คลังสั่ง! รื้อเกณฑ์ราคากลางการประมูลงานภาครัฐ


คลังสั่ง! รื้อเกณฑ์ราคากลางการประมูลงานภาครัฐ

          คลังรื้อเกณฑ์คำนวณราคากลางสำหรับโครงการประมูลงานภาครัฐใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและทันสมัยมากขึ้น เป็นการปรับปรุงราคากลางครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 พร้อมเปลี่ยนเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ออคชั่นใหม่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คาดรายละเอียดปรับปรุงเสร็จเดือนมกราคม 2550

          น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างพิจารณาปรับวิธีการคำนวณราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและทันสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ราคากลางในการประมูลของภาครัฐต้องเปลี่ยนใหม่หมดมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงแล้วแต่การคำนวณ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาราคากลางที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในวันที่ 22 ธันวาคมนี้พิจารณา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งการปรับปรุงราคากลางครั้งนี้ถือเป็นการปรับปรุงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544

         

นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอี-ออคชั่นใหม่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น เชื่อว่ารายละเอียดทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2550 โดยยืนยันว่า กรมบัญชีกลางจะเดินหน้าโครงการ  อี-ออคชั่นต่อไปอย่างดีที่สุด แต่จะปรับปรุงรายละเอียดที่เห็นว่ายังติดขัดและเป็นอุปสรรคในการประมูลให้ดีขึ้น  ทั้งนี้ ในปี 2548 (1 ม.ค.-30 ก.ย.48) ส่วนราชการได้จัดทำระบบอี-ออคชั่น ทั้งหมด 6,449 ครั้ง สามารถประหยัดงบประมาณได้ 9,670 ล้านบาท หรือประหยัดได้ร้อยละ 10.02 ของงบประมาณ ขณะที่ปีงบประมาณ 2549     มีการทำอี-ออคชั่น จำนวน 20,699 ครั้ง ประหยัดงบประมาณได้ 12,162 ล้านบาท หรือประหยัดได้ร้อยละ 5.46  ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 (ต.ค.-พ.ย.49) มีการทำอี-ออคชั่น จำนวน 1,291 ครั้ง ประหยัดงบประมาณได้แล้ว 1,477 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.96

          สำหรับความคืบหน้าเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขของระบบอี-ออคชั่นนั้น จะปรับเปลี่ยนเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผู้ประมูลต้องจ่ายให้กับตลาดกลาง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประมูลอี-ออคชั่น เป็นแบบตายตัวตามวงเงินที่ประมูล เช่น อาจกำหนดค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ 1 ในวงเงินอี-ออคชั่น 3 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดเป็นเพดานสูงสุด จึงทำให้เกิดการตัดราคาจากตลาดกลางกันมาก     ขณะเดียวกันจะกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่างเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินอี-ออคชั่นเฉพาะตั้งแต่วงเงิน 10 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น เพื่อลดขั้นตอนให้รวดเร็วมากขึ้น และจะอนุญาตให้วงเงินประมูลที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท สามารถดำเนินการที่ใดก็ได้ไม่ต้องทำอี-ออคชั่น เฉพาะในสถานที่ที่จัดไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับส่วนราชการและเอกชนที่เข้ามาประมูลงานให้มากขึ้น

ผู้จัดการออนไลน์  แนวหน้า  โพสต์ทูเดย์ผู้จัดการรายวัน  ข่าวหุ้น  บ้านเมือง

                                                      ไทยโพสต์ (คอลัมน์จับประเด็น) : 21 ธ.ค. 49 

คำสำคัญ (Tags): #ประมูล
หมายเลขบันทึก: 68547เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท