เหตุเกิดเพราะท่าน .. ดร. แสวง รวยสูงเนิน อีกแล้วครับท่าน !


ผมไม่เห็นด้วยกับ การเรียนรู้ที่ปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จนเกิดศรัทธาในสิ่งที่จะเรียน และยังตอบไม่ได้ชัดว่าจะเรียนไปทำไม

     ผมเขียนบันทึกชื่อนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ใน บันทึกที่ผ่านมา วันนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องอื่น แต่พอเข้า Planet  พบ บันทึกนี้ ของ ดร. แสวง รวยสูงเนิน ที่คงต้องบอกว่า คนที่สนใจ หรืออยู่ในวงการ การศึกษา ไม่อ่านไม่ได้อีกแล้ว อ่านจบผมคิดอะไรต่อทันที  ความจริงไม่ใช่เพิ่งคิด  ต้องเรียกว่าอยากระบาย ความคิดร่วม ออกมามากกว่า  เพราะผมเห็นอย่างที่ท่านเห็น และเชื่อว่าการปล่อยไว้นานมีแต่จะทำให้สังคม และประเทศชาติเสื่อมทรุด เขียนไว้ที่โน่น และนำมาออกอากาศในบ้านตัวเองที่นี่ เหมือนเคยครับ ความว่า .....

    มาเป็นคนแรกครับอาจารย์

     ผมอ่านช้าๆ  พยายามหา ความเห็นต่าง เพื่อจะโต้แย้งให้เกิดความหลากหลายแต่ยังหาไม่เจอครับ  สรุปคือ ผมเห็นจริงตามที่ท่านเห็น  ได้พูดและพยายามทำทุกอย่างเพื่อหนีจาก สภาวะย้อนศร ในเรื่องการเรียนการสอน หรือการเรียนรู้ของผู้คนอยู่เสมอมาครับ

   แท้จริงที่เรียกกันว่า Problem Based และตื่นเต้นกันนั้น เรามีมากว่า 2500 ปีแล้ว ... หลักอริยสัจ ๔ คือสุดยอดของ Problem Based  ที่สามารถนำมาพลิกแพลง  ประยุกต์ใช้ได้ตลอดกาล  เป็น อะกาลิโก

    ผมมักหาคำพูดมากระตุ้นอย่างท้าทาย  ให้ทั้ง คนสอน คนเรียน ได้ทบทวนและระมัดระวังพิษภัยของการ "ย้อนศร" บ่อยๆ ด้วยคำพูดเช่น ..

  • มัวนั่งจดนั่งท่องโดย ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ยิ่งเรียนก็จะยิ่งโง่นะ ... เจอปัญหาอะไรเข้าก็ได้แต่ยืนงง  ไม่รู้จะแก้อย่างไร  เพราะ ไม่เคยทำ  มัวแต่ท่อง
  • อย่าสอนเขามากนักเลย  ให้เขาเรียน บ้างเถอะครับ
  • ถ้ารอเรียนรู้แบบให้ ครูบอกจด เธอก็ไม่ต่างอะไรกับ ขอทาน ที่ถือกะลารอคอยว่าเมื่อไรจะมีคนหยิบยื่นเศษเงิน หรืออาหารให้
  • อันว่า ความง่าย กับ ความมักง่าย นั้น อยู่ใกล้กันจนน่ากลัว  วิ่งหาของง่ายบ่อยๆ  ระวังให้ดี จะกลายเป็นคนมักง่ายในที่สุด .. ( ผมอยากเห็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงสนาม  เจอปัญหาจริงๆ  ลำบากจริงๆ พบทุกข์จริงๆ )
  • ฯลฯ

         โดยสรุป ผมไม่เห็นด้วยกับ การเรียนรู้ที่ปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จนเกิดศรัทธาในสิ่งที่จะเรียน และยังตอบไม่ได้ชัดว่าจะ เรียนไปทำไม เมื่อ ฉันทะ ไม่ได้เกิดจากภายในใจของผู้เรียน วิริยะ  จิตตะ และ วิมังสา ก็ตามมายากมากครับ .. มันไม่มีพลัง  และผมเชื่อว่า พลังยิ่งใหญ่ที่จะนำคนสู่การเรียนรู้ก็คือ การได้เห็นทุกข์  เห็นปัญหาที่มีอยู่จริงๆ  และเกิดความปรารถนาแรงกล้าที่จะคลี่คลาย หรือแก้ปัญหาให้ได้เพื่อความพ้นทุกข์ ทั้งส่วนตน และของ เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครับ.

 

หมายเลขบันทึก: 68543เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราซูเอี๋ยกันนะครับอาจารย์

รอติดตามตอนต่อไปนะครับ

การย้ำเสมอๆ คงจะเป็นการปรับความคิดได้เหมือนกันนะคะ ขอเอาใจช่วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท