การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี ๕


สถาบันได้เห็นความสำคัญของสภาคณาจารย์แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันฯ พ.ศ. 2529 ให้เกียรติสภาคณาจารย์อย่างต่อเนื่อง ผมมักจะย้ำเสมอว่า แม้ว่าฝ่ายบริหารของสถาบันและสภาคณาจารย์ อาจจะมีความแตกต่างทางความคิดในเรื่องต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่เป็นความแตกแยก

ประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรีในการเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนสภาพ
เปลี่ยนแปลงพร้อมกันทุกมหาวิทยาลัยมีโอกาสน้อยมาก


          หลังจากความล้มเหลวในการเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัย 16 แห่งพร้อมกันเมื่อมีนาคม 2535 พวกเราที่พระจอมเกล้าธนบุรี สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงพร้อมกันทุกมหาวิทยาลัยเป็นไปไม่ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยมีประวัติศาสตร์ วุฒิภาวะ เงื่อนไขภายใน รวมทั้งปณิธาน เป้าหมาย ความใฝ่ฝันต่างกัน เราจึงตัดสินใจเดินหน้าเพียงสถาบันเดียว เฉพาะสถาบันของเรา

ความต่อเนื่องเชิงนโยบายและบริหาร และความสมานฉันท์


          ในช่วงเวลาเตรียมตัวและเตรียมการเปลี่ยนแปลง6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ที่เราตัดสินใจว่าจะเดินหน้าจนถึงพ.ศ. 2541 ที่มีการเปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้สำเร็จ พระจอมเกล้าธนบุรีมีความต่อเนื่องสูงในเชิงนโยบายที่จะเปลี่ยนสภาพ มีสภามหาวิทยาลัยที่มีความต่อเนื่อง นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ต่อเนื่องคือ คุณบุญเยี่ยม มีศุข(นายกสภา),ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์, อาจารย์พจน์ สะเพียรชัย, อาจารย์สง่า สรรพศรี, อาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์และคุณเขมทัต สุคนธสิงห์


          เป็นแนวปฏิบัติของพระจอมเกล้าธนบุรีที่จะไม่เปลี่ยนกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิถ้า ผู้ทรงคุณวุฒิยังรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อ ดังนั้นฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยจึงไม่ต้องปรับความเข้าใจเชิงนโยบายกับสภามหาวิทยลัยเรื่องการเปลี่ยนสภาพหลาย ๆ ครั้ง


          ในส่วนของการบริหารระดับสูงมีการต่อเนื่องเชิงความคิด จาก อาจารย์ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีท่านแรก (เมื่อพ.ศ. 2529 โดยที่ก่อนหน้านั้นอาจารย์ไพบูลย์เป็นรองอธิการบดีของวิทยาเขตธนบุรีสมัยที่พระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่งเป็น 3 วิทยาเขตที่อยู่รวมกันภายใต้สถาบันพระจอมเกล้า) อาจารย์หริส สูตะบุตร เป็นอธิการบดีท่านต่อมาช่วงรอยต่อพ.ศ. 2534/2535 จนถึง พ.ศ. 2541


          ผู้บริหารระดับคณะแม้จะมีการเปลี่ยนตัวบุคคลในช่วง 6 ปี ก็มีความต่อเนื่องในเชิงความคิด


          สภาคณาจารย์ของสถาบันได้มีบทบาทที่สำคัญในการร่วมคิด เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับ ร่วมร่างพระราชบัญญัติ มจธ. และร่วมร่างระเบียบต่างๆมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งร่วมกับฝ่ายบริหารจัดการประชุมระดมความคิด(ในสมัยนั้น คำว่าประชาพิจารณ์ยังไม่เกิด) สถาบันได้เห็นความสำคัญของสภาคณาจารย์แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันฯ พ.ศ. 2529 ให้เกียรติสภาคณาจารย์อย่างต่อเนื่อง ผมมักจะย้ำเสมอว่า แม้ว่าฝ่ายบริหารของสถาบันและสภาคณาจารย์ อาจจะมีความแตกต่างทางความคิดในเรื่องต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่เป็นความแตกแยก ในเมื่อทั้งสภาคณาจารย์และฝ่ายบริหารของสถาบันมีเป้าหมายหลักเดียวกันคือการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ


          บรรดาอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในคณะและสำนัก ส่วนมากเป็นผู้ที่ทำงานหนัก อุทิศตัวให้กับสถาบัน มีความสามัคคีสมานฉันท์สูง และมีความสำนึกในการทำงานร่วมกันสูง


          ปัจจัยภายในเรื่องการทำงานหนัก การอุทิศตัว ความต่อเนื่องของนโยบายและความคิด และความสมานฉันท์ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการทำให้องค์กรเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นในช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ไม่มีตัวอย่างมาก่อน เป็นความได้เปรียบเฉพาะตัวของพระจอมเกล้าธนบุรี

ติดตาม การเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น   ตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 68778เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • น่าคิดในหลายๆประเด็นครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท