พี่เลี้ยงและบทบาทการสร้างคนรุ่นใหม่


พี่เลี้ยงและบทบาทการสร้างคนรุ่นใหม่

 โกมล สนั่นก้อง

           ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา เราทุกคนต้องยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนร่วมกันคือ เราไม่ได้สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมารับใช้การแก้ปัญหาท้องถิ่นปัญหาสังคมได้เลย เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่มีความสามารถในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวนั้น ยิ่งในสภาวะที่สังคมต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงเช่นปัจจุบันนี้ แทบจะเรียกได้ว่ามองหาคนรุ่นใหม่เพื่อสานต่องานแทบหาไม่เจอ เราอาจสร้างคนเก่งไว้มาก แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการการแก้ปัญหาท้องถิ่นปัญหาสังคมได้เลย

         ทั้งๆ ที่ทุกขบวนการทุ่มเททำงานอย่างหนักตลอดช่วงที่ผ่านมา ใช้เม็ดเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นพัฒนาประเทศก็ไม่ใช่น้อย มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเต็มไปหมด กระทั้งมีหลักสูตรและการสนับสนุนทุนเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่รุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดผู้นำรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของท้องถิ่นเป็นความหวังของสังคมและเป็นพลังใหม่ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในอนาคต หรือว่าความฝันของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว หรือว่าสังคมไม่ได้คาดหวังในเรื่องเหล่านี้แล้ว สังคมต้องการความทันสมัยอย่างนั้นหรือ?

          แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นที่ผมสนใจมากนัก เพราะในสภาวะที่ไม่แน่นอนเช่นนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ และเราทุกคนคงเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างใกล้ชิดกันอยู่แล้ว ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ “การสร้างคนรุ่นใหม่และบทบาทของวิทยากรกระบวนการ” คนรุ่นใหม่ในที่นี้หมายรวมถึงนักพัฒนา นักวิจัย นักวิชาการ และผู้นำชุมชน เพราะในระยะสี่ห้าปีหลังมานี้มีการพูดถึงวิทยากรกระบวนการกันมากในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบนพื้นที่ของเครือข่ายและความร่วมมือต่างๆ ของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ทั้งที่เป็นภาคราชการและภาคเอกชน

            ผมมีโอกาสทำงานในมุมเล็กๆของขบวนการทางสังคมและเฝ้ามองการทำงานของพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อ ตลอดจนมีโอกาสสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมมาหลายปีพอสมควร ซึ่งผมจะพูดถึงในลำดับต่อไป ในส่วนของการสร้างคนรุ่นใหม่ในระบบราชการนั้นผมคงไม่ต้องพูดถึงมากนักเพราะเราทุกคนทราบดีว่า ภาคราชการมีเงื่อนไขข้อจำกัดมากมายเกินกว่าที่จะคาดหวังในเรื่องนี้ได้ เพราะเราได้ยินได้ฟังมาตลอดจากเสียงของชาวบ้าน ชาวประชา จากสื่อหรือจากตัวข้าราชการเอง จนต้องมีการผลักดันการปฏิรูประบบราชการขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังทำอยู่เรื่อยๆ

           ผมจำได้ว่าตอนที่ผมลงไปทำงานพัฒนาร่วมกับชาวบ้านในชนบทภาคเหนือใหม่ๆ แทบไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนทำให้ผมต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำความรู้จักกับชุมชนรู้จักกับชาวบ้านให้ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้นำที่ทำงานร่วมใกล้ชิดกับเรา ในช่วงนั้นผมใช้ชีวิตเช่นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง เหมือนๆ กับชีวิตในวัยเด็กวัยเรียนของผม ชาวบ้านเขาก็ให้ความเป็นกันเองกับเรามาก มองเราเป็นลูกเป็นหลานเป็นพี่เป็นน้องและเป็นเพื่อนร่วมทาง

                  เขาใช้ชีวิตอย่างไรเราก็ดำรงอยู่อย่างนั้น เขาทำนาเราก็ทำกับเขา เขาเกี่ยวข้าวตีข้าวเราก็ช่วยเขาทำ เขาไปเก็บเห็ดหาหน่อไม้ล่าสัตว์เราก็ไปกับเขา เขาปลูกผักหาปลาเราก็ช่วยเขาทำตามความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ กระทั่งเขามีตั้งวงสนทนาเล็กๆ ในยามค่ำคืนเราก็เอากับเขาด้วย งานประเพณีพิธีกรรมต่างๆไม่ต้องพูดถึงเพราะนั่นเป็นความสำคัญสูงสุดในฐานะนักพัฒนาชนบทอยู่แล้ว ไม่นับรวมกิจกรรมพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นงานหลักของเราที่เรามีแผนงานที่ต้องทำร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว โชคดีที่ผมเป็นลูกชาวนาและเคยทำนามากับมือ จึงไม่ลำบากอะไร แต่กลับเป็นเรื่องสนุกเพลิดเพลินมากกว่าเพราะเราอยู่ในบริบทใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน จนทำให้เราคุ้นเคยและรู้จักชาวบ้านมากขึ้นว่าจริงๆ แล้ว เขาอยู่กันอย่างไรในแต่ละมื้อแต่ละวันแต่ละฤดูกาลผลิต มันลำบากมากน้อยเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคอะไร และเราจะช่วยเขาตรงจุดไหนได้บ้าง

                 ผมเคยพูดกับผู้นำชาวบ้านกลุ่มหนึ่งว่า “ผมจะทำงานกับพวกเราจนกว่าพวกเรากล้าที่จะด่าผมกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผม” ที่ผมพูดกับเขาเช่นนี้เพราะผมเชื่อว่าถ้าเขากล้าวิพากษ์วิจารณ์ผม นั่นแปลว่าเขากล้าพูดกล้าคิดกล้าทำเป็นพื้นฐานแล้ว ไม่ใช่ลาออกไปเพราะน้อยใจหรือทนฟังการวิพากษ์วิจารณ์ของเขาไม่ได้ จริงๆ แล้วคนชนบทส่วนใหญ่จะมีนิสัยไม่พูดอะไรง่ายๆ ถ้าไม่จำเป็นและจะไม่พูดในสิ่งที่เขาไม่ได้คิดไม่ได้ทำ ไม่เหมือนพวกเราส่วนใหญ่ที่พูดได้น้ำไหลไฟดับทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำหรือแม้แต่จะคิดเอง ผู้นำคนหนึ่งถามผมว่า “แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าผมประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้แล้ว” หรือจะชี้วัดได้อย่างไรว่าอย่างนั้นเถอะ

                ผมตอบเขาไปว่า “ผมจะดูอยู่ สองระดับคือ ระดับแรกดูว่า พวกเราทำได้จริงไหมในสิ่งที่เราพูดคุยกันอยู่ทุกวัน และพวกเราสามารถพูดให้คนอื่นฟังได้เข้าใจไหมในสิ่งที่พวกเราทำมากับมือ ระดับที่สองดูว่า พวกเรากล้าวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอย่างตรงไปตรงมาไหมในสิ่งที่เขาคิดเขาทำ หรือกล้าวิพากษ์วิจารณ์ผมไหมในส่วนที่เป็นจุดไม่ดีของผม และท้ายที่สุดกล้าวิจารณ์ความผิดพลาดของตัวเขาเองหรือไม่”

                ผมมักจะเบี้ยวชาวบ้านบ่อยๆ หลังจากที่คุ้นเคยกับผู้นำชาวบ้านมากขึ้น แต่ผมจะแอบฟังชาวบ้านประชุมกันโดยที่เขาไม่รู้ตัวเสมอแล้วเขาก็ติหนิว่าผมขาดประชุมวันนี้ ผมเคยแอบไปฉี่นานๆ ในเวลาที่พวกเขากำลังหาข้อสรุปบางอย่าง และผมเคยขอตัวไปธุระนานๆในเวลาสำคัญของพวกเขาทั้งๆที่ผมบอกกับเขาว่าไปเดี๋ยวเดียวก็กลับ แต่พอกลับทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดีและพวกเขาก็มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผมเองก็ถูกตำหนิจากเขามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน บางครั้งถึงขั้นมีปากมีเสียงกับผู้ร่วมงานและหัวหน้างานเลยก็มีด้วยความคิดและวิธีการทำงานที่ต่างกัน แต่ผมมั่นใจว่า ทุกความคิดทุกวิธีการที่ผมใช้ทำงานผมไม่ได้คิดหรือทำเล่นๆ เพราะทุกความคิดทุกการกระทำของผมล้วนผ่านการตรึกตรองมาพอสมควรและได้เลือกที่จะทำแล้ว แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม และผมก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ผมทดลองทำเสมอ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นก็ค่อยว่ากันในภายหลัง

              นานมาแล้ว ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักพัฒนารุ่นพี่คนหนึ่งผมบอกกับเขาว่า “ถ้าเมื่อไหร่ชาวบ้านเขากล้าวิพากษ์วิจารณ์ผม กล้าด่าผมทั้งต่อหน้าและลับหลังผม ทั้งในที่ประชุมและนอกการประชุมก็ตาม นั่นแสดงว่าผมประสบผลสำเร็จในการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้แล้วและนั่นเป็นเวลาสุดท้ายที่ผมจะต้องถอนตัวออกมา แต่มันเป็นเวลาเริ่มต้นที่ดีของพวกเขา” ผมทำงานอยู่ที่นั่นได้ไม่นานจึงได้ลาออกจากงาน ไม่ใช่น้อยใจที่ชาวบ้านด่าหรือขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน แต่เพราะผมเชื่อว่าชาวบ้านเขาพร้อมที่จะเริ่มต้นทำอะไรด้วยตัวของเขาได้แล้ว เราควรจะให้โอกาสเขา ให้เขาได้คิดได้ทำด้วยตัวเขาเอง

               ส่วนเราในฐานะคนภายนอก เราคงจะทำได้เพียงพี่เลี้ยงที่คอยดูคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ เมื่อเขาต้องการ เขาจะปรึกษาเราเองหรือปรึกษาคนอื่นๆหรือองค์กรอื่นๆที่เขารู้จักและเคยทำงานร่วมกันมา หากเขาไม่ปรึกษาเราแล้วสามารถทำกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ได้อย่างบรรลุเป้าหมายและมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนั้นถือเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับผม แต่ถ้าเราขืนอยู่กับเขาทำงานกับเขาต่อไป เขาก็คงปิดกั้นโอกาสตัวเองพร้อมๆ กับที่เราปิดกั้นความสามารถของเขา เขาก็ยังคงพึ่งพาเราหรือพึ่งพาภายนอกอยู่ร่ำไป และเขาก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นศักยภาพของตัวเองศักยภาพชุมชนของเขาที่มีอยู่มหาศาล

                 ผมคิดและทำอย่างนี้มาตลอดที่ทำงานกับชาวบ้านหรือกับพี่ๆน้องๆก็ตาม แต่มีลืมตัวไปบ้างเมื่อบางอย่างไม่เป็นตามที่ใจหวัง และผมก็ถกเถียงกับผู้นำชาวบ้านและเพื่อนนักพัฒนาหลายคนในเรื่องนี้ แต่ผมก็ยังยืนยันในความคิดของผมจนถึงทุกวันนี้ หลายคนหาว่าผมเห็นแก่ตัวหรือไม่ก็ใจร้ายกับพวกเขาจนเกินไป เพื่อนบางคนบอกว่า “มันจะทำให้ชาวบ้านไม่ศรัทธาในตัวเราหรือองค์กรของเราและเราจะทำงานกับเขาไม่ได้ในที่สุด” ผมบอกกับตัวเองและคนที่ถามผมไปว่า “วันหนึ่งเขาจะเข้าใจผมเข้าใจในสิ่งที่ผมคิดและทำ วันหนึ่งเพื่อนจะรู้ว่าผมต้องการสร้างคนที่พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่มาพึ่งพาผมพึ่งพาคนอื่น หรือยกยอผมชื่นชมองค์กรของผมอยู่อย่างนี้”

           ผ่านมาหลายปีผมพยายามทบทวนความจำของตัวเองและดูปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม จนทุกวันนี้ผมก็ยังเห็นวิธีคิดวิธีทำงานแบบเดิมๆของนักพัฒนา ตลอดจนนักวิชาการที่ลงไปทำงานกับชาวบ้าน แทบจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก หรือว่านี่คือจารีตประเพณีอันเก่าแก่ของสังคมไทย แม้จะคิดจะทำอะไรก็ต้องทำเหมือนๆกันและทำเหมือนๆเดิม ทั้งๆที่สังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว อีกทั้งมีเงื่อนไขใหม่ๆเกิดขึ้นเต็มไปหมด มันเหมือนเป็นสูตรสำเร็จหรือหลักสูตรที่ท่องจำกันมาและสืบทอดกันเป็นรุ่นๆ อย่างไรอย่างนั้น

            ผมเห็นพวกเราหลายคนบอกว่าอยากไปดูงานอยากไปเรียนรู้กับชาวบ้าน ไปดูว่าเขาวิจัยและพัฒนาชุมชนกันอย่างไรถึงได้ประสบผลสำเร็จขนาดนั้น หลังจากนั้นได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้น ทั้งการศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรม การสัมมนาต่างๆ และอีกมากมายหลายวิธีการ

              แต่พอไปร่วมเรียนรู้กับชุมชนแล้ว พวกเรากลับกลายเป็นวิทยากรผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญไปเสียเอง กลุ่มพวกเราที่บอกว่าจะไปเรียนรู้แต่กลับไปเป็นผู้รู้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มนักพัฒนา นักวิชาการและผู้นำชาวบ้านบางคนที่คว่ำหวอดกับการทำงานมานาน ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ประเมินผลไปหมดแล้ว เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานกันหมดแล้ว

             ผมก็ไม่เข้าใจทั้งๆที่เรากำลังทำ “กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน” แต่บางกลุ่มที่เขาทำกับมือจริงๆกลับเรียนรู้มากกว่า เพราะเขาเรียนรู้แล้วเอากลับไปทำเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้รู้ทั้งหลายเรียนรู้เฉพาะเรื่องของตัวเอง พอถึงเวลากลับก็มักจะพูดเสมอว่า “บ้านเราดีกว่า” หรือ “สู้ที่โน่นก็ไม่ได้” คล้ายๆ กับว่ามาสร้างความเชื่อมั่นให้กับแนวคิดแนวทางของตัวเองว่ามาถูกทางแล้ว โดยไม่สนใจเรื่องอื่นที่อยู่นอกเหนือความทรงจำของตัวเองเลย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเพราะเขายังคงหลงไหลไปกับความสำเร็จเก่าๆและฐานันดรในอดีต โดยที่เขาไม่รู้ว่าตอนนี้ได้ล้าหลังไปแล้ว

           อันที่จริงไม่ต้องบอกไม่ต้องมาเรียนรู้ ก็รู้แล้วว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเราสรรหาและเลือกมาในที่ที่เราต้องการและคาดหวังเท่านั้น ที่ไหนเราไม่เห็นด้วยเราก็ไม่เรียนรู้หรืออาจถึงขั้นรังเกียจหรืออาจเพราะกลัวถูกครอบงำด้วย ยิ่งถ้าเป็นรูปธรรมจากชุมชนที่แตกต่างจากความคิดของเราด้วยแล้วยิ่งไม่เอาอะไรเลย ไม่ต้องพูดถึงรูปธรรมจากฝ่ายที่คิดว่าอยู่ตรงข้าม เพราะเราได้ปฏิเสธไปแล้ว เมื่อปฏิเสธไปแล้วคงไม่ต้องเรียนรู้อะไร มันผิดหมดในสายตาของเรา

           ปรากฏการณ์ที่ผมเห็นบ่อยๆเวลาที่นักพัฒนานักวิชาการลงไปในชุมชนแล้วบอกว่า “ไปเรียนรู้ชาวบ้าน” แต่ผมไม่ค่อยเห็นคนเหล่านี้ถามชาวบ้านด้วยความอยากรู้มากนัก ส่วนใหญ่จะถามเพียงว่า “ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดและจะทำอะไรต่อ” หรือ “ทำกับกลุ่มโน่นกลุ่มนี้หรือไม่” หรือ “ทำกับกลุ่มนี้จะดีนะ” เป็นต้น ขณะที่เวลาส่วนใหญ่มักใช้ไปกับการ "พูดให้ชาวบ้านฟัง” คุยในเรื่องที่ตัวเองรู้และสนใจมากกว่า จนเวลาแห่งการเรียนรู้หมดไป เพราะไม่ได้ไปเรียนรู้แต่ไปเป็นผู้รู้นั่นเอง

           ผมเห็นปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยขึ้นในสังคมปัจจุบันแทบทุกขบวนการ เหมือนพวกเรากำลังถูกกดดันจากอะไรสักอย่าง เพราะเจอกันที่ไร ร่วมเวทีชาวบ้านเมื่อไรเป็นต้องพูดไม่หยุด ยิ่งมีประสบการณ์มากยิ่งใช้เวลาในการพูดให้นานกว่าคนอื่น ความจริงประสบการณ์มากน่าจะขมวดเรื่องที่พูดได้ดีและสรุปได้เร็ว หรือว่ามันอัดอั้นไปด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ต้องพูดให้ได้ แต่ผมก็สังเกตเห็นว่าเวลาพูดกันทีไรก็พูดแต่เรื่องเดิมทุกที ไม่มีอะไรใหม่เลย

          กลุ่มผู้บริหารของหน่วยราชการยิ่งไปกันใหญ่ มักแสดงพลังอำนาจของตัวเองอย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส เมื่อเวลาชาวบ้านให้เกียรติเชิญไปเปิดงานประชุม แต่กลับไปพูดเรื่องงานของตัวเองครึ่งค่อนวัน ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องของชาวบ้านตรงไหน สงสัยเป็นเรื่องของชาวบ้านก็ตรงที่ต้องทนฟังให้ได้อย่างนั้นสินะ แต่ชาวบ้านก็ได้แต่เพียงนั่งทำตาปริบๆ ไม่ได้ตอบโต้อะไร เพราะพวกเขาฟังมานานแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้เขารู้แล้วว่า “เขาฟังเพื่ออะไร” ที่แน่ๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อทำตามเหมือนแต่ก่อนอย่างแน่นอน เพราะยุคนี้คือยุคของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชน และยุคที่ข่าวสารถึงกันเร็ว

           ผมเกิดความสงสัยว่าคนเหล่านี้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “รุ่นพี่” หรือ “พี่เลี้ยง” นั้น “ทำไมเขายังต้องพูด ต้องบอก ชาวบ้านมาอย่างเสมอต้นเสมอปลายเช่นนั้น ทั้งๆ ที่พวกเขา อยากจะพัฒนาคน อยากจะสร้างคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่หรือ หรือเป็นเพราะอะไร” ที่ผมตั้งคำถามเช่นนี้เพราะผมมองว่าหากคนเหล่านี้ไม่เปลี่ยวิธีคิดวิธีปฏิบัติและยังมีวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมๆทำงานต่อไป เราคงไม่ได้เห็นผู้นำรุ่นใหม่ที่สร้างจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ของพวกเขา แต่จะเห็นเพียงผู้นำที่รอคำสั่ง ผู้นำที่เราการตัดสินใจให้หรือผู้นำที่รอฟังเสียงของเราเท่านั้น

             ผมพยายามคิดทุกแง่ทุกมุมก็ได้คำตอบว่า “ลึกๆ แล้วคนเหล่านี้เขากลัวชาวบ้านหรือคนอื่นมองว่าเขาไม่ทำงานไม่มีศักยภาพอันเกิดจากการพูดน้อยหรือเปล่า หรือ เขากลัวชาวบ้านด่าชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์เหมือนที่พี่คนหนึ่งเคยพูดไว้กับผมเมื่อหลายปีก่อน เขากลัวว่าชาวบ้านจะไม่ศรัทธาใช่ไหม หรือเขาต้องการควบคุมชาวบ้านแบบนักปกครอง หรือว่านี่คือวิถีทางในการสร้างคนรุ่นใหม่ของพวกเขา หรือว่าพวกเขาไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย“

             จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมคิดว่า การสร้างคนรุ่นใหม่มันเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ประกอบกันและเลือกทำตามสถานการณ์ เวลาและบริบทของพื้นที่ ที่สำคัญต้องดูทัศนคติและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ด้วยว่า เขากำลังเผชิญปัญหาอะไร มีอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างไร เขาชอบแบบไหน เขาไม่ชอบอะไร คงไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกคน ยิ่งสมัยนี้ยุคที่ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้นแม้จะไม่มั่นคงก็ตาม แต่ก็มีความอดทนกันน้อยลง ดังนั้น จึงต้องคิดเรื่องนี้ให้ละเอียดอ่อนกันมากขึ้น

             คำตอบแห่งอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมก็ยังนึกไม่ออกและไม่อาจคาดเดาได้ แต่สิ่งที่ผมมุ่งหวังก็คือ วันนี้สังคมกำลังวิกฤติ สังคมต้องการผู้นำรุ่นใหม่มาสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาและปฏิบัติการต่าง ๆ ผมคิดว่าทุกองคาพยพของสังคมกำลังต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้มันได้ขาดหายไปจริงๆ แล้วเราจะคาดหวังอนาคตได้จากใคร

              แต่การจะไปถึงตรงจุดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนทุกรุ่นต้องปรับตัวเองครั้งใหญ่ ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการมองคน มองสังคมใหม่ และสร้างคนด้วยวิธีคิดวิธีการใหม่ด้วย จากที่เคยทำให้เขาดูจนทำอยู่คนเดียวมาสู่การช่วยให้เขาทำ ช่วยให้เขาคิดเป็นและให้โอกาสเขา จากที่เคยชี้นำและพูดให้เขาฟังมาสู่การฟังเรื่องราวจากเขา ให้เขาพูด ให้เขาเขียนจากสิ่งที่เขาได้ทำกับมือของเขา ให้เขาได้แสดงบทบาทและศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ แล้วหาเวทีให้เขาเล่น ให้เขาได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยมีเราคอยให้กำลังใจสม่ำเสมอ แล้วเราจะได้ไม่ต้องบ่นว่า “งานนี้จะหาใครมาทำ” อีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 68756เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท