หลากทัศนะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


หลากทัศนะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

สรุปจากหนังสือ

สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

โดย ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน บรรณาธิการ

ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ดร.ฐิติพร ศิริพันธ์ พันธเสน

รศ.ดร.สุวัจฉรา เปี่ยมญาติ

ศ.นพ.ประเวศ วะสี

          ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามความหมายของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นส่วนหนึ่งของธรรมรัฐแห่งชาติ หรือเป็นหนึ่งในระเบียบวาระรีบด่วนของชาติอันประกอบด้วย 1) สร้างคุณค่าและจิตสำนึกใหม่ 2) สร้างเศรษฐกิจพอเพียง 3) ปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน 4) ปฏิรูประบบรัฐ ทั้งการเมืองและระบบราชการ 5) ปฏิรูปการศึกษา 6) ปฏิรูปสื่อ 7) ปฏิรูปกฎหมาย ที่เมื่อเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้ประเทศไทยมีฐานที่เข้มแข็งและเติบโตต่อได้อย่างสมดุล

             เศรษฐกิจพอเพียงมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจสายกลาง หรือเศรษฐกิจแบบมัชฒิมาปฏิปาทาที่เชื่อมโยง/สัมพันธ์กับความเป็นครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นเศรษฐกิจที่บูรณาการเชื่อมโยงชีวิตจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นประชาสังคม ดังนั้น จึงอาจเรียกชื่อปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ในชื่ออื่นๆ เช่น เศรษฐกิจพื้นฐาน เศรษฐกิจดุลยภาพ เศรษฐกิจบูรณาการ หรือเศรษฐกิจศีลธรรม

เศรษฐกิจพอเพียง จึงมีความหมายความพอเพียงอย่างน้อย 7 ประการ คือ  พอเพียงสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทอดทิ้งกัน

    1. จิตใจพอเพียง รักเอ้ออาทรผู้อื่น

    2.  สิ่งแวดล้อมพอเพียง อนุรักษ์ และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ

    3.  ชุมชนเข้มแข็งพอเพียง รวมตัวกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาความยากจน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม

    4.  ปัญญาพอเพียง เรียนรู้ร่วมกัน เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

    5.  ตั้งอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมพอเพียง เพราะเศรษฐกิจที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อม จึงจะเป็นเศรษฐกิจที่มั่นคง

    6.  มีความมั่นคงพอเพียง ไม่ผันผวนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถรับได้

         กล่าวได้ว่าปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในทัศนะของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี นอกจากจะเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มีคุณลักษณะเด่น คือ นอกจากความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์หรือมีมิติมนุษย์ (Human dimension) โดยอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตแล้ว ยังต้องครอบคลุมถึงแนวคิดด้านศีลธรรมและจิตใจไปพร้อมๆ กันด้วยแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงสามารถมีได้หลากหลาย เช่น

             การทำเกษตรผสมผสานที่สามารถพึ่งพิงตนเองได้ รวมถึงน้ำซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิต เป็นเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี จึงไม่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล

                หัตถกรรมและศิลปกรรม ที่เป็นงานฝีมือของครอบครัว เป็นอาชีพที่ทำให้สมาชิกของครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้ เกิดความอบอุ่นในครอบครัว

               อุตสาหกรรมชุมชน เช่น การแปรรูปผลิตผลทางเกษตรโดยชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงและส่งขายสู่ตลาดโลก

                ธุรกิจบริษัทชุมชนที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน และอาจเชื่อมโยงกับธุรกิจภายนอกเพื่อประโยชน์ของชุมชน

                 ศูนย์การแพทย์แผนพทยที่สามารถช่วยให้ชุมชนประหยัดเงินรวมทั้งสร้างรายได้ให้กับชุมชน

                 กองทุนชุมชน เป็นกลไกทางการเงินที่ดำเนินการผ่านกระบวนการทางสังคมของชุมชน

                เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี นั้นแม้จะมีความหลากหลายประเภทและหลากหลายในระดับ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้น โดยมากแล้วจะเป็นกิจกรรมทางด้านเกษตร

                   ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมค้าขายก็จะเป็นการค้าขายแบบง่ายๆ ซื้อมาขายไปเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้มแข็งของชุมชนเชื่อมโยงการกระจายรายได้ที่ดี เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านปฏิบัติอยู่ เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และคุณค่าอันดีงามของชุมชน

                ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตั้งอยู่บนห้ากระแสใหญ่ คือ

             1. กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสเตือนสติคนไทยให้มีความพอเพียง พร้อมทั้งพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหมให้เป็นตัวอย่าง

             2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่เน้นส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และความเป็นประชาคม 

             3. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องการปฏิรูปสังคมให้มีรากฐานที่แข็งแรง

             4. พระพุทธศาสนาที่ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปาทา ความเออาทร ความสะอาด สงบ สว่าง 

              5. วิถีไทย แต่ดั้งเดิมที่เน้นการเอื้ออาทร การมีวิถีชีวิตร่วมกัน หรือการเป็นวัฒนธรรมชุมชน

            กล่าวโดยสรุป แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้รับความสนใจในฐานะมรดกวิธีที่จะช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตที่เกิดจากเศรษฐกิจฟองสบู่ที่สร้างความเป็น “เศรษฐกิจเทียม” หรือ “เศรษฐกิจแบบแยกส่วน” ที่คำนึงถึงแต่เงินแต่ละเลยมิติทางด้านจิตใจ ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมือง จนนำไปสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการสั่งสมของ

                                1) การเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ประสิทธิภาพต่ำ คอร์รัปชันสูง

                                 2) ระบบการศึกษาที่อ่อนแอทางสติปัญญา

                                 3) สังคมอ่อนแอขาดความเป็นประชาสังคม

                 ดังนั้น พลังของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะอยู่ตรงที่การกระตุ้นให้คนเปลี่ยนวิธีคิด และสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานราก ให้ความสำคัญกับสำนึกสาธารณะที่จะรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ความเป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อมวลมนุษย์และสรรพสิ่ง

ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์

              ในบทความเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงกับการวิเคราะห์ตามความหมายของนักเศรษฐศาสตร์” ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ได้สังเคราะห์ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ณ ห้วงเวลาต่างๆ เพื่อที่จะสามารถแสดงให้เห็นและเข้าใจถึงพระราชดำรัสได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

                 ศ.ดร.อภิชัย อธิบายว่า นักเศรษฐศาสตร์ต่างให้ความหมายแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแตกต่างกันออกเป็นสี่ความหมายด้วยกัน ประกอบด้วย

                     กลุ่มที่หนึ่ง อธิบายว่าปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่อยู่เหนือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ เป็นภูมิปัญญาไทย เป็นทุนทางสังคมของประเทศ เนื่องมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมชุมชน และเป็นพื้นฐานระบบเศรษฐกิจของสังคมไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นปรัชญาแนวคิดที่ประยุกต์นำศาสนามาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่จะลด “ความอยาก” ลงมาสู่ระดับที่สามารถพึ่งตนเองได้

                   ความแตกต่างระหว่างแนวคิดในวิชาเศรษฐศาสตร์กับปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การให้ความหมายของ “ความต้องการของมนุษย์” เนื่องจากในทางวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น นิยาม “ความต้องการ” ของมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ต่างจากความต้องการในนิยามภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นย้ำการลดความอยากของมนุษย์สู่ความพอดีหรือดุลยภาพ และดุลยภาพในที่นี้แตกต่างจากดุลยภาพในนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์

                 นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ จึงให้ความเห็นตรงกันว่า ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องแนวคิดที่อยู่เหนือแนวคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์

                  กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มีความเห็นตรงกันว่า ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนประกอบที่สำคัญสามส่วนที่เกี่ยวข้องกัน และจะขาดซึ่งส่วนใดส่วนหนึ่งมิได้ คือ ความพอดี ความเสี่ยง และการพึ่งตนเอง

                  ความพอดีในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ จะมีลักษณะใกล้เคียงกับดุลยภาพในวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่จะเป็นดุลยภาพที่เป็นพลวัต ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานะและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

                    ส่วนเรื่องความเสี่ยงนั้น เกี่ยวข้องกับความพยายามในการลด/กระจายความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความพอดีอย่างยั่งยืน ดังนั้น การสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด คือ ความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน และลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยน ไม่ให้สูงเกินไป

                       อาจกล่าวได้ว่า นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้จัดให้ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจจพอเพียงอยู่ในระดับเดียวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ อันเป็นแนวคิดที่พยายามนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของปัจเจกชน ชุมชน สังคม และประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

                      กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่มีความเห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพราะเป็นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อจำกัดของรายได้ ภายใต้การบริหาร การกระจายความเสี่ยงอย่างสมดุล และมีการแลกเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มนี้ให้ข้อสังเกตว่า การพึ่งพิงตนเองนั้น อาจทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้รับประสิทธิภาพที่เกิดจากการเน้นความชำนาญเฉพาะอย่าง การพึ่งตนเองในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ จึงหมายถึง ความสามารถในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด และเห็นว่า แม้จะมีการติดต่อค้าขายกับภายนอกและต่างประเทศ หรือการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ หากสามารถควบคุมและรู้เท่าทัน ก็ยังถือว่าเป็นการพึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดความพอเพียง ประกอบกับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เน้นการให้น้ำหนักแก่ความเสี่ยงด้านล่าง ที่จะช่วยให้กลุ่มที่มีอำนาจต่อรองต่ำสามารถเผชิญและรับแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมได้อันจะส่งให้ระบบเกิดเสถียรภาพ

             กลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มที่ให้ความคิดเห็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความเป็นอยู่อันควร ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศตามศักยภาพของประเทศ

               ในทัศนะของ ศ.ดร.อภิชัย แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่อยู่เหนือพุทธเศรษฐศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธเศรษฐศษสตร์ และพุทธเศรษฐศาสตร์นั้นมีสถานะภาพไม่แตกต่างจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ เช่น แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซ์ และมาร์แชลล์ หรือแบบเคนส์ หากแต่รากฐานวิธีคิดระหว่างพุทธเศรษฐศาสตร์นั้นแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอื่นๆ ในขณะที่แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มีพื้นฐานวิธีคิดในส่วนที่มาจากความเชื่อว่า มนุษย์มีเหตุผลและพยายามแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด แต่พุทธเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับอวิชชา หรือความไม่รู้ อันเป็นต้นเหตุของความไร้เหตุผล “ปัญญา” ที่เกิดจากการรักษาศีลและมีสมาธิจะทำให้ความไร้เหตุผลของมนุษย์ลดลง

                 ศ.ดร.อภิชัย ยังอธิบายว่า การที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เน้นย้ำความพอประมาณ มีเหตุผล หรือการทำให้ดีที่สุด โดยมีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ใช้ได้กับภาคเศรษฐกิจทุกสาขาของประเทศ เนื่องจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการยับยั้งหรือละความโลภ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดังนั้น เพื่อให้แนวคิดเกิดผล รัฐจำเป็นต้องสร้างกติกา บทลงโทษ หรือมาตรการด้านภาษี และเครื่องมือทางการเงินที่รัฐมีอยู่เพื่อสร้างความพอเพียง จำกัดความโลภให้แก่ผู้ดำเนินการทางเศรษฐกิจบนมาตรการที่เปิดเผย และไม่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจในการตัดสิน อันเป็นสาเหตุของการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

                   เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นปรัชญาว่าด้วย การวางรากฐานอันมั่นคง ยั่งยืนของบุคคลและสังคมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาะคุณพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย โดยไม่จำกัดเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบสัมมาชีพอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เพื่อสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้แก่ฐานรากของตนเองได้ ยิ่งกว่านั้น ยังกล่าวถึง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะระบบเศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตนเองได้ในระดับพื้นฐานโดยไม่เดือดร้อน จึงจะสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้า และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นสูงต่อไปได้

     ความสามารถในการอยู่ได้ในระดับพื้นฐานนั้นต้องยึดแนวทางสายกลางเป็นหลักในการดำรงชีวิต เพื่อสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง อันประกอบด้วย

             1. พึ่งตนเองทางจิตใจ มีจิตใจที่เข้มแข็งไม่ท้อแท้แม้ประสบความล้มเหลว หรือความยากลำบาก

              2.พึ่งตนเองทางสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลภายในสังคม

              3. พึ่งตนเองทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรสังคมและเศรษฐกิจ

               4.  พึ่งตนเองทางเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะกับภูมิประเทศและสังคมไทย

                5. พึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับเบื้องต้น ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระดับมหัพภาคต่อไปได้

               ในการจะทำให้เกิดผลดังกล่าว บุคคลต้องลดละความฟุ่มเฟือย ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต การแสวงหาผลประโยชน์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม ปฏิบัติตนในทางดีและไม่หยุดนิ่งที่จะใฝ่หาความรู้ เพื่อหาหนทางให้ตนเองหลุดพื้นจากความทุกข์ยากที่เป็นอยู่ได้

                ดังนั้น ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล จึงเปรียบได้กับปรัชญาแนวคิดในการสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนให้กับฐานรากของบุคคล โดยยึดหลักสายกลางในการดำเนินชีวิต บนวิถีแห่งความใฝ่หาความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา บนฐานแห่งการเรียนรู้ อันจะนำพาสังคม และประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยอาศัยฐานทรัพยากรท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน บนพื้นฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้และพอเพียงต่อไป

ศ.เสน่ห์ จามริก

            เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแกนกลางของคุณค่าและจิตสำนึกใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่บนพื้นฐานของหลักการสังคม อันเป็นรูปธรรมที่จำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางการปฏิรูปการพัฒนา

               ในทัศนะของ ศ.เสน่ห์ จามริก เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แต่เพียง “ระเบียบวาระแห่งชาติ” เท่านั้น หากแต่เป็น “ระเบียบวาระแห่งโลก” ที่จะเป็นกำแพงต้าน “วัฒนธรรมล่าเหยื่อ” ของพลังทุนนิยมและเทคโนโลยีภายใต้ “ระเบียบโลกใหม่” อีกด้วย

ในระดับหลักการหรืออุดมการณ์ เศรษฐกิจพอเพียงกระตุ้นให้เกิดการทบทวนรื้อฟื้นหลักทฤษฎีเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ขึ้นใหม่ ดังนี้

    1. นิยามความหมาย “เศรษฐกิจ” ที่โดยสารถมีความหมายเพื่อสนองความต้องการภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร มิใช่เป็นเพียงแต่เรื่องของธุรกิจเพื่อแข่งขันช่วงชิง แสวงหากำไรสูงสุดเท่านั้น

    2.  รื้อฟื้นทบทวนแยกแยะระหว่าง “การพัฒนา” ที่เหมายถึงการยกฐานะของคนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดกับ “การจำเริญทางเศรษฐกิจ” ซึ่งมุ่งแต่เพียงการสร้างตัวเลข และอัตราการเจริญเติบโต โดยไม่คำนึงถึงการกระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ

    3.  ทบทวนเรื่องคนและคุณค่าของคนที่พึงมีโอกาสเรียนรู้พัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

    4.  ทบทวนทำความเข้าใจเรื่องของทุน ที่ควรรวมความไปถึง คน ธรรมชาติ และระบบนิเวศที่เป็นทุนของชีวิตและสังคมด้วย

    5.  “ตลาดเสรี” ต้องถูกตีกรอบของสำนึกแห่งธรรมะ

    6.  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพและยอมรับในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

    7.  “การบริโภค” พึงอยู่ในขอบข่ายของความจำเป็นและคุณประโยชน์ต่อชีวิตและความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

    8.  “วิถีการพัฒนาเศรษฐกิจ” ต้องเป็นไปบนความสมดุลเพื่อการพึ่งตนเองและพิทักษ์รักษาระบบชีวิตนิเวศ

              ดังนั้นนัยยะสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “การกลับฟื้นจิตวิญญาณมนุษย์สู่ชีวิตเศรษฐกิจที่แท้จริง อันประกอบไปด้วยมนุษย์กับธรรมชาติเป็นแก่นสาร” ในความหมายกระบวนการพัฒนาของ ศ.เสน่ห์ จามริก เศรษฐกิจพอเพียงมีฐานอยู่ที่เกษตรกรรมที่พออยู่พอกิน พร้อมด้วยกระบวนการเรียนรู้ยกระดับสู่เกษตรยั่งยืน โดยมีไร่นาระดับครัวเรือน เป็นหน่วยพื้นฐานที่กระจายออกไปเป็นเครือข่ายกว้างขวางยิ่งขึ้นตามลำดับ และพัฒนาให้มีบทบาทรอบด้านมากขึ้น เป็นช่องทางส่งเสริมให้พัฒนาตนเองเป็นอิสระจากกลไกตลาดภายใต้อำนาจกำกับและควบคุมจากภายนอก

              เศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ใช่ระบบที่แปลกแยกหรือสวนกระแสสัจธรรมแห่งความจริง หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามถ่วงดุลอำนาจตลาด ปลดเปลื้องทางจิตสำนึกและกระบวนทัศน์ ฟื้นวัฒนธรรมการเรียนรู้ เปลี่ยนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเองและพัฒนาตนเองของคนในชาติ

หมายเลขบันทึก: 68776เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท