การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี ๑


กติกาของระบบราชการปิดกั้นศักยภาพของคนไทย

          ในขณะที่ ร่าง พรบ.ฉบับใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร (เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ) กำลังเคลื่อนตัวไปจนจะถึงที่หมายปลายทางอยู่แล้ว (กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)  แต่ครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ ตลอดจนบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่  ยังมีความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นของการออกนอกระบบ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ  ตลอดจนผลกระทบต่อตน ต่อสังคม และประเทศชาติ ไม่มากนัก

          การทำความเข้าใจ ไม่สามารถกระทำได้เพียงการอ่าน ร่าง พรบ. หรือ การฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่ยังไม่เคยสัมผัสจริงๆ กับสภาพการณ์ดังกล่าว

          พวกเราชาว KM คุ้นเคยกันดี ว่า เราต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติ  หรือต่อยอดความรู้จากผู้ปฏิบัติจริง จึงจะมีความรู้ที่แท้จริง

          เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น  วันนี้ ดิฉันจึงขอคัดลอก บทความของอาจารย์กฤษณพงศ์  กีรติกร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  เรื่อง การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล  แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี  เมื่อเดือน มีนาคม 2546 มาแลกเปลี่ยนกับทุกท่าน ดังนี้ (ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร.วันวิสาห์  บุญเลิศ : กรรมการสภาอาจารย์ประเภทผู้แทนคณะ ของคณะสหเวชศาสตร์ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล)

การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล  แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรี

          คำนำ

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในระบบราชการแห่งแรก แห่งเดียว ที่เปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 6 มีนาคม 2541) บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อบันทึกว่า การกำหนดทิศทางการเปลี่ยน มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลเกิดขึ้นเกือบสองทศวรรษก่อนการเปลี่ยนแปลง  การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นความต้องการของผู้ทำงานในมหาวิทยาลัยที่ประสงค์จะสร้างมหาวิทยาลัยของไทยให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังขับเคลื่อนจากภายในไม่ใช่การบังคับจากภายนอก

          สภาพเมื่อสองถึงสามทศวรรษที่แล้ว
          การควบคุมอัตรากำลังของราชการและคุณภาพของบัณฑิตที่เข้ามาเป็นอาจารย์ที่ตกต่ำ

          เมื่อต้นทศวรรษ 2520 ฯณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทยประสบสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ  ทั้งเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมันและเศรษฐกิจโลกตกต่ำ  รัฐบาลต้องใช้มาตรการประหยัดรวมทั้งควบคุมการเพิ่มของจำนวนข้าราชการ  มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดซึ่งอยู่ในระบบราชการประสบปัญหาเรื่องงบประมาณและการควบคุมอัตราอาจารย์

          สมองไหลสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

          ในขณะเดียวกัน  การสูญเสียอาจารย์ที่มีความสามารถสูงออกสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีมากขึ้น  แม้ว่าความต้องการบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะยังเพิ่มขึ้นไม่มาก  แต่การที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถชักจูงผู้ที่มีความสามารถเข้ามาเป็นอาจารย์เป็นเรื่องที่น่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง  มีแต่บัณฑิตที่จบการศึกษาเกรดไม่สูงสมัครเข้าเป็นอาจารย์  นอกจากนั้น  ความแตกต่างของเงินเดือนเบื้องต้นของข้าราชการกับผู้ที่อยู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างกันประมาณ 2 - 3 เท่า  ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศใช้กลไกตลาด  ระบบราชการไม่สามารถใช้กลไกตลาดในการกำหนดเงินเดือนของข้าราชการได้

          สภาพการที่มหาวิทยาลัยต้องใช้อัตราอาจารย์ใหม่ที่จำกัด  บรรจุคนความสามารถไม่สูงเข้าเป็นอาจารย์  เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง  เมื่อคำนึงถึงอนาคตของมหาวิทยาลัยและสภาพการแข่งขันได้ของประเทศในระยะยาว

          อาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งบริหารของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(สถานภาพในขณะนั้น) ที่ได้มีประสบการณ์ออกไปทำงานโครงการระดับชาติ เช่น อาจารย์ไพบูลย์ หังสพฤกษ์  อาจารย์หริส  สูตะบุตร  อาจารย์ปรีดา  วิบูลย์สวัสดิ์  และอาจารย์กฤษณพงศ์  กีรติกร  ได้เตือนหน่วยงานรัฐที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ  กำหนดอัตรกำลัง  กำหนดงบประมาณ  ให้ตระหนักถึงความสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีคนที่มีความสามารถสูงเข้ามาเป็นอาจารย์และนักวิชาการ  พวกเรามีความเชื่อว่า  มหาวิทยาลัยจะดีได้ในระยะยาว  ต้องเริ่มที่การมีอาจารย์ที่ดี  เหมือนกับที่กล่าวกันในอุดมศึกษาของอเมริกาว่า " A Great University Begins With a Good Teacher"  ทั้งนี้ พวกเราต้องการสร้างมหาวิทยาลัยที่ดี  เพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่ดี  เพื่อให้มหาวิทยาลัยทำงานวิชาการที่ดีได้เหมือนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ  พวกเราเชื่อว่า  คนไทยไม่ได้ด้อยความสามารถกว่าชาวต่างประเทศ  เพราะคนไทยที่มีโอกาสได้ทำงานในต่างประเทศก็มีผลงานทัดเทียมได้เท่าหรือดีกว่าชาวต่างประเทศ  กติกาของระบบราชการปิดกั้นศักยภาพของคนไทย               

             ติดตาม กติกาของระบบราชการ ตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 68705เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท