ข่าว:ผลิตภัณฑ์ "ไม้ไผ่" บ้านชัยพัฒนา ฝีมือชาวนาคุณภาพโกอินเตอร์


ไผ่กับการสร้างรายได้

ผลิตภัณฑ์ "ไม้ไผ่" บ้านชัยพัฒนา ฝีมือชาวนาคุณภาพโกอินเตอร์


 

เมื่ออาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้ไม่พอเลี้ยงปากท้อง ชาวไร่ชาวนากว่า 50 คน ที่บ้านชัยพัฒนา ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จึงพร้อมใจกันตั้ง "กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านชัยพัฒนา" โดยนำ ไม้ไผ่สีสุก และ ไม้ไผ่สีนวล มาทำงานหัตถกรรมขายสร้างรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว

ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ของกลุ่มนั้น มี 2 ประเภท คือ "เครื่องใช้ในครัวเรือน" อย่างเช่น ตะกร้า กระจาด ฝาชี เป็นต้น และ "งานจักสานล้อมเซรามิก" ซึ่งเป็นหัตถรรมที่ต้องอาศัยความประณีตสูง และมีลายกว่า 30 แบบ กระทั่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม มียอดสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศกว่า 300 ชิ้นต่อเดือน ทำให้บรรดาสมาชิกมีรายได้เข้ากระเป๋าตกรายละ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน

นางมุด ซื่อสัตย์ ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านชัยพัฒนา เล่าว่า เดิมทีเธอและเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้อาศัยจับจองพื้นที่ทำกินที่บริเวณรอยต่อของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ด้าน จ.สระแก้ว เพื่อเพาะปลูกพืชไร่ ต่อมาประมาณปี 2530 เจ้าหน้าที่รัฐได้อพยพพวกเธอออกจากพื้นที่ดังกล่าว และจัดสรรที่ทำกินใหม่ที่ บ้านชัยพัฒนา ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ภายใต้การดำเนินงาน "โครงการพัฒนาเขาฉกรรจ์-โนนสาวเอ้ 3" นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรจากพื้นที่อื่นมาสมทบด้วย

"ในช่วงแรกที่อพยพมาอยู่ที่บ้านชัยพัฒนา เราก็ยังยึดอาชีพปลูกข้าวและพืชไร่ แต่รายได้ไม่แน่นอน ทำให้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน กระทั่งราวๆ ปี 2545 จึงลองหารือกับเพื่อนบ้าน ทดลองนำงานหัตถกรรมจากไม้ไผ่อย่าง ตะกร้า และกระจาด ที่พวกเราทำไว้ใช้เองในครัวเรือนไปขาย ซึ่งก็พอขายได้ จึงตกลงกันว่าจะทำขายอย่างจริงจัง" นางมุด กล่าว

เมื่อคิดได้ดังนั้น นางมุด ในฐานะหัวเรือใหญ่ จึงรวบรวมเพื่อนบ้านจำนวน 51 คน ตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านชัยพัฒนา และได้รับการสนับสนุนจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 5 หมื่นบาท เพื่อเป็นทุนในการจัดหาอาจารย์มาสอนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้แก่สมาชิกทุกคน กระทั่งทุกวันนี้ กลุ่มสามารถพัฒนาฝีมือและลวดลายสินค้า จนเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ทำขายนั้น นางมุด บอกว่า มี 2 ประเภท โดยแบ่งตามลักษณะของวัตถุดิบที่ใช้ คือ "ไม้ไผ่สีสุก" ซึ่งเป็นไม้ไผ่ปล้องสั้น จะนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนอย่างเช่น กระเป๋าถือ ตะกร้า กระจาด ฝาชี เป็นต้น

ส่วน "ไม้ไผ่สีนวล" ที่มีปล้องยาวทำให้เนื้อไม้อ่อนและเหนียว ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาจักสานเป็นงานที่ต้องการความละเอียดประณีตอย่าง งานจักสานไม้ไผ่หุ้มเซรามิกจำพวก แจกัน ชุดน้ำชา และโถ ซึ่งนับเป็นสินค้าขึ้นชื่อของกลุ่ม เนื่องจากเป็นงานที่มีลวยลายสวยงามกว่า 30 แบบ อาทิ ลายดอกแก้ว ลายดอกจัน ลายดาวกระจาย เป็นต้น

"ตอนนี้ตลาดสินค้าเราเปิดกว้างมากขึ้น มีลูกค้าสั่งซื้อไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300 ชิ้น เพื่อนำไปจำหน่ายในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง รวมถึงวางขายในร้านภูฟ้า สยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพฯ ด้วย ส่วนตลาดต่างประเทศก็ส่งออกประจำที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตรงนี้ช่วยใช้สมาชิกมีรายได้ถึงคนละ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน" ประธานกลุ่มสตรีฯ กล่าว

ด้าน นางโสภี บัวรี เกษตรกรวัย 60 ปี บอกว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มนั้น ครอบครัวของเธอมีอาชีพทำนา แต่รายได้ไม่ค่อยแน่นอน ดังนั้น พอนางมุดชักชวนให้มาร่วมงานที่กลุ่ม เธอจึงตกลงทันที จนทุกวันนี้นางโสภีมีรายได้เสริมทุกเดือน เดือนละกว่า 3,000 บาท นับว่าสบายและได้เงินมากกว่าการทำนาหลายเท่า

สนใจผลิตภัณฑ์จักสานของ "กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านชัยพัฒนา" แวะชมได้ที่ บ้านชัยพัฒนา ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว หรือโทรศัพท์ 0-9936-9715


 

ที่มา : นสพ.คม-ชัด-ลึก

หมายเลขบันทึก: 67319เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท