BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒.


ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่

2. รูปแบบของคำสั่งเด็ดขาด               

 รูปแบบหรือหลักการคำสั่งเด็ดขาดของคานต์เป็นประเด็นถกเถียงกันในลัทธิคานต์ กระทั้งปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแปลความหมายและอธิบายปรัชญาของคานต์ในประเด็นนี้แตกต่างกันไป และเป็นประเด็นใหญ่เกินกว่าที่ผู้วิจัยจะนำเสนอให้ละเอียดได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจะนำเสนอตามความเห็นของแปตันและฟิลด์แมน เท่านั้น โดยแปตันได้ชี้ให้เห็นลักษณะของ คำสั่งเด็ดขาด ที่คานต์ระบุไว้ และฟิลด์แมนได้ชี้ให้เห็นลักษณะการตัดสินเชิงปทัสถานของลัทธิคานต์                 

. รูปแบบของกฎสากล (The Formula of Universal Law)               

ลักษณะของคำสั่งเด็ดขาดในรูปแบบของกฎสากลนี้ คานต์ได้ประยุกต์แนวคิดเรื่องกฎสากลทางธรรมชาติว่าเป็นความจำเป็นทางกายภาพมาใช้อธิบายด้านจริยศาสตร์โดยนำเสนอแนวคิดเรื่องกฎสากลทางเสรีภาพว่าเป็นความจำเป็นทางศีลธรรม ดังนั้น ในจริยศาสตร์คานต์ คำว่า กฎสากล” “กฎศีลธรรม กฎธรรมชาติ หรือ กฎสากลทางศีลธรรม จึงบ่งบอกซึ่งนัยสำคัญอย่างเดียวกัน ซึ่งแปตันได้ยกลักษณะของกฎสากลจากข้อความที่คานต์อ้างไว้ในรูปแบบของคำสั่งว่า จงกระทำสิ่งที่ขึ้นอยู่กับคติบทซึ่งคุณประสงค์ที่จะให้การกระทำนั้นกลายเป็นกฎสากลได้ในขณะเดียวกัน เท่านั้น               

และกฎสากลนี้ บางครั้งคานต์ก็เรียกว่ากฎธรรมชาติ ซึ่งแปตันได้ยกข้อความของคานต์มาแสดงไว้เช่นเดียวกันว่า  จงกระทำเหมือนกับว่าคติบทแห่งการกระทำของคุณนั้นเป็นสิ่งที่คุณประสงค์ให้เป็นกฎสากลของธรรมชาติ[1]               

ขณะที่ฟิลด์แมน เรียกแนวคิดเรื่องกฎสากลของคานต์ว่ากฎธรรมชาติในการวางเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมเชิงปทัสถานตามจริยศาสตร์คานต์ไว้ว่า การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้องทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อ ถ้าผู้กระทำการกระทำนั้นประสงค์อย่างสอดคล้องกันที่จะให้รูปแบบคติบททั่วไปของการกระทำนั้นเป็นกฎธรรมชาติเท่านั้น [2]                 

โดยทั้งแปตันและฟิลด์แมนได้ให้เหตุผลของความจำเป็นทางศีลธรรมของกฎสากลนี้ว่าเป็นหน้าที่โดยไม่มีข้อยกเว้น กล่าวคือ เรามีเจตนาให้คติบทแห่งการกระทำของเราเป็นสากลเสมอ มิใช่ว่าให้เป็นสากลแต่เพียงบางครั้งบางคราว และปราศจากความโน้มเอียงใดๆ ซึ่งคานต์เรียกว่าหน้าที่สมบูรณ์ แต่ถ้าเรามีเจตนาจะกระทำสิ่งนั้นเพียงบางครั้งบางคราวหรือเพราะความโน้มเอียงบางอย่าง คานต์เรียกว่าหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และจากประเด็นนี้ คานต์ได้ขยายออกเป็นหน้าที่เพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น ดังนั้น หน้าที่ตามแนวคิดของคานต์จึงจำแนกเป็น 4 ประการ คือ               

1) หน้าที่สมบูรณ์เพื่อตัวเอง (perfect duty of oneself) คานต์ให้ความเห็นว่าคนเราทุกคนรักตัวเอง ดังนั้น เราทุกคนจึงมีหน้าที่สมบูรณ์เพื่อตัวเองที่จะต้องอดกลั้นจากการดำเนินการฆ่าตัวตาย เนื่องจากการกระทำลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง คานต์จึงเรียกว่าหน้าที่สมบูรณ์เพื่อตัวเอง                   

 2) หน้าที่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่น (perfect duty of others) คานต์ได้ยกตัวอย่างเรื่องการรักษาสัญญาหรือการพูดคำสัตย์ว่าเป็นหน้าที่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่น กล่าวคือ เรามีหน้าที่จะต้องรักษาสัญญาหรือพูดคำสัตย์เสมอ และต้องการให้ทุกคนกระทำอย่างนี้ด้วย เนื่องจากการกระทำลักษณะนี้เกี่ยวข้องอยู่กับผู้อื่น คานต์จึงเรียกว่าหน้าที่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่น                  

3) หน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อตัวเอง (imperfect duty of oneself) คานต์มีความเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศด้านหนึ่งด้านใด แต่บางคนเมื่อมีความสุขสบายก็อาจเกียจคร้านหรือปล่อยให้ศักยภาพของตนเองค่อยๆ เสื่อมสลายไป ดังนั้น คานต์จึงนำความเชื่อของเขามาเป็นตัวอย่างในหัวข้อนี้ โดยคานต์บอกว่าการที่มนุษย์ซึ่งมีความสุขสบายแล้วปล่อยให้ศักยภาพเฉพาะของตนเสื่อมสลายไปนั้นอาศัยเงื่อนไขบางอย่าง การกระทำดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้เป็นคติบทสากลหรือเป็นหน้าที่สมบูรณ์ได้ คานต์จึงเรียกลักษณะนี้ว่าหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และจัดเป็นหน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อตัวเองเพราะเกี่ยวข้องกับตัวเราเอง

4) หน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่น (imperfect duty of others) ในสังคมหรือในโลกนั้นย่อมมีทั้งผู้มั่งคั่งและผู้ขัดสน คานต์ให้ความเห็นว่าผู้มั่งคั่งย่อมบริจาคหรือช่วยเหลือผู้ขัดสนบางคนบางโอกาสเท่านั้นโดยอาศัยเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งผู้มั่งคั่งมิได้ช่วยเหลือทุกคนหรือทุกโอกาส การกระทำดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้เป็นคติบทสากลหรือเป็นหน้าที่สมบูรณ์ได้ คานต์จึงเรียกลักษณะนี้ว่าหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และจัดเป็นหน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อผู้อื่นเพราะเกี่ยวข้องอยู่กับผู้อื่น                

ตามแนวคิดของคานต์ การกระทำที่เราต้องการให้คติบทส่วนตัวของเราเป็นคติบทสากลเท่านั้นจึงถือว่าเป็นหน้าที่สมบูรณ์ได้ และหน้าที่สมบูรณ์เท่านั้นจึงมีค่าทางศีลธรรม ส่วนหน้าที่ไม่สมบูรณ์แม้จะมีคุณค่าอื่นๆ อยู่ แต่คานต์บอกว่ามิได้มีค่าทางศีลธรรม จากแนวคิดนี้ของคานต์จึงนำไปสู่รูปแบบที่สองของคำสั่งเด็ดขาดคือรูปแบบของจุดหมายในตัวเองเพื่อขยายความรูปแบบของกฎสากล และเพื่อบ่งชี้ให้เห็นค่าทางศีลธรรมตามจริยศาสตร์คานต์ชัดเจนยิ่งขึ้น                  

. รูปแบบของจุดหมายในตัวเอง (The Formula of the End in Itself)               

แปตันได้อธิบายแนวคิดของคานต์ว่า จุดหมายมีลักษณะคล้ายกับหลักการในประเด็นว่า ถ้าแต่ละคนคิดและใช้แตกต่างกันไปก็ย่อมเป็นอัตวิสัย จุดหมายเชิงอัตวิสัยที่ปัจเจกชนสร้างขึ้นมานี้เกี่ยวข้องอยู่กับผู้กระทำจึงเป็นไปตามคำสั่งที่มีเงื่อนไขเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับจุดหมายเชิงปรวิสัยที่มีเหตุผลรองรับอย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์และมีความจำเป็นให้ทุกคนกระทำอย่างนั้นโดยไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขจึงเป็นจุดหมายในตัวเอง ลักษณะนี้เป็นคำสั่งเด็ดขาดรูปแบบที่สองตามแนวคิดของคานต์

คานต์เชื่อว่ามนุษย์เท่านั้นที่มีจุดหมายในตัวเอง และควรปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะจุดหมายมิใช่เป็นเพียงเครื่องมือ ซึ่งแปตันได้ยกหลักการของคานต์มายืนยันว่า จงกระทำในแนวทางที่คุณปฏิบัติต่อความเป็นมนุษย์ตลอดเวลา ไม่ว่าในตัวคุณเองหรือในคนอื่นๆ มิใช่เจาะจงให้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่ให้เป็นจุดหมายในขณะเดียวกันนั้นเสมอ[3]                 

ดังนั้น เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตามลัทธิคานต์จึงยึดถือว่าการกระทำจะถูกต้องได้ก็จะต้องมีมนุษย์เป็นจุดหมายเท่านั้น นั่นคือ ผู้กระทำจะต้องระงับยับยั้งจากการใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือโดยประการทั้งปวงจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ซึ่งฟิลด์แมนได้กำหนดสูตรไว้ว่า การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้องทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อ ถ้าในการดำเนินการสิ่งนั้น ผู้กระทำงดเว้นจากการปฏิบัติต่อใครบางคนให้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น[4]  

ความสำคัญของมนุษย์ในฐานะจุดหมายในตัวเอง ฟิลด์แมนได้อธิบายไว้ว่า แสงแดดเป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยให้พืชเจริญเติบโตและมีชีวิตสืบต่อไป พืชช่วยให้สัตว์ทั่วไปและสัตว์ที่มีเหตุผลคือมนุษย์ดำรงชีพสืบต่อไป แต่แสงแดดเป็นสิ่งที่ดีได้ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยเหลือพืชเท่านั้น พืชและสัตว์ก็เช่นเดียวกันเป็นสิ่งที่ดีได้ในฐานะเครื่องมือช่วยเหลือมนุษย์เท่านั้น ส่วนมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลเป็นสิ่งสูงสุดที่มีจุดหมายในตัวเอง เพราะถ้ามนุษย์ยังไม่มีจุดหมายในตัวเองแล้วก็จะไม่มีอะไรเลยที่จะมีจุดหมายในตัวเองได้ ดังนั้น การกระทำใดๆ ก็ตามที่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเป็นเครื่องมือจึงไม่ถูกต้อง กล่าวคือ การกระทำที่ลดชั้นมนุษย์ลงมาเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่จุดหมายจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่การกระทำจะถูกต้องได้ก็ต้องอดกลั้นจากการใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือเท่านั้น

อนึ่ง ในประเด็นของจุดหมายในตัวเองนี้ ฟิลด์แมนได้ยกตัวอย่างความเห็นของมิลล์และมัวร์ โดยมิลล์เชื่อว่าความสุขมีจุดหมายในตัวเอง และมัวร์บอกว่าแม้ความงามก็มีจุดหมายในตัวเองด้วย ผู้วิจัยมีความเห็นว่ามโนทัศน์เรื่องจุดหมายในตัวเองเป็นประเด็นปัญหาทางจริยปรัชญาที่น่าสนใจด้วย แต่เรื่องนี้อยู่นอกขอบเขตของการวิจัยครั้งนี้ กล่าวได้แต่เพียงว่าในลัทธิคานต์มนุษย์เท่านั้นที่มีจุดหมายในตัวเอง ดังนั้น การปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะจุดหมายเท่านั้นจึงจะถูกต้อง แต่ถ้าใช้มนุษย์ให้เป็นเพียงเครื่องมือแล้วก็จะไม่ถูกต้อง ความเห็นนี้ถือว่าเป็นคำสั่งเด็ดขาดรูปแบบที่สองของลัทธิคานต์ และแนวคิดนี้ก็นำไปสู่รูปแบบสุดท้ายของคำสั่งเด็ดขาดต่อไป                

. รูปแบบของภาวะอิสระ (The Formula of Autonomy)               

ราชบัณฑิตยสถานได้ความหมายของคำว่า Autonomy และ Heteronomy ไว้ว่า 

“ autonomy ภาวะอิสระ, อัตตาณัติ : ภาวะที่แสดงถึงความเป็นอิสระแก่ตน คือดำเนินไปโดยตัวเอง ตรงกันข้ามกับ ภาวะอนิสสร (heteronomy)”[5]               

“ heteronomy ภาวะอนิสสร : ภาวะที่แสดงถึงความไม่เป็นอิสระหรือไม่มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง ต้องพึ่งสิ่งอื่น หรือถูกกำหนดโดยสิ่งอื่น ตรงกันข้ามกับ ภาวะอิสระ หรือ อัตตาณัติ[6]                

รูปแบบของภาวะอิสระตามจริยศาสตร์คานต์นั้น แปตันได้ให้ความเห็นว่าเป็นการย้ำให้เห็นความชัดเจนของคำสั่งเด็ดขาด และเป็นรูปแบบที่คล้อยตามกฎสากล นั่นคือ เราจะต้องกระทำให้เป็นกฎสากลด้วยตัวเราเอง ดังหลักการที่คานต์วางไว้ว่า

ดังนั้น จงกระทำสิ่งที่เจตนาของคุณสามารถถือว่าตัวเองเป็นผู้สร้างกฎสากลผ่านทางคติบทของเจตนานั้นในเวลาเดียวกัน[7]

ตามความเห็นของแปตัน  คานต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล เราจึงสามารถกระทำให้เป็นกฎสากลได้ด้วยเหตุผลของเราเองในฐานะที่เราเป็นสัตว์มีเหตุผล แปตันอธิบายต่อว่าเรามีข้อผูกพันให้เชื่อฟังกฎสากลซึ่งมีความสมเหตุสมผลเชิงปรวิสัยสำหรับผู้กระทำที่มีเหตุผลทุกคน และเรามีข้อผูกพันที่ต้องเชื่อฟังผลิตผลแห่งเจตนาของเราเองด้วยในฐานะที่เราเป็นผู้กระทำที่มีเหตุผล ข้อผูกพันทั้งสองลักษณะนี้เป็นรูปแบบของภาวะอิสระตามลัทธิคานต์ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบของกฎสากลและรูปแบบของจุดหมายในตัวเอง  กล่าวคือ คติบทที่กระทำให้เป็นกฎสากลถูกกระทำขึ้นมาโดยจุดหมายของผู้กระทำเอง และถ้าว่าผู้กระทำที่มีเหตุผลเป็นจุดหมายในตัวของเขาเองแล้ว เขาซึ่งเป็นผู้สร้างกฎขึ้นมาก็จะถูกผูกพันไว้โดยกฎเพื่อจะได้เชื่อฟัง ลักษณะนี้บ่งบอกว่าเขาได้ให้คุณค่าสูงสุดของเขาแก่ตัวเขาเอง ซึ่งเรียกว่ารูปแบบของภาวะอิสระตามลัทธิคานต์  ส่วนภาวะอนิสสรที่เกิดจากความโน้มเอียงหรือแรงจูงใจอื่นๆ ซึ่งขัดแย้งกับภาวะอิสระนั้น  ผู้วิจัยจะนำเสนอความเห็นของฟิลด์แมน ในลำดับต่อไป 

อนึ่ง แนวคิดของคานต์ในหนังสือ “Gurndlegung zur Metaphysik der Sitten” ต่อจากนี้เป็นการทบทวนเนื้อหาที่ได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้น และคานต์ก็ได้เพิ่มเติม รูปแบบของอาณาจักรแห่งจุดหมาย (The formula of the kingdom of ends) ไว้ด้วย ซึ่งแปตันให้ความเห็นว่าเป็นการประมวลแนวคิดจริยศาสตร์และนำแนวคิดเหล่านี้ไปผูกโยงอยู่กับอภิปรัชญาของคานต์อีกครั้ง แต่นักจริยศาสตร์คานต์มักจะยึดถือว่าคำสั่งเด็ดขาดของคานต์ประกอบด้วยรูปแบบสามอย่างนี้เท่านั้น เช่น กีรติ บุญเจือ หรือฟิลด์แมน ก็นำเพียงรูปแบบทั้งสามนี้เท่านั้นเช่นกันมาอธิบายให้เห็นลักษณะคำสั่งเด็ดขาดของคานต์ 

ตามความเห็นของฟิลด์แมน คานต์พยายามแบ่งแยกการกระทำที่เกิดจากความโน้มเอียงและการกระทำที่เกิดจากความหมายของหน้าที่ออกจากกัน โดยการกระทำที่เกิดขึ้นจากความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น สุขารมณ์ อำนาจ ความเคารพ   หรือเกิดจากความกลัว ความเจ็บปวด และความตาย เป็นต้น คานต์ถือว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากความโน้มเอียงทั้งหมด และการกระทำเหล่านี้ไม่จัดว่ามีค่าทางศีลธรรม

ฟิลด์แมนได้ยกตัวอย่างเรื่องความต้องการมีชื่อเสียง ถ้าชายคนหนึ่งเชื่อว่าการเป็นหมอจะทำให้เขามีชื่อเสียง ดังนั้น เขาได้ขยันเรียนและทำงานหนักเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ แม้ว่าภายหลังเขาได้เป็นหมอและมีชื่อเสียงแล้วก็ตาม การกระทำของเขาก็ยังไม่จัดว่ามีค่าทางศีลธรรมตามลัทธิคานต์ เพราะคานต์เห็นว่าการกระทำของหมอคนนี้เกิดจากความโน้มเอียงซึ่งเป็นความต้องการมีชื่อเสียง เนื่องจากถ้าหมอคนนี้อยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เขาก็อาจมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าเขาเชื่อว่าการเป็นโจรหรือฆาตกรทำให้เขามีชื่อเสียงแล้ว เขาก็อาจพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นเลิศในการเป็นโจรหรือฆาตกรได้ ดังนั้น ความเป็นเลิศของหมอคนนี้จึงไร้ค่าทางศีลธรรม ตามนัยของลัทธิคานต์ การกระทำที่ถูกต้องของหมอคนนี้เป็น เพียงความบังเอิญ (mere accident) เท่านั้นฟิลด์แมนได้ให้ความเห็นว่า การกระทำของหมอคนนี้และการกระทำอื่นๆ ที่เกิดจากความโน้มเอียงทั้งหมดซึ่งเรียกว่า ภาวะอนิสสรของเจตนา (heteromomy of the will) เป็นสิ่งไร้ค่าทางศีลธรรมหรือมิใช่การกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรมตามลัทธิคานต์  แตกต่างจากการกระทำที่เกิดจากความหมายของหน้าที่ซึ่งเรียกว่าภาวะอิสระของเจตนา (autonomy of the will) ที่มีค่าทางศีลธรรมและเป็นการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรม โดยฟิลด์แมน ได้วางเกณฑ์ตัดสินเชิงปทัสถานไว้ว่า

การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้องทางศีลธรรม ก็ต่อเมื่อ ถ้าในการดำเนินการสิ่งนั้น ผู้กระทำคล้อยตามกฎบางอย่างโดยภาวะอิสระ เท่านั้น[8]  

สาเหตุเรื่องความถูกต้องของการกระทำตามภาวะอิสระนี้ ฟิลด์แมนได้ให้เหตุผลตามแนวคิดคานต์ว่า เพราะมนุษย์ในฐานะสัตว์ที่มีเหตุผลคล้อยตามกฎซึ่งเป็นของเขาเองอย่างอิสระโดยไม่ขึ้นอยู่กับกฎอื่นใด (ดูความเห็นของแปตันข้างต้น)อนึ่ง ฟิลด์แมนได้ให้ความเห็นตามแนวคิดของคานต์ว่า เจตนาในการยึดถือส่วนที่มีเหตุผล มิใช่ยึดถือส่วนที่เป็นความทะยานอยากเป็น เจตนาศักดิ์สิทธิ์  (holy will) และการกระทำที่เกิดจากเจตนาศักดิ์สิทธิ์นี้เองเป็นสิ่งที่มีค่าทางศีลธรรมหรือเป็นการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรม 

ข้อบกพร่องเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของคำสั่งเด็ดขาดตามลัทธิคานต์นี้ ทั้งแปตันและฟิลด์แมน รวมทั้งนักจริยปรัชญาอื่นๆ ได้วิจารณ์ไว้มาก แต่ผู้วิจัยเห็นว่านอกประเด็นจึงได้ตัดทิ้งไป เพราะผู้วิจัยต้องการนำเสนอให้เห็นแต่เพียงแนวคิดของลัทธิคานต์โดยเฉพาะคำสั่งเด็ดขาดเพื่อนำมาวิเคราะห์อธิกรรมว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดเท่านั้น ซึ่งผู้วิจัยจะนำเสนอในประเด็นต่อไป 



[1] Immanuel Kant. The Moral Law, translated and analyzed by H.J. Paton (London: Hutchinson, 1969), pp. 29-30.
[2] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), p.104.
[3] Immanuel Kant. The Moral Law, translated and analyzed by H.J. Paton (London: Hutchinson, 1969), p. 32.
[4] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), p. 120.
[5] พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532), หน้า 11.
[6] อ้างแล้ว, หน้า 48.
[7] Immanuel Kant. The Moral Law, translated and analyzed by H.J. Paton (London: Hutchinson, 1969), p.33.
[8] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), p. 131.
หมายเลขบันทึก: 68681เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท