การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี ๔


ให้มีการปรับปรุงค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาถึงระดับที่ผู้เรียนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งหมดในทุกสาขาวิชา โดยให้สอดคล้องไปกับการจัดตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อการศึกษาและมาตรการด้านทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

แผนอุดมศึกษาระยะยาว: ธงเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล
          แผนอุดมศึกษาระยะยาวสรุปหลักการร่วมพื้นฐาน 4 ประเด็นของการปฏิบัติภารกิจอุดมศึกษาคือ การกระจายโอกาสและความเสมอภาค (Equity) ประสิทธิภาพ (Efficiency) คุณภาพและความเป็นเลิศ (Excellence) และความเป็นสากล(Internationalization)


          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลข้อหนึ่งในหกข้อคือ "รัฐพึงให้การสนับสนุนการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากับรัฐ โดยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ให้มีฐานะและรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตั้งแต่แรกตั้ง"


          ความคิดมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลที่ไม่เป็นส่วนราชการไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อทำแผนอุดมศึกษา15 ปีเมื่อยี่สิบปีมาแล้ว แต่เป็นการตกผลึกทางความคิดซ้ำเป็นครั้งที่สองหลังจากได้ตกผลึกทางความคิดเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในช่วงปี 2507-2510 ผู้นำทางการศึกษาและการบริหารมหาวิทยาลัยในช่วงนั้นเช่นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์เกษม สุวรรณกุล อาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทยและอาจารย์ กำแหง พลางกูรได้สรุปชัดเจนมาเกือบสี่สิบปีแล้วว่ามหาวิทยาลัยของรัฐจะพัฒนาได้จะต้องมีความคล่องตัวและมีอิสระในการบริหารงานในรูปมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ


          เป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญที่ระบุไว้ในแผนอุดมศึกษา 15 ปีในช่วงแผนพัฒนาฯระยะที่ 8 (2540-2544) และแผนพัฒนาฯระยะที่ 9
(2545-2549) คือ

  1. สถาบันอุดมศึกษาของรัฐส่วนใหญ่มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ
  2. ภายในปีสุดท้ายของแผนฯ ระยะที่ 9 ให้มีการปรับปรุงค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาถึงระดับที่ผู้เรียนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งหมดในทุกสาขาวิชา โดยให้สอดคล้องไปกับการจัดตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อการศึกษาและมาตรการด้านทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
  3. ภายในปีสุดท้ายของแผนฯ ระยะที่ 9 ให้การผลิตบัณฑิตสาขา
    วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50 ต่อ 50


          จากพ.ศ.2533 ถึงพ.ศ.2545 เวลาผ่านไปสิบสองสิบสามปี ประวัติศาสตร์ที่จะเขียนในอนาคตคงจะสะท้อนได้ว่าเข้าเป้ามากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใดอาจเป็นความโชคดีที่ทั้งอาจารย์หริสและผมได้อยู่ในคณะอนุกรรมการวิชาการโครงการแผนอุดมศึกษาระยะยาว ทำงานต่อเนื่องประมาณ 3 ปี ได้รับทราบข้อมูลชัดเจนจากการวิจัยด้านประสิทธิภาพภายในของระบบอุดมศึกษา ซึ่งส่อชัดว่าระบบอุดมศึกษาของรัฐมีประสิทธิภาพภายในต่ำได้เห็นข้อมูลและแนวโน้มอนาคตของประเทศไทยและของโลก ทั้งเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เราสรุปว่าถ้าจะพัฒนาให้พระจอมเกล้าธนบุรีเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ การคงอยู่ในระบบราชการของมหาวิทยาลัยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังได้น้อยมาก


          ธงเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลในแผนอุดมศึกษา 15 ปี  เป็นเครื่องชี้ทางให้เกิดมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลต่อมา 

จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สู่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย


          เมื่ออาจารย์วิจิตร ศรีสอ้านได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครราชสีมา อาจารย์วิจิตร จึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น (เมื่อ 29 กรกฎาคม 2533)


          ช่วงรัฐบาลฯพณฯนายกรัฐมนตรีนายอานันท์ ปันยารชุน ที่มีอาจารย์เกษม สุวรรณกุลเป็น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย มีความพยายามที่จะเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยของรัฐ 16 แห่ง(รวม พระจอมเกล้าธนบุรี)ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แต่ได้รับการต่อต้านจากผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้เมื่อเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถตัดสินใจจึงยุบสภา ทำให้เรื่องตกไปทั้งหมด


          ความต้องการของจังหวัดนครศรีธรรมราชทำให้เกิดมหาวิทยาลัยใหม่คือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (เมื่อ 7 เมษายน 2535) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น


          เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เป็นนิติบุคคลสองแห่ง จากสถาบันการศึกษาสงฆ์ที่ไม่ใช่นิติ-บุคคล จากสถาบันภายใต้กรมการศาสนา เป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (เมื่อ 1 ตุลาคม 2540) ภายใต้รัฐบาลฯพณฯนายกรัฐมนตรีพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล


          สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเปลี่ยนสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ในการควบคุมของรัฐบาล มาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในรัฐบาลฯพณฯนายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย(เมื่อ 6 มีนาคม 2541)


          ในช่วงรัฐบาลเดียวกัน มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (เมื่อ 25 กันยายน 2541) ที่จังหวัดเชียงราย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล


          ภาพโดยรวมในขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล 6 แห่ง (เป็นมหาวิทยาลัยคฤหัสถ์ 4 แห่ง มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง)

ติดตาม ประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรีในการเตรียมตัวเพื่อการปรับเปลี่ยนสภาพเปลี่ยนแปลงพร้อมกันทุกมหาวิทยาลัยมีโอกาสน้อยมาก   ตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 68773เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท