ปีงบประมาณ 50 'ขาดดุล' จัดเก็บรายได้ฝืด 'เงินหวย-โทรคมนาคม ภาษีบาป' รอพิสูจน์ฝีมือรัฐ


ปีงบประมาณ 50 'ขาดดุล' จัดเก็บรายได้ฝืด

        ปลายสัปดาห์ก่อน กระทรวงการคลัง โดย นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ล่าสุด คือ  ผลการจัดเก็บประจำเดือนพฤศจิกายน  และภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2549) ผลปรากฏว่า เดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว รัฐบาลยังคงจัดเก็บรายได้สุทธิได้สูงกว่าเป้าประมาณการถึง 4,883 ล้านบาท (ประมาณการที่ 101,579 ล้านบาท จัดเก็บได้ 106,462  ล้านบาท)  ส่วนภาพรวม 2 เดือน จัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าประมาณการ 9,369  ล้านบาท (ประมาณการที่ 205,526 ล้านบาท  จัดเก็บได้ 214,895 ล้านบาท) หรือจัดเก็บได้มากกว่า  ช่วงเดียวกันในปีงบประมาณ 2549 ถึง 20.6%

        ถ้ามองภาพรวม 2 เดือน กรมรายได้ทั้ง 3 กรม ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ต่างจัดเก็บรายได้เกินเป้ากันถ้วนหน้า โดยกรมสรรพากรจัดเก็บได้เกินเป้า 1,930 ล้านบาท กรมสรรพสามิตเกินเป้า 5,726 ล้านบาท และกรมศุลกากรเกินเป้า 738 ล้านบาท  แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เหตุใดกรมสรรพากรที่เคยเป็นพระเอกตัวหลักในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากที่สุดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า ในเดือนพฤศจิกายน  โดยจัดเก็บได้เพียง 75,618 ล้านบาท จากประมาณการที่ตั้งไว้ 76,028 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าไป 410 ล้านบาท จากที่ในเดือนก่อนยังเก็บได้เกินเป้าถึง 2,335 ล้านบาท โดยในเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในช่วงการตรวจสอบประเด็นที่กรมสรรพากรไม่ให้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ของครอบครัวชินวัตรอยู่อย่างเข้มข้น

        นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าวยังมีข่าวออกมาอีกว่า เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรต่างอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ขาดความสามัคคี ไม่มีจิตใจจะทำงาน อันสืบเนื่องมาจากกรณีพลิกลิ้นของนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ "กลับลำ" เรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา  ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ในกรณีซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากบริษัท แอมเพิลริช    อินเวสเมนต์ จำกัด จากเดิมที่เคยระบุว่ากรณีดังกล่าวไม่ต้องเก็บภาษี

        พฤติกรรมที่ไม่ซื้อใจลูกน้อง เป็นเหตุให้กรมสรรพากรระส่ำระสาย จนกระทั่งเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า    ในเดือนพฤศจิกายนในที่สุด นั่นคือเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่เหตุผลเดียว เรื่องนี้มีเพียงคนสรรพากร  ที่รับผิดชอบการเก็บภาษีเท่านั้นที่จะตอบคำถามได้ อย่างไรก็ดี การพลาดเป้าไปเดือนเดียวคงยังไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้มากนัก เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะแก้ปัญหาหลังจากนี้อย่างไร นั่นคือจะส่ง "จ๊อกกี้" คนใด และมีฝีมือแค่ไหน มานั่งกุมบังเหียนกรมสรรพากรที่กำลังเป็น  "ม้าพยศ"  อยู่ในขณะนี้  ซึ่งต้องไม่ใช่แค่เก็บภาษีเก่งอย่างเดียว แต่คงต้องมีบารมีพอสมควรด้วย ไม่เช่นนั้นตามเป้าหมายรายได้กรมสรรพากร 1,141,000 ล้านบาท   ในปีงบประมาณ  2550  คงมีปัญหา  และนั่นจะส่งผลถึงเป้าหมายรายได้รัฐบาลโดยรวม 1,420,000 ล้านบาท  ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย    เมื่อลองมองอีก  2  กรมที่เหลือ  เป้าหมายรายได้ของทั้งกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรในปีงบประมาณ  2550 ต่างถูกปรับลดลงมาจากเป้าหมายในปีงบประมาณ 2549 ทั้งคู่ โดยกรมสรรพสามิต
มีเป้าหมายจัดเก็บอยู่ที่
289,000  ล้านบาท ลดลง  7.5% หรือ 23,500 ล้านบาท จาก 312,500 ล้านบาทในปีงบประมาณก่อน กรมศุลกากร 88,000 ล้านบาท ลดลง 26.9% หรือ 32,400 ล้านบาท จาก 120,400 ล้านบาทแต่จาก 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ต้องปรบมือให้แก่ทั้ง 2 กรม ที่สามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าต่อเนื่องกันมา 2 เดือนได้ จนสามารถชดเชยรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าของกรมสรรพากรได้ในเดือนพฤศจิกายน

        แต่ก็ยังมีความกังวลจากกรณีที่ขณะนี้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะไม่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในกิจการดังกล่าว แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา ศานิต  ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพสามิต        จะยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว โดยบอกว่ายังไม่มีการสั่งการใด ๆ จาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร      เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   แต่ก็ยอมรับว่า  หากมีการเลิกเก็บภาษีทั้งในส่วนของโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ ก็จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ไปประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท  "เห็นแต่เรื่องจากหนังสือพิมพ์ ท่านรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้สั่งให้ทำอะไร ที่ผ่านมาก็มีแต่เรียกไปให้ข้อมูลเท่านั้น           ยังไม่แน่ใจว่าจะเลิกตัวไหน ถ้าเป็นตัวโทรศัพท์พื้นฐานก็ไม่ถึง 10%  แค่เพียง  2% เท่านั้น ถ้าเลิกเก็บก็จะเสียรายได้แค่ประมาณ 800-900 ล้านบาท ส่วนที่บอกว่า 16,000 ล้านบาทนั้นเป็นรายได้รวมทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและมือถือ   ผมเข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีจะต้องดูว่า   ถ้าจะตัดก็ต้องยอมขาดดุลงบประมาณ" อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุ  หากที่สุดแล้วต้องยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าวไป ทำให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้ในส่วนดังกล่าวไป ในจุดนี้นายศานิตยอมรับว่า ได้มีการศึกษาเพื่อเตรียมการขยายฐานภาษีสรรพสามิตในส่วนอื่น ๆ  เอาไว้แล้ว   ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม   ด้านพลังงาน   และด้านสังคม   ยกตัวอย่างเช่น  กรณีการปรับโครงสร้างภาษีสุรา  ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในภาพรวมสุราทุกประเภท ทั้งสุราขาว สุราพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้  อย่างไรก็ดี  อธิบดีกรมสรรพสามิต  ยังแสดงความมั่นใจว่า การจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ   2550   จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  289,000  ล้านบาท  เพราะในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา ก็สามารถจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

        โดยในประเด็นความเป็นไปได้ที่จะปรับโครงสร้างภาษีสุรานั้น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ยอมรับว่า  กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตให้เป็นไปตามนโยบายลด ละ เลิก อบายมุขของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาในแง่รายละเอียด  การปรับโครงสร้างภาษีสุราดังกล่าว ได้มีการคาดการณ์กันเอาไว้ว่า จะทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้ส่งเข้ารัฐเพิ่มขึ้นอีกกว่า หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งสามารถทดแทนรายได้จากภาษีกิจการโทรคมนาคมที่จะหายไปได้

        ขณะที่  นายสมชัย  สัจจพงษ์   ยืนยันในประเด็นดังกล่าวว่า  การเลิกเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม    จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ  2550  อย่างแน่นอน   เพราะโดยหลักการแล้ว ถึงจะเลิกเก็บภาษีดังกล่าว ก็ยังสามารถไปเพิ่มรายได้นำส่งของรัฐวิสาหกิจ ทั้งในส่วนของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ในสัดส่วนรายได้ที่เท่ากัน  เพราะเดิมแนวคิดที่มีการให้เก็บภาษีในกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ได้มีการเพิ่มอัตราการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจทั้ง  2 แห่ง แต่กรณีนี้หากเลิกเก็บภาษี ก็ต้องหันไปเพิ่มรายได้นำส่ง  ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการคลังสามารถปรับปรุงใหม่ให้มีความเหมาะสมได้ แต่ทั้งนี้การปรับต้องไม่ให้เป็นภาระของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น  "เรื่องรายได้ไม่กังวล โดยในแง่หลักการที่เราทำเอาไว้ก็คือ ต้องโอนไปเหมือนเดิม รายได้รัฐก็เท่าเดิม ซึ่งก็ต้องปรับรายได้นำส่งเพิ่ม แต่การปรับก็ต้องรอให้แก้กฎหมายต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน   ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าในด้านรายได้ของกรมสรรพสามิตอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ในด้านภาพรวมรายได้ของรัฐบาลจะไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน" โฆษกกระทรวงการคลังยืนยัน

        นายสมชัยระบุว่า  ในการจัดทำประมาณการรายได้รัฐบาลปี  2550 ที่อยู่ที่  1,420,000 ล้านบาทนั้น
เป็นการประมาณการจากการเก็บรายได้ที่มีความแน่นอน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดเก็บอยู่แล้ว  ส่วนรายได้ตัวใดที่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะได้รับจริงหรือไม่ เช่น กรณีรายได้จากหวยบนดิน ที่กฎหมายยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น จะไม่มีการนำมาคิดรวมในการจัดทำประมาณการรายได้อย่างแน่นอน  แต่หากมีการแก้ไขกฎหมายจนสามารถนำเงินรายได้เข้าแผ่นดินได้ ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ของรัฐบาลที่จะมีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น   ทำให้ช่องว่างในการขาดดุลงบประมาณลดน้อยลงไปจาก 146,200 ล้านบาท  "ประมาณการรายได้ในปี  2550 ที่ทำ ไม่มีการรวมรายได้ของหวยบนดิน เพราะว่าเราจะเอาเฉพาะรายได้ที่เก็บได้แน่นอนอยู่แล้วมาทำ โดยในปีงบประมาณ  2550  กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้า   1.42   ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน ส่วนปัญหารายได้ไม่พอคงไม่มี เพราะมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล 146,200 ล้านบาทอยู่แล้ว"

        ทั้งนี้  ตามเอกสารงบประมาณปี 2550 ได้แบ่งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้รัฐบาลของแต่ละหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้ โดยกรมสรรพากร 1,141,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% หรือ 132,000 ล้านบาท จาก 1,009,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2549 กรมสรรพสามิต 289,000  ล้านบาท  ลดลง  7.5% หรือ 23,500 ล้านบาท จาก 312,500 ล้านบาท   กรมศุลกากร 88,000 ล้านบาท ลดลง 26.9% หรือ 32,400 ล้านบาท จาก 120,400 ล้านบาท ส่วนราชการอื่น ๆ  82,550  ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  7.3%  หรือ 5,650 ล้านบาท จาก   76,900  ล้านบาทในปีก่อน  และรัฐพาณิชย์  72,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 12,050 ล้านบาท จาก 60,600 ล้านบาทในปีก่อนในส่วนของรายได้จากรัฐพาณิชย์ หรือรายได้นำส่งของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 72,650 ล้านบาทนั้น ประกอบไปด้วย ผลกำไรขององค์การรัฐบาล หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 62,482.7 ล้านบาท และรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 10,167.3 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 33,478 ล้านบาท   จะเห็นได้ว่า  รัฐบาลตั้งเป้าหมายรายได้นำส่งจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่ 10,167.3 ล้านบาท  สอดคล้องกับการชี้แจงของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ  (สคร.) ที่ระบุว่า ประมาณการรายได้นำส่งของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในปี 2550 นั้น ไม่ได้รวมกรณีหวยบนดินเข้าไปด้วย และยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่ได้เร่งแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากเหตุผลที่ว่ารายได้ไม่พออย่างแน่นอน โดยสุดท้ายแล้วหากการแก้ไขกฎหมายลุล่วงไปได้ด้วยดี  รัฐบาลก็จะมีรายได้จากหวยบนดินเพิ่มเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ นอกเหนือไปจากประมาณการรายได้ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้  "ในปีงบประมาณ  2550  ประมาณการรายได้นำส่งของกองสลากจาก 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่   1.ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล  ที่กฎหมายให้จ่าย 28% ทุกเดือน  ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่คงที่ตกเดือนละ  672  ล้านบาท  รวมทั้งปีจะอยู่ที่ 8,064 ล้านบาท  2. ส่วนแบ่งรายได้ 75% จากกำไรที่ได้จากการดำเนินงานของกองสลาก ที่ในปี 2550 ตั้งไว้ที่ 1,500 ล้านบาท และ 3. เงินรางวัลตกค้างที่ไม่มีคนมาขึ้นรางวัลอีก 600  ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเป็นรายไตรมาส ไตรมาสละ 150 ล้านบาท  ทั้งนี้ ในส่วนของส่วนแบ่ง 75% จากผลกำไรนั้น ขึ้นอยู่กับการทำกำไรของกองสลาก หากกองสลากมีกำไรมาก ก็จะนำส่งเข้าคลังมากขึ้นด้วย"

        จากข้อมูลข้างต้น คงทำให้เห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนว่า  "รัฐบาลผู้เฒ่า" ในระยะ 1 ปีข้างหน้านี้ ไม่น่าจะประสบปัญหาด้านรายได้ จนถึงขนาด "ถังแตก" เหมือนกับที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา มักถูกถามถึงข้อเท็จจริงในประเด็นปัญหาดังกล่าวอยู่เนือง ๆ  แต่ขณะนี้เพิ่งผ่านไปเพียง 2 เดือนเท่านั้น การคาดการณ์ต่าง ๆ อาจจะยังไม่สามารถฟันธงได้ทั้งหมด เพราะรายได้หลายตัวที่คาดว่าอาจจะเป็นผลพลอยได้นั้น  สุดท้ายแล้วก็อาจจะไม่ได้อย่างที่หวัง เนื่องจากส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป  ขณะเดียวกัน รายได้ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้รับแน่นอน   อย่างรายได้หลักของ  3 กรมภาษีนั้น    หาก   ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังแก้ปัญหาความไม่สมานฉันท์ในกรมสรรพากรไม่ได้ อนาคตก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลได้เช่นกันไทยโพสต์ (คอลัมน์อีโคโฟกัส)

คำสำคัญ (Tags): #งบประมาณ
หมายเลขบันทึก: 67938เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท