ตัวอย่างที่ไม่น่าเอาอย่าง ในระบบการศึกษา


เมื่อมีผู้เข้ามาเรียนควรต้องให้เขาจบ เพราะยังไงเขาก็ตั้งใจมาเรียนแล้ว และก็ยกตัวอย่างมากมายว่า ผู้ที่มีปัญหาในการเรียน แล้วเขาปล่อยให้จบ ปัจจุบันเป็นผู้ที่ทำงานประสบผลสำเร็จอย่างดี ถ้าไม่ปล่อยให้จบป่านนี้คงแย่แล้ว แล้วก็ใช้มาตรฐานนี้ในการพิจารณาว่าใครควรจะจบหรือไม่จบหลักสูตรต่างๆ ที่กำหนดไว้
 

ตั้งแต่ผมอยู่ในวงการศึกษามาก็ไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว บางทีผมก็ประหลาดใจว่าผมทำงานเพื่อใครกันแน่ หรือคนอื่นๆ เขาคิดกันอย่างไร

บางคนที่ใจดีมากๆ ก็บอกว่า เมื่อมีผู้เข้ามาเรียนควรต้องให้เขาจบ เพราะยังไงเขาก็ตั้งใจมาเรียนแล้ว และก็ยกตัวอย่างมากมายว่า ผู้ที่มีปัญหาในการเรียน แล้วเขาปล่อยให้จบ ปัจจุบันเป็นผู้ที่ทำงานประสบผลสำเร็จอย่างดี ถ้าไม่ปล่อยให้จบป่านนี้คงแย่แล้ว แล้วก็ใช้มาตรฐานนี้ในการพิจารณาว่าใครควรจะจบหรือไม่จบหลักสูตรต่างๆ ที่กำหนดไว้ คงเดาได้นะครับว่าจะเป็นอย่างไร

 

ผลก็คือ เรียนแย่ขนาดไหนก็จบเหมือนกันครับ ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านคิดว่าอย่างไร การศึกษาเพื่อใครครับ ทุกคนที่เรียนแย่แล้ว จะไปประสบผลสำเร็จหมดทุกคนเลยหรือครับ แล้วเราจะมีระบบการศึกษาไว้ทำไมครับ ยังไงก็ปล่อยให้เขาจบอย่างง่ายๆ อยู่แล้ว ไม่ต้องเรียนก็ได้ ใครเดินผ่านเข้ามาก็แจกใบปริญญาไปเลย ไม่ต้องเรียนให้เสียเวลา ได้ปริมาณผลงานเป็นหมื่น ๆ คนต่อปีที่จบหลักสูตรนั้น โดยตั้งสมมุติฐานว่า คนจบทุกคน เดี๋ยวก็ไปทำงานจนได้ดีเองนั่นแหล่ะ ไม่มีใครอยากล้มเหลวหรอก อันนี้เรียกว่า มองแง่ดีแบบสุดๆ

 

ในอีกมุมหนึ่ง ของการศึกษาที่อาจารย์ใจดีมาก ๆ แต่ไม่ถึงกับปล่อยให้ผ่านตามสบาย อาจารย์จะดูแลนักศึกษาแบบเพื่อน บางทีก็ทำงานให้ด้วย ใช้นักศึกษาเป็นผู้ช่วยในการทำงานมากกว่าที่จะเป็นนักศึกษาจริงๆ กรณีเช่นนี้ผมไม่ทราบว่าวิทยานิพนธ์เป็นของใคร เพราะนักศึกษาเป็นแค่คนงานในระบบการทำงานเท่านั้น ที่เหลืออาจารย์ทำซะเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า ใจดีสุด ๆ ครับ แบบนี้นักศึกษาชอบมากเลยครับ เพราะนอกจากจะได้เงินเดือนค่าจ้างแล้ว ยังมีคนช่วยเขียนวิทยานิพนธ์ให้ด้วยครับ ลักษณะงานเช่นนี้มักจะเป็นงานโครงการ ซึ่งอาจารย์จำเป็นต้องผลิตงานให้ทันเวลา จะรอนักศึกษาไม่ได้ จะทำให้ตัวเองเสีย KPI จึงต้องรีบทำงานให้เสร็จ และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานแทนนักศึกษา ให้ค่าคะแนนของตนเองมากพอที่จะไปขอโครงการอื่นๆ ได้อีก อันนี่ก็เป็นปัญหาเฉพาะกรณีเลยครับ จะเรียกว่า KPI เป็นพิษก็ได้ครับ

 

ในอีกมุมหนึ่ง อาจารย์อาจกำหนดแนวทางให้นักศึกษาทำงานจนนักศึกษาแทบไม่เป็นตัวของตัวเอง ทำงานที่อาจารย์สั่งทุกอย่าง ซึ่งสามารถสำเร็จได้ด้วยดี อาจจะประกอบกันระหว่างความสามารถในการสั่งงานของอาจารย์และการทำงานของนักศึกษา ลักษณะเช่นนี้ นักศึกษาแทบไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้การบงการของอาจารย์ทั้งหมด แล้วนักศึกษาจะเป็นอย่างไรครับ มหาบัณฑิตที่จบจะเป็นอย่างไร

 

นี่เป็นแค่กรณีตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นหลุมดำทางการศึกษา ภายใต้อิสระทางการศึกษา (academic freedom) ที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย

 เรามาช่วยกันลดข้อเสีย และเพิ่มข้อดี ดีไหมครับ อย่างน้อยที่สุด ใน 3 ตัวอย่างที่ยกมา ก็อย่าให้มีมากกว่าที่ผมเห็นเลยครับ หรือถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้สิ่งที่ผมเห็นนี้หายไป แล้วกลายเป็นระบบการศึกษาปกติ ซึ่งอาจารย์เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และนักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้ ด้วยตัวเองแบบสมบูรณ์แบบ ทำงานด้วยตนเอง อาจารย์เป็นเพียงผู้คอยดูแลไม่ให้นักศึกษาหลงทางเท่านั้น

ผมว่า น่าจะดีที่สุดนะครับ หรือท่านอื่นที่มีรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ ขอเชิญแลกเปลี่ยนด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 68697เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 03:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

   ก็มีโอกาสได้พบเห็น อย่างที่อาจารย์เห็นครับ และก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป
   ผมเองนั้นโดยรวมใครๆก็กล่าวหาว่าใจดี ก็คงจะมีส่วนจริงอยู่ แต่เรื่องการเรียนการสอนนั้นจะใจดีในฐานะเพื่อนร่วมลุ้น ร่วมให้ความสะดวก ร่วมส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ในการ ทำงาน ที่เขาต้องทำ ในกระบวนการเรียนรู้ แต่ในขั้นประเมินผล ตามมาตรฐานที่ตกลงกัน เกรด D และ D+ ก็มีให้เห็นอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่การอุดมศึกษากลายเป็น ธุรกิจ  ที่ แข่งขันกันหว่านล้อม และกวาดต้อนผู้คนเข้าเรียน โดยไม่ต้องสอบเข้า .. เมื่อผมไดรับคำถามว่า ทำไมให้เกรดอย่างนั้น อย่างนี้ คำตอบคือ ผมไม่เคย ให้ เกรดใครเลย เป็นแค่กรรมการช่วยตัดสิน  ส่วนที่ ได้ อะไรไป เขาทำเอาเองทั้งนั้น  มีบ่อยๆที่ผมเชียร์ให้นักศึกษาออกไปเสีย เพราะเห็นอาการแล้ว  อยู่ไปก็มีแต่จะทุกข์ทั้งคนสอน คนเรียน  แต่ไม่ใช่ไล่ส่งนะครับ  แค่บอกว่ายังมีทางเลือกที่น่าจะเหมาะกว่าสำหรับเขา เช่นรีบหางานทำ ถ้ามีโอกาส  เมื่อทำอย่างไรใจมันก็ไม่รักที่จะเรียนก็อย่าเพิ่งเรียน ไปเรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียน ทำมาหากิน จนค้นพบทุกข์จากการไม่ได้เรียน อยากเรียนขึ้นมาก็ค่อยเรียน  เพราะไม่มีใครแก่เกินเรียน ฯลฯ  

ชอบ คำว่า อาจารย์เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และนักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้ ด้วยตัวเองแบบสมบูรณ์แบบ ทำงานด้วยตนเอง อาจารย์เป็นเพียงผู้คอยดูแล เพราะจะทำให้นักศึกษาได้ความรู้ที่ยากจะลืมเลือนค่ะ

เรียนท่านอาจารย์แสวง

เป็นอย่างที่อาจารย์เขียนทุกประการค่ะ แต่ในฐานะคนเรียนมีบางวูบของอารมณ์เหมือนกันค่ะ เวลาเห็นเพื่อนมีอาจารย์ทำcoding, themes, ตอบปัญหาวิจัยให้หมดและเขียนให้อีก หรือเห็นเพื่อนที่อาจารย์ให้พบเช้า สาย บ่ายเย็น ทั้งตัวต่อตัว ทั้งe-mail สงสัยอะไรก็ตอบคำถามให้หมด ก็อิจฉาหน่อยๆ  เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ต้องคัดหางเสือเอง พายเรือเองบางทีคนในเรือบางคนก็เอาเท้าราน้ำซะงั้น บางทีไม่ให้ทิศแล้วยังพาขึ้นผิดฝั่งเป๋ไปเป๋มา บริหารอำนาจระหว่างกันและกันอีกต่างหาก จนกลั่นน้ำตา (เว่อร์อีกแล้ว) เขียนบันทึก http://gotoknow.org/blog/bridge/23801 

เพราะคิดว่าถ้ามาทำให้หมด ก็คงไม่ชอบ อยากได้อาจารย์ที่ชี้แนะบ้าง และติดตามบ้าง ไม่สุดโต่งชนิดทำให้หมด หรือไม่ให้คำแนะนำอะไรเลย เอาพอดีๆระดับทางสายกลางค่ะ

อาจารย์แสวงค่ะ    

ตรงใจมากเลยค่ะ สำหรับวรรคทองนี้ "อาจารย์เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และนักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้ ด้วยตัวเองแบบสมบูรณ์แบบ ทำงานด้วยตนเอง อาจารย์เป็นเพียงผู้คอยดูแลไม่ให้นักศึกษาหลงทางเท่านั้น"

ทำให้ สคส. มั่นใจได้เลยค่ะว่าการสนับสนุนทุนให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สร้างบัณฑิตแนวใหม่ จะก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้แน่นอน เพราะทั้งคุณอุทัย และ คุณพันดาจะผ่านการเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพจากอาจารย์แสวงโดยตรง  

ด้วยความเคารพ,

อุรพิณ สคส.

วันนี้เห็นด้วยกับบันทึกนี้ทุกประการคะ   อาจารย์คะ อย่างของมหาวิทยาลัยฯ ต่าง ๆ ณ ปัจจุบันนี้ ก็แทบจะแย่งนักศึกษากันอยู่แล้ว   มหาวิทยาลัยอยู่ได้เพราะมีนักศึกษา  มีเงินอุดหนุนมาช่วยมหาวิทยาลัย   ดังนั้น ถ้านักศึกษาเข้ามาเรียนแล้วไม่จบ   ก็ทำให้นักศึกษาไม่อยากมาเข้าเรียน  สุดท้าย  ก็ต้องยอมให้นักศึกษาจบแบบคาบเส้นออกไป  เฮ้อ  อนาคตของชาติ !!

ขอคิดด้วยคนนะครับ

ผมเห็นหลายคนเชียร์ประโยคที่อาจารย์ ดร.แสวงว่า "อาจารย์เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และนักศึกษาเป็นผู้เรียนรู้ ด้วยตัวเองแบบสมบูรณ์แบบ ทำงานด้วยตนเอง อาจารย์เป็นเพียงผู้คอยดูแล" แบบนี้ถือเป็นการฟันธงว่าวิธีนี้ดีที่สุดไหมครับ?

ถ้าเราจัดการเรียนการสอบแบบนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าตรงกับระบบเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าในบ้านเรา ผมว่าเราไม่ควรโทษผู้สอน ไม่ควรโทษผู้เรียนด้วย ปัญหาคือเรารับเอาทฤษฎีมาแล้วปรับใช้ไม่ได้ รับมาโดยไม่เข้าใจหลักการ

ผมมองว่าถ้าอาจารย์เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ นักเรียนต้องพร้อมที่จะเรียนเอง และเนื้อหาของชั้นเรียนนั้นเปิดโอกาศให้นักเรียนเรียนเองได้

โรงเรียนทหาร ชั้นเรียนสอนประกอบปืน คงไม่สามารถให้นักเรียนเรียนเองได้ ไปรบคงแพ้เขาราบคาบ เรียนเตะฟุตบอลก็คงไม่สามารถให้นักเรียนฝึกกันเองได้ ไปเปิดตำรา ดูวิดีโอก็คงไม่ช่วยเท่ากับได้ครูดี ซึ่งครูต้องสอนครับ ไม่ใช่อำนวยการ เรียนเขียนเรียงความจะให้นักเรียนไปอ่านหนังสือการเขียนเรียงความแล้วลองผิดลองถูกเองก็คงไม่ได้ ถึงได้ก็เสียเวลามาก มาปรับแก้กันหลายหนกว่าจะรู้เรื่อง

เมื่อต้นเทอมที่ผ่านมา วิชาสัมมนาของภาควิชาผม อาจารย์ท่านเดินเข้ามาวันแรกก็เปิดตารางการเรียนการสอนให้นักเรียนดู ปรากฎว่าเป็นตารางเปล่าๆ 15 สัปดาห์ครับ แล้วบอกว่า พวกคุณต้องจัดหัวข้อกันเอง แถมงานโครงการก็ให้ทำอะไรก็ได้ แบบนี้เรียกเอานักเรียนเป็นศูนย์กลางโดยแท้ แต่คงไปใช้กับชั้นประถม มัธยมไม่ได้ ถึงระดับปริญญาตรี โท ก็เถอะครับ นักเรียนคงส่ายหน้าหาว่าอาจารย์ขี้เกียจ

ที่ผมติดใจมากคือการจะเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ได้นั้น ต้องตระหนักว่านักเรียนแต่ละคนมีจริต (ตามที่อาจารย์ ดร.แสวงเคยกล่าวไว้ในหัวข้อ ทำไมคนทั่วไปไม่อยากเข้า Blog) นักเรียนบางคนชอบอ่าน บางคนชอบดู บางคนชอบลงมือทำ ผู้อำนวยการสอนต้องเข้าใจนักเรียนทุกคน ถึงจะอำนวยการสอนได้ดี แนะนำได้ถูกต้องตามจริตของแต่ละคน นั่นแปลว่าสัดส่วนครูต่อนักเรียนต้องน้อยมากๆ ห้องหนึ่งมีนักเรียนสิบคนก็มากเกินแล้วครับ การเรียนการสอนแบบนี้ถ้าผู้อำนวยการเรียนรู้คนนั้นเก่งก็จะมีคุณภาพแต่ "แพงและเสียเวลา" ครับ ถ้าผู้อำนวยการเรียนรู้ไม่เก่งก็เสียเวลา เสียเงิน แถมไม่ได้อะไรเลย

เรียนอาจารย์ ดร. แสวง ที่เคารพ

  • การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องใฝ่ที่จะรู้ และใฝ่ที่จะเรียน ไม่ใช่เป็นการเรียนเพื่ออยากได้เพียงใบปริญญาอย่างเดียว
  • การเรียนรู้เพื่อให้จบหลักสูตรก็ควรที่จะมีกณฑ์มาตรฐานในการวัดองค์ความรู้ที่สังคมทั่วไปให้การยอมรับ
  • การเรียนรู้เพื่อให้ได้ซึ่งแก่นขององค์แห่งความรู้ก็ควรมีอาจารย์ที่ปรึกษา (Advisor) เพื่อเป็นผู้ชี้แนวทางในการไปให้ถึงแห่งแก่นของความรู้ แต่ไม่ใช่การเรียนรู้ที่รอการป้อนจากอาจารย์
  • ผมดีใจที่เกิดมาเป็คน และได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ดร. แสวง  รวยสูงเนิน

ด้วยความเคารพ

อุทัย

จากที่คุณแว็บ กล่าวถึง ข้อความของ ดร.แสวงที่ว่า..

นักเรียนบางคนชอบอ่าน บางคนชอบดู บางคนชอบลงมือทำ ผู้อำนวยการสอนต้องเข้าใจนักเรียนทุกคน ถึงจะอำนวยการสอนได้ดี แนะนำได้ถูกต้องตามจริตของแต่ละคน นั่นแปลว่าสัดส่วนครูต่อนักเรียนต้องน้อยมากๆ ห้องหนึ่งมีนักเรียนสิบคนก็มากเกินแล้วครับ

ในความหมายทางการศึกษา ไม่รู้ว่าเข้าถูกต้องไหมว่าสิ่งนี้คือ Learning  Styles  ซึ่งจากรูปแบบการเรียนของแต่ละคนแตกต่างกัน  สัดส่วนของครูกับนักเรียนก็มากเหลือเกิน   ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนเหล่านั้นสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ตนเองปรารถนาได้คะ   ปัจจุบันมีคนกล่าวว่า เราจะใช้ IT เข้ามาช่วยในการจัดการ   ????  คุณคิดว่าอย่างไร ??

วันนี้ผมมีข้ออ้างที่จะขอตอบสั้นๆหน่อยนะครับ

เพราะไปวุ่นกับการจัดระบบคอมพิวเตอร์กับมือถือให้ครูบาเข้าอินเทอเนตได้แบบหาข้ออ้างมาแก้ตัวไม่เข้าบล็อกไม่ได้อีกแล้ว

  1. ผมขอยืมคำอาจารย์พินิจหน่อยนะครับว่าผมก็ไม่เคยให้เกรดใคร มีแต่เป็นกรรมการให้เขาเท่านั้น เหมือนกัน
  2. คำว่าอำนวยการเรียนรู้นั้นผมลืมบอกไปว่าผมทำเฉพาะบัณฑิตศึกษานะครับ ส่วนปริญญาตรีนั้นมีหลายลูกเล่นครับ และแต่ละวิธีก็มีบริบทของมันเอง
  3. นอกจากนี้ผมยังพยายามเป็นครูนำทางให้ดูในหลายๆเรื่อง ทั้งบอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส
  4. และขอขอบคุณที่ทุกท่านมาทำให้เรื่องนี้มีจุดโหว่น้อยลง โดยเฉพาะอาจารย์วสะ ที่มามองต่างมุมให้มองเห็นข้อด้อยของการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และแนวทางปรับปรุง
มันก้อน่าคิดน่ะค่ะที่ต้องทำให้ระบบการศึกษาสามารถทำให้คนที่มาเรียนเป็นคนที่ไม่มีปัญหา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท