คนสุพรรณบุรีต้องการอะไรเมื่อ...น้ำมา...นาหมด


ความช่วยเหลือที่ประชาชนต้องการเมื่อน้ำท่วม

คนสุพรรณบุรีต้องการอะไรเมื่อ...น้ำมา...นาหมด

                ในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี โดยคณะอาสาสมัครจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี ทางวิทยาลัยได้ทำการสำรวจพื้นที่พร้อมทั้งติดต่อประสานงาน จัดประชุมเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้อาสาสมัครทุกคนรับทราบกฎระเบียบ และข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมทั้งการทบทวนความรู้ที่ได้รับให้พร้อมแก่การนำไปถ่ายทอดให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้รับทราบ พร้อมทั้งดำเนินการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ   จัดแบ่งทีมการปฏิบัติงาน   จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน                การออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ อาสาสมัครได้ทำภารกิจที่หลากหลาย ประกอบด้วย การร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กับโรงพยาบาล  ให้บริการสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม แจกเอกสารแผ่นพับโรคที่ต้องระวังและวิธีการคลายเครียด  แจกยาและเวชภัณฑ์  ร่วมจัดและแจกถุงยังชีพ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ทำการออกเยี่ยมบ้านให้คำปรึกษาฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยน้ำท่วม และออกให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนหลังน้ำลด จากการออกปฏิบัติงานในพื้นที่ทำให้อาสาสมัครนักศึกษาวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดการรียนรู้และรับทราบสภาพความเป็นจริงใน ในประเดินดังต่อไปนี้ ด้านสภาพความเสียหาย                สภาพความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดสุพรรณบุรี  ปี  2549  พบว่ามีพื้นที่เสียหายจำนวน  10  อำเภอ  ประกอบด้วย  อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  อำเภอบางปลาม้า  อำเภสองพี่น้อง  อำเภอเดิมบางนางบวช   อำเภอด่านช้าง  อำเภอดอนเจดีย์  อำเภอศรีประจันต์  อำเภออู่ทอง  และอำเภอหนองหญ้าไซ  รวม  99  ตำบล  6  เทศบาลตำบล  1  เทศบาลเมือง  646  หมู่บ้าน  20  ชุมชน  ประชาชนได้รับความเดือนร้อนรวมทั้งสิ้น  301,047  คน    94,291  ครัวเรือน   มีความเสียหายทั้งในด้านพื้นที่ทางการเกษตร  โรงเรือนสัตว์เลี้ยง    ถนนชำรุด  สะพานชำรุด  วัด  โรงเรียน  สถานที่ราชการ  รวมทั้งการเสียชีวิตของประชาชน  จำนวน  18  คน  จำแนกเป็น  ชาย  13  คน  หญิง  5  คน  เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่า  ผู้เสียชีวิตมีอายุต่ำสุด  2  ปี  และสูงสุด  78  ปี   ในพื้นที่  4  อำเภอ  คือ  อำเภอบางปลาม้าอำเภอเมืองสุพรรณบุรี   อำเภอเดิมบางนางบวช  และอำเภอสองพี่น้อง  เมื่อพิจารณาข้อมูลความเสียหายความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นจำแนกรายอำเภอ  ร่วมกับระยะทาง สถานที่ฝึกงาน และความสามารถของอาสาสมัครทางวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้เลือกพื้นที่ออกดำเนินรวม  5  อำเภอคือ   อำเภอเมืองสุพรรณบุรี   อำเภอบางปลาม้า อำเภอสองพี่น้อง  อำเภออู่ทอง  และอำเภอสามชุก ด้านประชาชนผู้ประสบอุทกภัย 1.      มีสภาพความเป็นอยู่ลำบาก  มีความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน

 จากการออกไปปฏิบัติงานพบว่า   ประชาชนต้องย้ายที่อยู่มาพัก

อยู่บริเวณริมถนนที่มีแสงสว่างจากเสาไฟข้างทางเท่านั้น  อีกทั้งยังมีรถประจำทางวิ่งผ่านอยู่ตลอดเวลา ทำให้เวลากลางคืนนอนไม่ค่อยหลับเพราะกลัวอันตรายถึงชีวิต ดังคำกล่าวของชายวัยกลางคนที่ว่า ทางส่วนราชการไม่ได้จัดที่อยู่ให้เป็นสัดส่วน บ้านเราก็อยู่ไม่ได้ น้ำมันท่วมจริง ๆ   สอดคล้องกับคำกล่าวของหญิงวัย 32 ปี ที่ว่า รถเขาขับกันมาเร็วมากเลย ไฟก็ไม่สว่าง และคำกล่าวของชายวัย 30 ปีที่ว่า บางที่ตอนนอน ๆ อยู่กลางดึกกิ่งไม้ก็ตกลงมาใส่ รถก็แล่นเร็วน่ากลัว ที่กั้นทำเครื่องหมายจราจรก็ไม่มี น่ากลัวอันตรายแต่ก็ต้องทนนอนอยู่อย่างนี้แหละ  อยากให้มีตำรวจมาดูแลบ้าง  ขโมยก็มาก                                2.    ความช่วยเหลือที่ได้ไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริง  ไม่ทั่วถึงทุกครัวเรือน  ต้องการจุดตรวจดูแลด้านสุขภาพและสุขาภิบาล                                  จากการออกปฏิบัติงานพบว่า การที่หน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนโดยการแจกถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยนั้น ประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการแจกอย่างทั่วถึง ของในถุงบางชนิดไม่สามารถบริโภคได้เนื่องจากหมดอายุ ดังคำกล่าวของหญิงชราวัย 62 ปี ที่ว่า ถุงยังชีพของไม่พอหรอก ใช้ระบบพรรคพวกบางบ้านได้ 2-3 ถุง บางบ้านก็ไม่ได้เลย  และดังคำกล่าวของชายวัย 47 ปี ที่ว่า ของที่เอามาแจกเป็นถุง ๆ ไม่อยากได้หรอก ขอแค่ข้าวสารสักถังก็พอ กับข้าวหาเอาเองได้ไม่เดือนร้อน  สอดคล้องกับหญิงวัย 38 ปี ที่กล่าวว่า ของที่แจกเก่ากินไม่ได้ เอาไปหนักแล้วกินไม่ได้                                ส่วนการช่วยเหลือในด้านสุขภาพอนามัยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับยาที่ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  และสถานีอนามัยเอาเข้ามาแจกเป็นจำนวนที่เพียงพอ แต่อยากให้มีการตั้งจุดตรวจในชุมชนเพื่อดูแลสุขภาพ และต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของส้วม ดังคำกล่าวของหญิงอายุ 28 ปี ที่ว่า น้ำท่วมไม่สามารถออกมาหาหมอได้อยากให้มีการตั้งจุดตรวจในหมู่บ้านริมทางบ้างก็จะดีกว่าที่เอายามาแจกเฉย ๆ  สอดคล้องกับคำกล่าวของชายวัย 30 ปี ที่ว่า ผมรีบขนของตอนเช้ามา เลยเป็นแผลที่เท้าจะออกไปหาหมอก็ลำบาก เลยปล่อยเลยตามเลย เพราะต้องคอยดูลูกด้วย เงินก็ไม่มี ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้ามีหมอมาตรวจก็ดี และคำกล่าวของหญิงชราวัย 61 ปี ที่ว่า น้ำท่วมห้องน้ำเข้าไม่ได้อยากให้มีการช่วยเหลือในเรื่องนี้บ้าง                 3.  ผู้ประสบอุทกภัยมีภาวะความเครียด และวิตกกังวลสูง มีความต้องการให้มีคนเข้าไปเยี่ยมพบปะพูดคุยระบายทุกข์                                จากการออกปฏิบัติงานในพื้นที่พบว่า ประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้มีความวิตกกังวลสูง ทั้งจากสาเหตุของอาการที่ไม่ทราบว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ จะท่วมขังอยู่อีกนานหรือไม่ หลังน้ำลงจะมีคนมาดูแลในเรื่องการประกอบอาชีพ การชำระหนี้สินทำกินจะมีทางออกอย่างไร ดังคำกล่าวของชายวัย 38 ปี ที่พูดด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอขณะพูดที่ว่า ช่วยฟังผมพูดหน่อยเถอะผมกับพวกที่อยู่ข้างในไม่ค่อยกล้าจะพูด แต่ยุ้งข้าวเราเสียหายมากเลยคนข้างในเสียหายเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ ให้เขาเข้าไปดูคนข้างในบ้าง บ้านเราอยู่ติดแม่น้ำมันลำบากจริงๆ  สอดคล้องกับคำกล่าวของหญิงชราวัย 61 ปี ที่ว่า ฉันอยู่เฝ้าบ้านคนเดียว  มีพวกหนูเข้ามาพูดคุยด้วยก็สบายใจคนอื่นเขามาก็มายื่นอยู่แค่หน้าบ้านแล้วก็ผ่านไป มีกลุ่มนี้แหละที่เข้ามานั่งคุยด้วย ขอบใจมาก สอดคล้องกับคำกล่าวของหญิงวัย 35 และ 49 ปี ที่ว่า ไม่เคยมีใครมาพูดคุยในบ้านเขากลัวเปียก และ ของไม่อยากได้หรอก อยากให้ใครมาเข้าใจความเป็นอยู่ปัญหาจริง ๆ ที่ประสบอยู่ และคำกล่าว ชายวัย 39 ปี ที่ว่า  จะออกไปทำงานก็ไม่กล้าไปกลัวกลับบ้านมาขนข้าวขนของไม่ทัน แต่พอไม่ทำงานก็ไม่มีเงินมันเครียดจริง ๆ และคำกล่าวของหญิงวัย 53 ปี ที่ ช่วยไม่ได้ขอให้ฟังก็ยังดี ถ้ามีโอกาสจะได้คุยให้คนที่สูงกว่าได้รู้บ้างว่าเราลำบากแค่ไหน  จังหวัดอื่นเขายังได้ออกทีวีแต่สุพรรณไม่เห็นมีเลย                  4.     ความต้องการความช่วยเหลือที่ประชาชนต้องการ

จากการออกปฏิบัติงานในพื้นที่พบว่า   ประชาชนอยากให้มีการ

เตือนภัยล่วงหน้า  มีการวางแผนที่ดีว่าในระยะยาวจะทำอย่างไร ประชาชนจะได้ไม่ต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ ขณะน้ำท่วมขังอยากให้มีคนมาดูแลบ้าง มาพูดคุยปรับทุกข์ มีแพทย์มาดูแลด้านสุขภาพ หลังน้ำลดอยากจะให้ช่วยเรื่องการซ่อมแซมบ้าน หยุดพักชำระหนี้   ช่วยเรื่องประกอบอาชีพ ดังคำกล่าวของหญิงวัย 53 และ 49 ปี ที่ว่า ไม่เคยมีใครมาพูดคุยในบ้านเขากลัวเปียก ของไม่อยากได้อะไรหรอก อยากให้ใครมาเข้าใจความเป็นอยู่ปัญหาจริง ๆ ที่ประสบอยู่ และคำกล่าวของชายวัย 41 ปี ที่ว่า อยากให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนนำไปวางแผนให้ดี อย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้อีก ถ้ามันเลี่ยงไม่ได้ก็เตือนล่วงหน้าหน่อยอย่าปล่อยให้มาถึงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยพอน้ำลดก็อยากให้ดูแลเรื่องทำมาหากินซ่อมแซมบ้านบ้าง  
หมายเลขบันทึก: 68253เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2006 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท