E22PAB
ว่าที่ร.ต. วีระพงษ์ สิโนรักษ์

นายวีระพงษ์ สิโนรักษ์ (ครั้งที่50)


ครั้งที่ 50
      วันนี้มาถึงที่หน่วยฝึกงานตอน 06.30 น.  และได้เตรียมและตรวจสอบอุปกรณ์ครั้งสุดท้ายก่อนออกเดินทางไปถ่ายทำที่ 
ม.เกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  เพื่อเก็บภาพการผสมพันธุ์เทียมของวัวพันธุ์กำแพงแสน ซึ่งใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์  โดยรถจะออกเดินทางเวลา 07.00 น. ก่อนออกเดินทางวันนี้ผมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์วิจิตร ทั่งทอง (อาจารย์พี่เลี้ยง) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมการถ่ายทำ ว่าการถ่ายทำนอกสถานที่ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและไม่สามารถนำกลับมาได้ใหม่นั้น ทีมงานทุกคนต้องช่วยเหลือกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่สำคัญทุกคนต้องมีความไวและกระชับกระเฉงตื่นตัวตลดอเวลา และต้องมีสมาธิกับงาน เพราะการทำงานในลักษณะนี้ก็เหมือนกับการถ่ายทอดสดที่จะพลาดไม่ได้และไม่สามารถเทคใหม่ได้ เหมือนกับงานที่ไปถ่ายที่โรงเรียนดาราคาม ที่ได้เคยบันทึกไว้ครั้งหนึ่งแล้วเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการถ่ายทำ อันนี้ก็จะมีลักษณะคล้ายๆกัน ต่างก็ตรงนี้งานครั้งนี้ต้องคุมเข้มเรื่อง Script เป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาได้ถูกเตรียมไว้หมดแล้วจากฝ่ายวิทยาศาสตร์ เมื่อผมได้รับฟังคำแนะนำจากอาจารย์ก็ทำให้ผมได้นึกย้อนกลับไปถึงการทำงานเมื่อวานนี้ที่ไปถ่ายทำที่ศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดปทุมธานี ว่าผมนั้นก็ทำงานช้าอยู่มากเมื่อเทียบกับการทำงานของทีมงานคนอื่นๆกับงานในลักษณะเชิงสารคดีแบบนี้ ความพร้อมและสมาธิในการทำงานถูกนำมาเป็นประเด็นในหัวผมตอนนั้นทันที ทั้งๆทีบางช็อตผมเห็นว่าไม่น่าต้องใช้ความเร็วในการถ่ายทำสักเท่าไรจึงทำอะไรช้าไปบ้าง แต่สำหรับทีมงานคนอื่นนั้นเขาคิดกันว่า ผมอาจพลาดช็อตนั้นไปแล้วก็เป็นได้ และนั้นหมายถึงว่าทั้งทีมต้องเหนื่อยเพื่อหาภาพเหตุการณ์เดิมหรือไกล้เคียงกันเพื่อมาซ่อมช็อตที่เสียไป อย่างเช่นภาพชาวนากำลังเกี่ยวข้าว เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมคาดการณ์ผิดจนทำให้โดนตำหนิ ตอนนั้นผมเป็นคนแบกขาตั้ง และอาจารย์ได้มุมที่ต้องการแล้วจึงออกปากเรียกขาตั้ง และผมก็กางขาออกอย่างช้า ๆ (ไม่ช้ามากแต่เป็นความไวปกติซึ่งไม่เพียงในเวลานั้น) ทำให้ถูกตำหนิดังกล่าว และในช็อตนี้ก็ยังขัดตาผมอยู่มาก เนื่องจากความรู้สึกส่วนตัวหากผมเป็นช่างภาพ ในช็อตนั้นผมจะไม่ใช้ขาตั้ง เหตุผลเพราะวัตถุที่ถ่ายนั้นมีการเคลื่อนไหวหรือ(ภาพชาวนากำลังเกี่ยวข้าว) กล้องก็ควรใช้ Hand-Held หรือการถ่ายแบบฟรีสไตล์โดยไม่ใช้ขาตั้ง (แต่ต้องไม่ถึงกับขนาดสั่นไหวจนเสียสมดุลของภาพไป)จึงจะทำให้ภาพนั้นมีการอารมณ์และความรู้สึกมาขึ้น นอกจากคำแนะนำเรื่องการทำงานแล้ว ก่อนออกเดินทางผมยังได้รับคำแนะนำเรื่องการศึกษาอุปกรณ์ที่เราใช้ ศึกษาถึงศักยภาพของอุปกรณ์ว่าสามารถทำงานได้แค่ไหน เพราะถ้าเราฝืนทำงานเกินความสามารถของอุปกรณ์หรือตั้งเป้ากับอุปกรณ์ไว้สูงในขั้นเตรียมการวางแผน จะทำให้งานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควรหรืออาจทำงานไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเป็นผลทำให้งานครั้งนั้นเกิดความเสียหาย ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายเช่น วันนี้มีการถ่ายทำภาพดอกไม้แต่กล้องของเราไม่มีเลนส์มาโครหรือเลนส์ที่มีอัตราการขยายภาพสูงๆ และไม่สามารถถอดเปลี่ยนกระบอกเลนส์ได้ แต่ขั้นการวางแผนการถ่ายทำก็ไม่มีการคัดค้านโครงการการถ่ายทำดอกไม้โดยใช้กล้องชุดนี้ เป็นต้น นี้ก็เป็นตัวอย่างแนวความคิดที่ผมได้มาจากอาจารย์วิจิตร ทั่งทอง ซึ่งจะเห็นว่าการถ่ายภาพดอกไม้ซึ่งเป็นโจทย์รวมอย่างกว้างๆ แต่ช่างภาพทุกคนต้องตีโจทย์ให้แตก เพราะดอกไม้ไม่ได้มีเพียงดอกไม้อย่างเดียวที่ต้องถ่าย แต่ยังมีเรื่องของ เกสรดอกไม้ซึ่งมีขนาดเล็กมาก แมลงชนิดต่างๆซึ่งทำหน้าที่ผสมพันธุ์ให้กับเกสรดอกไม้ ศัตรูพืชชนิดต่างๆที่กัดกินใบและดอกของดอกไม้ซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ย่อยที่รวมอยู่ในโจทย์ใหญ่ที่ช่างภาพทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (เว้นแต่ว่าการวาง Concept ของทีมงานจะชัดเจนเจาะจงไปที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด) และทั้งหมดนี้ก็เป็นประสบการณ์ แง่คิด มุมมอง รวมถึงความรู้สึกต่อการทำงานของผมในวันนี้ครับ
คำสำคัญ (Tags): #ครั้งที่50
หมายเลขบันทึก: 68293เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 07:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท