มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 1 (1)


เพราะอุดมศึกษาเป็นระบบ “สมอง” เป็นระบบ “สร้างสรรค์ปัญญา” ของประเทศ ในเมื่อระบบสร้างสรรค์ปัญญาอ่อนแอเสียเอง ผลกระทบต่อประเทศชาติจึงรุนแรงยิ่ง

         < เมนูหลัก >

         ตอน 1 (1)

         มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         วิกฤติอันเนื่องมาจากความสำเร็จ

         เมื่อ “การพัฒนาประเทศ” เกิดผลสำเร็จด้าน “เศรษฐกิจในภาพรวม” ในปลายแผนพัฒนาประเทศระยะที่ 6 (พ.ศ. 2529-2534) จากนโยบายที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งเสริมภาคเอกชน อาการ “ปั่นป่วน” อันเกิดจากความไม่สมดุล ในการพัฒนาก็เริ่มส่อเค้า

         การลงทุนและการผลิตใน “ภาคเอกชน” เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยฐานเทคโนโลยีและทุน จากต่างประเทศเป็นหลักใหญ่ การพัฒนาแบบ “นำเข้า” ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการ ต้องการคนที่มีพื้นความรู้สูงขึ้น แต่ประเทศผลิต “กำลังคน” ที่มีความรู้ความสามารถสูงไม่เพียงพอ จึงเกิดภาวะ “สมองไหล” จากภาคราชการไปสู่ภาคเอกชน และเกิดการ “แย่งชิง” คนระดับบริหารตั้งแต่ผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปอย่างรุนแรง

         ภาคราชการที่ล้าหลังอยู่แล้ว จากการที่มัวงุ่มง่ามอยู่กับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยไม่ค่อยเอาใจใส่ต่อการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง เมื่อคนเก่ง ๆ ลาออกไปอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งค่าตอบแทนสูงกว่าและทำงานในลักษณะที่ท้าทายความสามารถมากกว่า ภาคราชการจึงยิ่งอ่อนแอลงไปอีก

         อุดมศึกษาเกือบทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของราชการ จึงประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกัน หรืออาจจะยิ่งกว่าราชการทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะอุดมศึกษาเป็นระบบ “สมอง” เป็นระบบ “สร้างสรรค์ปัญญา” ของประเทศ ในเมื่อระบบสร้างสรรค์ปัญญาอ่อนแอเสียเอง ผลกระทบต่อประเทศชาติจึงรุนแรงยิ่ง

         การพัฒนาแบบ “นำเข้า” ของประเทศไทยที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเติบโตในภาคธุรกิจเอกชนเป็นอย่างดี แต่การพัฒนาโดยอาศัยสติปัญญาผู้อื่นเป็นหลักเช่นนี้ ไม่สามารถทำให้เป็นการพัฒนาอย่างสมดุลได้ บริการภาครัฐ รวมทั้งการสร้างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และระบบการสร้างองค์ความรู้ หรือ “การวิจัยและพัฒนา” จึงถูกละเลย หรือไม่ได้รับการวางแผนพัฒนา ให้สอดคล้องกับการเติบโตในภาคเอกชน

         ดังนั้น จึงเกิดความเครียด (Strain) ขึ้นในกระบวนการพัฒนาประเทศ ความรู้สึกต่อความเครียดนั้น รู้สึกต่อปัญหาเชิงปริมาณ ส่วนปัญหาเชิงคุณภาพนั้น แม้จะมีอยู่ แต่ก็รู้สึกได้ยาก
 ในสังคมยุคธุรกิจในปัจจุบัน เสียงร้องต้องการคนในภาคธุรกิจจึงนำไปสู่การ “ผลิตบัณฑิต” เพิ่มอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี่คือการปรับตัวต่อวิกฤติเชิงปริมาณ ของระบบทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย

         ภาวะ “สมองไหล” จากภาคราชการสู่ภาคเอกชน ค่าตอบแทนที่สูงกว่าอย่างมากมายในภาคเอกชน และการปรับตัวเชิงปริมาณ ของระบบทรัพยากรมนุษย์ เป็นสาเหตุของวิกฤติเชิงคุณภาพในมหาวิทยาลัย

         สมองที่สามารถไหลไปสู่ภาคเอกชนได้ ต้องเป็นสมองชั้นดี และมีความสามารถในการปรับตัวสูง โดยส่วนเฉลี่ยแล้ว สมองที่ไหลออกจากระบบมหาวิทยาลัย มีคุณภาพสูงกว่าสมองที่ยังอยู่ ทำให้คุณภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในภาพรวมด้อยลง

         ค่าตอบแทนที่สูงกว่าอย่างมากในภาคเอกชน ดึงดูดให้บัณฑิตใหม่ที่มีความสามารถสูง เข้าไปทำงานในภาคเอกชนเหลือแต่คนที่ชอบความมั่นคง ไม่ชอบเสี่ยงไม่ชอบงานหนัก และไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองมากนัก เมื่อเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คุณภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงด้อยลงไปอีก

         การปรับตัวเชิงปริมาณ เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาขาดแคลน ให้ได้จำนวนมากตามความต้องการของประเทศ ดึงดูดอาจารย์ให้หันไปทำงานสอนมากขึ้น ไม่มีเวลาทำงานวิจัย งาน “สร้างสรรค์ปัญญา” กลายเป็นงานรองยิ่งขึ้นกว่าเดิม

         เกิดเป็น “วิกฤติเชิงคุณภาพ” ที่รุนแรงยิ่งนัก เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะที่สังคมมีความต้องการ “ความสามารถในการสร้างองค์ความรู้” เป็นอย่างยิ่ง

         “วิกฤติสองด้าน” เช่นนี้ เป็นปัญหาที่ท้าทายความสามารถในการแก้ไข และเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ โดยการแก้ที่จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว ในขณะนี้ ความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เน้นที่การแก้ปัญหาเชิงปริมาณ

         บทความนี้จึงเสนอแนวทาง ที่มุ่งแก้ไขอย่างเป็นระบบต่อปัญหาเชิงคุณภาพซึ่งจะมีผลดีต่อการแก้ปัญหาเชิงปริมาณด้วย

         บทความพิเศษ ตอน 1 (1) ได้จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ฉ.2781 (103) 2 พ.ค.39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์  วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 6787เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2005 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท