารไม่ค่อยคุ้นเคยกับการรับผิดชอบและตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ก็ต้องเข้ามาตัดสินใจ ต้องมองในภาพรวม ไม่มองเฉพาะฝ่ายของตนเอง ลูกน้องของตนเอง  ให้กรรมการบริหารได้ร่วมในการวางแผนประจำปี แผนงบประมาณต่างๆ จากการที่ร่วมทำงานกันมาจนถึง ณ วันนี้ บอกได้เลยว่ากรรมการบริหารของบ้านตากมีคุณภาพพอ แม้จะไม่เก่งโดดเด่นสุดยอดก็ตาม บรรยากาศของการพิจารณาความดีความชอบที่ร่วมกันพิจารณา มองความดีมากกว่าความไม่ดี(เพราะพิจารณาความดีความชอบ) หลายครั้งที่หลายฝ่ายเสนอลูกน้องตัวเองเพราะผลงานยังไม่เด่นเท่าฝ่ายอื่น หลายครั้งที่หลายฝ่ายยอมไม่ซื้อเครื่องมือหรือสร้างสิ่งก่อสร้างเนื่องจากมีเงินจำกัดและมองเห็นว่าฝ่ายอื่นมีความสำคัญมากกว่า หากทำแล้วโรงพยาบาลได้ประโยชน์มากกว่า ทำให้กรรมการบริหารทุกคนมีการมองเป้าหมายร่วม นึกถึงส่วนรวมมากกว่าฝ่ายหรือตนเอง

               คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านตากมี องค์ประกอบดังนี้

  1. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล                                                  ประธานกรรมการ
  2. หัวหน้างานเวชกรรมทั่วไปหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย                 รองประธานกรรมการ
  3. หัวหน้ากลุ่มงานทุกกลุ่มงาน                                                                   กรรมการ
  4. หัวหน้างานเภสัชกรรม                                                                 กรรมการ
  5. หัวหน้างานทันตกรรม                                                                 กรรมการ
  6. หัวหน้างานวิชาการ                                                                                กรรมการ
  7. หัวหน้างานประกันสุขภาพ                                                               กรรมการ
  8. ผู้แทนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย                             กรรมการ
  9. หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป                                                           กรรมการและเลขานุการ
  10. หัวหน้างานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์                          กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

            โดยให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากเป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมการ  ดังกล่าวต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป

             สำหรับกรรมการในข้อ  4  นั้น  อาจได้มาจากการคัดเลือกตัวแทนจากข้าราชการหรือลูกจ้างตามจำนวนที่เหมาะสม  และมีกำหนดวาระของคณะกรรมการเป็นระยะเวลา 2 ปี

             หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านตาก ให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการงานของโรงพยาบาลและเป็นคณะที่ปรึกษาสนับสนุนผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  1. กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนโดยทุกคนมีส่วนร่วม
  2. พิจารณาจัดทำแผน  จัดสรรทรัพยากร  ควบคุม  กำกับ  วิเคราะห์ประเมินผลการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล
  3. พิจารณาจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ  มอบหมายงาน  ประสานงาน  เสริมสร้างขวัญและกำลังใจ  พิจารณาเสนอหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบ  และพิจารณาให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่
  4. พิจารณาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ  กฎ  ระเบียบ  และข้อบังคับที่ใช้ในโรงพยาบาลตามความเหมาะสม  ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อระเบียบ  ข้อบังคับ  มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการต่างๆ ของราชการ
  5. พิจารณาหาทางพัฒนา  รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกคณะอนุกรรมการ  และคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะกิจของโรงพยาบาล
  6. ร่วมพิจารณาหาทางแก้ไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงพยาบาล
  7. หน้าที่อื่น ๆ  ตามที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปรึกษา หรือมอบหมาย

        คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลนี้ จะต้องมีการประชุมปรึกษาข้อราชการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ   1   ครั้ง และจัดให้มีการบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร

                คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากมาก ทุกคนทำงานอย่างทุ่มเท ทำงานมากกว่างานประจำ  เหนื่อยกายเหนื่อยใจมากกว่าปกติ แถมยังต้องถูกต่อว่าจากเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ไม่ได้ตามที่ต้องการ กรรมการบริหารจึงต้องมีความอดทนสูง มีวุฒิภาวะ มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความมุ่งมั่นและหมั่นเรียนรู้ ในเรื่องการบริหารจัดการซึ่งผมได้นำความรู้ใหม่ๆทางการบริหารจัดการมาแจ้งให้ในวาระแจ้งให้ทราบของการประชุมกรรมการบริหารทุกเดือน ทำให้เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องไปหาอ่านเอง จึงทำให้ทีมตามกันทันง่ายขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 6881เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท