ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสุขภาพในช่องปากกับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภท




นิตยา สโรบล
กลุ่มงานทันตกรรม สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

วัตถุประสงค์
- เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสุขภาพในช่องปาก กับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภท

วิธีการศึกษา
- เป็นการสำรวจสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วยจิตเภทที่รับไว้ในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547  -  มีนาคม 2548 จำนวน 150 คน อายุ 19-68 ปี โดยเลือกแบบเจาะจงตามวิธีการขององค์การอนามัยโลกปี 2540 ใช้แบบสัมภาษณ์ที่ปรับปรุงจากของสุปรีดา อดุลยานนท์ สัมภาษณ์ความรู้สึก ประสบการณ์ ความคิดเห็นเกี่ยวกับความผิดปกติหรือปัญหาในช่องปาก ความถี่ ความรุนแรงของอุบัติการ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่  มิติด้านกายภาพ จิตวิทยาและสังคม  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และ Logistic regression

ผลการศึกษา
- พบว่า ผู้ป่วยจิตเภท มีภาวะทันตสุขภาพ โดยมีค่าเฉลี่ย ผุ ถอน อุด (DMFT) 12.23 + 8.561  ผู้ปวยมีโรคฟันผุร้อยละ 85.3 ค่าเฉลี่ยจำนวนฟันที่เหลือในปาก 26.42 + 4.514 ซี่/คน ค่าเฉลี่ยของฟันปกติ 18.91 + 6.745 ซี่/คน และมีสภาวะปริทันต์ โดยคิดจากร้อยละของผู้มีสภาวะปริทันต์ระดับสูงสุดในแต่ละคน สภาวะปริทันต์ปกติร้อยละ 4.67 มีเลือดออกร้อยละ 14 มีหินน้ำลายร้อยละ 48 มีร่องลึกปริทันต์ 4-5 มม. ร้อยละ 21.33 มีร้อยลึกปริทันต์ มากกว่า 6 มม. ร้อยละ 12 ผู้ป่วยร้อยละ 77.3 มีสภาวะสุขภาพในช่องปากที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของกิจกรรมที่มีผลกระทบ 1.93+ 1.779 กิจกรรมต่อคน อุบัติการของกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันมาก 3 อันดับแรก คือ การกิน (68.7%) การทำความสะอาดฟัน (28.0%) การพูด (26.7%)  การกินจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันบ่อยมากที่สุด และรุนแรงมากที่สุด ความรู้สึกไม่สบายและความเจ็บปวด เป็นสาเหตุหลักของอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกมีผลต่อกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวันมาก ร้อยละ  69.82 และ 44.82 ตามลำดับ การปวดฟันเป็นสาเหตุสำคัญมากที่สุดของปัญหาในช่องปาก (29.31%) ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสุขภาพในช่องปากกับผลกระทบในการดำเนินกิจกรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน 8 กิจกรรม ส่วนใหญ่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น การยิ้ม และการทำงาน ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) กับสภาวะปริทันต์ปกติ และส่วนที่หายไปของสภาวะปริทันต์มีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีผลกระทบในช่องปากในกิจกรรมการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< 0.05) เมื่อวิเคราะห์ด้วย logistic regression พบว่า สภาวะสุขภาพในช่องปากมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กิจกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ความคงที่ของอารมณ์ การพบปะผู้คน โดยผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือน้อย จะมีผลกระทบต่อความคงที่ของอารมณ์มากกว่าผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือมาก ร้อยละ 33.2 ผู้ที่ถูกถอนฟันไปน้อยซี่ จะมีผลกระทบต่อความคงที่ของอารมณ์มากกว่าผู้ที่ถูกถอนฟันไปหลายซี่ ร้อยละ 35.5 และผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือน้อยจะมีผลกระทบต่อการพบปะผู้คนมากกว่าผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือมาก ร้อยละ 33.3



จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙
ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร




หมายเลขบันทึก: 68793เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท