ผู้ประสานงานวิจัยมือใหม่ : (3) ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น


ในบันทึกนี้ผมจะขอเล่าสั้น ๆ เพียงว่าท่านพูดถึงปรัชญาการทรงงานของในหลวงว่ามี 3 ข้อ คือ “เข้าใจ-เข้าถึง-จึงพัฒนา”

         ช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย. 49 ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจมากครับที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานเปิดงานถึงสองงาน ที่ว่ารู้สึกภูมิใจและดีใจนั้น ไม่ใช่เพราะได้ไปเป็นประธานนะครับ แต่ได้มีโอกาสไปรับรู้สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องดี ๆ ทั้งนั้น คือ

         งานแรก ที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการที่ผู้นำชุมชน (จากอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก) ที่มีปัญหาเรื่องการอบกล้วยตากเดินทางมาที่คลินิกเทคโนโลยี มน. (ชั้น 6 CITCOMS) และทางคลินิกเทคโนโลยี มน. ได้ช่วยประสานงานขอทุนสนับสนุนจากคลินิกเทคโนโลยีใหญ่ที่กระทรวงวิทย์ฯ และขอวิทยากรและสถานที่จากวิทยาลัยพลังงานทดแทน เพื่อช่วยกันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

         มีกลุ่มเกษตรกรจากพิษณุโลก จากอุตรดิตถ์ และจากกำแพงเพชรเข้าร่วมด้วยความสนใจยิ่ง เนื่องจากเป็นความต้องการของเขาเอง

         ผมดีใจและภูมิใจที่ว่าเมื่อเขามีปัญหาแล้วเขาคิดถึงเราและกล้าที่จะเดินมาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ และเราก็ได้พยายามกันอย่างเต็มที่ที่จะช่วยกัน ผมเห็นความร่วมไม้ร่วมมือของทุกฝ่ายแล้วมีความสุขมาก

         งานที่สอง ที่คณะวิทยาศาสตร์ ท่านคณบดีกรุณาให้เกียรติผมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมความร่วมมือและทำข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มน. กับ ชุมชนในระดับ อบต. หลายที่ จุดเริ่มต้นของโครงการความร่วมมือส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ได้จากการออก mobile unit ทุกเดือนของ มน.

         ผมดีใจและภูมิใจที่ได้เห็นว่าอาจารย์ (นักวิจัย) ของเราสามารถเป็นที่พึ่งให้กับชุมชนต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

         ผู้นำชุมชนท่านหนึ่งกล่าวขณะลงนามในข้อตกลงว่า เรื่องดี ๆ อย่างนี้ขอขยายจาก 2 ปี เป็น 20 ปีไม่ได้หรือ?

         แต่สิ่งที่ดีใจและภูมิใจที่สุดในเช้าวันนั้นไม่ใช่ที่กล่าวมาทั้งหมดครับ กลับเป็นเรื่องการที่ผมได้รับฟังท่านอาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ที่คณะวิทยาศาสตร์เรียนเชิญท่านมาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในวันนั้นด้วย

         ความจริงตามกำหนดการแล้วท่านต้องบรรยายในตอนบ่าย แต่เนื่องจากตอนบ่ายผมต้องเดินทางโดยรถตู้ไปกรุงเทพฯ กับทีม NUKM เพื่อเข้าร่วมงาน “มหกรรม KM แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่ BITEC” จึงได้ขอให้ท่านเกริ่นนำในช่วยเช้าก่อนประมาณ 15 นาที ผมจึงมีโอกาสได้รับฟังและได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับท่านด้วย

         ใจความสำคัญที่ท่านพูดสั้น ๆ นั้นมีประโยชน์ต่อการเป็นผู้ประสานงานวิจัย “ABC เหนือล่าง สกว.” ของผมมาก

         ในบันทึกนี้ผมจะขอเล่าสั้น ๆ เพียงว่าท่านพูดถึงปรัชญาการทรงงานของในหลวงว่ามี 3 ข้อ คือ “เข้าใจ-เข้าถึง-จึงพัฒนา”

         1. เข้าใจ สภาพปัญหา หาข้อมูลให้พร้อมทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้แผนที่จะช่วยได้มาก (ผมนึกถึง GIS ของ อ.วิชาญ)

         2. เข้าถึง สาเหตุของปัญหา ปัญหาหลักคืออะไร ปัญหารองลงมาคืออะไร ตรงนี้ต้องการการมีส่วนร่วมจากปราชญ์ชาวบ้านมาก ต้องร่วมกันคิดและร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ให้ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่าใช้ common sense เพราะจะมีโอกาสพลาดได้ง่าย

         3. จึงพัฒนา จึงพัฒนา โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ง่าย ๆ และไม่ต้องรอให้รัฐมาช่วย ไม่ต้องรอให้หลวงมาช่วย ต้องช่วยกันหามาตรการที่เหมาะสมกับท้องถิ่นมาลงมือช่วยกันแก้ปัญหา สุดท้ายแล้วจะมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยเอง (หรืออาจเป็น “เทวดา” ตามที่ผมเคยได้ฟังท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ - ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช พูดถึงบ่อย ๆ ก่อนหน้านี้ก็ได้ ที่จะเข้ามาช่วยเอง หลังจากเราช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มกำลังแล้ว)

         ท่านเน้นว่าการแก้ปัญหาใด ๆ ให้ก่อกำเนิดจากท้องถิ่นก่อน ต้องช่วยกันยกขึ้นมาให้ระดับที่สูงขึ้นจนถึงระดับประเทศได้รับรู้และเข้ามาร่วมเข้ามาคลุกคลี และเน้นว่าการบริหารจัดการในชุมชนท้องถิ่นก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

         ความจริงท่านยกตัวอย่างเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย แต่ผมไม่สามารถถ่ายทอดในบันทึกนี้ได้ ต้องขออภัยด้วยครับ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

.

หมายเลขบันทึก: 68141เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท