การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี ๓


เจตนาสำคัญ "ที่จะให้แผนอุดมศึกษาระยะยาวเป็นแผนรุกไปสู่อนาคต โดยมีฐานอยู่บนข้อมูลการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับสภาพการณ์และความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆของประเทศ ตลอดจนเป็นแผนที่ไวต่อการปรับตัวและมีกลไกการติดตามประเมินผล อย่างต่อเนื่อง"


Milestoneที่สำคัญเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว: แผนอุดมศึกษาระยะยาว15 ปี (2533-2547) ของทบวงมหาวิทยาลัย ระดมสมองกันมองทิศทางอุดมศึกษา 

          ทบวงมหาวิทยาลัยช่วงปี2529-2530 ในขณะที่อาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัยได้เริ่มแนวคิดจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี โดยมีเจตนาสำคัญ "ที่จะให้แผนอุดมศึกษาระยะยาวเป็นแผนรุกไปสู่อนาคต โดยมีฐานอยู่บนข้อมูลการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับสภาพการณ์และความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆของประเทศ ตลอดจนเป็นแผนที่ไวต่อการปรับตัวและมีกลไกการติดตามประเมินผล อย่างต่อเนื่อง"


          ในช่วงปี2530-2532 ผู้จัดทำโครงการแผนอุดมศึกษาระยะยาว (เรียกว่า คณะอนุกรรมการวิชาการประจำ)ประกอบด้วยอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้านเป็นประธานอาจารย์พจน์ สะเพียรชัยเป็นรองประธาน ผู้ทำงานอื่นๆได้แก่อาจารย์เจตนา นาควัชระ อาจารย์ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ อาจารย์ทองอินทร์ วงศ์โสธร อาจารย์หริส สูตะบุตร อาจารย์วิวัฒน์ มุ่งการดี อาจารย์เมธี ครองแก้ว อาจารย์จีระ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ อาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อาจารย์วิวัฒน์ชัย อัตถากร  อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร อาจารย์วราภรณ์ บวรศิริ อาจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน อาจารย์ศรีวงศ์ สุมิตร และอาจารย์ กฤษณพงศ์ กีรติกร

การทำแผนจากการวิจัยจากข้อมูลข้อเท็จจริง
          Input  ที่สำคัญของการทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีคือการวิจัยเชิงนโยบาย 23 เรื่อง เป็นด้านการศึกษาสภาพแวดล้อมอุดมศึกษา 11 เรื่อง การวิเคราะห์กำลังคน 3 เรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพภายในระบบอุดมศึกษา7 เรื่อง และการศึกษาบทบาทภาคเอกชนในอุดมศึกษา 2 เรื่อง ทบวงมหาวิทยาลัยได้เชิญนักวิจัยชั้นนำในมหาวิทยาลัยไทยให้ทำงานวิจัยทั้ง 23 เรื่องนี้ แต่ละเรื่องใช้เวลาประมาณ 1 ปี
          ผมเห็นว่าอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้านได้ระดมพลังคนอุดมศึกษาช่วยกันคิดได้อย่างดียิ่งทั้งคณะทำงานและนักวิจัย คณะทำงานมีการประชุมกันสัปดาห์ละครั้ง(ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นวันพุธตั้งแต่สี่โมงเย็นจนถึงหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่ม) อาจารย์วิจิตรหรืออาจารย์พจน์จะเป็นประธานที่ประชุมทุกครั้ง คณะทำงานและนักวิจัยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดและข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ปี
          นอกจากนั้น คณะนักวิจัยยังได้เสนอรายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมในวงที่กว้างขึ้นเป็นระยะๆ เป็นการสร้างความเห็นพ้อง(consensus) ของทิศทางภาพลักษณ์และภาพฉายอุดมศึกษาไทยใน ระยะยาว 15 ปี การวางแผนของประเทศไทย ของสังคมไทยที่ไม่สามารถสั่งการจากเบื้องบนลงมาได้เหมือนประเทศอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งเห็นชัดเจนในขณะนั้น ต้องอาศัยการสร้างความเห็นพ้อง(Consensus Building)
          ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยกำลังเริ่มเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น เงินสำรองของประเทศสูงขึ้นเนื่องจากมาตรการการเงินและการคลังที่ดี ประกอบกับความกล้าในการตัดสินใจของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-นายสมหมาย ฮุนตระกูล 

 ติดตาม แผนอุดมศึกษาระยะยาว : ธงเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 68770เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เข้ามาอ่านเพื่อทำความเข้าใจครับ
  • ผมเข้าไปอ่าน "มุมมองมหาวิทยาลัยนเรศวร :
    ปัจจุบันสู่อนาคต กรณีเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ (มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ)
    " แล้วครับ
  • ถ้าเป็นตามว่าตามการคิดวิเคราะห์ของผม ข้าราชการกำลังจะเป็นส่วนน้อยของสังคม
  • เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมอายุ 30 ผมคิดว่าผมจะเลือกเป็นพนักงาน ส่วนให้ภรรยาเป็นข้าราชการ จะได้เบิกสวัสดิการได้ แต่ ณ ปัจจุบัน สถานะความมั่นคงของครอบครัวเปลี่ยนไป ผมแทบไม่ได้ใช้สวัสดิการ ของรัฐด้านการรักษาพยาบาลเลยครับ
  • ผมและลูกสองคนทำประกันชีวิต และใช้บริการจากการประกันสุขภาพ
  • แต่ดูจากที่ท่านอธิการประกาศไว้ สวัสดิการก็ยังเหมือนเดิม หรือจะดีกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
  • แต่ว่าจะจริงหรือครับ

อ.หนึ่งคะ

  • แม้ว่าท่านอธิการ จะประกาศเป็นสัญญาประประชาคมไว้แล้ว
  • อ. หนึ่งหรือใครๆ ก็มีสิทธิจะคิดว่า จะจริงหรือ ?  และยังลังเล...
  • ใช่..แล้วค่ะ
  • มันอาจจะจริง
  • หรืออาจจะจริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง
  • หรืออาจจะไม่เป็นจริงเลยก็ตาม
  • แต่ที่จริงแท้แน่นอน คือ โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • สังคมก็เปลี่ยนตลอดเวลา
  • ยิ่งยุคสมัยนี้หรือในอนาคต
  • อัตราเร็วของการเปลี่ยนแปลงจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • เราจึงต้องตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน
  • คาดให้ได้ว่า มันจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด
  • โดยศึกษาหาความรู้ ให้รู้จริง
  • เพราะ.....เมื่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป
  • คนที่ลังเล อาจจะไม่มีแม้กระทั่งเวลาให้เปลี่ยนใจ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท