ความรู้กับความไม่รู้ : ลัทธิบูชาสินค้า


ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมถูกเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ
ศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

ความรู้กับความไม่รู้ : ลัทธิบูชาสินค้า
ลัทธิ บูชาสินค้าเป็นลักษณะเฉพาะข้อหนึ่งของสังคมทุนนิยม สังคมต่างสมัยต่างกลุ่ม มักมีของบูชากันไปตามความเชื่อ บางสังคมบูชางู บ้างบูชาพระอาทิตย์ แต่สังคมทุนนิยมนั้นย่อมบูชาสินค้า มาร์กซ์เป็นผู้เล็งเห็นและศึกษาลัทธินี้ในสังคมทุนนิยมอย่างค่อนข้างถึงราก

การ บูชาสินค้า กล่าวได้ว่า เป็นสิ่งควบคู่กับความแปลกแยกในสังคมสมัยใหม่ ในระยะหลังเป็นที่สนใจมากขึ้นเนื่องจากเป็นการวิพากษ์ระบบทุนจากจุดของสังคม จิตวิทยาสังคม มนุษยศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งเปิดทางกว้างในการศึกษา

นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐศาสตร์-การเมือง เพื่อขยายความ ควรจะได้กล่าวถึงสถานการณ์ลัทธิมาร์กซ์ในปัจจุบัน



สถานการณ์ลัทธิมาร์กซ์

ลัทธิมาร์กซ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 150 ปี สถานการณ์ปัจจุบันอาจกล่าวได้ดังนี้

1) พลังปฏิวัติของลัทธิมาร์กซ์ได้อ่อนลงมาก จนกระทั่งแม้ในประเทศไทยก็ประกาศยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่พลังแห่งการวิพากษ์สังคมทุนนิยมยังมีอยู่สูง

ขบวนการประชาสังคม โลกขณะนี้ แม้ว่าจะมีความหลากหลาย แต่เมื่อการต่อสู้แหลมคมขึ้น ก็มีแนวโน้มรวมไปสู่การต่อต้านบรรษัทและระบบทุนในระดับต่างๆ กัน

ซึ่ง เมื่อถึงจุดนี้ลัทธิมาร์กซ์ก็มีส่วนช่วยเหลือได้มาก หากนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างเหมาะสม โดยไม่หลงติดในเครื่องมือนี้ 2) ข้อเสนอในลัทธิมาร์กซ์ให้จัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นเหมือนกองหน้าของชน ชั้นกรรมกร ดูจะถึงทางตัน โดยเมื่อนำไปปฏิบัติ กลายเป็นการเผด็จการของคนส่วนน้อย เช่น ชนชั้นผู้จัดการ ไม่ใช่เผด็จการของคนส่วนใหญ่อย่างที่มาร์กซ์ฝันเห็น

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวภาคประชาชนปัจจุบัน ข้อถกเถียงว่าจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรคก็ดูกลับมาเป็นระเบียบวาระสำคัญขึ้น

3) แม้ลัทธิมาร์กซ์จะถือว่าการผลิตและการผลิตซ้ำทางวัตถุในการดำเนินชีวิตจะ เป็นสิ่งพื้นฐานและเป็นที่มาจากจิตสำนึก แต่ก็ได้ให้ความสนใจเรื่องทางสังคม จิตวิทยา ปรัชญา ความเป็นมนุษย์ และวัฒนธรรมอย่างสูง

มาร์กซ์เองไม่ได้พึงพอใจอยู่เพียงวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ หากยังได้เสนอวิทยาศาสตร์แห่งมนุษย์ (Human Science) เป็นเรื่องใหญ่ที่มาร์กซ์ทิ้งค้างไว้เนื่องจากจำเป็นต้องศึกษาและอธิบาย สิ่งที่เป็นพื้นฐานก่อน

ชาวมาร์กซ์รุ่นหลัง ได้เปิดพื้นที่ศึกษาด้านนี้อย่างกว้างขวาง และให้น้ำหนักด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะกลบเรื่องการผลิตและการแลกเปลี่ยน และหันไปสนใจทางด้านวัฒนธรรมแทน

เช่น บางคนเสนอว่าการที่ระบบทุนนิยมยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้นั้น ที่สำคัญเกิดจากระบบนี้สามารถควบคุมการสื่อสารในสังคมอย่างทั่วด้าน ก่อให้เกิดการยอมรับค่านิยมแบบทุนนิยม เช่น การใช้จ่ายเพื่อหาความสุข และปฏิเสธค่านิยมแบบอื่น

เช่น การหาความสุขโดยไม่ต้องใช้จ่ายหรือใช้จ่ายน้อยมาก ได้แก่ การนั่งชมนกบินกลับรังใกล้ค่ำ หรือนั่งดูปุยเมฆขาวลอยตามกระแสลม เป็นต้น (อาจถูกกล่าวหาว่าเสียสติ)

อนึ่ง ในลัทธิหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) มีองค์ประกอบหลายส่วน ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากมาร์กซ์ที่ให้ความสนใจหนักไปใน ด้านศิลปวัฒนธรรม



ลัทธิบูชาสินค้าเสนอขึ้นมาอย่างไร

ลัทธิ บูชาสินค้า (The Fetishism of Commodities/Commodity Fetishism) เป็นการวิพากษ์ที่แหลมคมของมาร์กซ์เกี่ยวกับการผลิตสินค้าในระบบทุนนิยม ปรากฏในหนังสือ \"ทุน\" เล่ม 1 การพิมพ์ครั้งที่สอง ในตอนท้ายของบทที่หนึ่งและใช้เนื้อที่ไม่มากนัก ในการกล่าวถึงลัทธิบูชาสินค้านี้ มีข้อควรกล่าว 3 ประการได้แก่

1) มาร์กซ์มีเจตนาที่จะเปิดเผยความเร้นลับของสินค้า อันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตลอดในชีวิตประจำวัน

สินค้า มองเห็นในรูปแบบวัตถุชัดเจน แต่ภายในนั้นมีความสัมพันธ์ที่ลึกลับซับซ้อน ใครก็ตามที่มองเห็นความสัมพันธ์อันลึกลับซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในสินค้าแล้ว ก็สามารถเข้าใจความลับของระบบทุนนิยมได้ทีเดียว

2) มาร์กซ์มีความนิยมส่วนตัวในการเปรียบเทียบการผลิตสินค้าในระบบทุนนิยมกับ การสร้างความคิดหรือความเชื่อทางศาสนาในสมัยก่อน โดยเขาเห็นว่าทั้งสองอย่างมีความเหมือนกันตรงที่ มีความรู้ไม่พอเพียงและไม่อาจควบคุมธรรมชาติได้

เนื่องจากความจำกัด ของพลังการผลิตที่ดำรงอยู่ในสังคมชนชั้น เนื่องจากความไม่พอเพียงและความจำกัดดังกล่าวจึงได้มีการสร้างของขลังและ วัตถุบูชาขึ้นมา เพื่อเป็นหนทางในการควบคุมธรรมชาติและสังคม

ลัทธิความเชื่อต่างๆ สร้างของขลังขึ้นหลากหลาย สังคมทุนนิยมสร้างสินค้าเป็นของขลัง

3) แม้ว่าลัทธิบูชาสินค้าจะเสนอขึ้นโดยเพ่งเล็งไปทางด้านเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน แต่มีนัยอื่น ได้แก่ การเปิดเผยสังคมทุนนิยมทางด้านสังคมวิทยา จิตวิทยา และมานุษยวิทยาด้วย ซึ่งมีการอธิบายขยายความไป เนื่องจากลัทธิบูชาสินค้าได้มีการปฏิบัติพัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง



อธิบายศัพท์ลัทธิบูชาสินค้า

ลัทธิบูชาสินค้า ซึ่งแปลจาก Commodity fetishism เป็นการแปลแบบเอาความ หากแปลให้ตรงตัวควรเป็นลัทธิเครื่องราง/ของขลังทางสินค้า

คำ ว่า \"Fetish\" มาจากคำภาษาโปรตุเกส feitico แปลตามตัวว่า ของที่ทำขึ้น หมายถึงเครื่องรางของขลัง เรื่องราวเกิดจากการที่นักเดินเรือโปรตุเกส ที่ได้เดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตกเป็นครั้งแรก ได้เห็นการสร้างเครื่องรางของขลังจำนวนมากในหมู่ชนพื้นเมืองในบริเวณนั้น พวกพ่อค้านักเดินเรือโปรตุเกสได้นำเครื่องรางของขลังดังกล่าวเข้ามาขายใน ฝรั่งเศส เรียกว่า Fetiche ชาวยุโรปในครึ่งหลังศตวรรษที่ 15 จำนวนหนึ่งนิยมเครื่องรางของขลังแบบนี้

ออกุส คองต์ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส (ค.ศ.1798-1857) เรียกศาสนาหรือลัทธิความเชื่อดั้งเดิมทั้งหมดนี้ว่า ลัทธิของขลัง โดยอธิบายว่าเป็นความเชื่อที่ทำให้เห็นว่าวัตถุที่ทำขึ้นมีจิตใจเหมือน มนุษย์

หลังจากนั้น มีการอธิบายศาสนาหรือความเชื่อของชนเผ่าให้กว้างขวางออกไป โดยเรียกเป็น ลัทธิวิญญาณนิยม (Animism) ความคิดเรื่อง Fetishism ได้มีการใช้อย่างกว้างขวางทางมานุษยวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มาร์กซ์จึงได้หยิบมาใช้เปรียบเทียบ

ของขลังนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุที่ทำขึ้นแล้วมีจิตใจเหมือนมนุษย์เท่านั้น หากยังมีอำนาจวิเศษเหนือมนุษย์อีก ลัทธิบูชาสินค้าจึงเป็นการปฏิบัติที่ยกสินค้ามีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ กระทั่งอยู่เหนือมนุษย์



สินค้ากลายเป็นของขลังได้อย่างไร

ลัทธิ บูชาสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือไม่ใช่สิ่งที่เป็นเองตามธรรมชาติ หากแต่ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่แน่นอน หรือในระดับการพัฒนาทางสังคมที่แน่นอน ซึ่งหมายความว่าหากเหตุปัจจัยนี้หมดไป ลัทธิบูชาสินค้าก็จะหายไปด้วย

การ บูชาสินค้าเกิดขึ้นในการผลิตแบบทุนนิยมซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางการ ผลิตอย่างหนึ่ง ทำให้สินค้าเกิดความเร้นลับจนกลายเป็นของขลังขึ้น 6 ประการ ได้แก่

1) การผลิตสินค้าในระบบนี้เป็นการผลิตเพื่อสนองความต้องการของคนทั่วไปหรือผู้ อื่น ไม่ใช่ของตัวเอง ดังนั้น คำขวัญของผู้ใหญ่วิบูลย์ที่ว่า \"ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก\" จึงเป็นการผลิตที่ไม่สร้างลัทธิบูชาสินค้า และย่อมไม่ใช่การผลิตสินค้าแบบทุนนิยม ซึ่งดูเหมือนระบบนี้ก็ดูไม่ต้อนรับการผลิตดังกล่าว พบความพยายามเบียดขับให้ล้มละลายไป และสร้างรูปแบบการผลิตสินค้าเพื่อขายให้ผู้อื่นบริโภค

2) เรื่องยิ่งทวีความซับซ้อน เมื่อการผลิตสินค้าที่ต้องการให้ผู้อื่นบริโภคนั้น ไม่ได้กระทำไปเพื่อสนองความต้องการของสังคม หากเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้น ผู้ผลิตแต่ละราย จึงดำเนินการผลิตเป็นแบบตัวใครตัวมัน ไม่ขึ้นกับผู้อื่น มุ่งหวังที่จะผลิตเพื่อขายให้ได้กำไรเป็นสำคัญ เกิดลักษณะอนาธิปไตยทางการผลิต ไม่รู้แน่ว่าผลิตแล้วจะขายได้กำไรหรือไม่ การผลิตในระบบทุนนิยมจึงมีความเสี่ยงในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีสูง มีการตลาดยอดเยี่ยมเพียงใดก็ตาม นี่เป็นอาการที่ความรู้ไม่มีวันพอ และการที่ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติและสังคมได้ ความต้องการของขลังจึงเกิดขึ้น

3) การผลิตสินค้าไม่ใช่เพื่อใช้ หากแต่เพื่อขายหรือแลกเปลี่ยน เพื่อที่จะสะดวกในการแลกเปลี่ยน จำต้องแปลงงานรูปธรรมกลายเป็นงานนามธรรม เช่น การวาดภาพของศิลปินเป็นการทำงานรูปธรรมอย่างหนึ่ง การปะรองเท้า การผลิตบะหมี่ซอง การปลูกกล้วย ก็เป็นรูปธรรมที่ต่างกันไป ยากที่จะแลกเปลี่ยน ต้องทำให้เป็นแรงงานนามธรรมหรือแรงงานทั่วไป

โดยกำหนด จากเวลาทำงานที่จำเป็นทางสังคมในช่วงเวลานั้น ซึ่งนิยมใช้ทองหรือเงินเป็นตัวกลาง ทองหรือเงินนี้ ถือเป็นสินค้าในรูปแบบสูงสุด การแลกเปลี่ยนสินค้าจึงได้เกิดอย่างรวดเร็ว กระทั่งเข้าครอบงำการทำงานที่เป็นรูปธรรมนั้น ว่ามีค่ามากน้อยเพียงใด

4) ในระบบทุนนิยม แรงงานได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง นายทุนซื้อแรงงานจากคนงาน เช่น 8 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และใช้แรงงานนั้นทำการผลิตควบคู่กับเครื่องจักร ตั้งแต่เครื่องกลึงไปจนถึงคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างมูลค่าส่วนเกินหรือกำไรขึ้น การแลกเปลี่ยนในกระบวนการผลิตสินค้า แทนที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนทางสังคม กลับกลายเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัตถุ นั่นคือขายแรงงานเพื่อแลกกับเงิน

5) ผลผลิตหรือสินค้าที่เกิดจากการผลิต ตกไปเป็นของนายทุนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผู้ซื้อแรงงานของคนงาน แต่สินค้าที่เกิดขึ้นได้นี้ยังไม่สามารถทำให้กำไรเป็นจริงทางวัตถุ จำต้องนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนในตลาด ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ ในปัจจุบันกลายเป็นอุตสาหกรรมการตลาดมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ที่มีขนาดใหญ่โต

6) การแลกเปลี่ยน ทำให้รู้ว่างานของตนเป็นที่ต้องการของสังคมหรือไม่ และทำให้รอบการผลิตสินค้าปรากฏเป็นจริง เกิดการยอมรับว่าเป็นธรรมชาติที่จะต้องเป็นไปอย่างนี้ว่า สินค้าแลกเป็นเงิน หรือเงินแลกเป็นสินค้าได้

จากความสัมพันธ์ที่ซับ ซ้อนดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ในการผลิตทุกขั้นตอน ล้วนแต่ถือสินค้าเป็นใจกลางหรือมีความสำคัญสูงสุด สินค้าอันเป็น \"สิ่ง\" ถูกทำให้เหมือนมีชีวิตของมันเอง กลายเป็นของขลังที่ขับเคลื่อนสังคมทุนนิยม ความเป็นคนหายไป เหลือแต่คนที่ถูกแบ่งเป็นอะตอมตามการแบ่งงานกันทำ เช่น เป็นผู้จัดการ ลูกจ้าง ศิลปิน

ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมถูกเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ ได้แก่ สินค้า ของขลังแห่งสังคมทุนนิยม
หมายเลขบันทึก: 68346เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท