ข้อสงสัยความแตกต่างระหว่างความรู้ฝังลึกกับความรู้ชัดแจ้ง


ผมรู้สึกทั้งสับสนและประทับใจในการที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีความกล้าหาญถึงขนาดเข้าไปจัดการความรู้ที่ฝังลึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่กล้าแตะและไม่กล้าจัดการ แค่ไปนั่งฟังก็ประทับใจแล้วครับ

สืบเนื่องจากผมได้เข้าร่วมประชุมกับห้องของกรมส่งเสริมการเกษตร ในวาระมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ  ครั้งที่ 3  ระหว่างวันที่ 1-2  ธันวาคม  2549  ที่ศูนย์ไบโอเทค บางนา    

ผมรู้สึกทั้งสับสนและประทับใจในการที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีความกล้าหาญถึงขนาดเข้าไปจัดการความรู้ที่ฝังลึก  ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่กล้าแตะและไม่กล้าจัดการ แค่ไปนั่งฟังก็ประทับใจแล้วครับ ผมก็เลยมาถามคุณนันทา ว่า ทำไมถึงกล้าทำการจัดการความรู้ฝังลึก แค่คิดผมยังไม่กล้าคิดเลย  คุณนันทา ก็ตอบมาว่า เป็นความรู้ฝังลึกซึ่งแตกต่างจากความรู้ชัดแจ้งที่มีการตีพิมพ์ มีเอกสารเรียบร้อยอยู่แล้ว แต่คำว่าฝังลึก คือ ที่มีอยู่ในตัวคนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์  ผมว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสนนะครับ สับสนอยู่ใน 2 ประเด็นใหญ่   

ประเด็นที่ 1 ความรู้ฝังลึกคืออะไร ผมเทียบง่าย ๆ นะครับ ผมศึกษาธรรมะมา ในมุมที่ว่า ผู้ทำเป็นผู้รู้ ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคลคนนั้น ไม่สามารถจะบอกให้ใครทราบว่า ความรู้นั้นมันเป็นอย่างไร แต่ว่าทำ ใครทำรู้แน่นอน ผมยกตัวอย่างให้คุณนันทาฟังว่า คนไม่เคยกินพริก ยังไงก็ไม่รู้รสพริกครับ ต่อให้คนอื่นอธิบายให้ฟังยังไง เลียบ ๆ เคียง ๆ ยังไง เออ..คล้ายๆกับ ขิงนะ พริกไทยนะ คล้ายๆ กับกระเทียมนะ ยังไง ยังไง คนที่ฟังก็ไม่มีทางรู้ว่า รสพริก เป็นอย่างไร  อย่างมากก็แค่เลียบ ๆ เคียงๆ เท่านั้นล่ะครับ     

เพระฉะนั้น ผมจึงคิดว่า ความรู้ฝังลึก จะมาจัดการอย่างไร มันยุ่งยากมาก มันลำบากมาก แค่จะเล่าให้ฟังก็ลำบากแล้วครับ ไม่ต้องมาจัดการหรอกครับ  เท่าที่ฟังคุณนินทาพูดมา เสมือนว่า ความรู้ชัดแจ้ง เป็นความรู้ที่อยู่ในเอกสาร อันนี้ยิ่งสับสนไปกันใหญ่เลยครับ ความรู้ไม่มีอยู่ในเอกสารครับ ในเอกสารนั้นเป็นเพียงข้อมูลครับ  เป็นตัวหนังสือ เป็นเพียงกระดาษที่มีรอยหมึก เป็นรอยคดรอยงอ ที่เป็นตัวพิมพ์ลงไปเท่านั้นเอง  ไม่มีความรู้อยู่ในนั้นครับ  สิ่งที่อยู่ในนั้นคือ ร่องรอยหมึกที่ประทับอยู่ในกระดาษ ที่คนที่อ่านร่องรอยนั้น รู้ และรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นข้อมูลของคนนั้น ๆ แต่คนคนนั้น อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ก็เป็นแค่ลายเท่านั้นล่ะครับ และไม่เป็นข้อมูลสำหรับคน ๆ นั้น  แต่ถ้าคน ๆ นั้น อ่านแล้วเข้าใจเอาไปตีความเป็นความหมายจนซาบซึ้งว่า แต่ละคำที่เขียนมามันสื่อความหมายลึกซึ้งว่าอย่างไร นั่นคือความหมายว่า คนๆ นั้นกำลังเอาข้อมูลมาแต่งเป็นความรู้ ครับ ตอนนี้เอาความรู้เหล่านั้นไปจัดการอย่างไร นั่นคือขั้นหนึ่ง  นั่นคือลายหมึกที่อยู่ในระบบเอกสาร ที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วจึงกลายเป็นความรู้ แต่สิ่งที่อยู่ในเอกสารนั้น ไม่ใช่ความรู้ครับ เป็นแค่ลายตัวหนังสือ นั่นคือข้อที่    

เพราะฉะนั้น การจัดการแจกเอกสารใด ๆ ก็ตามไม่ใช่แจกความรู้นะครับ เป็นการจัดการแจกเอกสารเท่านั้น ไม่ใช่แจกความรู้ นั่นคือ ความสับสนข้อที่     

ประเด็นที่ 2  ในเชิงของการแบ่งแยกประเภทความรู้ ก็คือความรู้ที่ชัดแจ้ง เล่าให้ท่านฟังได้ ทุกคนฟังรู้เรื่อง เช่น บอกว่า ตายเป็นอย่างไร ทุกคนเห็น ฟังรู้เรื่องง่าย ๆ ความรู้ฝังลึกเป็นอย่างไร อย่างเช่นบางคนไม่เคยมีความสุขเลย ผมสมมุติถ้ามีนะครับ ก็คงไม่รู้ว่า ความสุขคืออะไร ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความทุกข์เลย ก็คงจะไม่รู้จักคำว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เช่นกัน ผมอาจเปรียบเทียบเกินไปสักนิด ก็คงไม่ถึงขนาดนั้นน่ะครับ แต่ความรู้ฝังลึก คือ เป็นสิ่งที่บอกใครไม่ได้จริงๆ เพียงแต่รู้ว่า มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เหมือนกับว่า การถึงนิพพาน การสงบเยือกเย็นเป็นอย่างไร ไม่มีทางบอกใครได้เลย นอกจากคนๆ นั้นจะปฏิบัติแล้วได้ผล ด้วยตัวเองและรู้แล้วว่าใช่ ซึ่งคุยกับคนที่รู้เรื่องกัน นั่นคือความรู้ฝังลึกที่จะนำมาจัดการ และควรจะจัดการได้เฉพาะกลุ่มที่มีความรู้เรื่องกัน มีความรู้ฝังลึกด้วยกัน แต่จะมาจัดการให้คนอื่น หรือเอาไปให้คนอื่นไม่มีทาง

เพราะฉะนั้น ผมไม่ทราบว่ากรมส่งเสริมการเกษตร จะทำการจัดการแล้วเพื่อพัฒนาคนในกรมของตนเองเพียงอย่างเดียว หรือเพื่อพัฒนาเอาความรู้เหล่านั้นไปให้ชาวบ้าน หรือจะพัฒนาเอาความรู้ชาวบ้านที่มีความรู้กันอยู่แล้วมาแลกเปลี่ยน มาแลกเปลี่ยนเพื่ออะไร ทำไมครับ ในเมื่อเขาก็รู้และลึกซึ้งของเขาอยู่แล้ว นี่คือผมไม่ทราบและไม่มั่นใจ ผมจึงอยากเรียนถามกลับไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรอีกครั้งว่า คำว่าความรู้ฝังลึก ในครั้งนี้ มันแปลว่าอะไรกันแน่ ทั้งที่ผมเข้าใจ ผมก็เข้าใจว่า ความรู้ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ความรู้ที่เล่าให้ฟังได้ รู้ได้ เข้าใจได้ โดยไม่ต้องฝังลึกนี่แหล่ะครับ ธรรมดานี่แหล่ะ เพียงยังไม่ได้ตีพิมพ์ นี่แหล่ะ พูดให้เอามาใช้งาน แค่นั้นเอง ไม่ใช่ฝังลึกอะไรที่ไหน เพราฉะนั้น ผมคิดว่า นี่คือความสับสนระหว่าง ข้อมูลกับความรู้ และระหว่าง ความรู้ฝังลึก กับความรู้ชัดแจ้ง  ความรู้ที่ฝังลึกเอามาจัดการได้นะครับ ไม่ใช่ว่าจัดการไม่ได้ แต่คงจะจัดการได้เฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความรู้ฝังลึกด้วยกัน เพราะคนอื่นก็ฟังไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว จะให้พระพุทธเจ้ามาเล่า มาจัดการความรู้เรื่องเกี่ยวกับนิพพาน กับคนที่มีสันดานหยาบช้าอยู่ คุยกันอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง ก็ดูสิครับพระพุทธศาสนาของเราเผยแพร่ไปได้ระดับไหนแล้ว เรื่องนิพพาน ก็เช่นกัน คนที่รู้เขาก็คุยกันในกลุ่มที่รู้  คนไม่รู้เขาไม่คุยกันหรอกครับ คนที่ไม่ทำ สงสัยจะยาก  

ผมสงสัยประเด็นนี้แหล่ะ ความรู้ฝังลึก คืออะไรกันแน่   สิ่งที่เราพูดมานี่เป็นความรู้ชัดแจ้งทั้งนั้นเลย เช่น การทำการเกษตร การเกษตรผสมผสาน... เป็นความรู้ชัดแจ้งทั้งนั้น ไม่ใช่ความรู้ฝังลึกอะไรหรอกครับ เพราะความรู้ฝังลึกเป็นปัจจัตตังเว ทิตัพโพวิญญูหิติ ผู้ปฏิบัติเป็นผู้รู้ด้วยตัวเอง  ผมว่า เรามาเคลียร์ หรือลดความสับสนตรงนี้ได้ไหมครับ ไม่อย่างนั้น KM เราเดินหน้าไม่ได้หรอกครับ เรามาสับสนกับความหมายเบื้องต้นแค่นี้  

แค่การจัดการเอกสาร ก็เรียกว่า การจัดการความรู้แล้ว อันนี้ผมว่าไปไม่ได้ ครับ แล้วจะมาเล่นว่าความรู้ฝังลึกมาก่อน และความรู้ชัดแจ้งเอาไว้ทีหลัง ผมว่าไปกันใหญ่แล้วครับ ผมเคยทำครับ ก็ไม่ไปรอด แค่ความรู้ชัดแจ้ง ผมก็สาหัสแล้วครับ หืดขึ้นคอจริงๆ ครับ บางคนแค่ความรู้ชัดแจ้งก็ยังจัดการไม่ได้ จะเอาความรู้ฝังลึกมาจัดการน่ะ ยากครับ จะเปรียบเทียบให้ฟังง่าย ๆ นะครับ เราจะคุยกับคนที่ไม่รู้เรื่อง เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ถึงเรื่องนิพพาน ทีเดียวเลยหรือครับ แทนที่เราจะพูดถึงหลักปฏิบัติเบื้องต้นที่นำไปสู่ความสุขก่อนไม่ได้หรือครับ ที่มีความชัดแจ้งมากกว่า ระดับนิพพาน ซึ่งเป็นความรู้ฝังลึก เราเอาความรู้ชัดแจ้งมาคุยกันเป็นชั้น ๆ ก่อนดีไหมครับ ค่อยไปเอาความรู้ฝังลึกมาจัดการทีหลัง   โดยเอาความรู้ขอบ ๆ ของความรู้ฝังลึกมาจัดการก่อน แล้วค่อย ๆ แซะเข้าไปข้างในทีละนิด ๆ เหมือนกับที่ผมเคยยกตัวอย่างเรื่อง คนที่ไม่เคยกินพริก แต่เคยกินขิง กินกระเทียม กินพริกไทย ที่มีรสชาติใกล้เคียงกัน ก็จะเริ่มเข้าใจรสชาติของการกินพริก โดยยังไม่ต้องกินพริกโดยตรง  นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ  ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย ที่ยาก เช่น การขี่จักรยานล้อเดียว ซึ่งเป็นความรู้ฝังลึก เราจะให้คนที่ขี่จักรยานล้อเดียวเป็น ไปบอกเล่าให้คนที่ไม่เคยขี่จักรยาน สามารถขี่จักรยานล้อเดียว เป็นได้เลยหรือครับ เราจะทำได้ขนาดนั้นหรือครับ    

...ผมว่ายาก เพราะความรู้นี้ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคลจริงๆ เพราะเป็นเทคนิค ทักษะ ที่เป็นความสามารถเฉพาะตัว ที่คนที่ขี่จักรยานล้อเดียวเป็นเท่านั้น ที่จะคุยกันรู้เรื่อง นี่คือความหมายคล้าย ๆ กัน แล้วเราจะจัดการไปทำไม ทำไมเราไม่เอาความรู้ชัดแจ้งก่อน แล้วค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้น แต่เท่าที่ผมฟังนะครับ แม้แต่ความรู้ชัดแจ้งที่เขาพูดกันก็ไม่ใช่ความรู้ชัดแจ้งครับ เป็นเพียงเอกสารที่เป็นข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ใช่ความรู้ครับ แล้วเราจะมาจัดการความรู้ได้อย่างไรครับ    

ใครมีความเห็นอย่างไร  ขอเชิญแสดงความคิดเห็นครับ

ขอบคุณมากครับ     

 

หมายเลขบันทึก: 67538เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2006 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

  • อ่านแล้วก็อึ้งกิมกี่
  • ขอไม่แสดงความเห็นใดๆ นะคะ
  • ความรู้ที่ฝังลึกของแท้จะต้องเอาออกมาไม่ได้ครับไม่ว่าตัวเขาเอง หรือคนอื่น
  • แต่ถ้าบอกว่าผมเอาความรู้ที่ฝังลึก  ของคุณออกมาพิมพ์ เผยแพร่  แสดงว่าของปลอม ครับ
  • ตามมาอ่านความรู้ที่ฝังลึกครับ
  • ขอบคุณมากครับ

 

   นึกในใจว่า ถ้าจะวัดกันที่ความรู้

   พระพุทธองค์ตรัสว่ามีแค่ใบไม้กำมือเดียว

  ที่ยังไม่รู้เทียบได้ใบไม้ทั้งป่า

มนุษย์คิดจะวัดความรู้ระดับไหนละครับ? 

เราจะวัดที่ใบไม้กำเดียว หรือวัดที่ใบไม้ทั้งป่า

 สิ่งที่มนุษย์นึกว่าตัวเองรู้นั้นมีแค่ขี้ปะติ๋ว

ไม่อย่างนั้นโลกมันจะวุ่นวายเพราะความไม่รู้

ของมนุษย์รึครับ..

ที่พูดเช่นนี้ก็เพื่อให้กำลังใจผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย

ว่าที่จริงเราเป็นได้แค่ผู้เรียนจนแก่..

แต่ก็ยังต้องเรียน..

เพราะยังวนเวียนอยู่ในใบไม้กำเดียว

ยังก้าวล่วงไปหาใบไม้กำที่2-3 ไม่ได้

   ความรู้ฝังลึกคืออะไร

   ตอบ  บ่ฮู้ เพราะไม่เคยรู้อะไรมากมายพอที่จะไปฝัง

   ความรู้แจ้งคืออะไร

  ตอบ  บ่ฮู้ โง่มึนตึบอย่างผมมันบ่อแจ้งจ่างป่างสักที ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ค่อยๆคลำไปที่ละนิด จะให้รู้แจ้งระดับหยั่งรู้ เห็นแต่พระพุทธองค์นั่นแหละ

รู้จัก  รู้จริง  รู้แจ้ง 

รู้แจง  รู้จด  รู้จำ  รู้คลำ  รู้คลี่  รู้ดี  รู้ชั่ว  รู้มั่ว  รู้คั่ว รู้คลาย

ฯลฯ..

  1. แวะมาเยี่ยมชมครับ
  2. ตามครูบามาด้วย ชอบความเห็นของครูบาครับ

ขอบคุณครับที่มาแสดงความเห็น

โดยคร่าวๆ ผมขคล้อยตามอาจารย์ศิริพงษ์ ที่ว่า ความรู้ฝังลึกที่เอาออกมาได้ น่าจะเป็นของปลอม

เหมือนกับจะมีใครบอกว่าเอาแมงกะพรุนไฟมาเป็นสัตว์เฝ้าบ้านกันคนมาเก็บเห็ดสวนป่าของครูบา

อย่างไรอย่างนั้นครับ

เรียน ดร.แสวง

  • ขอบคุณค่ะ อ่านแล้วรู้สึกอึ้งกิมกี่ เหมือนคุณไออุ่น เลยค่ะ 
  • เรื่องความเข้าใจของคำศัพท์ จะถูกผิดอย่างไร คงต้องให้ผู้รู้ระดับปรมาจารย์ ระดับ ดร. ช่วยชี้แนะ  แคะคุ้ย
  • แต่การทำงานเราคงไม่ยึดติด หรือติดกับดักกับคำศัพท์ที่ว่าไว้มากนัก
  • เรายึดหลักว่ากระบวนการ KM ไม่มีผิด ไม่มีถูก ทำไปเรียนรู้ไป ผู้ทำมีความสุข เกษตรกรมีความสุขในการ ลปรร. ก็ใช้ได้แล้วค่ะ

อ.ดร.แสวงครับ

  • ทุกประโยคในบันทึกนี้มีค่ามาก ควรแก่การขบคิดและเรียนรู้ต่อเนื่องให้กระจ่างให้ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อวง KM บ้านเรามากเลย
  • ผมนั้นไม่มีความรู้นะครับอาจารย์ แลกเปลี่ยนเชิงหลักการไม่ถนัดเลย
  • แต่ผมว่าความรู้นั้นมันไม่น่าจะมีพรมแดนกั้นนะครับ มันก็อยู่รวมๆในคนๆนั้นแหละครับ คนๆนั้นจะเป็นเกษตรกร หรือเป็นนักศึกษา หรือเป็นครูอาจารย์หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ในคนๆนั้น เขาจะบอกโดยเขาเองว่าเขารู้อะไร หรือใครจะไปทำกระบวนการดึงความรู้ออกมาจากตัวเขา ก็เป็นความรู้ อาจจะเป็นความรู้เชิงเทคนิค เคล็ดวิชา สาระ ฯลฯ จะโดยเขาเล่าเอง ให้ใครทำหน้าที่ให้เล่าก็ตาม ความรู้นั้นอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเขาเองที่เขาจะนำกลับไปใช้ใหม่ หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ที่สนใจเรียนรู้ก็ได้ ผมว่าคนที่ไม่รู้เรื่องนั้นก็น่าจะสื่อสารกันได้นะครับกับผู้ที่รู้เรื่องนั้นๆ ผู้ที่จะไปถอดความรู้หรือสกัดความรู้จากผู้รู้ อาจจะถอดหรือสกัดได้ไม่หมดก็จริง แต่คงได้ความรู้ออกมาบ้างไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ค่อยๆสกัดหรือถอดออกมาตามต้องการ จะเอาเรื่องอะไร ก็สกัดเรื่องนั้นออกมา ถ้าความรู้นั้นเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็นำไปปฏิบัติให้เหมาะกับตนเองได้ แต่บางอย่างเช่น ความรู้สึก สะใจ มันส์ ที่ไม่อาจจะสกัดหรือถอดออกมาได้ ก็เอาพอใกล้เคียง หรือเค้าๆเอาพอเข้าใจได้ไหมละครับอาจารย์ เพราะมันเป็น ปัจจัตตัง ใครก็รู้ไม่ได้ ต้องคนที่คอเดียวกันจริงๆ ผมว่าที่มีการแบ่งเป็นความรู้เปิดเผยกับความรู้ฝังลึก ก็น่าจะเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของคนอื่นๆ เป็นสำคัญนะครับ ว่าอะไร(ความรู้)ที่ได้เปิดเผยออกมาได้ เห็นได้เด่นชัด  อะไรที่ยังหลบอยู่เหมือนส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ในน้ำ รอวันโผล่ออกมา แต่พอแบ่งแดนความรู้ก็สับสนอย่างที่อาจารย์ตั้งคำถามนั่นแหละครับ
  • ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ครับแต่ก็อยากแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ครับ และอยากเห็นคนอื่นเข้ามาแลกเปลี่ยน ผมจะได้เข้ามาตามอ่านครับ
  • ผมเองเป็นคนมีความรู้น้อยครับ
  • สิ่งที่ผมกลัวในการทำงานกับเกษตรกร  ในขณะประชุม  หรือจัดเวทีจัดทำแผนพัฒนา  เวทีการเรียนรู้ ก็คือ มีใครคนใดคนหนึ่งในเวทีมั่นใจตัวเองว่าเป็นผู้รู้มากกว่าใคร พอคนอื่นพูดเขาก็ค้านว่าไม่ใช่  และเวทีจะเริ่มมีปัญหา เริ่มมีคนลุกเดินกลับบ้าน   และวันต่อ ๆ มาก็จะไม่มีคนมาอีกถ้าคน ๆ นั้นมาร่วมด้วยเพราะเขาเป็นคนไม่ยอมรับคนอื่น (นี่คือช่วงแรกที่ผมประสบการณ์น้อย)
  • มาระยะหลังได้ประสบการณ์ จากการล้มเหลว  ปรับเปลี่ยนสถานการณ์  ดูคนอื่น  ฟังคนอื่น ปรับเปลี่ยนกระบวนการ  จัดให้คนมีความรู้สึกว่าเท่าเทียมกัน 
  • เวทีสนุก เพราะเมื่อถึงวันนั้น ผมก็เท่าเทียมกับเขาคืออยู่ร่วมแบบไม่รู้อะไรเลย  ทำให้สนุก มีความสุข  และได้ผลดีครับ

    สว้สดีครับ มาอ่านหลายรอบแล้ว .. คิดไม่ออกว่าจะต่ออย่างไรดี .. รีบๆด้วยเลยไม่ได้ฝากร่องรอยใดๆไว้ครับ
   ผมว่าจะเริ่มเรื่องนี้กับใคร ที่วงไหนก็ตาม ณ จุดเริ่มต้นคงไม่พ้นการทำความกระจ่างกับ ประเด็น

  • ข้อมูล คืออะไร
  • สารสนเทศ คืออะไร
  • ความรู้คืออะไร ทั้ง Tacit และ Explicit
  • ทั้ง 3 อย่างสัมพันธ์กันอย่างไร

      ว่ากันเสียให้ชัดแจ้ง แดงแจ๋ ก่อนทำ KM  จะได้ไม่ต้องสับสนและวุ่นวายใจโดยไม่จำเป็น

     ที่ว่า ความรู้คืออะไร - อยู่ที่ไหน นั้น จะได้ไม่มีใครกล้าพูดอีกว่า ความรู้อยู่ในหนังสือ และในสื่อบันทึกข้อมูลอีกสารพัดชนิด .. ไม่กล้าพูดเพราะเขารู้ว่ามันแค่ ร่องรอย ที่คนอาจสัมผัสได้ด้วยหู ด้วยตา เท่านั้น สัมผัสแล้วจะเกิดความหมายระดับไหน หรือไม่ได้เลยก็ย่อมเป็นไปได้   ลองง่ายๆด้วยการเอาหนังสือพิมพ์ภาษาจีน มาอ่านดูได้ครับ .. ผลจะเป็นอย่างไรถ้าคนอ่านไม่รู้ภาษาจีนแม้แต่คำเดียว .. หรือรู้บ้างเป็นบางตัว แต่เชื่อมโยงเป็นเนื้อความไม่ได้ .. หรืออ่านได้หมดแต่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน .. ผลก็ชัดแล้วนะครับว่า มันไม่ใช่ความรู้ .. เพราะ ความรู้นั้นเป็นสภาวะทางจิต ที่เชื่อมโยงสารสนเทศอันหลากหลาย ผสมกลมกลืนกันจนเป็นความสามารถที่จะทำการงาน หรือแก้ปัญหาต่างได้  คิดไปก็คล้ายๆกับ การบันทึกภาพ บันทึกเสียง ที่คนพูดกันจนชิน แท้จริงแล้วที่บันทึกไว้นั้น ไม่ใช่ภาพและเสียงที่ไหนเลย เป็นแค่รอยขีดข่วน คลื่นแม่เหล็ก หรือ หลุมบ่อขนาดเล็กมากๆ ที่ทิ้งเอาไว้บนแผ่นหรือแถบบันทึกรูปแบบต่างๆ  กว่าจะได้คืนออกมาเป็นภาพ เป็นเสียง ต้องอาศัยกระบวนการ เปลี่ยน และ แปลงอีกหลายขั้นตอน.

ครูนง คุณชาญวิทย์ อาจารย์พินิจ

ผมอ่านความเห็นของท่านทั้งสามแล้ว ค่อยสบายใจขึ้นมาอีกระดับหนึ่งที่ มีคนมองผมในแง่สร้างสรร

ผมไม่ผิดหวังจากการที่มีบางคนมองแบบไม่เข้าใจหรอก

คิดแค่ว่า ผมควรจะนำเสนออะไรที่เป็นประโยชน์กับทุกคน สังคม ประเทศชาติ เท่านั้นครับ

ผมเชื่อว่าประสบการณ์ในชีวิตผมมีสาระพอสมควร เพียงแต่ว่าผม จะแลกเปลี่ยนกับใครได้บ้าง หรือใครอยากจะแลกกับผมบ้างเท่านั้นแหละครับ

ผมเห็นด้วยกับการทำความจริงให้ประจักษ์อย่างตรงไปตรงมา โดยไมมีอคติใดๆ เพื่อการสร้างสังคมที่แท้จริง

ขอบคุณครับ

ตอนนี้ผมมั่นใจมากขึ้นแล้วครับที่จะทำทุกประเด็นให้ชัดเจน โดยไม่สนใจคนที่จะดึงผมออกนอกทาง แม้ด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม

ด้วยความรู้สืกว่า มีแนวร่วมอยู่

ผมก็พอใจแล้วครับ

ที่พูดมาไม่ท้อนะครับ

เพียงเป็นการปรับกระบวนการทำงานให้ได้ผลมากขึ้นเท่านั้นแหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท