การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี ๒


จะพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีได้ มหาวิทยาลัยต้องมีความสามารถในการบริหารด้านวิชาการ บุคคล งบประมาณและทรัพย์สิน ได้เองถึงจุดหนึ่ง

                    กติกาของระบบราชการ

          นอกจากขีดจำกัดด้านอัตราแล้ว  กติกาของระบบราชการก็ทำให้การใช้อัตรามีความรกรุงรัง  กล่าวคือ  เงื่อนไขของอัตราซึ่งกำหนดโดยสำนักงบประมาณ  อาจไม่ตรงกับเงื่อนไขของตำแหน่งซึ่งกำหนดโดยทบวงมหาวิทยาลัย  และก็อาจไม่ตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัย

          ระบบงบประมาณราชการก็ไม่เอื้อต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย  ซึ่งต้องการความคล่องตัวและนวัตกรรมมาก  การทำงานระบบราชการออกแบบขึ้นเพื่อการทำงานซ้ำ  ตามแนวปฏิบัติและกฎระเบียบที่วางไว้  และส่งเข้ามายังหน่วยราชการจากภายนอก  ระบบราชการออกแบบขึ้นเพื่อป้องกันการทุจริต  การวัดผลการทำงานในระบบราชการ  จะดูความถูกต้องของการปฎิบัติตามระเบียบ  ดูความสามารถในการใช้งบประมาณตามแผน  ดูการทำกิจกรรม (Activity Based) ระบบราชการไม่พูดถึงผลลัพธ์หรือผลผลิต (Output หรือ Outcome Based)  เราเพิ่งจะพูดกันเรื่องผลลัพธ์หรือผลผลิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

           ว่ากันตามตรงแล้ว  งบประมาณแผ่นดินสำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐมีจำนวนพอสมควร  พอทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้  แต่พัฒนาได้ยาก  นอกจากนั้น  การจัดสรรงบประมาณเป็นปีต่อปีขาดความต่อเนื่อง  ทำให้วางแผนระยะยาวไม่ได้  อีกประการหนึ่ง  มหาวิทยาลัยอาจจะได้งบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับกาละและเทศะ เป็นต้นว่า ได้ของที่ไม่ต้องการ หรือได้ของที่ต้องการก็ไม่ตรงกับเวลาที่ต้องการ

          ระเบียบพัสดุที่ใช้กับระบบราชการ ซึ่งมีคนอยู่กว่าล้านคนในขณะนั้น ใช้กับส่วนราชการซึ่งทำงานลักษณะประจำ  ไม่ต้องการนวัตกรรมหรือความคล่องตัวสูง ก็บังคับใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย  การซื้อครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเทคนิคเฉพาะตัวต้องผลิตตามสั่ง  ก็ต้องใช้กติกาเดียวกันกับการซื้อโต๊ะและเก้าอี้นักเรียนที่อาจซื้อทีละร้อยทีละพันชุดก็ได้

          มหาวิทยาลัยเสียแรงและเสียสมองกับการทำงานกระดาษ เพื่อแก้ไขให้สามารถใช้งบประมาณและอัตรากำลังได้ใกล้เคียงกับความต้องการ  โดยการทำเรื่องไปยังทบวงมหาวิทยาลัยและสำนักงบประมาณ  รวมทั้งการวิ่งเต้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตรากำลังหรือการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ  ทั้งนี้ การมอบอำนาจการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการมายังมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ สิบปีมานี้เอง

          ความไม่คล่องตัวอีกประการหนึ่งคือ เปิดหลักสูตรและการจัดตั้งหน่วยงานในระบบมหาวิทยาลัยในควบคุมของรัฐ  เรื่องต้องขึ้นไปถึงทบวงมหาวิทยาลัยไปจนถึงการประกาศเป็นประกาศทบวง  เป็นพระราชกฤษฎีกา  เนื่องจากการแก้ไขช้าและลำบาก  มหาวิทยาลัยรัฐจึงมีหลักสูตรและหน่วยงานที่หมดความจำเป็นหรือเกินความจำเป็นอยู่มากมาย  ตายซากหรืออ้วนท้วนใช้งบประมาณกันต่อไป  การมอบอำนาจบางเรื่องให้มหาวิทยาลัยก็เกิดขึ้นประมาณสิบปีนี้เช่นกัน

          ไม่เห็นทางเลือกอื่น

          พวกเราจึงสรุปกันเมื่อประมาณยี่สิบปีมาแล้วว่า  จะพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีได้  มหาวิทยาลัยต้องมีความสามารถในการบริหารด้านวิชาการ  บุคคล งบประมาณและทรัพย์สิน ได้เองถึงจุดหนึ่ง  หลังจากได้พยายามศึกษาลู่ทางและเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่เห็นความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยจะเกิดความคล่องตัวเช่นนี้  เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการ คนของมหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการ ก็ต้องใช้กติกาของระบบราชการทั้งเรื่องคน งบประมาณแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้าง การมอบอำนาจให้คล่องตัว ก็ต้องมอบลงมาจากหน่วยงานที่มีอำนาจ

          ความคล่องตัวในการบริหารจะเกิดขึ้นได้ เฉพาะกับการใช้ทรัพยากรส่วนเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น  เมื่อยี่สิบปีมาแล้วสัดส่วนเงินรายได้ต่องบประมาณแผ่นดินของทุกมหาวิทยาลัยก็อยู่ในระดับต่ำ ความคล่องตัวก็ต่ำ

          ทางออกทางเดียวคือต้องพัฒนาให้มหาวิทยาลัยของรัฐอยู่นอกระบบราชการ มีความคล่องตัวเหมือนมหาวิทยาลัยของรัฐที่พัฒนาได้เร็วในประเทศที่พัฒนาแล้ว

         ติดตาม Milestone ที่สำคัญเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว : แผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (2533-2547) ของทบวงมหาวิทยาลัย  ระดมสมองกันมองทิศทางอุดมศึกษา  ตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 68718เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณอาจารย์มาลิณีมากครับที่ช่วยทำความเข้าใจให้กับพวกเรา
  • ผมเองก็ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจมากนักครับ
  • ตอนนี้ข่าวลือมากกว่าข่าวจริงครับ
  • บอกกันไปปากต่อปาก
อ.หนึ่ง ต้องอ่านให้จบนะคะ เพราะเป็นบทความที่ดีมากๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท