บูรณาการหลงทาง : “นกสองตัวแม้จะมีสี่ปีก เมื่อเอาขาผูกติดกันย่อมบินไม่ได้”


เพราะการบูรณาการต้องมาจากกระบวนการคิด แล้วนำเอากระบวนการคิดนั้น ไปสู่กระบวนการค้นหา รวบรวมข้อมูล ความรู้ หรือเทคนิควิธีการเพื่อจะนำมาเสริมซึ่งกันและกัน จนเป็นปัญญาในขั้นสุดท้าย

ผมได้คำพูดนี้มาจากการดูหนังกำลังภายใน ออกอากาศทางทีวี เรื่อง กระบี่ไร้เทียมทาน เมื่อประมาณสักเกือบ 30  ปีมาแล้ว ซึ่งมีพระเอกเป็นคนที่อาภัพ น่าสงสารตามสไตล์แบบเดียวกับพระเอกนางเอกหนังเมืองไทยเลยครับ เป็นลูกเจ้าสำนักบู๊ตึ้ง ที่แม่เป็นหญิงรับใช้ในสำนัก ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ จึงเติบโตมาในสำนักแบบเป็นเด็กรับใช้ให้กับสุดยอดฝีมือต่างๆในสำนัก แต่ไม่มีโอกาสได้ฝึกกำลังภายในอย่างที่เด็กคนอื่นๆเขาฝึกกัน จึงได้แต่ได้แอบสังเกตดูคนอื่น ๆ ที่เขาฝึกกันเป็นชั้นๆกลุ่มๆ แล้วก็ค่อยๆจำเอากระบวนท่าต่างๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อยต่างๆ  มาแอบฝึกด้วยตัวเองแบบผสมผสานค่อยเป็นค่อยไป จนเป็นท่ากำลังภายในของตนเองที่กล้าแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ

  

แต่ในขณะที่นักเรียนคนอื่น ๆ ที่มีโอกาสเข้าชั้นฝึกเต็มรูปแบบ ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างครบถ้วนมากมายทุกกระบวนท่า แต่ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถที่จะนำวิทยายุทธที่ครบถ้วนเป็นชุดๆทั้งหลายที่เรียนมา เข้ามาผสมผสานกันให้เป็นหนึ่งได้ เพราะเรียนจนครบเป็นเรื่องๆ สมบูรณ์ในตัวเอง จนไม่มีช่องว่างพอที่จะนำมาผสมผสานกันได้

  เมื่อมีการทดสอบฝีมือในสำนักแบบบู๊ตึงโอเพ่น พระเอกของเราที่ไม่เคยเข้าชั้นเรียน กลับสามารถเอาชนะนักเรียนทุกคนที่อยู่ในสำนักบู๊ตึ้งได้ โดยไม่ยาก 

เจ้าสำนักถึงตลึง และสอบถามว่าเจ้าฝึกมาจากใคร เพราะดูกระบวนท่าไม่ออก ว่าเป็นกระบวนท่าอะไร พระเอกของเราก็ได้ที แถลงที่มาว่าฝึกเอง ค่อยๆทำมาเรื่อย ตั้งแต่เด็ก ก่อนที่เด็กรุ่นเดียวกันจะได้มาเข้าชั้นเรียนเสียอีก ผนวกกับค่อยๆเก็บตกเคล็ดวิชาของสุดยอดฝีมือต่างๆ ที่แอบฝึกแบบไม่ให้ใครเห็น แต่ไม่ได้ระวังว่าเด็กรับใช้จะเห็น 

บทเรียนจากหนังเรื่องนี้คือ คนที่เรียนมาครบถ้วนแบบเป็นเรื่องๆแยกกันนั้น เมื่อมีการทดสอบประลองวิทยายุทธ จะพบปัญหาว่า ไม่สามารถดึงความรู้ออกมาใช้อย่างผสมผสานกันได้ ซึ่งแตกต่างจากคนที่เรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อยแบบบูรณาการ จะสามารถใช้ความรู้แบบกลมกลืนได้ โดยไม่ได้กำหนดว่า ความรู้ใดเป็นความรู้ใด จึงเป็นที่มาของคำเปรียบเปรยว่า  

นกสองตัว แม้จะมีสี่ปีก เมื่อเอาขาผูกติดกันย่อมบินไม่ได้

ที่เป็นการบูรณาการที่หลงทาง ไม่เริ่มต้นมาจากฐานราก แต่มารวมกันที่ยอด หรือปลายเหตุ ซึ่งมีอีกวลีหนึ่งว่า

 พื้นฐานไม่ดี ฝึกร้อยปีไม่ก้าวหน้า

ที่สะท้อนหลักการบูรณาการนั้นยังต้องเริ่มมาจากฐานราก จึงจะเข้มแข็งอย่างแท้จริง

  

ลักษณะเช่นนี้ แสดงว่า การบูรณาการนั้น คือการพัฒนาเป็นขั้นๆ จากฐานไปหายอด จากเล็กไปหาใหญ่ และทำให้ทุกอย่างที่มีอยู่นั้นสอดคล้องกันไปเรื่อยๆ และมีการสอดประสานจนเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกัน จึงจะเป็นลักษณะการบูรณาการที่แท้จริง

  ซึ่งตรงกับปรัชญาของการทำงานทุกอย่างให้เป็นหนึ่ง รวมวิธีการให้เป็นหนึ่ง รวมชีวิตให้เป็นหนึ่ง และรวมเป้าหมายให้เป็นหนึ่ง  

ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วย "จิตวิญญาณแห่งการบูรณาการ"

  

ทำไมจึงเรียกว่า จิตวิญญาณแห่งการบูรณาการ เพราะการบูรณาการต้องมาจากกระบวนการคิด แล้วนำเอากระบวนการคิดนั้น ไปสู่กระบวนการค้นหา รวบรวมข้อมูล ความรู้ หรือเทคนิควิธีการเพื่อจะนำมาเสริมซึ่งกันและกัน จนเป็นปัญญาในขั้นสุดท้าย

  

แต่ไม่ได้นำมาโดยรูปแบบของการใช้แบบแยกเป็นส่วนๆ ที่ทำให้มีลักษณะที่แตกต่างไม่สอดคล้องกัน แต่ต้องใช้ในลักษณะที่กลมกลืนกัน จนไม่สามารถแยกให้ออกได้โดยง่ายว่าลักษณะที่ใช้อยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบ หรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่จะเป็นลักษณะกลมกลืนกันไปทั้งหมด

  

ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดเป็นการรวมพลัง เปรียบเสมือนเอาพลังของนกสองตัวมารวมให้เป็นหนึ่ง โดยดูไม่ออกว่า นกตัวไหนเป็นส่วนไหน เพราะดูแล้วมันก็เห็นเป็นนกตัวเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากการรวมพลังที่ไม่เป็นหนึ่ง โดยการมองว่า เมื่อมีนกสองตัวมาอยู่ด้วยกัน จะทำให้นกสองตัวนั้นอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

  

ก็มีข้อเสนอเป็นวิธีคิดว่า เอาขาผูกติดกันซะ ก็อยู่ด้วยกันแล้ว

  

นี่คือ เทคนิค และประเด็นปัญหาที่ทำให้งานไม่เดินหรือไม่ประสบผลสำเร็จ  เป็นการบูรณาการที่หลงทาง

  

เนื่องจาก เทคนิคการรวมนั้นเป็นการรวมที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ปรัชญาของการรวมหรือการบูรณาการ  จึงต้องทำให้ถูกต้อง ทำความเข้าใจ ทำทุกอย่างให้สอดประสานกัน สอดคล้องกัน จนเกิดผลสัมฤทธิ์ผลไปในทางเดียวกัน

  

นี่คือ ปรัชญาของการรวมทุกอย่างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตามหลักการบูรณาการที่ถูกต้อง ดังกล่าวแล้ว

   ขอบคุณครับ...
หมายเลขบันทึก: 68501เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 05:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ดร.แสวงครับ

  • บูรณาการนี่ประมาณว่าคนหรือกวนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างมีเป้าหมายใช่ไหมครับอาจารย์ อย่าบูณาการกันแบบที่ว่าเอามาปนกันแบบยังแยกๆส่วนอยู่ อย่างที่อาจารย์ว่าบูณาการอย่างหลง ซึ่งผมขอเรียกบ้างว่าเป็นการบูรณาการเทียมครับ
  • การทำงานทุกอย่างให้เป็นหนึ่ง รวมวิธีการให้เป็นหนึ่ง รวมชีวิตให้เป็นหนึ่ง และรวมเป้าหมายให้เป็นหนึ่ง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วย จิตวิญญาณแห่งการบูรณาการ อันนี้แหละครับอาจารย์มันทำยากมาก จะทำอย่างไรดีครับ
  • สวัสดียามเช้าครับ อาจารย์

 

ครูนงครับ

เริ่มจากเล็กไปใหญ่ นั่นคือข้อแรก

นำเข้ามาทีละเรื่อง นั่นคือข้อสอง

ทำแล้วทดสอบ ประเมินผล นั่นคือข้อสาม

และ ฯลฯ

ถ้าครูนงไม่ล้อผมเล่นนะครับ

ทุกอย่าง back to basic ครับ

เอาชีวิตเราเป็นตัวอย่าง

ทุกคน บูรณาการทั้งนั้นแหละครับ ถ้าไม่บูรณาการ ตายตั้งแต่ก่อนเกิดแล้วครับ

จะมองมุมไหนก็ได้

ครูนงถนัดคิดแบบไหน ใช้ได้ทั้งหมด

ชีววิทยา ธรรมชาติวิทยา สังคมวิทยา ฯลฯ ได้หมดทุกสาขา

มันมีกระบวนการ ขั้นตอน ที่ดีที่สุดอยู่แล้ว

นี่คือคำตอบง่ายๆ

ผมยังว่าครูนงล้อผมเล่น หรือถามแทนคนอื่นมากกว่า

ยังไงก็ขอบคุณครับที่ถาม

 

ดร.แสวง ครับ

  • ผมเห็นด้วย ทั้งเริ่มจากเล็กไปใหญ่ นำเข้ามาทีละเรื่อง และทดสอบประเมินผล ให้ทำทุกอย่างแบบ  back to basic เห็นด้วยทุกอย่าง แต่ที่ผมหนักใจก็คือว่าองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งราชการ หนึ่งทำเล้กไม่เป็น ต้องทำงานใหญ่ สองทำทุกเรื่อง(ตามนโยบาย)ไม่คำนึงว่าทุนเดิมประสบการ์เดิมของตนจะเป็นอย่างไร ทำแล้วจะตอบโจทย์อะไร ยั่งยืน ยืนยาวกับมันไหม แล้วถ้ายิ่งให้นำประสบการณ์แบบภูมิปัญญามาใช้ back to basic ก็เกรงว่าจะไม่หัวก้าวหน้า อะไรอีกจิปาถะ ผมก็ได้แต่บ่นๆเท่านั้นเองครับ
  • ขอบคุณที่แลกเปลี่ยนกับอาจารย์แล้วได้ความคิดใหม่ๆกลับไปเสมอ

ด้วยความยินดีครับ

ผมไม่รู้ฝันมากไปหรือเปล่า

ผมอยากเห็นการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการศึกษานอกโรงเรียนจริงๆ

ไม่ใช่ การศึกษาในโรงเรียนหนึ่ง ที่ตั้งอยู่นอกอีกโรงเรียนหนึ่งอย่างที่เคยได้ยินมา

จะทำได้ไหมครับ ในกระบวน  LO กศน

เราจะได้มีทั้งสองขาครบถ้วน

นอก+ใน โรงเรียน

 

อ้อลืมบอกไปครับ

ก็อย่าบอกใครว่าเราทำเล็กไปใหญ่ เวลาเขียนโครงการต้องบอกอย่างที่เขาอยากได้ยินครับ

เช่น งานนี้เราจะทำ(จากเล็กไป)ใหญ่

ในวงเล็บเว้นไว้ให้เราเข้าใจเอง

และเรื่องภูมิปัญญาก็พูดว่าต่อยอด อย่าพูดว่านำมาใช้ครับ

ยากที่เขาจะตามทัน โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยออกจากหอคอยงาช้าง

ขึ้นต้นว่าบูรณาการ ลงท้าย เป็น บานละนะกู

น่าจะต้องปรับใหม่นะครับอาจารย์ จากเทวดามีสองปีกแยกกันบิน ไม่ง้อใคร  ตัดปีกออกองค์ละข้าง บินไม่ขึ้น ต้องรวมกันเป็นทีม เรียก ทีมเทวดาปีกเดียว

ดร.แสวง ครับ

       ฝันของอาจารย์คงจะค้างหรือเปล่าไม่ทราบครับ เขากำลังจะนำเอา กศน.ไปไว้ในโรงเรียน ในเขตพื้นที่การศึกษา ครับ เชิญอาจารย์ตามไปแลกเปลี่ยนท่ี ประเด็นร้อน กศน. ลิ้งค์

คุณไชยยงค์

ใครครับคือเทวดาปีกเดียว

แล้วจะบินขึ้นไหมครับ

ผมว่าไม่มีทาง

ครูนงครับ

ทำไมมีแต่เรื่องเศร้า

ผมเพิ่งคุยกับครูบา เพิ่งออกจากห้องประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติ ก็มีแต่เรื่องเศร้า

แต่มีข่าวดีว่าคุรุสภาจะมาลงเล่นบล็อกกับเรา เพื่อเก็บเกียวประเด็นไปทำงาน

ขอบคุณครับ

ดร.แสวงครับ

             เศร้าเรื่องการศึกษาเมืองไทยเราหรือเปล่าครับ

แม่นแล่ว... ครับ

ผมพยายามผลักดันเต็มที่แล้วครับ คุยกับครูบาทุกวัน ว่าเราจะรุกช่องไหนดี

เต็มที่ครับ ครูนงช่วยเป็นกำลังใจด้วยนะครับ วันหลังจะไปเยี่ยมที่นครฯ ครับ ผมก็คนนครฯ เหมือนกันนะครับ แต่นครราชสีมา ครับ ใกล้เคียงกันมากที่สุดแล้วครับ

ดร.แสวง ครับ

  • เป็นกำลังใจครับ สู้ๆ ครับอาจารย์
  • ยินดีต้อนรับด้วยแกงพุงปลา (ไตปลา) กับสตอ 2 ฝัก ครับ อย่าลืมหมูยอโคราชติดมือมาด้วยเด้อ

ครับ ครูนงครับ ไม่ลืมแน่เลย ผมไปไหว้วัดพระธาตุทุกปี แวะร้านเงินนโมนห้าวัดหาของเก่ามาเก็บให้รกบ้านตลอดแหละครับ

เรียน ดร.แสวง ที่นับถือ

เทวดาทั้งทีมเมื่อตัดปีกออกองค์ละหนึ่งข้าง แล้วต้องกอดคอกันบินครับ แต่ไม่รู้จะบินขึ้นรึเปล่า

นี่แหละโศกนาฏกรรมของการพัฒนาครับ เห็นใจจริงๆ ครับ

จากที่อ่านเรื่องนี้ ผมว่าแนวความคิดนี้ ดี สามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้มาก

แต่มีปัญหาตรงที่

ค่านิยมแบบเดิมๆ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และถ้าจะเปลี่ยนคงจะเป็นไปได้ยาก

ค่านิยมที่ว่าคือ กระบวนการคิดแบบแยกส่วน

เช่น การศึกษาที่แยกส่วนอยู่ทุกวันนี้ คือการเรียนที่เรียนรู้ทุกอย่างไปก่อน จบมาแล้วค่อยเอาไปใช้ วิชาแต่ละวิชาก็แยกกันไป สุดท้ายก็ไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งตัวอย่างที่ผมกล่าวมานี้ทำให้กระบวนการการเรียนรู้ ของนักเรียนหยุดชงักและเกิดความเบื่อหน่าย และก็ไม่เรียน ไปทำอย่างอื่นที่สนุกๆแต่ไม่มีสาระแทน

จึงอยากทราบว่าการบูรณาการจะแก้ไปปํญหา เรื่องการเรียนแยกส่วนอย่างไร

เข้าไปแก้ที่ตรงไหน , ใครจะเป็นคนแก้ ,แนวทางการแก้ควรจะเริ่มที่ตรงไหน

,การแก้ไขจะใช้เวลานานเท่าไร (กราบเรียนถามท่านอาจารย์ด้วยความเคารพครับ)

ตอบครับ

เริ่มต้นที่ตัวเรา

ทำให้คนอื่นเห็น

ทำเป็นกลุ่ม

ขยายเป็นเครือข่าย

เชื่อมโยงเป็นนโยบาย

นี่คือตัวอย่างจากจองจริง ทำแล้ว สำเร็จแล้ว

ตามแนวทาง "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา"

ของท่านอาจารย์หมอประเวศ ครับ

นำไปใช้ได้เลย

อยากให้ไปบรรยาย หรืออยากดูต้นแบบ เชิญมาเลยครับ

มีให้เห็น มีให้เรียนครับ

ของดีๆ มีมากมาย ต้องใฝ่หาจึงจะพบ

เอวังก็มีด้วยประการ ฉะนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท