ก่อนจะเป็น Mobile-unit ที่อำเภอท่าสองยาง (3)


วันพรุ่งนี้แล้วล่ะค่ะที่พวกเราชาวโมบาย จะออกปฏิบัติงานการให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน ณ โรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวง ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

 

(ต่อจากภาคสองค่ะ) 

            ก่อนที่ดิฉันจะเล่าประสบการณ์ในภาคที่สาม  ต่อจากความเดิมในภาคที่สองนั้น  ดิฉันขอบอกเล่าเก้าสิบกันนิดนึงนะคะว่า....วันพรุ่งนี้แล้วล่ะค่ะที่พวกเราชาวโมบาย  จะออกปฏิบัติงานการให้บริการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนาสุขภาพและอาชีพประชาชน ณ โรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวง  ตำบลแม่สอง  อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก

            ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 22 ธันวาคม 2549 )  เราจะออกรถกันตั้งแต่เวลา 08.30 น. และแน่นอนค่ะในครั้งนี้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยของเราไปร่วมออกหน่วยฯ กันกว่า 80 ชีวิตเช่นเดิม 

            เกริ่นมานานพอสมควร....ดิฉันขอดึงท่านผู้อ่านเข้าสู่เหตุการณ์จากการสำรวจพื้นที่ของตำบลแม่สอง  อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากหรือเมื่อประมาณสี่อาทิตย์ที่ผ่านมาตามสัญญาก่อนละกันค่ะ (ซึ่งถ้าท่านใดคิดว่าดิฉันเขียนเว้นช่วงห่างจากตอนเดิมมากเกินไป  สามารถกลับไปอ่านเพื่อระลึกความหลังได้ในบทความที่แล้วค่ะ ^^)

            ในยามเช้าของวันรุ่งขึ้น  ท่าน ผอ.กำพล  เมืองยศ  ยังคงอยู่กับเราเช่นเดิม  ท่านเสียสละอย่างมากเพราะท่านยังไม่ได้เปลี่ยนชุดหรืออาบน้ำแต่อย่างใด  อากาศเย็นยะเยือกจริงๆ ค่ะ  ท่าน ผอ.รอพวกเราอยู่บริเวณด้านหน้าเพื่อจะพาพวกเราไปชมทะเลหมอก....ดิฉันตั้งตารอตั้งแต่เมื่อคืนแล้วล่ะค่ะ....เมื่อทุกคนพร้อมเราก็เริ่มมุ่งหน้าลงเขาไปอีกด้าน  เพื่อไปยัง "ม่อนครูบาใส" เพื่อชมทะเลหมอกยามเช้า

สวยงามมากค่ะ  และในครั้งนี้เราทุกคนที่จะไปร่วมชะตาชีวิตการออกหน่วยด้วยกัน....ก็กำลังจะได้สัมผัสกับบรรยากาศเช่นนี้เช่นเดียวกันค่ะ

อีกมุมของม่อนครูบาใส....ที่เห็นเป็นหมอกอยู่ตรงกลางนั่นคือแม่น้ำเมยสายเล็กๆ  และฝั่งภูเขาหลังทะเลหมอกคือพื้นแผ่นดินของประเทศพม่า  ทิวเขาที่เราเห็นยาวๆ อยู่บริเวณนี้ทั้งหมดคือ ทิวเขาถนนธงชัยค่ะ

            ชื่นชมกับภาพทะเลหมอกกันอยู่สักพักใหญ่  เราก็ต้องรีบกลับขึ้นมาบนวนอุทยานเพื่อทำการสำรวจที่พักให้กับผู้ออกให้บริการเคลื่อนที่ฯ ทุกท่านได้พักแรมกันตลอดสามวันสองคืน  ซึ่งท่านรองหัวหน้าวนอุทยานแห่งชาติแม่เมย  ให้คำแนะนำตลอดจนพาพวกเราชมที่พักอย่างละเอียดทีเดียวค่ะ

            หอประชุมรวม  ซึ่งสามารถจุคนได้ราวๆ 15 คน  ตอนแรกเราใช้ที่แห่งนี้เป็นที่พักของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เป็นสุภาพสตรี  แต่เนื่องด้วยอากาศที่หนาวเย็นมากๆ ในช่วงนี้  ทางวนอุทยานแนะนำให้เราเข้าไปพักในบ้านพักน่าจะดีกว่า  เพราะหอประชุมโล่งและลมเข้าได้ง่าย  ไม่อบอุ่นเหมือนบ้านพักค่ะ

อีกมุมของหอประชุม....ซึ่งเปลี่ยนเป็นที่รับประทานอาหารแทนที่นอนค่ะ

ห้องน้ำที่นี่มีหลายห้องด้วยกัน....สะอาดสะอ้านน่าใช้ค่ะ

บ้านพักรวมอีกแห่งด้านล่าง....สามารถจุคนได้ถึง 10 คนด้วยกัน

ถุงนอนที่ทางวนอุทยานฯ เตรียมไว้สำหรับบุคลากรทุกท่าน

 

ลานหญ้ากว้างๆ สำหรับกางเต้นท์  ซึ่งทีมโมบายของเรานอนเต้นท์กันทั้งหมด 17 หลังทีเดียวค่ะ  เยอะมากกกกกกกก

ท่านผู้อำนวยการคนเก่งและรองหัวหน้าวนอุทยานฯ

สำรวจกันทุกซอกทุกมุม  ขึ้นๆ ลงๆ จนท่านอาจารย์วิจิตร  อุดอ้าย  ขอนั่งพักสักครู่

ดร. สุรพล  ตั้งวรสิทธิชัย  ลงนามในสมุดเยี่ยมของวนอุทยานฯ

อีกด้านของจุดกางเต้นท์ค่ะ

            เมื่อสำรวจที่พักบนวนอุทยานแห่งชาติแม่เมยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ดิฉันและทีมงานทุกคนภายใต้การนำทางของ ผอ. กำพล  มุ่งหน้าลงเขาไปอีกด้านเพื่อเข้าไปดูวิถีชีวิตของครูโรงเรียนสาขาว่าเป็นอย่างไร  และวิถีชีวิตบางมุมของชาวกะเหรี่ยงค่ะ

            เมื่อมาถึงโรงเรียนสาขาแห่งหนึ่ง  ภาพที่ดิฉันเห็นคืออาคารเล็กๆ ชั้นเดียว  เทพื้นปูนอย่างง่ายๆ  ผนังเป็นไม้ไผ่สานต่อจากผนังก่อปูนไม่สูงมากนัก  และมุงหลังคาอย่างแน่นหนา  ที่นี่มีเด็กๆ อยู่ราวๆ 30 คน  ใช่แล้วค่ะ  เด็กทุกๆ คนเป็นชาวกะเหรี่ยงและพูดไทยไม่ค่อยชัดนัก  น้องๆ กำลังวาดภาพและฟังคุณครูสอนอย่างตั้งใจ

หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่หลังโรงเรียนสาขา

เอ๊....ใครกันน๊ามาขัดจังหวะการสอนของคุณครูของเรา

เห็นโฉมหน้าของเยาวชนน่ารักๆ ในอนาคตกันใกล้ๆ ค่ะ

 

คุณครูผู้อุทิศตนให้การสอนอย่างจริงจัง...ต้องขออภัยจริงๆ ค่ะดิฉันจำชื่อของคุณครูท่านนี้ไม่ได้  แต่เอาไว้ไปอีกครั้งจะถามชื่อคุณครูแน่นอนค่ะ

            หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า โรงเรียนสาขาเป็นยังไงกันหว่า ???  เฉลยกันนิดนึงค่ะ   โรงเรียนสาขา คือ โรงเรียนที่ไม่มีกฎหมายรองรับแต่เป็นโรงเรียนที่มีไว้สำหรับเด็กๆ อายุก่อนประถมจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้ศึกษาเล่าเรียน  โดยจะแฝงตัวอยู่ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากโรงเรียนแม่  ไม่สามารถเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนได้หรือเดินทางมาได้แต่ก็เสียเวลามาก  โรงเรียนสาขาจึงอุบัติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของเด็กๆ ในถิ่นห่างไกล นั่นเองค่ะ

            เมื่อสำรวจโรงเรียนสาขาและหมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ เสร็จ  เรารีบรับประทานอาหารกลางวันและเดินทางกลับกันในทันที  เพราะแต่ละท่านต่างมีภาระกิจสำคัญรออยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

            ราวๆ ห้าโมงครึ่งของวันนั้นเราก็กลับมาถึงมหาวิทยาลัยโดยสวัสดิภาพพร้อมกับความทรงจำดีๆ จากตำบลแม่สอง  อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก  และในวันพรุ่งนี้ดิฉันและทีมงานบางส่วนกำลังจะกลับไปสัมผัสกับบรรยากาศเหล่านั้นอีกครั้ง  แต่เรากลับไปในฐานะที่ต่างจากเดิมค่ะ  คือไม่ได้ไปในฐานะของผู้สำรวจพื้นที่แต่เป็นผู้ออกให้บริการ  เพื่อนำหลักวิชาการต่างๆ ของทุกๆ คณะภายในมหาวิทยาลัยนเรศวรของเราออกเผยแพร่และช่วยส่งเสริมประชาชนภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย  ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพ  เราทั้งหมดกว่า 80 ชีวิต  เดินทางไปพร้อมกับโจทย์ปัญหาที่พื้นที่ตั้งเอาไว้  แน่นอนค่ะมันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  แต่มันก็ไม่มีอะไรยากถ้าเราคิดจะทำ  สัญญาค่ะว่าดิฉันจะเก็บบรรยากาศสามวันสองคืนของการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่กลับมาฝากท่านผู้อ่านแน่นอน 

            ดิฉันคงต้องจบบล็อคนี้ที่คำว่า "โปรดติดตามตอนต่อไป" เช่นเคยใช่มั๊ยคะ  ขอบพระคุณทุกๆ ท่านค่ะ  ที่กรุณาติดตามอ่านมาจนถึงภาคที่สาม ^^  (แม้จะนานมากๆ) และดิฉันจะนำภาคที่สี่มาเขียนต่อในเร็วๆ นี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 68645เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • พรุ่งนี้เดินทางแต่เช้าคืนนี้พักผ่อนเก็บแรงไว้ต่อสู้กับอากาศหนาวมากๆ นะจ้ะ
  • เก็บบรรยากาศ  และความอิ่มเอมใจกลับมาฝากบ้างนะ
  • เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพจ้ะ
  • ปล. ฝากเรียนท่านอาจารย์สุรพลว่า  "ยืนท่านี้หล่อเหมือนเดิมจ้ะ"
แล้วเหกแล้วเก็บภาพมาฝากด้วยนะครับ ขอให้การออกหน่วยครั้งนี้ ได้ประโยชน์มากที่สุดนะครับ ทั้งผู้รับบริการ และผู้ออกให้บริการ ของให้เที่ยวกันอย่างปลอดภัยครับ

หน้าที่เก็บภาพไว้เป็นหน้าที่ผมเลยครับ จะถ่ายให้สวยไม่ให้เสียชื่อคนสอนเลย ครั้งนี้ผมจะบันทึกวิดีโอ ไปออกเนชั่น และ ETV นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท