ข่าว: ทช.ใช้"ไม้ไผ่"สู้ภัยธรรมชาติ ปักกันคลื่นแก้กัดเซาะชายฝั่ง


ไผ่กันกัดเซาะชายฝั่ง
ทช.ใช้"ไม้ไผ่"สู้ภัยธรรมชาติ ปักกันคลื่นแก้กัดเซาะชายฝั่ง
ที่มา www.matichon.co.th วันที่ 25 ตุลาคม 2549

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายสำราญ รักชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช.ได้รับมอบหมายภารกิจจากนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้รับผิดชอบดูแลปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยจะมีการทำแนวกันคลื่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ นำไม้ไผ่ปักในทะเลเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อลดความรุนแรงของคลื่น และห่างจากจุดแรกเข้าใกล้ฝั่ง ก็จะทำกำแพงไม้ไผ่อีกแนวหนึ่งเพื่อเป็นแนวดักตะกอน              "ตะกอนที่มากับคลื่นจะเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับป่าชายเลนที่ชาวบ้านปลูกไว้ มีงานทางวิชาการพิสูจน์ชัดเจนว่ารูปแบบการปักไม้เป็นรูปสามเหลี่ยมที่ชาวบ้านทำกันอยู่นั้น สามารถดักตะกอนที่มากับคลื่นได้ และป่าชายเลนช่วยปะทะของคลื่นทะเลอย่างได้ผล 100% พิสูจน์ได้จากกรณีเหตุการณ์สึนามิ เพราะพื้นที่ที่มีป่าชายเลนเป็นแนวกันชนได้รับความเสียหายน้อยมาก หรือแทบไม่ได้รับเลย เราเอาหลักการธรรมชาติสู้กับธรรมชาติมาช่วย หรือเหมือนภาษิตจีน ที่ใช้ความอ่อนสยบความแข็งแกร่ง เมื่อคลื่นที่มีพลังมหาศาลปะทะไม้ไผ่ ไม้ไผ่จะอ่อนลู่ไปตามแรงคลื่น พลังคลื่นจะลดลงอย่างมาก แถมยังได้กรองตะกอนดินเพิ่มมากขึ้นด้วย" นายสำราญกล่าว 

            อธิบดี ทช.กล่าวว่า ในปี 2550 ทช.ได้รับงบประมาณมา 41 ล้านบาท ปลูกป่าชายเลนใน 5 จังหวัด ที่เรียกกันว่า "อ่าวตัวกอไก่" ได้แก่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และ กทม. ความยาว 51 กิโลเมตร โดยจะมีการปลูกป่าชายเลนจากแนวชายฝั่งประมาณ 300 เมตร และจากแนวป่าชายเลนประมาณ 1 กิโลเมตร จะใช้ไม้ไผ่กั้นเป็นแนวยาว 2 ชั้น ทั้งนี้ จะกระจายงบประมาณไปที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้ร่วมดำเนินการ เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้

source : http://www.onep.go.th/EnvNews/news_item.asp?NewsID=1631

คำสำคัญ (Tags): #ไผ่#ไม้ไผ่
หมายเลขบันทึก: 67320เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เคยเห็นชาวบ้านปักไผ่เป็นแนวตามชายฝั่ง แต่ไม่รู้จุดมุ่งหมาย
  • ดิฉันอยู่สมุทรสาคร  กลัวเหมือนกันเรื่องน้ำเซาะฝั่งเข้ามาเรื่อยๆ  กลัวว่าอีก ๑๐ ปีบ้านจะจมน้ำ

ไม่ต้องถึงสิบปีครับ มันจะท่วมเร็วขึ้นเรื่อยๆ ครับ เพราะมนุษย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โลกร้อนครับผม ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท