โครงการอบรมผู้จัดกิจกรรมค่ายเบาหวาน รุ่นที่ ๔ (๒)


ผู้เข้าอบรมรุ่นนี้มีความตั้งใจสูง และสนใจเรียนรู้

เล่าเรื่องการอบรมวันแรกไปแล้ว (อ่านที่นี่)

 ผู้เข้าอบรม รุ่นที่ ๔

วันนี้เป็นวันที่ ๔ วันสุดท้ายของโครงการอบรมผู้จัดกิจกรรมค่ายเบาหวาน รุ่นที่ ๔ ช่วงเช้าเป็นการเรียนรู้เรื่องของแบบประเมินความเสี่ยงต่อเบาหวานหรือ Thai Diabetes Risk Score ซึ่ง รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มาเป็นวิทยากร ผู้เข้าอบรมมีความสนใจและซักถามกันมาก

หลังจากนั้นเราทดลองให้แต่ละคนประเมินตนเอง ผลที่ได้ก็คล้ายๆ กับทุกกลุ่มคือส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย มีอยู่ ๑ คนที่มีความเสี่ยงสูงมากและอีก ๔-๕ คนมีความเสี่ยงสูง ผู้เข้าอบรมช่วยกันหาคำที่จะบอกระดับความเสี่ยงให้ชัดเจนมากที่สุด อาจารย์วิชัยได้ปรับคำที่ใช้จากเดิมมาบ้างแล้วโดยแบ่งเป็น ๕ ระดับ ได้แก่ ความเสี่ยงน้อย ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงสูงมาก และความเสี่ยงสูงมากๆ ดิฉันได้บอกให้อาจารย์วิชัยทราบว่ามีหลายคนหลายที่ขอเอาเครื่องมือนี้ไปใช้ ผู้เข้าอบรมก็ขอด้วย อาจารย์วิชัยมีความเต็มใจอนุญาตให้ทุกคนเอาไปใช้ได้

ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอแผนการจัดค่ายของแต่ละกลุ่ม (๖ กลุ่ม) ให้เวลากลุ่มละ ๑๐ นาที โดยมีดิฉัน คุณสมทรง พลชาติ และคุณธัญญา หิมะทองคำ เป็นผู้ให้ความเห็น

เริ่มจากกลุ่มที่ ๕ ภาคใต้ที่บอกว่าทำงานเสร็จตั้งแต่เมื่อวานจึงขอนำเสนอเป็นกลุ่มแรก กิจกรรมเน้น ๔ F คือ Feeling, Fun, Food, Friend และบอกว่าไม่เอา Fail จะเริ่มจากกลุ่มที่มีต้นสังกัดหรือข้าราชการเป็นกลุ่มเล็กๆ ๒๐-๓๐ คน เพื่อเป็นโมเดล จัดเป็นค่ายค้างแรม ไอเดียดีๆ เช่น จัดโมเดลอาหารแบ่งเป็นโซนแดง เหลือง เขียว จะได้จำง่ายว่าอะไรกินได้ อะไรควรเลี่ยง มีประโยคเตือนใจ เช่น “อาหารทุกอย่างทานได้ ถ้าใส่ใจแคลอรี่” ที่น่าสนใจอีกอย่างคือทีมงานค่ายจะเล่นละครให้ชาวค่ายดูเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้จะมีการให้ความรู้เรื่องน้ำตาลหลังอาหาร ออกกำลังกาย และการดูแลเท้า มีกิจกรรมให้ผลัดกันวัดรอบเอว รางวัลสำหรับกิจกรรมต่างๆ วางแผนไว้ว่าจะให้เป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก เพราะราคาไม่แพง หลังจบค่ายจะมีการติดตามดูพฤติกรรมเป็นระยะๆ กลุ่มนี้คุณสมทรงชมว่ารู้จักเลี่ยงคำ ไม่เอาคำที่ทำให้เกิดใจหดหู่มาใช้

กลุ่มที่ ๒ ภาคอิสาน ตัวอย่างของ รพ.อุดรธานี วางแผนจะจัดค่ายประมาณเดือนมกราคมหรือต้นกุมภาพันธ์ แบบเช้าไป-เย็นกลับ ๓ วัน กลุ่มเป้าหมายอยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งกลุ่มนี้เคยประเมินแล้วพบว่ามีความรู้ดี แต่เป็นประเภท “รู้หมด อดใจไม่ไหว” ความพิเศษคือให้ชาวค่ายห่อข้าวมารับประทานเอง จะได้รู้ว่าตามปกติเขากินอย่างไร และจะมีการตรวจ HbA1C เอาไว้ติดตามความเปลี่ยนแปลงด้วย

กลุ่มที่ ๖ ภาคกลาง ๕ จังหวัดคือชัยนาท อยุธยา สิงห์บุรี นนทบุรี และลพบุรี คิดค่ายร่วมกันแบบ ๓ วัน ๒ คืน บอกว่ารูปแบบคล้ายกับ ๒ กลุ่มที่นำเสนอไปแล้ว แต่ขอทำในกลุ่มที่สมัครใจ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่มีโรคแทรกซ้อน จะปรับกิจกรรมที่เรียนรู้จากการอบรมให้เข้ากับบริบท เช่น ออกกำลังกาย อาจจะใช้รำวง เพราะชาวบ้านชอบ การนับสัดส่วนอาหาร อาจใช้รูปภาพกระดาษแทนการจดบันทึก และจะมีกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ไหว้พระ ๗ วัน ใช้กลิ่นบำบัด ผลัดกันนวดกดจุดเพื่อคลายเครียด เป็นต้น

กลุ่มที่ ๑ ภาคเหนือ จะทำค่ายสำหรับผู้ป่วย เพื่อคัดสรรผู้นำที่จะเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในค่ายต่อๆ ไป จัดเป็น One Day Camp โดยมีการให้ความรู้ก่อน ในค่ายช่วงเช้าจะมีกิจกรรมละลายพฤติกรรม สร้างสัมพันธภาพภายในกลุ่ม ตรวจสมรรถนะทางกาย ตรวจน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกายร่วมกัน ให้ความรู้เรื่อง “กินอย่างมีกึ๋น” โชว์อาหารที่กินได้ กินไม่ได้ ช่วงบ่ายมีการทำกลุ่มเพื่อหาว่าอะไรที่เป็นปัญหา แล้วเข้ากิจกรรมตามฐานต่างๆ จะ copy Walk Rally ในการอบรมครั้งนี้ไปใช้ แต่จะระวังเรื่องความปลอดภัยโดยเปลี่ยนจากเกมส์ปาเป้าเป็นแบบอื่น เช่น โยนห่วง แทน ตอนเย็นจะมีการมอบรางวัลและในประกาศเกียรติคุณ จะมีการทำสมุดบันทึกให้ โดยเอาตัวอย่างของ รพร.ธาตุพนมที่ดิฉันนำเสนอเมื่อช่วงเช้ามาใช้ แต่จะแก้ตรงที่ระดับน้ำตาลดี เป็น “ยอดเยี่ยม” เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ สำหรับกลุ่มเสี่ยงจะเน้นการตรวจประเมินตนเองและการเฝ้าระวัง กิจกรรมจะคล้ายกับค่ายสำหรับผู้ป่วย แต่ต่างกันที่เนื้อหาความรู้

กลุ่มที่ ๔ ภาคเหนือตอนล่าง แถบอุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร จะจัดค่ายแบบ ๓ วัน ๒ คืน สำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลก่อน เลือกคนที่สมัครใจ เป็นกลุ่มข้าราชการ จะมีการอธิบายเป้าหมายของค่ายให้รู้ล่วงหน้า ก่อนทำจะมีการจูนความรู้ของทีมสหสาขาวิชาชีพให้ตรงกันก่อน จะมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เพื่อให้เปิดใจ มีการทำพันธะสัญญา Update ความรู้ ขอ copy กิจกรรมของฐานต่างๆ ไปใช้ต่อ เพราะชอบที่ผู้ป่วยต้องรู้เป้าหมายในการดูแลตนเอง จะมีการเจาะน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังอาหาร ได้แนวคิดจากการอบรมที่นี่ที่ให้มีการเจาะน้ำตาลในเลือด ทำให้ระมัดระวังเรื่องการกิน นอกจากนี้จะออกกำลังกายทุกเช้า

กลุ่มที่ ๓ มาจากพิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ ขอนำเสนอเป็นคนสุดท้าย เพราะอยากเป็นคนพิเศษ และบอกว่ารายละเอียดของกิจกรรมจะคล้ายๆ กับกลุ่มอื่น แต่จะเพิ่มการเสี่ยงทายไพ่ยิปซีและรำวง คน comment เลยคิดไม่ออกว่าจะเสนอแนะอะไรบ้าง จึงบอกว่ามีความเห็นเหมือนทุกๆ กลุ่มที่ผ่านมาแล้ว

สุดท้ายเป็น AAR คุณหมอเปิ้ล พญ.ชลิดา สุระดม จาก รพ.อุทัยธานี ที่เปลี่ยนจากแพทย์ดมยามาดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ถูกเชิญมา AAR เป็นคนแรก เพราะติดหนี้ต้องออกมาเต้นหน้าห้อง เนื่องจากมีเสียงโทรศัพท์ดังระหว่างการอบรม คุณหมอเปิ้ลก็เต็มใจเต้นด้วยความสนุกสนาน บอกถึงสิ่งที่ตนเองได้ที่เกินความคาดหวังทั้งนั้นและยังได้เพื่อน ข้อติติงมีแต่ในส่วนของห้องพัก ที่มีปัญหาเรื่องน้ำอุ่นน้ำเย็น แอร์ กุญแจประตู น้องศุภชัย เอื้อมมณี หนุ่มเดียวของรุ่นนี้มา AAR เป็นคนที่สองบอกได้มากกว่าความคาดหวัง ไม่มีอะไรที่ได้น้อย แถมได้พี่ๆ อีกหลายคน ที่เหลืออีก ๓ คนขออาสามาพูด เรามีของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นครีม moisture และสบู่อาบน้ำ

ในภาพรวมผู้เข้าอบรมรุ่นนี้มีความตั้งใจสูง และสนใจเรียนรู้ ได้ข่าวว่าเมื่อวานนี้ผู้เข้าอบรมบางส่วนอยู่พูดคุยซักถาม นพ.วรวิทย์ กิตติภูมิ เรื่องโรคแทรกซ้อนต่างๆ จนเลยเวลา ๑๘ น.ไปแล้ว คุณฉัตรสุดา จำรัส จาก รพ.แพร่และผู้เข้าอบรมอีก ๒ คนจากสิงห์บุรี มาขอให้คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน สอนการใช้เว็บบล็อก GotoKnow

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 68643เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท