“หยุด” เพื่อความสุข


หยุดเพื่อความสุข

จากกรรณจริยา สุขรุ่ง คอลัมน์ชีวิตรื่นรมย์

หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ 15 พฤศจิกายน 2549

      ไม่มีเวลาแล้ว ไม่มีเวลาแล้ว

เวลาหายไปไหน  เราจะไปตามเวลาได้ที่ใด ทำอย่างไรเราจะได้เวลาอยู่กับเราได้นานๆ ที่เราพอใจ

ชีวิตในเมืองเร่งรีบ ร้อนรนตั้งแต่แสงนวลแห่งอาทิตย์ยามเช้ายังไม่แตะขอบฟ้า รีบอาบน้ำแต่งตัว กินข้าวเช้าระหว่างขับรถ บนท้องถนนรถแล่นฉวัดเฉวียนพุ่งไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด ถึงที่ทำงาน เพื่อนมาชวนกินข้าว นิ่งไปยังนึกงงๆ ว่า เรากินข้าวไปแล้วหรือยังหนอ

ทำงานก็เร่งๆ พูดโทรศัพท์ไป ทำงานกับคอมพิวเตอร์ไป ถ้าปากยังว่างอาจกินขนมไปด้วย เข้าห้องน้ำก็อย่าให้เสียเวลา ติดโทรศัพท์ไปคุยต่อ การทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ถือเป็นความสามารถพิเศษอันปกติของคนเมือง ทำงานมากมายเช่นนี้  เราน่าจะมีเวลาว่างเหลือบ้าง แต่ทำไมหลายคนยังร้องเรียกหาเวลาอยู่

หรือเวลาจะอยู่กับเราเมื่อเรา หยุดเสียบ้างวั

นหนึ่ง ผู้เขียนลองเดินลงบันไดจากชั้นที่ 16 ของตึกแห่งหนึ่ง เพราะ ขี้เกียจรอลิฟต์ ไม่ค่อยทันใจ เดินเอาดีกว่า ก่อนจะเดินตั้งใจยว่าจะอยู่กับทุกย่างก้าวที่ไต่ลงทีละขั้นบันได ค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ ช้าๆ ทีละขั้น เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกกับทุกก้าว

เวลาไม่อยู่ในความคิด ไม่กลัวว่าจะเมื่อยล้า ไม่รีบไปไหน ไม่ต้องการสร้างสถิติ หญิงอึดเดินลงบันไดได้เร็วที่สุดในโลก

มารู้ตัวอีกทีก็ถึงชั้น 4 แล้ว ลองดูนาฬิกาก็แปลกใจว่า เข็มกระดิกไปแค่ไม่ถึง 4 นาที นึกแปลกใจว่า ทำไมเราเดินได้เร็วจัง ทั้งๆ ที่ค่อยๆ ก้าวทีละขั้นอย่างมั่นคง

วันนั้น การขี้เกียจรอลิฟต์ทำให้ตระหนักถึงมิติของเวลาว่า หากใจเราหยุดนิ่งสบายอยู่กับปัจจุบันได้ เวลากลับดูเหมือนจะยืดขยายออก มากพอที่จะรองรับกิจกรรมหลายอย่างที่เราต้องการทำในช่วงสั้นๆ

แต่ในกิจกรรมการเดินนี้ ดูเหมือนว่า กายที่เป็นมวลสารหนักกว่า ทว่าไม่สามารถข้าไปอยู่ในมิติเดียวกับ ใจได้ เพราะเมื่อใกล้ถึงชั้นล่าง กล้ามเนื้อขาและเข่าก็เริ่มสั่นเทาจากความเมื่อยล้า แต่ก็เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น

เราได้ยินเรื่องความมหัศจรรย์ของปัจจุบันขณะอยู่เสมอ แต่น้อยครั้งที่เราจะอาศัยอยู่ในมิติอันวิเศษนั้นได้จริง

เวลากินอาหาร เรามักกินความคิด คุยเรื่องแผนงานอนาคตและเรื่องราวในอดีต ท้องอิ่มแล้วหรือยัง เรากลับไม่รู้ ผลคือกินมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และบ่อยครั้งเราก็มักกินให้เสร็จๆ ไป เพื่อรีบไปทำงานต่อ

ในชีวิตเราสูญเสียพลังงานมหาศาลให้กับอดีตและอนาคต ความคาดหวัง ความวิตกกังวลที่จะทำให้สมความคาดหวัง ความเสียดายที่ทำไม่ได้ และความเครียด แต่ถ้าหากเราลองทำงานโดย วางความคาดหวัง ความกลัว และความกังวลลง หันมาจดจ่ออยู่กับงานหรือกิจกรรมที่กำลังทำ เวลาก็จะมากขึ้น ขยายออกพอให้เราทำงานที่ต้องการได้มากขึ้น

แต่ถ้าใครมีความต้องการ ไร้ที่สิ้นสุดต่อให้มีเวลามากแค่ไหนย่อมไม่มีวันพอ

จะว่าไปแล้ว การปล่อยวางและทำงานโดยปราศจากเป้าหมาย อาจถูกมองว่าเป็นภัยต่อสังคมสมัยใหม่ที่ทุกหน่วยการผลิตต้องก่อประโยชน์จึงจะนับว่ามีค่า ใครทำงานมากก็ยิ่งมีค่ามาก กลับกัน ใครไม่ทำอะไรเลยจะถูกปรับ ถูกผลักให้กลายเป็นคนพร่องความสามารถและไร้ค่า

ใครที่นั่งชมนกชมไม้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายว่า จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูนกหรือนอนดูดาว โดยไม่มีภาพหวังว่าจะเป็นนักดาราศาสตร์ จะกลายเป็นพวกไร้สาระ ขี้เกียจ พวกสายลม แสงแดด

เป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่ ยามใดที่เพื่อนพ้องของผู้เขียนรู้ตัวเองว่า ต้องเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม พวกเขาจึงรู้สึกราวเสียขวัญพร้อมกับหลุดปาก

ที่นั่นเขาทำอะไรกันช้าๆ หรือนั่งขัดสมาธิเฉยๆ นิ่งๆ ฉันเบื่อแย่เลย วันๆ ไม่เห็นทำอะไร ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรเลย

ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ต่างจมปรักวิธีคิดเรื่อง การใช้เวลาอย่างมีเป้าหมาย ถ้าไม่ขยับร่างกายทำงาน ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน ทำอาหาร ทำสวน ก็ต้องทำงานใช้ความคิด คิดว่างแผนงาน คิดแล้วคิดอีก คิดวกวน คิดมาก คิดๆๆๆ และก็ทำงานๆๆๆ เหมือนหมึกหนวด

พวกเขาต้องทำงานสารพัดอย่างในเวลาเดียวกัน หนำซ้ำยังต้องทำด้วยความรวดเร็วและอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

กระทั่งยามเที่ยวก็ยังเที่ยวจนเหนื่อย หลายคนจึงต้องขอเวลาอีกหนึ่งวัน นอนพักอยู่บ้านหลังการเดินทาง ฟังดูขัดหูราวกับว่าการท่องเที่ยวไม่ใช่ การพักผ่อน

การผ่อนคลายที่แท้จึงเกิดได้ยาก หากกายพักแต่ใจไม่พัก

กุญแจของการพักใจ น่าจะอยู่ที่การหยุดและ อยู่กับปัจจุบันหยุดทั้งความคิดและความรู้สึก หยุดทำกิจกรรมใดๆ เพียงเพื่อต้องการ ฆ่าเวลา  ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือฟังเพลง

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราหยุดเพื่อหยุด ว่างเพื่อว่าง เดินชื่นชมดอกไม้ นั่งเฉยๆ โดยไม่รู้สึกผิด เป็น ความขี้เกียจที่มีศิลปะ

ตำนานการค้นพบแรงโน้มถ่วงโลกระบุว่า เซอร์นิวตันพบทฤษฎีนี้ในขณะนั่งผ่อนคลายใต้ต้นแอปเปิล ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ใหม่ หรือนักปฏิบัติการทางจิตบอกว่า เมื่อใจเบา สบาย สงบ หยุด กาลเวลาก็ยืดขยาย และหยุดตามด้วย

ด้วยสภาวะเช่นนี้ สิ่งที่เรียกว่า ปัญญาญานความคิดอันเลิศ และพลังชีวิต จึงจะได้รับการเติมเต็ม เมื่อนั้น เราอาจสร้างสรรค์อะไรดีๆ แก่โลกเหมือนเซอร์นิวตันก็เป็นได้

 ผู้เขียนขอชวนทุกคนหยุดกายและใจ ขี้เกียจบ้างวันละนิด ลองอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ปล่อยใจสบายๆ ฟังเสียงลมโชย ชื่นชมช่อดอกไม้ หยุดถามว่าจะได้ประโยชน์อะไร

ถึงเวลานั้น ชีวิตและจิตใจของเราก็จะเบาสบาย มีเวลาเหลือเฟือ ... 

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 68746เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท